จาก Samui Song ถึง Sad Beauty เมื่อผู้หญิงกลายเป็นเหยื่อ

จาก Samui Song ถึง Sad Beauty เมื่อผู้หญิงกลายเป็นเหยื่อ

จาก Samui Song ถึง Sad Beauty เมื่อผู้หญิงกลายเป็นเหยื่อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

สองหนังไทยที่เข้าฉายอย่างไล่เลี่ยกัน เรื่องหนึ่งเป็นผลงานของผู้กำกับอย่าง เป็นเอก รัตนเรือง กับ Samui Song ไม่มีสมุยสำหรับเธอ หนังระทึกขวัญตลกร้ายตามสไตล์ผู้กำกับส่วนอีกเรื่อง เป็นหนังของ ตั๊ก บงกช ดาราสาวฝีปากร้อนแรงที่หันมาจับงานเบื้องหลัง ในหนังดราม่า ระทึกขวัญเรื่อง Sad Beauty เพื่อนฉัน ฝันสลาย โดยหนังไทยทั้งเรื่องนี้มีจุดร่วมกันตรงที่ ตัวเอกที่ใช้ดำเนินเรื่องนั้นล้วนแต่เป็น “เพศหญิง” และพวกเธอกำลังถูกคุกคามจากเพศชายด้วยวิธีต่างๆ

 

 

 

สำหรับเรื่องราวใน Samui Song ไม่มีสมุยสำหรับเธอ พาเราไปทำความรู้จักชีวิตของวิยะดา (พลอย เฌอมาลย์) นักแสดงสาวชาวไทยแต่งงานกับสามีชาวต่างชาติ โดยสามีของเธอเป็นผู้คลั่งไคล้ในการนับถือผู้นำทางจิตวิญญาณของลัทธินอกกระแส ประกอบกับความสัมพันธ์อันง่อนแง่นของทั้งคู่ ด้วยความเหนื่อยหน่ายที่สามีของเธอ “นกเขาไม่ขัน” และด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ทำให้เธอได้เจอกับกาย (เดวิด อัศวนนท์) ที่โรงพยาบาล ความบังเอิญครั้งนี้ ทำให้วิยะดา ตัดสินใจจ้างวานกายในการสังหารสามีของตัวเอง แต่เมื่อทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผนการที่วางเอาไว้ วิยะดาจึงตกที่นั่งลำบาก

 

 

ส่วน Sad Beauty เพื่อนฉัน ฝันสลาย เล่าเรื่องราวของสองเพื่อนสนิทระหว่าง โย (โฟร์เร้นซ์ เฟร์เว่อร์) และ พิม (ภัควดี เพ็งสุวรรณ) ที่เป็นเพื่อนกันมาตั้งเเต่เด็ก โย เป็นนางแบบชื่อดัง เธอมีความสวย เเต่ในความสวยของเธอนั้นไม่มีอะไรเลย ใช้ชีวิตกินดื่มเที่ยวไปวัน ๆ ไม่มีแก่นสาร เเต่โชคดีที่เธอมี พิม เพื่อนที่แสนดี น่ารักเเละหวังดีกับเธอมาก  เพื่อนสาวที่ไปไหนไปกัน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เธอเข้าใจโยเสมอ  จนมาถึงจุดที่พลิกผัน เมื่อวันหนึ่งโรคร้ายอย่างมะเร็งที่ลุกลามมาที่ดวงตาของชีวิตพิม เลวร้ายไปกว่านั้นคือที่บ้านของพิม พ่อใจร้ายมักจะชอบ “ลงไม้ลงมือ” กับแม่และเธออยู่เป็นประจำ จนวันหนึ่งฟางเส้นสุดท้ายก็ขาดลง พิมตัดสินใจฆ่าพ่อของตัวเองและพยายามหาวิธีอำพรางศพ เพราะถ้าหากความจริงถูกเปิดเผยออกไปชีวิต โยและพิมจะต้องพังพินาศ

จะเห็นได้ว่าความเชื่อมโยงของหนังทั้งสองเรื่องนี้ อยู่ที่ตัวละครเพศหญิงจากทั้งสองเรื่องพยายามจะหาทางออกให้กับชีวิต ที่ต้องตกอยู่ใต้เงื้อมเงาของเพศชาย ซึ่งทั้งสองตัวละครอย่างวิยะดาและพิม มองว่า “การฆาตกรรม” นั้นคือทางออกที่ง่ายที่สุด เพราะมันคือการ “ลบ” พวกเขาออกไปจากชีวิตและไม่ให้พวกเขากลับมาทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจของพวกเธออีก

ติดอยู่แค่ตรงการลงมือฆาตกรรมนั้น อาจจะดูเหมือนง่าย ทว่าปัญหากลับอยู่ที่ว่าหลังจากที่ก้างขวางคอในชีวิตของเธอหมดลมหายใจไปแล้ว พวกเธอจะจัดการกับสถานการณ์เหล่านี้อย่างไรต่อไป

