รีวิว Phantom Thread นี่แหละ Fifty Shades Darker ของจริง
ถ้าถามผู้เขียนว่าในบรรดาหนังที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปีนี้ เรื่องไหนโดดเด่นและมีสไตล์มากที่สุดเราคงอยากจะยกให้ Phantom Thread ได้รับรางวัลไป (ในความคิดเรา) แต่หนังแบบนี้ไม่ใช่หนังที่ออสการ์รัก และไม่ใช่หนังประเภทที่น่าจะได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เนื่องจากมันเป็นหนังมีความมืดหม่น มีความพิศวง วิกลจริตแต่เคลือบด้วยความงาม และการกำกับที่ประณีตที่อณู
ตัวหนังเล่าเรื่องราวในกรุงลอนดอนปี 1950 ยุคหลังสงครามที่ช่างตัดเสื้อผู้โด่งดังอย่างเรย์โนลด์ส วู้ดค็อก (แดเนียล เดย์-ลูอิส) และน้องสาวของเขา ซิริล (เลสลีย์ แมนวิลล์) เป็นผู้อยู่ศูนย์กลางแฟชั่นอังกฤษพวกเขาตัดเย็บชุดให้กับเชื้อพระวงศ์ ดาราหนัง ทายาทสาว หนุ่มสาวสังคม เด็กสาวแรกแย้มที่เพิ่งเปิดตัวในแวดวงสังคมและท่านผู้หญิงทั้งหลายด้วยสไตล์ที่โดดเด่น
ถึงแม้จะทำอาชีพที่เกี่ยวกับเสื้อผ้าแต่เรย์โนลด์ส ถวิลหาในความงดงามจากผู้หญิงเช่นกัน ผู้หญิงหลายคนผ่านเข้ามาในชีวิตของเขาและผ่านออกไป จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้พบกับ อัลมา(วิคกี้ ครีปส์) สาวเสิร์ฟมากเสน่ห์ที่ผันตัวเองเข้ามาในชีวิตของเรย์โนลด์ จากแรกเริ่มที่เขาเป็นคนที่วางแผนทุกอย่างเอาไว้ในชีวิตและคิดว่า ทุกสิ่งนั้นตนสามารถควบคุมได้ก็ต้องสั่นคลอนและเปลี่ยนแปลงไปแบบคาดไม่ถึง
Phantom Thread เป็นหนังประเภทสำรวจตัวละครที่น่าสนใจ เมื่อเราพิจารณาบริบทของตัวละครเรย์โนลด์ส วู้ดค็อก จะพบว่าตัวละครนี้มีบุคลิกในการ “ควบคุม” หรือกุมอำนาจบางอย่างเอาไว้ ความภูมิใจและสร้างแรงกระตุ้นในชีวิตของเขาคือผลงานการทำชุดที่ออกมาโดดเด่นและทำให้คนที่สวมใส่สัมผัสได้ถึงคุณค่าของตัวเอง ทว่าบุคลิกขี้จุกจิกและสนใจแต่เรื่องของตัวเอง ดังนั้นเขาจึง “โมโห” ง่าย ยามที่แผนการทำงานที่วางเอาไว้ออกมาไม่สมบูรณ์หรือตรงตามที่เขาวางแผนเอาไว้ โชคดีที่ซิริล น้องสาวของเขาสามารถดูแลกิจการห้องเสื้อให้สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่นและไม่สะดุด ซึ่งเธอเปรียบได้กับฝ่ายบริหาร ในขณะที่เรย์โนลด์สนั้นคือฝ่ายปฏิบัติการนั่นเอง
จนกระทั่งเมื่อตัวละครอัลม่าเข้ามาเป็นชีวิตรักครั้งใหม่ของเรย์โนลด์ส รักในช่วงโปรโมชั่นของทั้งสองหวานหอมและเป็นไปอย่างราบรื่น จนกระทั่งเธอเริ่มเข้ามามีส่วนในชีวิตของเรย์โนลด์สมากขึ้น เขาก็เริ่มอยากจะสลัดเธอออกไปจากชีวิต แต่อัลม่าทำให้ผู้ชมเห็นว่า เธอมีวิธี “ควบคุม” ผู้ชายคนนี้ให้อยู่ใต้อาณัติของเธอได้ด้วยวิธีการที่ไม่ธรรมดา และเผ็ดร้อนเกินกว่าใครจะคาดคิด
อัลม่าเป็นตัวละคร “หญิงร้าย” ในคราบของตัวละครนางเอกที่น่าสนใจ แถมความสัมพันธ์ของตัวละครเรย์โนลด์สและอัลม่าในหนังเรื่องนี้ก็จัดได้ว่าเป็นความรักแบบ “ซาดิสม์ มาโซคิสม์” ประเภทหนึ่งด้วยเช่นกัน ซึ่งดุเดือดและน่าสะพรึงกลัวจนทำให้หนังภาคต่อแบบ Fifty Shades of Grey กลายเป็นหนังโรแมนติกใสๆไปเลย
อัลบั้มภาพ 4 ภาพ