ครบรอบ 11 ปี Final Score ความคาดหวัง ระบบการศึกษา ที่ยังไม่แปรเปลี่ยน

ครบรอบ 11 ปี Final Score ความคาดหวัง ระบบการศึกษา ที่ยังไม่แปรเปลี่ยน

ครบรอบ 11 ปี Final Score ความคาดหวัง ระบบการศึกษา ที่ยังไม่แปรเปลี่ยน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

11 ปีที่แล้ว วงการภาพยนตร์ไทยต่างตื่นเต้นกับการเข้าฉายของหนังสารคดีที่สร้างโดยฝีมือของ GTH ใช่แล้ว! คุณอ่านไม่ผิดหรอก ค่ายหนังที่เปรียบเสมือนหัวหอกในการผลิตภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมดี้และหนังผีที่ทำได้ดีทั้งเรื่องรายได้และคำวิจารณ์ในตอนนั้น ขอเปลี่ยนโหมดมาสร้างสารคดีที่ว่าด้วยเรื่องราวการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 4 คน ซึ่งในปีที่ใช้ถ่ายทำอย่าง พ.ศ. 2548 นั้นเป็นปีแรกที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้การสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยระบบแอดมิชชั่นแทนระบบเก่าอย่างเอ็นทรานซ์ด้วย ภาพยนตร์เรื่องนั้นมีชื่อว่า Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์

การถ่ายทำสารคดีที่ใช้ฟุตเตจจริง เหตุการณ์จริง เรื่องราวจริงมาตัดต่อและนำเสนออาจไม่ใช่สิ่งใหม่ของวงการภาพยนตร์โลก ทว่าสำหรับ GTH ในยุคนั้นน่าจะเป็นความเสี่ยงที่ท้าทายเอาการ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามชีวิตของเด็กมัธยมปลาย 4 คนที่ไม่มีใครรู้จักเป็นเวลา 1 ปีเต็ม จากฝีมือทีมงานเพียง 6 คน ไร้ซึ่งบทหนังหรือสคริปท์แม้แต่หน้าเดียว ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หรือเด็กกลุ่มนั้นจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้หรือไม่ จากความสำเร็จของ Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ในปีก่อนหน้านั้น หรือแม้แต่ แฟนฉัน, สตรีเหล็ก, ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ ที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด รวมถึงประเภทของหนังสารคดีที่แทบไม่ได้รับความนิยมจากนักดูหนังในเมืองไทยสักเท่าไหร่ ก็แปรเปลี่ยนกลายเป็นความกดดันของผู้สร้างไปโดยปริยาย

Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ กำกับโดย โสรยา นาคะสุวรรณ โดยมีไอเดียแรกมาจาก จิระ มะลิกุล ที่รับหน้าที่ผู้อำนวยการสร้าง แม้รายได้จะไม่เปรี้ยงปร้างเท่าแนวหนังที่เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะได้โดยง่าย (เก็บไปเพียง 25 ล้านบาท) แต่นักแสดงนำ 4 คนซึ่งยังเป็นหนุ่มวัยกระเตาะในตอนนั้นก็กลายเป็นที่จดจำ ถึงอารมณ์ที่เรียลสุดๆ ความเป็นธรรมชาติของวัยรุ่นที่ไม่มีใครไปบีบบังคับได้ แต่คนดูสามารถสัมผัสถึงความรู้สึกเหล่านั้นได้อย่างเต็มเปี่ยม

แล้วทุกวันนี้ทั้ง 4 หนุ่มทำอะไรกันอยู่บ้าง?

เปอร์-สุวิกรม อัมระนันท์ ตัวละครที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดจากหนัง Final Score กับบทบาทในปัจจุบันที่โลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงทั้งการเป็นดีเจและพิธีกร ลุง-วรภัทร จิตต์แก้ว ที่สมัยเรียนมีความฝันอยากเป็นแพทย์ แต่ชีวิตพลิกผันมาทำเบื้องหลังให้กับภาพยนตร์หลายเรื่อง ส่วน บิ๊กโชว์-กิตติพงศ์ วิจิตรจรัสสกุล หลังจากเดินทางไปศึกษาต่อที่อังกฤษ ก็กลับมาช่วยบริหารงานธุรกิจของครอบครัว ในขณะที่ โบ๊ท-สราวุฒิ ปัญญาธีระ ก็สานฝันการเรียนคณะประมงด้วยการทำฟาร์มปลาเล็กๆ และต่อยอดมาเป็นเกษตรกรทำไร่สับปะรดอย่างเต็มตัว

ทุกคนล้วนเติบโตในเส้นทางเดินชีวิตของตนเอง แล้ว 4,018 วันนับจากที่ Final Score เข้าฉาย สังคมการศึกษาไทยมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงบ้าง?

ความฝันของวัยรุ่นยังคงเป็นสิ่งที่ไม่เคยแปรเปลี่ยน ทุกคนต่างมีความฝันว่าอยากจะประกอบสัมมาอาชีพอะไรเมื่อเติบใหญ่ แม้สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันอาจต่างไปจากเมื่อสิบหรือยี่สิบปีก่อนมากพอสมควร ด้วยเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาชีพสุดฮิตดั้งเดิมอย่าง แพทย์, พยาบาล, ทหาร, ครู ก็อาจพลิกไปเป็น เจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพ, นักพัฒนาแอปพลิเคชั่น, โปรแกรมเมอร์ เป็นต้น ต่อยอดไปถึงเรื่อง ‘หางาน’ ที่การแข่งขันก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเศรษฐกิจบ้านเราที่ไม่ได้ฟูฟ่องเรืองรองนัก ทำให้บริษัทห้างร้านจำเป็นต้องลด cost ในการจ้างพนักงาน และเน้นรับบุคคลที่มีความสามารถหลากหลายด้านเพื่อความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป

แต่ในวันนี้ที่โลกเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ระบบการศึกษาไทยก็ดูเหมือนยังไม่ค่อยเคลื่อนที่ไปข้างหน้ามากนัก ระบบท่องจำ ไม่เน้นการปฏิบัติ ยังคงเป็นภาพจำที่มีให้เห็นตามโรงเรียนต่างๆ แม้จะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในเรื่องการเรียนการสอน แต่มันจะมีประโยชน์อะไรหากเด็กๆ ไม่สามารถนำไปประยุกต์และปรับใช้ในชีวิตจริงได้

ประเด็นนี้อาจสะท้อนออกมาให้เห็นตามโลกโซเชียลต่างๆ การตั้งสเตตัสหรือคอมเม้นท์โดยขาดสติ ขาดวิจารณญาณของเหล่าวัยรุ่นก็ยังมีให้เห็นอยู่เป็นประจำ การเลือกช่องทางโซเชียลในการพรีเซ้นท์ตัวเอง ใช้เรือนร่างในการหารายได้ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นคำตอบว่า โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ได้มอบองค์ความรู้ในแง่ไหนกันแน่สู่ผู้ที่กำลังจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติ

หรือแม้แต่เรื่องของ ‘ความคาดหวัง’ ของบรรดาผู้ปกครองที่พยายามจะปั้นลูกชายลูกสาวให้เป็นตุ๊กตาตามที่พวกเขาอยากให้เป็น สิ่งนี้ยังคงปรากฏให้เห็นในสังคมเมืองไทยอยู่ร่ำไป หรืออาจจะเลยเถิดไปถึงความกดดันจากสังคมรอบข้างที่เอาแต่ตั้งคำถามว่า เรียนจบคณะนี้แล้วจะไปทำงานอะไร? ได้เงินมากไหม? เป็นเกียรติเป็นศรีแก่วงศ์ตระกูลหรือเปล่า?

คำถามคือ… สิ่งเหล่านี้ควรถูกปลูกฝังอยู่ในหัวของเยาวชนไทยจริงหรือ?

Final Score อาจเป็นเพียงภาพยนตร์ที่สะท้อนความเป็นจริงบางอย่าง ของทั้งเยาวชนเอง ผู้ปกครอง หรือแม้แต่ระบบการศึกษาไทย แต่หากหันมามอง “โลกแห่งความเป็นจริง” ในทุกวันนี้แล้วล่ะก็ คำว่า “อนาคตของชาติ” ที่เราชอบพร่ำพรรณนากัน ก็ไม่รู้จะสดใสสว่างเรืองรองมากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้หรือไม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook