11 หนังไทยที่โดดเด่นในรอบปี 2560 ทำความรู้จักก่อนประกาศผลรางวัลสุพรรณหงส์ปีนี้
หนังไทยในรอบปี 2560 น่าจะเป็นอีกหนึ่งปี ที่หนังไทยกระแสหลักขาดแคลนหนัง “น้ำดี” ส่งผลให้ภาพรวมอุตสาหกรรมไทยในปีก่อนค่อนข้างซบเซา มีหนังเพียงไม่กี่เรื่องที่ประสบความสำเร็จเรื่องรายได้และคำวิจารณ์ อีกทั้งหนังจำนวนไม่น้อยก็ยังเป็นหนังที่มีความเฉพาะกลุ่มและเข้าฉายเพียงไม่กี่โรงภาพยนตร์ ด้วยพฤติกรรมการเสพสื่อฯ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากของคนไทย ได้ส่งผลถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โรงภาพยนตร์ ทีมงานผู้สร้างที่หลายบริษัทก็ยังเลือกสร้างภาพยนตร์ที่ “มีโอกาสทำเงิน” เพื่อดำรงธุรกิจให้ดำเนินต่อไป ในขณะที่อีกหลายบริษัทก็ยุติการสร้างหนัง เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุน เราลองย้อนกลับไปดูปีที่ผ่านมาว่ามีหนังไทยเรื่องไหนที่อยู่ในความทรงจำและควรกล่าวถึงบ้าง
ฉลาดเกมส์โกง
ผู้กำกับ : นัฐวุฒิ พูนพิริยะ
หนังจากค่าย GDH ที่โดดเด่นในเรื่องการใช้เทคนิคตัดต่อภาพยนตร์เข้ามาเป็นตัวเร้าเรื่องราวของกลุ่มนักเรียนหัวกะทิที่วางแผนโกงข้อสอบระดับชาติ ด้วยสไตล์หนังระทึกขวัญที่เล่นกับความคาดหวังของคนดู หนังเรื่องนี้จึงกลายเป็นหนังที่ “โคตรสนุก” ของปี 2560 ประกอบการแสดงที่ตีบทแตกกระจุย ไม่ว่าจะเป็น ออกแบบ ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่งและ ชานน สันตินธรกุล รวมไปถึงธเนศ วรากุลนุเคราะห์ (พ่อของลิน) ที่คาดการณ์กันว่า ดาราทั้ง 3 คนนี้น่าจะคว้ารางวัล นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมและนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมบนเวทีประกาศผลรางวัลสุพรรณหงส์ไปครอบครอง อีกทั้ง ฉลาดเกมส์โกงยังเป็นหนังไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงเมื่อเข้าฉายในประเทศจีนอีกด้วย
เพื่อนที่ระลึก
ผู้กำกับ : โสภณ ศักดาพิศิษฎ์
อีกหนึ่งหนังของค่าย GDH ที่แม้จะทำรายได้ไม่เข้าเป้า แต่หนังก็หยิบเอาประเด็นทางประวัติศาสตร์อย่างเรื่องวิกฤติการณ์ต้มยำกุ้งในปี 2540 มาเป็นฉากหลัง และสร้างความน่าสะพรึงกลัวด้วยการใส่ “ผี” จากอดีตที่ต้องการกลับมาทวงคำสัญญาจากบุ๋ม (บี น้ำทิพย์ จงรัชตวิบูลย์) ซึ่งโดดเด่นมากในแง่การแสดงที่ต้องเป็นทั้งนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังประสบปัญหาทางด้านการเงิน อีกทั้งต้องเผชิญกับอาการ “ละเมอ” ของลูกสาว ที่นับวันก็ยิ่งน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ
สยามสแควร์
ผู้กำกับ : ไพรัช คุ้มวัน
หนังผีวัยรุ่นที่หยิบเอาตำนาน "วิญญาณเด็กสาวในสยามสแควร์" มาสร้างความน่าสะพรึงกลัว แต่ด้วยความทะเยอทะยานของบทภาพยนตร์ที่ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นมากกว่าแค่หนังผีตามหลอกหลอน คือทีเด็ดในช่วงเฉลยปมปริศนา จนทำให้คนดูต้องกลับไปทบทวนว่า หนังทิ้งเบาะแสอะไรไว้บ้างถึงมาขมวดปมด้วยวิธีการเช่นนี้
ไทบ้านเดอะซีรีส์
ผู้กำกับ : สุรศักดิ์ ป้องศร
หนังโรแมนติก คอมมาดี้ บอกเล่าเรื่องราวของจาลอด หนุ่มอีสานผู้ใสซื่อที่หวังจะจีบสาวสวย แต่กลายเป็นว่าเพราะว่า “บ้าน” ของเขาทำให้มีสาวมาหลงเสน่ห์ในตัวเขามากกว่า 1 คน จนกลายเป็นเรื่องสาละวนสุดวุ่นวาย ด้วยการนำเสนอเรื่องของผู้กำกับที่ทำหนังให้ออกมามีความ “อีสาน” อย่างจริงใจ ไม่ประดิษฐ์ ทำให้ไทบ้านเดอะซีรีส์ เป็นหนังที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ ตลกธรรมชาติ และหนังก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในโรงภาพยนตร์แถบภาคอีสาน จนในปีนี้มีภาคต่อตามออกมา
ป๊อปอาย มายเฟรนด์ Pop Aye
ผู้กำกับ : Kirsten Tan
ถึงแม้จะเป็นหนังที่มีผู้กำกับสิงคโปร์ก็ตาม แต่หนังก็เต็มไปด้วยการตั้งคำถามถึงชีวิตวิกฤติวัยกลางคนของตัวละครธนา (ธเนศ วรากุลนุเคราะห์) สถาปนิกวัยใกล้เกษียณ และบังเอิญเขาได้พบกับ ‘ป๊อปอาย’ ช้างเพื่อนรักที่เขาเคยทอดทิ้งไปในวัยเด็ก การเดินทางพาช้างกลับบ้านของธนาจึงเริ่มต้นขึ้น พร้อมกับการเรียนรู้ชีวิตและค้นหาความสุขที่ห่างหายจากชีวิตเขามาเป็นเวลานาน นี่เป็นหนังที่มีบทภาพยนตร์ที่น่าสนใจ ดูไม่ยาก และเต็มไปด้วยความหมาย
Insects in the Backyard แมลงรักในสวนหลังบ้าน
ผู้กำกับ : ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์
สร้างเสร็จและออกฉายครั้งแรกปี 2553 ก่อนได้รับคำสั่งห้ามฉาย และส่งผลให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นหนังที่มีคนรอคอยกันเป็นเวลานาน ตัวหนังพูดถึงประเด็น Sex และ Gender เล่าเรื่องราวพี่ชายของบ้านซึ่งเป็นสาวประเภทสอง ที่ต้องดูแลน้องสองคนซึ่งดูเหมือนว่าจะยอมรับพฤติกรรมของพี่ไม่ได้ จึงได้หนีออกจากบ้านแล้วไปทำงานขายบริการทางเพศเพื่อหาเลี้ยงชีพ ถึงแม้การถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้จะดูทุนต่ำ แต่บทภาพยนตร์นั้นเรียกว่าพาคนดูไปสำรวจแง่มุมทางเพศสภาพที่น่าสนใจ จนเราอาจจะกล่าวได้ว่ามันเป็นหนัง “ที่มาก่อนเวลา” เรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้
BKKY
ผู้กำกับ : นนทวัฒน์ นำเบญจพล
หนังเชิงทดลองที่หยิบเอาสไตล์การถ่ายทำแบบสารคดีเข้ามาผสมผสานกับหนังที่มีบทภาพยนตร์ ซึ่งพาคนดูไปสำรวจวิถีทางเพศของเด็กวัยรุ่นในยุคปัจจุบันในการพาเราไปดูชีวิตของหญิงรักหญิง และความสัมพันธ์แบบคลุมเครือของหนุ่มนักเล่นสเกตบอร์ด
หมอนรถไฟ Railway Sleepers
ผู้กำกับ : สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์
ภาพยนตร์สารคดี ผลงานการกำกับของสมพจน์ ชิตเกษรพงศ์ (แฟนพันธุ์แท้ วอลท์ ดิสนีย์) ที่ใช้เวลากว่า 8 ปี จากอายุ 27 ปีจน 36 ปีเพื่อเฝ้าถ่ายชีวิตคนบนรถไฟล่องเหนือลงใต้ และถ่ายทอดภาพฟุตเทจที่เขาบันทึกผ่านเลนส์ออกมาเป็นเรื่องราวที่นอกจากจะถ่ายทอดเรื่องราวของ “รถไฟไทย” แล้วหนังยังสะท้อนภาพเบื้องลึกของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชนชั้นทางสังคมที่ผ่านการแบ่งชั้นของรถไฟที่มีความสะดวกสบาย หรือ ชั้นที่ราคาถูกแต่คุณภาพเลว กระทั่งสภาพรถไฟที่วิ่งผ่านไปในแต่ละภูมิภาคของประเทศ จึงทำให้สารคดีเรื่องนี้โดดเด่นทั้งงานภาพและบทภาพยนตร์ไปพร้อมกัน
I Want You to Be
ผู้กำกับ : บัณฑิต สินธนภารดี
ตัวหนังเข้าฉายทั้งหมด 9 รอบที่ Doc Club Theater แต่คุณรู้หรือเปล่าว่านี่เป็นผลงานของนักศึกษาที่มีฝีมือในการทำหนังที่ไม่ธรรมดา เพราะหนังพาคนดูไปสำรวจความสับสนทางเพศ ที่ผู้หญิงคนหนึ่งดันไปหลงรักเพื่อนสนิทของตัวเองที่เป็นเกย์ และเพื่อนสนิทที่เป็นเกย์ก็กลับไปหลงรักทอมอีกคนหนึ่ง อาจจะฟังดูวุ่นวาย แต่ด้วยบรรยากาศของหนังที่เต็มไปด้วยความคลุมเครือ นักแสดงในเรื่องกลับทำหน้าที่ของตัวเองได้เป็นอย่างดีจนคุณภาพของหนังก้าวเลยคำว่างานในระดับ “งานวิทยานิพนธ์” ก่อนจบไปไกล
DIE TOMORROW
ผู้กำกับ : นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์
ผลงานการกำกับเรื่องล่าสุดของเต๋อ นวพล ที่หยิบเอา “ความตาย” มาเป็นธีมหลักของเรื่อง และเล่าผ่านตัวละครมากมาย และนักแสดงมากฝีมือหลายคน แต่การแสดงที่โดดเด่นที่สุดของหนังเรื่องนี้คงหนีไม่พ้น เต้ย-จรินทร์พร จุนเกียรติ ในบทเม ซึ่งคาดการณ์กันว่าเธอน่าจะเป็นตัวเต็งที่ต้องฟาดฟันกับออกแบบ (ฉลาดเกมส์โกง) ในสาขานักแสดงนำหญิงในปีนี้
นิรันดร์ราตรี Phantom of Illumination
ผู้กำกับ : วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย
สารคดีที่พาผู้ชมไปสำรวจความล่มสลายของโรงหนังสแตนอโลนในกรุงเทพฯ และชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไปของชายคนหนึ่งที่ทำงานในโรงภาพยนตร์ที่ปิดตัวลง เขากลายเป็นคนไร้อาชีพ เมื่อกลับบ้านเกิดก็ไม่สามารถทำกินได้ เราจะได้เห็น “ความไม่แน่นอนของชีวิต” ที่น่าสนใจผ่านภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้
อัลบั้มภาพ 13 ภาพ