รีวิว A Wrinkle in Time หนังไซไฟฟอร์มยักษ์เหนือจินตนาการจากดิสนีย์
ถ้าพูดถึง Disney แล้วพวกเขาประสบความสำเร็จกับหนังแอนิเมชันมานานนมจนหลายปีหลังเริ่มขยับมาลงทุนกับสตูดิโองานที่หลากหลายแนวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกับ Marvel หรือ Pirates of the Caribbean แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงหนังแนวนวนิยายไซไฟนั้น ในช่วงที่ผ่านมาต้องบอกว่ายังไม่เข้าตาและมีอีกหลายเรื่องที่ทำออกมาแล้วขาดทุน ล่าสุดกับ A Wrinkle in Time หรือในชื่อไทย ‘ย่นเวลาทะลุมิติ’ หนังที่ตั้งแต่เริ่มเห็นใบปิดหรือว่าทีเซอร์แล้วจัดว่าแอบน่าสนใจเรื่องหนึ่งเลย และนี่เป็นหนังที่ถูกคาดหวังว่าจะไปรอดจริง ๆ เสียทีกับงานสไตล์แฟนตาซีนี้
สำหรับ A Wrinkle in Time ดัดแปลงมาจากนิยายเด็กแฟนตาซีของ แมดเดอลีน แลงเกิล ในปี 1962 งานนี้ได้ผู้กำกับดังอย่าง เอวา ดูเวอร์เนย์ มานั่งแท่นพร้อมกับ เจนนิเฟอร์ ลี คนเขียนบท Frozen (2013) และ Zootopia (2016) มาช่วยดัดแปลงบทใหม่ โดยเป็นเรื่องราวของ เม็ก เมอรี (สตอร์ม รี๊ด) เด็กหญิงวัย 13 ปีที่เป็นอัจฉริยะด้านคณิตศาสตร์ พร้อมกับ ชาร์ลส์ (เดเร็ก แม็คเคบ) น้องชาย และ แคลวิน (เลวี มิลเลอร์) เพื่อนร่วมชั้นออกเดินทางข้ามมิติเวลา เพื่อตามหาคุณพ่อของเธอซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำให้งานให้รัฐบาลและหายสาปสูญไปติดอยู่ในมิติหนึ่งของจักรวาล ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้ได้รับการช่วยเหลือจากเทพีสามองค์ (รับบทโดย รีส วิทเธอร์สปูน, โอปราห์ วินฟรีย์ และ มินดี้ คาลิง) โดยเด็กผู้กล้าทั้ง 3 คนนอกจากจะไปตามหาคุณพ่อแล้ว ยังมีภารกิจอันหนักอึ้งในการปกป้องจักรวาลจากการขยายอิทธิพลของโลกมืดอีกด้วย
A Wrinkle in Time เป็นงานแฟนตาซีดราม่าที่ถูกถ่ายทอดออกมาแบบกลางๆ ไม่เลือกดาร์คหรือสว่างโลกสวยไปทางใดทางหนึ่งเหมือนกับ The Monster Call หรือ Inside Out ซึ่งนั่นมีส่วนทำให้ตัวหนังขาดจุดเด่นจุดดึงดูดในการนำพาไปสู่แก่นเรื่องที่แท้จริง โดยเฉพาะรูปแบบการนำเสนอ การเล่าเรื่องที่ค่อนข้างเนือย และพยายามยัดเนื้อหา ยัดเมสเซจย่อยๆ เข้ามามากเกินไป บางคนอาจจะรู้สึกชอบกับการที่หนังขยันยิงปรัชญาของคนดังทั่วโลกเข้ามาในเรื่องเป็นระยะๆ แต่มันก็เป็นเส้นบางๆ ระหว่างการเติมเต็มกับข้อมูลที่ล้นทะลัก หนังเดินเรื่องช้า แต่ไม่ได้ประณีต บรรยากาศของหนัง ไดอะล็อกและ performance ของนักแสดงเด็กวัยทีนในเรื่องที่ยังขาดๆ เกินๆ ทำให้คนดูบางส่วนอาจเลือก ‘ดับไฟ’ ไม่อินต่อตั้งแต่ครึ่งเรื่อง
อย่างไรก็ตาม ตัวหนังมาทำได้ดีในช่วงท้ายๆ ซึ่งต้องขอยกเว้น สาวน้อย สตรอม รีดส์ ไว้คนหนึ่ง ที่สวมบทบาทของ เมก เมอรี่ ได้มีเสน่ห์และดูเป็นเด็กสาวที่ฉลาดปราดเปรื่องพึ่งพาได้ตลอดทั้งเรื่อง เรียกว่าเป็น ‘เดอะ แบก’ ของหนังเรื่องนี้เลยก็ว่าได้ ประเด็นที่หนังชูแก่นแท้ในเรื่องของความรักในครอบครัวเริ่มแตกดอกออกผลและเริ่มอินตามในช่วงนี้แหละ มันเป็นเรื่องของการนำเสนอแนวคิดในแบบมนุษย์นิยม ความรักความเข้าใจและการอยู่กันเป็นกลุ่มก้อน ความเป็นสัตว์สังคมที่ยังไงก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตมนุษย์ เหนือกว่าความทะเยอทะยานที่มีแต่ตัวเราเองที่ได้สัมผัสมัน นั่นเลยทำให้หนังเน้นให้เวลากับฉากความสัมพันธ์ ความรักของครอบครัวค่อนข้างมาก นอกเหนือจากนั้นการนำเสนอในแง่ของมิติเวลาก็ถือว่าหากใครอิน ก็จะประทับใจไปเลย หากไม่อินก็จะแอนตี้ไปเลยเหมือนกัน
ส่วนตัวชอบไอเดียในการใช้คำว่า มิติเวลา มาจับประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ มันก็เหมือนผีที่เราไม่เคยเห็นจริงๆ แต่ก็เป็นไปได้ว่าเพียงเพราะเขาอยู่คนละมิติเวลากับเรา เขามองเห็นเราแต่สัมผัสเราไม่ได้ หนังเรื่องนี้ยังมีการใส่ความเชื่อแทรกในเรื่องของมิติโลกคู่ขนาน เชื่อไหมว่าแฟนที่เคยหมดรักเราทุกคน เขายังมีความรักและความทรงจำของเรา แต่อยู่ในอีกมิติเวลา ในอีกคลื่นความถี่ หากคนเหล่านั้นจับคลื่นให้ถูก ความรู้สึกจะสัมผัสถึงกันได้อีกครั้ง จริงๆ แล้วน่าเสียดายเหมือนกันที่ A Wrinkle in Time เน้นกลุ่มเป้าหมายเด็กเลยไม่ได้มาจับประเด็นนี้ให้หนังดูยากขึ้น