บุพเพสันนิวาสไม่ใช่ครั้งแรก ส่อง 5 กระแสฟีเวอร์ไทย สไตล์ “ไฟไหม้ฟาง”
คนไทยกับกระแสฟีเวอร์นับว่าเป็นของคู่กัน ที่เห็นชัดๆ ณ จุดนี้ก็คือกระแส “ออเจ้า” จากละครดังอย่าง “บุพเพสันนิวาส” ที่ไม่ว่าจะออนแอร์วันไหน เป็นได้มีไวรัลใหม่ๆ ออกมาได้ทุกตอน แถมยังกระจายไปในทุกวงการ แต่ถ้าคุณไม่ใช่คนขี้ลืม ก็น่าจะจำได้ว่าก่อนที่คุณพี่หมื่นและแม่การะเกดจะจุดกระแสอยุธยาฟีเวอร์ ยังมีกระแสไทยๆ มากมายที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “ไฟไหม้ฟาง” ที่บางทีอาจจะ สร้างผลกระทบในวงกว้าง โดยที่คนไทยไม่รู้ตัว และนี่คือ “5 กระแสฟีเวอร์ไทย” ที่มาแล้วก็ไป แต่เราอยากจะเตือนความจำคุณ
แฟชั่นชุดไทย
ว่ากันว่าแฟชั่นไม่ว่าจะล้ำแค่ไหน สุดท้ายก็มักจะวนกลับมาสไตล์เดิมเสมอ แต่สำหรับแฟชั่นไทยนั้น ดูเหมือนจะวนกลับไปถึงสมัยอยุธยาอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าไทม์แมชชีนลิ้นชักของโดราเอมอน จากกระแสคอสตูมในละคร บุพเพสันนิวาส ที่ทำให้ใครๆ ก็อยากจะเป็นแม่การะเกดคนสวยทั้งนั้น
แต่กว่าแฟชั่นชุดไทยจะมาถึงจุดนี้ได้ก็ไม่ใช่ง่ายๆ เพราะที่ผ่านมาก็มีทั้งหน่วยงานรัฐและประชาชนทั่วไปพยายามผลักดันให้เกิดเทรนด์การแต่งชุดไทยในชีวิตประจำวัน อย่างในปี 2558 ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยทำแคมเปญ “แต่งชุดไทยเดินห้างได้รับส่วนลด 80%” ที่ผลออกมาก็คือไม่เปรี้ยง อาจจะเป็นเพราะเห็นว่าสิ้นเปลืองค่าเช่าชุด หรือเห็นว่าไม่เหมาะกับสภาพอากาศและระบบขนส่งของประเทศสยามแห่งนี้ก็เป็นได้ นอกจากนี้ เมื่อปี 2559 ยังมีกลุ่มคนที่รักการแต่งชุดไทย ล่ารายชื่อใน Change.org เพื่อจัดตั้ง "วันอนุรักษ์ชุดประจำชาติไทย" ที่ปิดการล่ารายชื่อที่จำนวนผู้สนับสนุน 11,925 คน เท่านั้น ก่อนที่ชุดไทยจะกลับมาฮิตอีกครั้งเมื่อมีการจัดงาน “อุ่นไอรักคลายความหนาว” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม ที่ผ่านมา
ล่าสุด ด้วยกระแสป็อปปูลาร์ของละครบุพเพสันนิวาส ทำให้คนไทยหันมาแต่งชุดไทย ไปเที่ยววัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่งผลให้ชาวบ้านในละแวกวัดไชยวัฒนาราม หนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญของละครเรื่องนี้ หันมาเปิดธุรกิจเช่าชุดไทย สำหรับใส่เดินเที่ยวและถ่ายภาพในวัด จนกระทั่งนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เกิดไอเดียบรรเจิด ชวนคนไทยแต่งชุดไทยเดินทางกลับบ้านช่วงสงกรานต์ไปเลย แต่เราจะห่มสไบนั่งรถทัวร์กลับบ้านได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ก็คงต้องเสี่ยงดู
ท่องเที่ยวโบราณสถาน
