"บุพเพสันนิวาส" ไม่ได้บอก! "ฟอลคอน" แอบแก้สนธิสัญญาทางศาสนา ป้องกันอโยธยาโดนยึด
ผ่านฉากประวัติศาสตร์ฉากใหญ่ที่สร้างความประทับใจให้กับคนดูในละคร "บุพเพสันนิวาส" ไปสดๆ ร้อนๆ กับฉากการเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ ถวายพระราชสาสน์ของคณะทูตฝรั่งเศส ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงส่งมาเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับสยาม
แต่ "เชอรวาเลียร์ เดอ โชมองต์" ราชทูตฝรั่งเศส จับคันทองชูพานใส่พระราชสาสน์ถวายเกือบติดพาน แทนที่จะจับปลายคัน "เจ้าพระยาวิชเยนทร์" (ฟอลคอน) เองก็ได้หมอบและโบกมือให้ราชทูตชูขึ้น แสดงให้เห็นว่าต้องการรักษาพระเกียรติยศของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ต้องโน้มพระวรกายลงมา ตามภาพที่เราเคยเห็นในประวัติศาสตร์ทับซ้อนกับภาพละคร
ละครยังได้บอกอีกว่าทางราชทูตฝรั่งเศสต้องการให้สมเด็จพระนารายณ์ ทรงเข้ารีตเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ แต่พระองค์ได้ทรงใช้พระปรีชาญาณตอบปฏิเสธอย่างทะนุถนอมไมตรี และในละครยังมีฉากที่ฟอลคอนแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยที่ทางคณะทูตฝรั่งเศสเอ่ยพูดถึงการเข้ารีตเปลี่ยนศาสนาคริสต์ก่อนเจรจาความอื่น
ในมุมของ "คอนสแตนติน ฟอลคอน" ที่หลายคนได้รับรู้จากประวัติศาสตร์ อาจจะมีความต่างจากที่ละคร บุพเพสันนิวาส ได้ถ่ายทอดมุมมองของตัวละครนี้ออกมา ดูเหมือนจะเป็นตัวละครที่มีความสีเทาที่สุด ไม่เลวร้ายสุดขั้ว และก็ไม่ได้ดีสุดๆ เช่นกัน
ผู้ใช้เฟสบุ๊ค "จิต ศรัทธา" ได้เผยแผ่ข้อมูลอีกมุมทางประวัติศาสตร์ จากบันทึก ประวัติมิสซังกรุงสยาม ค.ศ. 1662-1811 โดย บาทหลวง อาเดรียง โลเน คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ที่หลายคนยังไม่รู้ และละครไม่ได้บอกไว้ ฟอลคอนร่วมมือกับขุนหลวงนารายณ์ แก้สนธิสัญญาทางศาสนาคริสต์กับฝรั่งเศส เพื่อป้องกัน การใช้ศาสนาเป็นเหตุยึดสยาม
-สิ่งที่ละครไม่ได้บอก-
+ ฟอลคอนร่วมมือกับขุนหลวงนารายณ์ แก้สนธิสัญญาทางศาสนาคริสต์กับฝรั่งเศส เพื่อป้องกัน การใช้ศาสนาเป็นเหตุยึดสยาม +
ในขณะที่ละครบุพเพสันนิวาส สร้างฟอลคอนเป็นตัวร้ายตัวเลว พระนารายณ์หูเบาเชื่อฝรั่ง และขุนนางไทยล้วนแต่รักชาติเป็นคนดี แต่ในเอกสารทั้งหลายของฝรั่งเศสเอง กลับมองฟอลคอนว่า เจรจาอะไร ก็แอบเอาประโยชน์สยามเป็นที่ตั้ง ทั้งไม่จริงใจเลยในแผนการเข้ามีอำนาจเหนือสยามของพระเจ้าหลุยส์ที่14
เอกสารสำคัญฉบับหนึ่งที่บ่งบอกว่า ฟอลคอนแก้ไขร่างสนธิสัญญาการเผยแพร่ศาสนา โดยเติมข้อความป้องกันการเข้ารุกล้ำทางการเมืองของฝรั่งเศสอย่างชัดเจน โดยให้เน้นเผยแผ่ศาสนาจริงๆ ทั้งวางหมากเล่ห์กล ตอน มองซิเออร์ โชม็องต์ ราชทูตฝรั่งเศสยังอยู่ก็แกล้งทำเป็นเข้าข้างเห็นดีเห็นงามกับทางฝรั่งเศส แต่รอ ให้ราชทูตฝรั่งเศสกลับไปก่อนจึงเอาร่างแก้ที่ตัวเองเติมข้อความป้องกันสยาม ออกมาให้เหล่ามิชชันนารีฝรั่งเศสเซ็นต์
ในหนังสือ ประวัติมิสซังกรุงสยาม โดยบาทหลวง อาเดรียง โลเน คณะมิสซังต่างประเทศกรุงปารีส ได้บันทึกเหตุการณ์ช่วง ค.ศ. 1685 ไว้ว่า
"ในที่สุดฟอลคอนก็เสนอตัวบทของสนธิสัญญา แต่เสนอมาอย่างไรท่านทราบไหม เขาคอยให้เดอ โซมองต์ ลงเรือ...เขาจึงส่งสนธิสัญญามา..."