สำหรับวิยะดาแผนการการจ้างวานฆ่าของเธอ กลับกลายเป็นปัญหาใหญ่เมื่อ “ศพ” ที่ควรจะถูกฝังหลังบ้าน กลับฟื้นคืนสติแล้วไปนอนหมดสติอยู่ที่อื่น นำมาซึ่งปัญหาบานปลายเมื่อตำรวจพยายามจะเข้ามาสืบสวนคดี จนทำให้วิยะดาต้องหาทางออกให้กับชีวิตในรูปแบบที่คนดูก็คาดไม่ถึง

ส่วนพิมใน Sad Beauty ที่ลากโย เข้ามาเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการฆาตกรรมพ่อของเธอนั้น ทางออกคือเธอพยายามนำศพไปฝังเพื่ออำพรางคดี แต่เธอก็นึกขึ้นได้ว่าตนมีลุงที่สนิทกับแม่ของเธอมาก และคิดว่าเขาน่าจะเป็นที่พึ่งสุดท้าย ในการแก้ไขสถานการณ์สุดเลวร้ายในครั้งนี้

เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ของตัวละครทั้งสองนี้จะเห็นได้ชัดยิ่งขึ้นเลยว่าพวกเธอล้วนแล้วแต่กลายเป็นเหยื่อของผู้ชาย อย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยง แม้ว่าเธอจะพยายามหาทางออกแค่ไหนก็ตามแต่เหมือนกับว่ายังไง พวกเธอก็ยังต้องพึ่งพาผู้ชาย (นักฆ่าอย่างกายหรือลุงของพิม) ในการแก้ไขคลี่คลายสถานการณ์อันแสนเลวร้าย เนื่องจากผู้หญิงอย่างพวกเธอดำรงอยู่ภายใต้สถานะที่ต้อง “อาศัย” ผู้ชายมาโดยตลอด (วิยะดาแต่งงานเพราะต้องการชีวิตที่สุขสบายและเงินน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการมีสามีเป็นศิลปินชาวต่างชาติ ส่วนโย เป็นเด็กสาวในวัยมหาวิทยาลัยที่ต้องขอเงินที่บ้านกิน เที่ยวและใช้ชีวิต)

เมื่อหนังแต่ละเรื่องยิ่งดำเนินไปเรื่อยๆ เราก็จะยิ่งได้เห็นปัญหาอันหนักหน่วงยิ่งขึ้น วิยะดาถูกกายตามล่า จากนั้นหนังก็เปลี่ยนเส้นเรื่องด้วยการที่ตัวละครนี้หายไปจากหน้าจอภาพยนตร์เป็นเวลานานก่อนที่จะปรากฏตัวอีกครั้งในช่วงไคลแมกซ์ เช่นเดียวกับตัวละครพิมที่อาการของโรคมะเร็งรุนแรงจนเธอต้องเข้าผ่าตัดที่อาจจะทำให้เธอเสียชีวิตได้

บทสรุปของหนังทั้งสองเรื่อง (มีการเปิดเผยตอนจบของหนัง สำหรับผู้ที่กลัวว่าจะเสียอรรถรสหากยังไม่ได้รับชมกรุณาข้ามย่อหน้านี้ไป) ยิ่งทำให้คนดูเห็นชัดเจนเลยว่า ท้ายที่สุดแล้ว “ความตาย” อาจจะเป็นทางออกเดียวที่ทำให้พวกเธอสามารถหนีจากชีวิตบัดซบนี้ไปเสียที วิยะดากับภาพตัวละครที่เธอรับแสดงนั้นจะยิงตายในฉากจบ กลายเป็นภาพในจินตนาการที่ซ้อนทับกับชีวิตจริงของเธอ สอดรับกับเหตุการณ์ปัจจุบันนั้น เธอกลับมาแต่งงานกับหัวหน้าลัทธิ ผู้ที่สามีเก่าเธอเคยนับถือ อีกทั้งยังมีลูกด้วยกัน ส่วนตัวละครพิมใน Sad Beauty ก็อยู่ในอาการสมองตายและเท่ากับเธอ “ตาย” แล้วทางการแพทย์นั่นเอง

อย่างไรก็ตามเมื่อมองย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น หนังทั้งสองเรื่องล้วนแล้วแต่เป็น “แฟนตาซี” ของตัวผู้กำกับทั้งสิ้นแต่ Samui Song ไม่มีสมุยสำหรับเธอ กำกับโดยผู้กำกับผู้ชาย ในขณะที่ Sad Beauty เพื่อนฉัน ฝันสลาย กำกับโดยผู้หญิง (แต่มีโปรดิวเซอร์ผู้ชายอย่างก้องเกียรติ โขมสิริ ช่วยดูแล) แต่ท้ายที่สุดแล้วหนังก็แสดงให้เห็นถึง “ทุกข์” ของผู้หญิงในโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่นั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook