จาก “15 ค่ำ เดือน 11” สู่ “มะลิลา” วิถีแห่งการแสดงที่ไม่หยุดนิ่งของ โอ อนุชิต

จาก “15 ค่ำ เดือน 11” สู่ “มะลิลา” วิถีแห่งการแสดงที่ไม่หยุดนิ่งของ โอ อนุชิต

จาก “15 ค่ำ เดือน 11” สู่ “มะลิลา” วิถีแห่งการแสดงที่ไม่หยุดนิ่งของ โอ อนุชิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เดือนตุลาคมปี 2545 ภาพยนตร์เรื่อง "15 ค่ำ เดือน 11" ได้ออกฉายสู่สายตาคอหนังชาวไทย เรื่องราวปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคอันลี้ลับได้แจ้งเกิดให้กับนักแสดงหนุ่มที่ชื่อ โอ-อนุชิต สพันธุ์พงษ์ ที่รับบท “คาน” ตัวละครเอกในเรื่อง สองปีถัดมา บทบาทนักระนาดหนุ่มผู้หยิ่งผยองอย่าง “นายศร” ในภาพยนตร์เรื่อง "โหมโรง" ก็ตอกย้ำความสามารถทางการแสดงของเขาอีกครั้งได้อย่างชัดเจน หลังจากนั้นเป็นต้นมา เราก็มีโอกาสได้เห็นบทบาทอันหลากหลายทั้งทางละครโทรทัศน์ ซีรีส์ หรือแม้แต่ละครเวทีที่ โอ เค้นศักยภาพในฐานะ “นักแสดง” ออกมาให้ทุกคนได้ติดตามกันอยู่เรื่อยๆ

มาในปีนี้ โอ อนุชิต ก็สร้างความฮือฮาอีกครั้งกับบทบาท “พิช” นักทำบายศรีที่ใช้ชีวิตวนเวียนท่ามกลางความรู้สึกในอดีตในภาพยนตร์เรื่อง "มะลิลา" เพราะนอกจากการรับบทบาทเป็นเป็นเกย์หนุ่ม คนรักของ เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ พระเอกของเรื่อง, ฉากเลิฟซีนอันสมจริงแต่งดงาม รวมถึงการที่หนังเรื่องดังกล่าวออกเดินทางไปสร้างชื่อตามเทศกาลหนังนานาชาติหลายเวที หลายคนยังเอ่ยปากชมว่า นี่คือการแสดงที่ดีที่สุดในชีวิตของผู้ชายที่ชื่อ โอ อนุชิต อีกด้วย

แต่สิ่งที่เราสนใจมากกว่านั้น กลับเป็นวิถีแห่งการแสดงที่น่าจับตามองมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปีในวงการบันเทิงของเขา จากบทบาทที่ไม่ซับซ้อน สู่การเป็นตัวละครที่ต้องใช้การตีความอย่างหนักอึ้งในช่วงหลังๆ และนี่ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ทำความรู้จักกับ โอ อนุชิต ให้มากขึ้น ... ทั้งในโลกแห่งความเป็นจริง รวมถึงโลกแห่งมายาที่ต้องใช้ศาสตร์ทางการแสดงอันท้าทายเป็นที่สุด

 

ย้อนกลับไปเมื่อราวๆ 15 ปีที่แล้วกับภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิต “15 ค่ำ เดือน 11” ยังจำความรู้สึกในฐานะนักแสดงหน้าใหม่ได้ไหมว่าเป็นอย่างไรบ้าง?

ตอนนั้นเราไม่เข้าใจการแสดง เพราะฉะนั้นเราจะเอาตัวเองเข้าไปเล่น เช่น เขิน โกรธ แล้วตัวบทก็ไม่ซับซ้อนมาก ก็เลยทำออกมาได้ ความยากที่สุดสำหรับตอนนั้นคือการพูดภาษาอีสานให้เหมือนเป็นคนอีสาน มันยากมากเลย เราให้พี่ที่พูดภาษาอีสานพูดไดอาล็อกที่เป็นภาษาอีสานทั้งหมดใส่ลงในเทปคาสเซตต์ แล้วเราเอาไปฟังในซาวด์อะเบาต์อีกที ฟังเหมือนเพลง จำเป็นเมโลดี้ไป ซึ่งถ้ามีใครพูดนอกบทปุ๊บเราจะไม่เก็ตทันที (หัวเราะ) ความยากอีกอย่างหนึ่งคือฉากจบ เราอ่านบทครั้งแรกแล้วร้องไห้ แค่รู้สึกกังวลว่าตอนเล่นเราจะทำได้หรือเปล่า แต่ด้วยอะไรบางอย่างมันทำให้เราทำออกมาได้ดีมาก พี่เก้ง (จิระ มะลิกุล – ผู้กำกับ 15 ค่ำ เดือน 11) บอกว่า เฮ้ย! เล่นได้นี่ พี่เขาก็เลยเพิ่มบท ณ ตอนนั้นเลย สิ่งที่ยากก็คือ ไม่มีภาษาอีสานที่เราเคยท่องมาก่อน เราไม่ได้ทำการบ้าน มันคือฉากร้องไห้คร่ำครวญครั้งแรก มันมีแต่ความกดดัน แล้วมันก็ออกมาแย่มากในความรู้สึกเรา ทุกครั้งที่เห็นฉากนี้ในหนัง เราจะหันหน้าไปทางอื่นเลย ซึ่งก็ยอมรับนะว่าเรายังไม่อินกับการแสดงหรอก เรามาเข้าใจมันตอนที่เล่น โหมโรง

"โหมโรง" ทำให้คุณเข้าใจการแสดงได้อย่างไร?

ตัวละคร นายศร มันไม่ได้มีความใกล้เคียงกับเราเลย มีความหยิ่งผยอง มั่นใจในฝีมือระนาดของตัวเองว่า ฉันเป็นที่หนึ่งในประเทศ ในโลกใบนี้ ซึ่งระหว่างถ่ายทำมันยากมาก เพราะเราตีระนาดไม่เป็น ทุกคนในเรื่องต้องตีซิงค์กับดนตรีที่เขาทำมา ไม่ซิงค์ก็ต้องถ่ายใหม่ พอซิงค์ได้ แอ็คติ้งไม่ได้ ก็ต้องถ่ายใหม่ คือกว่าจะถ่ายได้แต่ละเพลงมันเต็มไปด้วยปัญหานานาชนิด มันทำให้เราท้อเลยนะ เขาจะเปลี่ยนตัวนักแสดงหรือเปล่าวะ เราเริ่มไม่สนุก จนกระทั่งวันที่พี่อิท (อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ – ผู้กำกับ โหมโรง) ตัดต่อเพลงแรกเสร็จแล้วมาเปิดดูกันที่กอง ความรู้สึกแรกของเราคือ ... นั่นเราเหรอ? ทำไมมันเท่จังวะ? มันดูไม่เป็นเราเลย มันทำให้เรารู้สึกว่า การแสดงทำให้เราเป็นอะไรก็ได้ เราสามารถเป็น นายศร เซียนระนาดผู้หยิ่งผยอง ทั้งที่ตัวจริงเราตีไม่ได้ ตอนนั้นก็เลยเริ่มชอบ และเข้าใจการแสดงมากขึ้น โหมโรง ทำให้เราเริ่มหลงมนต์เสน่ห์ในการแสดงนะ ตอน 15 ค่ำ เดือน 11 นี่ไม่รู้สึกเลย

ตอนนั้นเริ่มรู้สึกถึงขนาดที่ว่า “หรือว่าเราจะเกิดมาเพื่อเป็นนักแสดง” เลยหรือเปล่า?

เราเชื่อมาตลอดว่าเราเกิดมาเป็นแดนเซอร์ เราทำมันได้ดี และรักมัน เป็นสิ่งแรกในชีวิตที่เจอแล้วก็ทำสำเร็จ เราไม่เคยคาดฝันกับการเป็นนักแสดงมาก่อน ตอน 15 ค่ำ เดือน 11 ทีมงานตามให้เราไปแคสติ้ง 3 รอบ แต่เราไม่อยากเป็นดาราเป็นนักแสดงไง ถึงขนาดพี่เขาถามว่า เนื้อหาของหนังเรื่องนี้เกี่ยวกับบั้งไฟพญานาคนะ น่าสนใจไหม? เราพูดกลับไปตรงๆ เลยว่า ไม่น่าสนใจครับ ไม่เห็นอยากรู้เลยว่ามันทำมาจากอะไร จนกระทั่งพี่เขายื่นบทมาให้เอาไปอ่านก่อน พออ่านจบปุ๊บร้องไห้หนักมาก รู้สึกว่านี่มันบทหนังไทยเหรอ? มันเท่มาก เหมือนหนังฝรั่งเลย กลับกลายเป็นว่า ต้องทำทุกอย่างเพื่อที่จะได้เล่น จนในที่สุดเราก็ได้เล่นเป็น คาน วันสุดท้ายที่ทำงานเสร็จ พี่เก้งให้กล่องฟิล์มภาพยนตร์ที่เป็นวงกลมๆ แล้วก็เขียนกำกับไว้ว่า “โอคือ ‘คาน’ ในฝันของผม” เราดีใจมาก

หลังจากนั้นเราก็เห็นคุณก้าวเข้าสู่วงการละครโทรทัศน์ รวมถึงละครเวทีด้วย?

เอาจริงๆ นะ ละครโทรทัศน์และละครเวทีอาจเป็นโอกาสใหม่ๆ ที่มีความน่าสนใจ แต่ระหว่างนั้นเรากลับโหยหาภาพยนตร์มาก เรามีความพยายามที่จะเล่นภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ เราอยากเล่นหนังเรื่อง กอด มาก แต่พี่เก้งเดินมาบอกเราว่า พี่ผู้กำกับบอกว่า โอคือนักแสดงจากหนัง 2 เรื่องที่ดีมากๆ เขาไม่กล้าทำให้สถิติของโอตกในหนังเรื่องที่ 3 เราก็ขอบคุณเขานะ เพราะเรายังไม่คิดว่าเราอยู่ในจุดนั้นเลย การที่คนกลัวแบบนี้มันก็ทำให้เราไม่ต้องเล่นหนังกันเลยเหรอ แต่พี่เก้งก็สอนว่า อย่าเล่นเยอะ ไม่ต้องไปเล่นอะไรมากมาย เอาเรื่องที่มันใช่ มันจะมีหนังที่เป็นหนังของโอเท่านั้นจริงๆ แล้วในที่สุดเราก็มาเจอ มะลิลา

คุณรู้สึกว่า "มะลิลา" เป็นหนังของคุณจริงๆ?

มันมีเหตุเยอะมากเลยนะ เราเจอ นุชชี่ (อนุชา บุญยวรรธนะ – ผู้กำกับ มะลิลา) ครั้งแรกคือ 2-3 ปีก่อน เขาบอกเราว่าเขาเขียนบทโดยมีหน้าเราเป็นจินตนาการ และเปิดหนังเรื่อง Lust, Caution ให้ดูเป็นเรเฟอเรนซ์ ... Lust, Caution เลยนะ มันโหดมาก มันดูจริงมาก แต่นุชชี่เขาก็บอกว่าไม่ได้แรงขนาดนี้ ท้ายที่สุดเราก็ปฏิเสธไปด้วยเหตุผลบางอย่าง จนกระทั่งหลายปีต่อมาก็เจอนุชชี่โดยบังเอิญ เราก็ถามว่า มะลิลา ไปถึงไหนแล้วครับ เขาตอบกลับมาว่า ก็ตั้งแต่เธอไม่เล่น ฉันก็ยังหาใครมาแทนไม่ได้ คือก็ดีใจนะ แล้ววันรุ่งขึ้นเจอนุชชี่อีก แต่ตอนนั้นเรารู้สึกว่า หน้าที่อย่างหนึ่งของนักแสดงคือการที่เราต้องไม่เอาตัวเองไปเกี่ยวพันกับอะไรที่อาจจะก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบต่อสังคม แต่เราจะไม่บอกเขานะ เพราะมันคือเรื่องที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอ เป็นสิทธิของเขา แต่จะบอกว่าเราขอไม่เล่นเพราะติดตรงนี้มันก็ไม่ใช่อีก ท้ายที่สุดบทที่เขาส่งมาใหม่มันไม่มีตรงนั้นเลย นี่มันคือบทหนังรักดีๆ เรื่องหนึ่งเลยนะ

ตอนนั้นรู้ไหมว่าต้องเล่นคู่กับ เวียร์ ศุกลวัฒน์?