สำหรับผู้ที่ไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์ การเยี่ยมชมโบราณสถานอาจจะไม่ได้อยู่ในความคิด ด้วยเห็นว่าไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น บ้างก็เห็นว่าน่ากลัว แต่บัดนี้ โบราณสถาน โดยเฉพาะในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ ที่ใครๆ ต่างไปตามรอยละครบุพเพสันนิวาสจนการจราจรติดขัด อีกทั้งโบราณสถานดังกล่าวยังไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากได้ และเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถควบคุมดูแลได้อย่างทั่วถึง ทำให้นักท่องเที่ยวบางคนสร้างความเสียหายให้กับโบราณสถานสำคัญอย่างวัดเชิงท่า ที่ขอบหน้าต่างโบสถ์เก่าแตกร้าวเนื่องจากนักท่องเที่ยวมานั่งถ่ายรูป และวัดไชยวัฒนารามที่เริ่มชำรุดจากการที่นักท่องเที่ยวขึ้นไปเหยียบ จนเจ้าหน้าที่ถึงกับต้องโพสต์เฟซบุ๊กขอความร่วมมือให้เหล่าออเจ้าเยี่ยมชมโบราณสถานเฉพาะในพื้นที่ที่จัดให้ และไม่ควรฝ่าฝืนข้อห้ามต่างๆ แต่ก็ยังไม่มีรายงานว่าพบตัวผู้ที่สร้างความเสียหายแต่อย่างใด ในขณะที่เมื่อเดือนที่แล้ว ก็มีกลุ่มวัยรุ่นปีนขึ้นไปถ่ายรูปบนโบราณสถานของวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่รายนี้จับตัวได้เพราะมีแคปชั่นมัดตัวเองจนดิ้นไม่หลุดว่า “#มุมที่คุณไม่เคยเห็น #เพราะเค้าห้ามปืนขึ้นไป #โยเดีย #แก๊งคนบาป2018” กลายเป็นเป้าให้ชาวเน็ตรุมประณาม และยังถูกดำเนินคดีอีกด้วย
>> จนท.โพสต์ถึง "ออเจ้า" หลังพบความเสียหายที่วัดไชยวัฒนาราม
>> ออเจ้าระวังหน่อย! ชาวอยุธยาวอนดูแลโบราณสถาน หลังขอบประตูวัดเชิงท่าพัง
>> 5 วัยรุ่นปีนโบราณสถานมอบตัว อ้างรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ตลาดน้ำ
เทรนด์วิถีไทยสไตล์โหยหาอดีตแบบแรกๆ ที่มีต้นแบบมาจากการตั้งถิ่นฐานของคนไทยบริเวณริมแม่น้ำ และใช้แม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางการคมนาคมและแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากันในสมัยก่อนประเทศไทยจะมีถนน ทว่าเมื่อมีการสร้างถนนหนทาง ตลาดน้ำก็ถูกลืม และถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งด้วยแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยว เริ่มจากตลาดน้ำของจริงอย่าง “ตลาดน้ำดำเนินสะดวก” ตามด้วย “ตลาดน้ำอัมพวา” ที่เปลี่ยนชุมชนเหงาๆ ให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสุดชิค พร้อมกิจกรรมล่องเรือหางยาวชมหิ่งห้อยยามค่ำคืน ซึ่งส่งผลให้ชาวบ้านบางคนทนเสียงเรือหางยาวไม่ไหว ตัดสินใจตัดต้นลำพู ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของหิ่งห้อย รวมทั้งรีสอร์ทที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในที่สุด