โดยในข้อหนึ่ง อนุญาตให้เทศน์สอนคาทอลิกและถือได้
ฟอลคอนก็เติมว่า "โดยมีเงี่อนไขว่า พวกมิชชันนารีต้องเพียงเทศน์สอนบทบัญญัติของพระเจ้าเท่านั้น จะเพิ่มข้อเปลี่ยนใหม่ที่ทำให้ประชาชนต่อต้านรัฐบาลและบทบัญญัติของประเทศ โดยอ้างเหตุใดๆไม่ได้ ในกรณีที่มิชชันนารีผู้หนึ่งผู้ใดประพฤติฝ่าฝืนข้อนี้ พระเจ้าแผ่นดินถือว่า เอกสิทธิข้อนี้เป็นโมฆะ มิชชันนารีผู้นั้นต้องถูกเนรเทศกลับฝรั่งเศส จะกลับมากรุงสยามไม่ได้ มิฉะนั้นจะต้องโทษประหาร"
ข้อสอง อนุญาตให้สอนวิชาความรู้ "ที่ไม่เกี่ยวกับการปกครองและกฎหมายของประเทศ" แต่ข้อนี้มีข้อแม้และบทลงโทษเดียวกับข้อหนึ่ง...
...ข้อห้า ให้ตั้งขุนนางผู้หนึ่งเป็นผู้ชำระเรื่องคดีของพวกคริสตัง ขุนนางนั้นจักต้องขอความเห็นจากผู้พิพากษาคนหนึ่งของพระเจ้าแผ่นดิน (ข้อนี้ ทำขึ้นเพื่อยืนยันว่า การเปลี่ยนศาสนาไม่ได้เปลี่ยนสัญชาติ คริสตชนสยามจะยังอยู่ใต้กฏหมายและปกครองของพระเจ้ากรุงสยาม) "
คุณพ่อเดอ ลีออน คณะมิชชันนารีเมื่อพิจารณาสนธิสัญญาฉบับนี้ถึงกับกล่าวว่า
"ข้าพเจ้าไม่เชื่อเลยว่าพระเจ้ากรุงสยามได้ทรงประทานพระดำริประทานเอกสิทธิ์เหล่านี้ ยิ่งกว่านั้นเป็นไปได้ทีเดียวว่า นายคอนสตันติน ได้ตกลงกับพระเจ้ากรุงสยาม หลอก เดอ โชม็องต์ในเรื่องนี้"
ยังมีบันทึกต่ออีกว่า
"ฟอลคอนมอบบันทึกช่วยจำเพื่อขอพระเจ้าหลุยส์ที่14 ให้พระราชทานเรือหลายลำกับคน 60-70คน ที่เฉียวฉลาด...สุจริตอย่างแท้จริง มีทุนทรัพย์พอดำรงชีพด้วยตัวเอง และเข้าทำการรับใช้พระเจ้ากรุงสยามโดยไม่มีผลประโยชน์แต่ประการใด ฟอลคอนขอสิ่งเหล่านี้ บันทึกดังกล่าวยืนยันว่า เพื่อช่วยตั้งคริสตศาสนาขึ้นในพระราชอาณาจักร"
ตลอดบันทึกนั้นทางฝรั่งเศสไม่ไว้ใจฟอลคอนเลย โดยเห็นว่าหลอกฝรั่งเศส แล้วป้องกันสยาม ทำเพื่อสยามหรือไม่ก็ทำเพื่อตัวเองมากกว่า ดังตอนหนึ่งของบันทึกเขียนว่า
"....คนของเราที่เป็นคนซื่อ ถูกเขาหลอก ฟอลคอนคนเดียวมีชัยชนะ"
อ้างอิง-ประวัติมิสซังกรุงสยาม ค.ศ. 1662-1811 โดย บาทหลวง อาเดรียง โลเน คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส
อัลบั้มภาพ 13 ภาพ