ตอนแรกเขาไม่ยอมบอก บอกแค่ว่าเป็นพระเอกเบอร์ต้นๆ ของประเทศ พอเขาบอกชื่อก็... จริงเหรอ เรายังเซอร์ไพรส์เลยว่าทำไมเวียร์ถึงเล่น เขาก็คงอยากพิสูจน์อะไรบางอย่าง เราก็เลยรู้สึกว่ามันมีความน่าสนใจขึ้น ทั้งๆ ที่ตอนแรกยอมรับว่าอ่านบทไม่รู้เรื่องจริงๆ เหมือนกับถามอย่างตอบอย่าง ถามเรื่องในอดีต ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่พอเริ่มอ่านบทไปลึกๆ ก็เริ่มเข้าใจตัวละครมากขึ้น ยังจำได้เลยว่าตอนที่อ่านบท พ่อเราก็เป็นมะเร็ง บอกพ่อว่า “ป๊า เดี๋ยวอั๊วจะเล่นหนังนะ มันอาจจะมีฉากโป๊หน่อย” เขาก็ถามกลับมาว่า จะเล่นหนังเรตอาร์เหรอ (หัวเราะ) เราก็บอกว่าไม่ใช่ แต่มีฉากเลิฟซีน ซึ่งพ่อก็ถามต่อนะว่าใครเป็นนางเอก เราเลยตอบกลับไปว่า “โอว่าโอนี่แหละเป็นนางเอก” พ่อก็ขำ

เห็นว่าคุณต้องสร้างคาแรคเตอร์ตัวละครโดยการเขียนขึ้นมาเองร่วมกับ เวียร์ ศุกลวัฒน์ ขั้นตอนมันเป็นอย่างไร?

จริงๆ ในบทก็มีเขียนมาคร่าวๆ ไว้แล้ว ซึ่งมันทำให้เรารู้ว่า พิช ไม่แมน มีความหวานนิดๆ เราสามารถเข้าใจได้ว่า ตัวละครน่าจะไปทางไหน แต่ก็จะมีบางคำที่เราพูดแล้วมันไม่เหมาะปาก นุชชี่บอกว่าไม่เชื่อว่าตัวละครพูด ขั้นตอนแรกคือต้องเอาความเป็นตัวเองออกไปให้หมดก่อน ต้องไม่เหลือความเป็น โอ อนุชิต มีวิธีการทำสมาธิ ซึ่งเมื่อลืมตาขึ้นมาต้องรู้สึกกับสิ่งแรกที่เราเห็น อาจจะเป็นกำแพง อากาศ หรืออะไรก็ตาม สิ่งที่ได้ยิน สิ่งที่ตกกระทบ ท้ายที่สุดเราจะไปจดจ่อกับสิ่งเหล่านั้นมากจนลืมตัวเอง แล้วมันก็มีกระบวนการที่ทำให้เราค่อยๆ กลายเป็นพิช ทีนี้ก็มานั่งคุย มาเวิร์กช็อปกันว่า ตัวละครทั้งสองเจอกัน คุยกันครั้งแรกอย่างไร มันเป็นเรื่องที่เราและเวียร์เขียนขึ้นมาเพราะมีการโต้ตอบกันไปมา หรือบางทีมีคำพูดที่อยู่ดีๆ ก็พูดออกมาพร้อมกัน เราก็หันไปมองหน้าเวียร์แล้วรู้สึกว่า โรแมนติกจัง มหัศจรรย์จัง หรือแม้กระทั่งฉากที่ตัวละครต้องจากลากันครั้งแรก พูดตรงๆ นะ เราร้องไห้มากกว่างานศพพ่อเราอีก งงมากว่าทำไมเราถึงได้เจ็บขนาดนี้ ในฐานะนักแสดงคือมันดีมากนะที่เราเปลี่ยนตัวเองจนแตะความรู้สึกพวกนี้ได้ แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีข้อเสีย เพราะทุกความทรงจำของพิชที่เก็บเอาไว้ในตัวเรา มันไม่ได้ออกไปพร้อมกับพิช ความเจ็บปวด ความเสียใจมันยังอยู่กับ โอ อนุชิต อยู่ดี

 

ชมคลิปเจาะลึกการรับบทบาท "พิช" ในหนัง "มะลิลา" ของ โอ อนุชิต ได้ที่นี่

 

แสดงว่าคุณเป็นนักแสดงประเภทที่อินกับบทมากๆ จนจมดิ่งลงไปเรื่อยๆ?

เราให้ความสำคัญกับภาพยนตร์มาก สำหรับเราภาพยนตร์เป็นอมตะ แล้วมันมีความจริงมากกว่า อย่างละครบางเรื่องที่ใช้ความแค้นหรือความอิจฉาริษยาเป็นตัวนำ เราก็ไม่ได้อินกับมันขนาดนั้น เราสามารถ on และ off ความรู้สึกได้ แต่ช่วงเวลา 7 วันที่เราถ่าย มะลิลา มันเป็นเวลาที่สั้นมาก แล้วตัวละคร พิช น่ะมีความคิดที่ไม่เหมือนใคร เราก็ไม่กล้า off ออกไปจากความรู้สึกนั้น เพื่อนสนิทก็มาทักว่า ทำไมเราดูเศร้าจัง ไหวหรือเปล่า เราก็บอกว่าไหวแหละ แต่ตอนนั้นมันก็เจ็บจริงๆ มองฟ้ามองอะไรก็รู้สึกแย่ไปหมด หรือแม้กระทั่งซีนสุดท้ายของพิช เราเจ็บปวดจนเดินไปบอกครูบิวว่า ครูบิวสอนวิธีที่เอาความรู้สึกนี้เข้ามา สอนวิธีเอามันออกไปหน่อย เพราะเราเอาออกไปไม่ได้ แล้วก็นั่งร้องไห้อยู่ข้างๆ มอนิเตอร์แล้วก็พูดกับตัวเองว่า ขอบใจมากนะพิช แต่เธอออกไปจากร่างฉันเถอะ (หัวเราะ) คนอื่นอาจจะรู้สึกว่าเป็นบ้าหรือเปล่า แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ซึ่งความรู้สึกของพิชก็ยังไม่หลุดออกไปจากชีวิตจริงของเรานะ ยังมีมาเรื่อยๆ ยังมีความถอนหายใจอยู่บ้าง แต่พิชก็สอนเราไว้เยอะนะว่า อย่าไปดีใจหรือเสียใจอะไรนานๆ เพราะท้ายที่สุดทุกอย่างก็อยู่แค่แป๊บเดียว

สิ่งที่คุณเล่าเมื่อสักครู่นี้ คุณคิดว่าเกิดจากประสบการณ์ในชีวิตการแสดง หรือมันเกิดขึ้นเฉพาะกับตัวละคร พิช เท่านั้น?

ประสบการณ์ นักแสดงร่วม ผู้กำกับ บรรยากาศในกอง สิ่งเหล่านี้มีผลมากครับ ในฐานะนักแสดงเรารู้สึกว่า หน้าที่หลักของเราคือทำให้คนดูเชื่อ อย่างตอนคลับฟรายเดย์ ที่เราเล่นเป็น บอม เราแตะความรู้สึกตรงนั้นได้จนเพื่อนบอกว่า เดี๋ยวคนก็เม้าท์หรอกว่าอินจริง ก็ต้องอินเปล่าวะ ถ้าไม่อินมันจะเล่นได้ยังไง แต่ตอนนั้นไม่ได้เป็นอะไรมากเพราะไม่มีการใส่ความทรงจำของตัวละครเข้ามา แต่ มะลิลา นี่หนักมาก พี่โปรดิวเซอร์ของหนังเรื่อง Samui Song ไปเจอผมที่ปูซานก็เข้ามาถามว่า โอเล่นเรื่องนี้ต้องอินออกมานอกบทเลยใช่ไหม เขาบอกว่าดูแล้วรู้สึกว่านั่นไม่ใช่การแสดง และเป็นห่วงว่า ถ้าเราเจอบทที่มันไปไกลกว่านี้ เราจะเป็นแบบ ฮีธ เล็ดเจอร์ หรือเปล่า เราก็บอกว่ามันคงไม่ถึงขั้นนั้นมั้งครับ แต่ว่า... ก็น่าตื่นเต้นดี

ความสุขในการแสดงทุกวันนี้ของคุณคืออะไร หลังจากอยู่ในวงการมากว่า 15 ปี?

บรรยากาศในกอง เพื่อนร่วมงาน อย่างละคร เราต้องทำใจกับเรื่องบทเดิมๆ เนื้อหาเดิมๆ ของละครให้ได้ ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีความสุขเลย ต้องยอมรับว่าละครไทยมันมีความซ้ำ หรือพอเราเล่นบทร้ายที คนก็จะส่งแต่บทตัวโกงมาให้ พอเล่นเป็นเกย์ คนก็ส่งแต่บทเกย์มาให้ แต่ถ้าเราไม่เล่นแล้วเราจะเอาอะไรกิน เพราะฉะนั้นเราต้องทำใจกับเรื่องพวกนี้ให้ได้ แล้วหาความตื่นเต้นว่า เราจะเล่นบทร้ายๆ หรือบทเกย์ให้แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ อย่างไร อย่าง มะลิลา คนก็เข้ามาคอมเม้นต์ว่า โอ อนุชิต เล่นบทเกย์อีกแล้ว แต่เรากลับรู้สึกว่า ลองคุณมาอ่านบท มะลิลา ดูสิ เป็นใครก็ต้องเล่นเปล่าวะ ถ้าบทมันดีขนาดนี้

กำลังจะถามเลยว่า หลายคนพอเห็นชื่อ โอ อนุชิต ภาพตัวละครเกย์ก็จะลอยมาก่อน คุณมองประเด็นนี้อย่างไร?

อย่างที่บอกครับ เกย์มันก็คนละคนกัน เราไม่ได้เล่นบทเดิม โจทย์ของเราคือทำอย่างไรให้มันแตกต่าง แต่เราก็เลือกนะ บางบทที่เป็นเกย์เราก็ไม่รับเล่น ก่อนหน้านี้มีคนเสนอบทครูเกย์ที่ลวนลามนักเรียน เรารู้สึกว่ามันสุ่มเสี่ยง ทำไมครูเป็นเกย์แล้วต้องลวนลามนักเรียนด้วยวะ คือถามว่าเรื่องรับบทเกย์สำหรับเรา เราไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องใหญ่โต เราแค่มีความสุขกับการสร้างคาแรคเตอร์ใหม่ๆ มากกว่า

ประโยค “เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด” จาก 15 ค่ำ เดือน 11 มันสะท้อนภาพการเป็นนักแสดงในทุกวันนี้ของคุณอย่างไร?

บางทีเราก็ไม่ได้ทำในสิ่งที่เราเชื่อหรอก แต่เราก็ต้องพยายามเชื่อในสิ่งที่เราทำ คนรอบกายเราชอบบอกว่าเราเพ้อฝัน มองโลกในแง่ดีเกินไป แต่ท้ายสุดถ้ามันทำให้ชีวิตเราแฮปปี้ ก็ไม่ต้องไปสนใจใครหรอก ทำไปเถอะ ต่อให้คนทำไม่ดีกับเรา เราก็หาข้อที่ดีที่สุดมาให้เหตุผลก่อน มันไม่ใช่การโกหกตัวเอง แต่มันทำให้เราสบายใจ

เป้าหมายสำหรับอาชีพนักแสดงของคุณคืออะไร?

อาจจะดูเพ้อฝันนะครับ แต่เราฝันว่า อยากจะเป็นนักแสดงไทยคนแรกที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ (หัวเราะ) ก็เพ้อไปก่อน จริงไม่จริงไม่รู้ แต่เราอยากไปเวทีออสการ์มาก

ท้ายสุด ก่อนหน้านี้คุณบอกเราว่า ช่วงแรกในชีวิตการเป็นนักแสดง คุณรู้สึกว่าคุณเกิดมาเพื่อเป็นแดนเซอร์มากกว่า แล้วตอนนี้ล่ะ ผ่านมาสิบกว่าปีแล้ว ความคิดมันเปลี่ยนไปบ้างไหม?

ก็ยังไม่ได้คิดว่าตัวเองเกิดมาเพื่อเป็นนักแสดงอยู่ดี เราไม่ได้ชอบการแสดงตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เราไม่เข้าใจมัน มันอาจจะบังเอิญว่าเป็นสิ่งที่เราทำออกมาได้ดี แล้วก็โชคดีที่เรามีความสุขในการทำมัน เพราะเรามีความเพ้อฝันอยู่ในสมองเยอะ เราว่าจินตนาการมันสำคัญกว่า ซึ่งมันจริง การที่เราเซ้นซิทีฟมาก เราร้องไห้กับเรื่องง่ายๆ เพื่อนก็ด่าเรานะ แต่บางอันเรารู้สึกว่ามันเป็นน้ำตาที่เต็มไปด้วยความสุขนะ

 
Photos by: Ditsapong K.

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ จาก “15 ค่ำ เดือน 11” สู่ “มะลิลา” วิถีแห่งการแสดงที่ไม่หยุดนิ่งของ โอ อนุชิต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook