รีวิว Pacific Rim: Uprising เพราะเราเป็นมิตรมิใช่ศัตรู
มีการเปิดเผยจุดสำคัญของหนัง ผู้ที่ยังไม่ได้รับชมหากไม่ต้องการให้อรรถรสลดลง กรุณาปิดบทความนี้ไปก่อน
เหตุผลประการหนึ่งที่เขียนถึง Pacific Rim: Uprising ช้ากว่าที่ควรจะเป็นเพราะหนังเรื่องนี้มีการทวิสต์ (หักมุม) ที่สำคัญ แต่ด้วยความจำเป็นที่เราต้องหยิบเอาประเด็นหลังการหักมุมมาพูดถึง เพราะมันน่าสนใจกว่าพล็อตโครมครามสูตรสำเร็จของหนังทั้งเรื่องอีก ซึ่งอย่างที่เรารับทราบกันดีว่า Pacific Rim นั้นมีพล็อตเรื่องง่ายๆ ที่หนังบล็อกบัสเตอร์พึงมี อันว่าด้วยการต่อสู้กันระหว่างหุ่นยนต์และไคจู และเน้นความอึกทึกครึกโครมตามประสาหนังแนวนี้
แต่เมื่อเราลองวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญและองค์ประกอบโดยรวมของหนังภาคนี้ เราจะพบอะไรที่สำคัญบางอย่างเมื่อเราวิเคราะห์ไปถึง “เชื้อชาติ” ของตัวละครในหนังภาคนี้ด้วย จากความสำเร็จของ Pacific Rim ภาคแรกที่ประเทศจีน ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นประเทศที่หนังเรื่องนี้ทำเงินสูงสุดในโลกเลยก็ว่าได้ ดังนั้นการก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างภาคต่อของชาวจีน ทำให้เกิดการสร้างตัวละครชาวจีน ฐานทัพฝึกหุ่นยนต์ที่ประเทศจีน และองค์กรด้านเทคโนโลยีของชาวจีน เราเห็นอะไรบ้างจากหนังภาคนี้
ถึงตัวละครเอกของหนังภาคนี้จะโฟกัสไปที่เจค (จอห์น โบเยก้า) ลูกชายของสแตเกอร์ (ไอดริส เอลบ้า) ที่เสียชีวิตไปในภาคที่แล้ว กับการคืนสู่สังเวียนการเป็นพลทหารที่ควบคุมเยเกอร์ แต่ตัวละครลับของเรื่องอย่างแท้จริงคือสาวเส้าหลีเหวิน (จิง เทียน) ซีอีโอของเส้าอินดัสทรีส์ และเป็นผู้เชื่อมั่นในทีมโดรนเยเกอร์ที่ไม่ได้บังคับด้วยมนุษย์ เธออาจจะดูเป็นสาวหน้าตึง หน้าเหวี่ยง (ส่วนหนึ่งเพราะโบท็อกซ์) และตอนแรกๆ เราอาจจะเข้าใจว่าเธอเป็นคนชักใยความวุ่นวายของหุ่นเยเกอร์ลึกลับที่ปรากฏตัวขึ้นเพื่อสร้างความวุ่นวายทั้งมวล และเหมือนเหล่าพลทหารเยเกอร์จากอเมริกาน่าจะเป็นฮีโร่ที่ช่วยพิทักษ์โลก
แต่เปล่าเลยความเป็นจริงที่ซับซ้อนกว่านั้นคือดร.นิวตัน (ชาร์ลี เดย์) นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องที่ทำงานให้กับเส้าหลีเหวินต่างหากที่เป็นวายร้ายตัวจริง เนื่องจากเขาถูกครอบงำสมองจากไคจู (ตั้งแต่ภาคที่แล้ว) เขาจึงทำให้บรรดาโดรนกลายร่างเป็นครึ่งหุ่นยนต์ครึ่งไคจูที่มีพลกำลังในการไปเปิดช่องแคบที่มหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อให้ไคจูจากอีกมิติหลุดเข้ามายึดครองโลกอีกครั้ง
จุดทวิสต์ของเรื่องนี่เองทำให้ตัวละครอย่างเส้าหลีเหวินเปลี่ยนโหมดตัวเองจากสาวซีอีโอให้กระโดดมาเป็นตัวละครสำคัญในการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือภารกิจปกป้องโลกอย่างมีนัยสำคัญในตอนท้ายเรื่อง และกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ภารกิจเสี่ยงตายของเจคและอมาร่า (ไคลี สเปนี่ย์) ประสบความสำเร็จ
Pacific Rim: Uprising ภาคนี้เหมือนเป็นการส่งสารบอกคนอเมริกา (และคนทั้งโลก) ว่า ประเทศจีนนั้นไม่ใช่ภัยคุกคาม หากแต่เป็นมิตรที่สามารถเอื้อประโยชน์ให้คนทั้งโลกได้ยามคับขันและหน้าสิ่วหน้าขวานต่างหาก