"บุพเพสันนิวาส" สูตรสำเร็จละครไทย ถูกใจคอซีรีส์เกาหลี
บทวิเคราะห์จากคนรุ่นใหม่ นักเขียนบทละคร และแฟนคลับซีรีส์เกาหลี เหตุใดละคร 'บุพเพสันนิวาส' จึงสร้างปรากฏการณ์ให้วัยรุ่นนิยมละครพีเรียด ความลับอยู่ที่ 'บทละคร' และ 'เคมีของพระ-นาง'
หลังออกอากาศไปได้ไม่กี่สัปดาห์ ละคร "บุพเพสันนิวาส" จากค่ายบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น ก็กลายเป็นกระแสที่คนพูดถึงกันทั่วบ้านทั่วเมือง ไม่ว่าจะเป็นยอดทวีตนับล้านในทวิตเตอร์, ภาพเบลล่า หรือ แม่หญิงการะเกด ในอากัปกิริยาต่างๆ ถูกนำมาใช้เป็น Meme ล้อเลียนในแฟนเพจต่างๆ, คำพูดติดปากว่า 'ออเจ้า', การสืบค้นประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช, หรือแม้กระทั่งนักท่องเที่ยวแห่เยี่ยมชมวัดไชยวัฒนาราม และวัดพุทไธศวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นโลเคชั่นหลักในการถ่ายทำ แล้วเหตุใดละครเรื่องนี้จึงกลายเป็นกระแสได้ขนาดนี้?
นฤเบศ กูโน ผู้กำกับกับและนักเขียนบทละคร บริษัท นาดาว บางกอก อธิบายว่า ปัจจัยที่ทำให้ละครส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จนั่นคือ 'บทละครที่ดี' และ 'เคมีของนักแสดงที่เข้ากัน' ละครเรื่องบุพเพสันนิวาส เป็นแนวโรแมนติก-คอมเมดี้ ตอบโจทย์คนดูในช่วงเวลา 20.00 - 22.00 น. ที่กลุ่มคนทำงานต้องการการพักผ่อนจากละครโทรทัศน์ที่ให้ความบันเทิง และเป็นช่วงเวลาของครอบครัวที่ละครควรจะรับชมได้ทุกเพศทุกวัย ขณะที่วัฒนธรรมการดูละครของคนไทยมีความคล้ายคลึงกับคนเกาหลี คือ ชื่นชอบละครตลก พระนางไม่ถูกกัน มีบทพูดเชือดเฉือน แต่แอบแสดงออกเล็กน้อยว่ารัก ชวนให้จิ้นไปด้วย ซึ่งคนดูมักจะแทนตัวเองเป็นตัวเอกของเรื่อง ดังนั้นการกระทำของฝ่ายตรงข้าม เช่น พระเอก หรือนางเอก จะส่งผลโดยตรงต่อผู้ชม
นอกจากนี้ การเลือกบทที่มีประเด็นสอดคล้องกับยุคสมัย และโดนใจคนดู ก็มีผลต่อความนิยมของละคร เช่น การแอบชอบรุ่นพี่ หรือคู่รักที่อยากหย่า เป็นต้น
ขณะเดียวกัน 'เคมีของนักแสดง' ก็เป็นเรื่องสำคัญ การหานักแสดงมีลักษณะทางธรรมชาติที่เข้าคู่กันแล้วชวนให้คนดูยิ้มตามเป็นเรื่องที่ยาก เช่น ณเดชน์-ญาญ่า, แอน ทองประสม-เคน ธีรเดช ประกอบกับความสดของเบลล่าในพลิกบทบาทมาเล่นคอมเมดี้ ก็ชวนให้ละครน่าติดตามมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เคมีของนักแสดง เป็นสิ่งที่สร้างได้จากการเวิร์คช็อปร่วมกันของพระนางจนสนิทสนม หรือพัฒนาความสามารถทางการแสดงให้เพิ่มขึ้น
กรกมล ลีลาวัชรกุล เจ้าของเพจ Korseries เปิดเผยว่า ตนและกลุ่มแฟนคลับซีรีส์เกาหลี กลับมาดูละครเรื่องบุพเพสันนิวาส หลังจากไม่ได้ดูละครไทยมานานมาก เนื่องจากละครเรื่องนี้มีการผสมผสานเนื้อเรื่องให้สนุกครบรส ทั้งแฟนตาซี ย้อนยุค และโรแมนติก-คอมเมดี้ และมีจุดเด่นคือคาแรกเตอร์ของนางเอกที่เป็นสาวสมัยใหม่ ไม่ห่วงสวย แก่นแก้ว โก๊ะกัง แตกต่างจากพระเอกที่เป็นคนยุคเก่า วางมาดเนี้ยบ ปากกับใจไม่ตรงกัน แต่ต้องย้อนเวลามาพบรักกัน คล้ายกับละครเรื่อง Moon Lovers ที่มีโครงเรื่องเป็นการย้อนเวลามาพบกันของพระนาง
การเลือกนักแสดงให้เหมาะกับบทบาท ไม่อิงกับกระแสคู่จิ้น ทำให้คนดูได้เห็นรสชาติของละครที่แปลกใหม่ขึ้น เหมือนกับอุตสาหกรรมละครเกาหลีที่นักแสดงสังกัดค่าย ไม่สังกัดช่อง จึงสามารถจับคู่เล่นละครด้วยกันได้หลากหลาย
สูตรสำเร็จของละครไทยและเอเชียที่มักจะประสบความสำเร็จ เช่น ผู้ชายเย็นชามาดเนี้ยบกับนางเอกโก๊ะๆ เช่น เจ้าหญิงวุ่นวายกับเจ้าชายเย็นชา หรือบุพเพสันนิวาส, ละครที่พระเอกรวยมาก แต่นางเอกจนมาก เช่น รักใสใสหัวใจสี่ดวง, อาชีพของพระเอกและนางเอกที่ทำให้ต้องมาเจอกันด้วยความเสียสละ เช่น Descendants of the sun, ละครที่พระนางต่างมีปมในอดีตและสามารถเยียวยาซึ่งกันและกัน เช่น เกมร้ายเกมรัก เป็นต้น
หากเปรียบเทียบคาแรกเตอร์ของ 'หมื่นสุนทรเทวา หรือ โป๊บ ธนวรรธน์' กับพระเอกเกาหลี จะเห็นว่ามีลักษณะของพระเอกเกาหลีอยู่หลายด้าน ทั้งแววตาที่ทรงเสน่ห์ของซอคังจุน บุคลิกอบอุ่นแบบโจอินซอง
ส่วน 'แม่การะเกด หรือ เบลล่า ราณี' มีมุมไม่ห่วงสวย แบบโกอารา และความตลก เล่นใหญ่ เหมือนกับจอนจีฮยอน
แม้ก่อนหน้านี้ ละครไทยหลายเรื่องจะมีโครงเรื่องเล่าถึงการย้อนเวลา หรือข้ามภพข้ามชาติ แต่ด้วยจังหวะเวลาออกอากาศอาจจะไม่พอดีกับบริบทสังคมในขณะนั้น อีกทั้งบทละคร และเคมีของพระ-นาง ยังไม่ลงตัวมากนัก เมื่อเทียบกับบุพเพสันนิวาส ดังนั้นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจึงสะท้อนให้เห็นสูตรสำเร็จของละคร และการนำเสนอประวัติศาสตร์ไทยผ่านละครแนวใหม่ ที่มีความเข้ากันของพระนางเป็นตัวชูโรง จนสร้างความน่าสนใจในประวัติศาสตร์ไทยให้กับคนรุ่นใหม่ให้หันกลับมามองมากขึ้น
อัลบั้มภาพ 7 ภาพ