นอกจากตลาดน้ำจริงแล้ว ยังมีการสร้างตลาดน้ำจำลองขึ้นอีกหลายแห่ง เช่น ตลาดน้ำสี่ภาค ตลาดน้ำหัวหินสามพันนาม เป็นต้น แต่ที่พีคสุดในบรรดาตลาดน้ำทั้งหลาย ก็เห็นจะเป็น “ตลาดน้ำคลองผดุงกรุงเกษม” ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2558 สำหรับจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น พร้อมล่องเรือชมสถานที่สำคัญริมฝั่งคลอง ยกท้องถิ่นมาให้ชาวกรุงชม ก่อนที่จะปิดตัวลงในช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา
>> กทม.เปิดตลาดน้ำวิถีไทยคลองผดุงกรุงเกษมวันนี้
>> เยือนถิ่น "คลองผดุงกรุงเกษม" ชิม แชะ ชิลล์ ชุมชนเก่า...น่าค้นหา
ระนาดเอก
กระแสอนุรักษ์ดนตรีไทยครั้งนี้มาจากภาพยนตร์เรื่อง “โหมโรง” ที่เข้าฉายเมื่อปี 2547 และกวาดรางวัลไปหลายสาขา เพราะนอกจากเนื้อเรื่องที่พูดถึงความเป็นไทยแล้ว โหมโรงยังมีนักแสดงอย่าง “ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า” นักดนตรีไทยผู้รับบทเป็น “ขุนอิน” มือระนาดขั้นเทพในชุดสีดำ ใบหน้าดุ ที่ได้มาประลองฝีมือกับศร ศิลปบรรเลง พระเอกของเรื่อง ซึ่งครองใจผู้ชมด้วยฝีมือระนาดและความเท่แบบสายดาร์ก ปลุกกระแสให้ผู้คนอยากรู้จักและอนุรักษ์ดนตรีไทยมากยิ่งขึ้น แถมยังส่งแรงกระเพื่อมไปสู่กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครอง จนแห่พาลูกหลานไปเรียนระนาดเอกกันอย่างคับคั่ง ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป เทรนด์การเรียนระนาดเอกก็หายไปกับสายลมเมื่อกระแสภาพยนตร์จางไป
มวยไทย
ในยุคที่หุ่นผอมแห้งไม่เป็นที่นิยมในหมู่สาวๆ อีกต่อไป แต่เทรนด์หุ่นเฟิร์ม มีกล้ามเนื้อสวยๆ เข้ามาแทนที่ ทำให้สาวไทยหันมาฟิตร่างกายตามแบบดาราหุ่นเฟิร์มทั้งหลาย กีฬาแมนๆ อย่างมวยไทยก็เลยต้องแตกสาขาจากสายแข่งขันมาเป็นสายสุขภาพด้วย โดยฟิตเนสหลายที่ก็มีคอร์สมวยไทยให้บริการ แล้วก็ได้รับความนิยมจากผู้หญิง เพราะเป็นกีฬาที่ใช้พลังงานเยอะ และสามารถออกกำลังกายได้ทุกส่วน ให้หุ่นเฟิร์มและลดน้ำหนักได้จริง อย่างไรก็ตาม กีฬาชนิดนี้ต้องอาศัยความอดทนและวินัยอย่างมาก เช่นเดียวกับการออกกำลังกายชนิดอื่นๆ ขณะเดียวกันก็มีเทรนด์การออกกำลังกายใหม่เข้ามา เช่น การเต้นซุมบา หรือคาร์ดิโอแดนซ์ ที่ทั้งสนุกสนาน และสามารถออกกำลังกายแบบสวยๆ ได้มากกว่า ดังนั้น การชกมวยไทยเพื่อสุขภาพก็เป็นอันตกเทรนด์ไปโดยปริยาย
แม้จะเป็นเรื่องดีที่ละครโรแมนติกคอเมดีอย่างบุพเพสันนิวาสทำให้คนไทยหันมาสนใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าหากละครจบไป คนไทยเราจะยังคงศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยู่หรือเปล่า หาไม่แล้ว ละครเรื่องนี้คงจะเป็นเพียงไฟอีกกองหนึ่งที่ไหม้ฟางแล้วก็จางหายไป อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับกระแสนิยมไทยในอดีต