เมื่อวัฒนธรรมไทยอยากก้าวไกลแบบเกาหลีใต้ จะมีทางหรือเปล่า

เมื่อวัฒนธรรมไทยอยากก้าวไกลแบบเกาหลีใต้ จะมีทางหรือเปล่า

เมื่อวัฒนธรรมไทยอยากก้าวไกลแบบเกาหลีใต้ จะมีทางหรือเปล่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นับตั้งแต่ละคร บุพเพสันนิวาส กลายเป็นกระแสโด่งดังไปทั่วสยามและประเทศจีน หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนก็พากันหยิบเอาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากละครมาสร้างเป็นคอนเทนต์เพื่อโปรโมตหน่วยงานและแบรนด์ของตัวเองกันยกใหญ่ ด้านรัฐบาลเองก็ไม่ปล่อยให้โอกาสนี้ผ่านไปเปล่าๆ แต่กระโดดเกาะกระแสด้วยการผุดไอเดียโปรโมตศิลปวัฒนธรรมผ่านละครไทย โดยนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ถึงกับชื่นชมละครบุพเพสันนิวาสว่ามีคุณค่าเทียบเท่ากับซีรีส์ “แดจังกึม” ของเกาหลีใต้ ที่มีตัวละครหลักเป็นนางในที่มีฝีมือในการทำอาหาร และสามารถเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารเกาหลีให้เอาชนะใจคนไทยไปโดยปริยาย ต่อมา นายวีระก็ได้ให้สัมภาษณ์อีกครั้ง โดยกล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ชมซีรีส์ “จองอี ตำนานศิลป์แห่งโชซอน” ที่ว่าด้วยงานศิลปะของเกาหลีใต้ และไลน์สั่งการให้นายวีระพิจารณาและพูดคุยกับผู้จัดละครเพื่อจัดทำละครสอดแทรกความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมไทย แถมล่าสุดยังมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะทุ่มงบประมาณ 400 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนภาพยนตร์และละครไทยที่มีเนื้อหาส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทยอีกด้วย


>> รัฐบาลยกให้ "บุพเพสันนิวาส" เทียบชั้น "แดจังกึม" หนุนเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
>> ‘ประยุทธ์’ สั่ง ครม.ท่องหนังสือ ‘จินดามณี’ ให้ได้คนละบท จะทดสอบปากเปล่า

ไอเดียก็มี งบประมาณก็มาแบบนี้ ก็ต้องมาดูกันหน่อยว่าพอจะมีทางหรือไม่ ที่วัฒนธรรมไทยจะได้รับการเผยแพร่ ไม่ใช่แค่นิยมกันในประเทศไทย แต่ยังส่งออกไปได้อย่างวัฒนธรรมเกาหลีใต้ ที่ครองพื้นที่ในเอเชียตั้งแต่ปี 2533 และขยายอิทธิพลไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก เกาหลีใต้เป็นประเทศแบบไหน โตมาอย่างไรจึงสามารถผลิตผลงานเหล่านี้ได้ และเราจะเติบโตได้อย่างเขาหรือไม่ มาดูกัน

ในงานเสวนาเรื่อง “นโยบายวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์กับการพัฒนาเกาหลีใต้ในทศวรรษใหม่” ที่จัดขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2561 ดร.ฮเย-คยอง ลี อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คณะมนุษยศาสตร์ วิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ลอนดอน ได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมวัฒนธรรมของประเทศเกาหลีใต้ ที่รัฐมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนงานด้านศิลปวัฒนธรรมมาตั้งแต่ในอดีต และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มงบประมาณสำหรับนโยบายด้านวัฒนธรรมในอนาคต ซึ่งนอกจากจะสนับสนุนการสร้างผลงานและเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงศิลปะและสวัสดิการด้านศิลปะแล้ว รัฐบาลยังสนับสนุนโครงการคลื่นเกาหลี (Korean Wave) หรือการผสมผสานระหว่างนโยบายส่งออกวัฒนธรรมและการสร้างแบรนด์ให้กับประเทศ โดยใช้วิธีเปลี่ยนวัฒนธรรมให้เป็นสินค้าที่มีเรื่องราว แปลงข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมให้เป็นคอนเทนต์หลากหลายรูปแบบ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวแทนการสื่อสารวัฒนธรรมโดยตรง ที่สำคัญต้องเป็นคอนเทนต์ที่เสพง่าย น่าซื้อ และส่งออกได้ 

นอกจากนี้ ในอนาคต รัฐบาลเกาหลีใต้ยังวางแผนที่จะขยายคลื่นเกาหลีไปสู่ศิลปะแขนงอื่นๆ เช่น วิจิตรศิลป์ ดนตรีคลาสสิก วรรณกรรม ละครเพลง และแฟชั่น โดยมุ่งให้ศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมส่งเสริมการท่องเที่ยวและการสร้างแบรนด์ของประเทศต่อไป ทั้งนี้ ดร.ฮเย-คยอง ลี ได้เผยเคล็ดลับในการพัฒนาศิลปวัฒนธรรมให้เป็นที่นิยมไปทั่วโลก นั่นคือ “การเลิกปกป้องวัฒนธรรม แต่เปลี่ยนวัฒนธรรมให้มีความเป็นสากล ในฐานะโครงการระดับชาติที่ทำโดยรัฐ”

แดจังกึม ซีรีส์ยอดฮิตจากเกาหลีใต้ที่นำวัฒนธรรมอาหารเกาหลีเข้าสู่ประเทศไทยimdbแดจังกึม ซีรีส์ยอดฮิตจากเกาหลีใต้ที่นำวัฒนธรรมอาหารเกาหลีเข้าสู่ประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม การเติบโตงอกงามของวัฒนธรรมเกาหลีทั่วโลก ไม่ได้เกิดจากนโยบายของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษาและอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวว่าสิ่งที่เกาหลีใต้ทำคืออุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะประสบความสำเร็จ เพราะเป็นนโยบายที่ “เปลี่ยนทัศนคติ” ให้คนที่ไม่อยากซื้อสินค้ามีความต้องการสินค้า ซึ่งก็คือวัฒนธรรมเกาหลีนั่นเอง

นอกจากนี้ ตัวตนของชาวเกาหลีก็เป็นปัจจัยหลักอีกประการที่หล่อหลอมให้เกิดแบรนด์ที่เป็น “สไตล์เกาหลี” โดยเฉพาะ ตัวตนเช่นนี้ประกอบขึ้นมาด้วยรากฐานทางวัฒนธรรม 5 อย่าง ได้แก่ ความเชื่อเรื่องหมอผีและร่างทรง ที่ผู้คนนิยมใช้บริการเพื่อบันดาลความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ลัทธิเต๋า ที่มีหลักปฏิบัติที่เรียบง่ายสอดคล้องกับธรรมชาติ และกำหนดความงามในอุดมคติของเกาหลี นั่นคือความงามที่ไม่หวือหวา ดังจะเห็นได้จากการศัลยกรรมจมูกของเกาหลี ที่มีลักษณะเฉพาะ นั่นคือ จมูกขนาดเล็ก ดั้งไม่สูงมาก และที่สำคัญก็คือต้องมีหยดน้ำตรงปลายจมูก พระพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่ส่งเสริมให้คนเกาหลีมีความเพียรพยายามและต้องการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ลัทธิขงจื๊อ ซึ่งเน้นเรื่องความสำเร็จที่มาจากการทำงานหนัก ความกตัญญู หน้าที่การงานที่ดี และระบบอาวุโส ทว่าความตึงเครียดของลัทธินี้ กลับทำให้คนรุ่นใหม่ปลดปล่อยตัวเองผ่านการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ และสุดท้ายคือ คริสต์ศาสนา ที่มีบทบาทสำคัญในแง่การสร้างเครือข่ายทางการเมืองและธุรกิจ ผ่านการพบปะกันระหว่างนักการเมืองและนักธุรกิจที่ไปโบสถ์ทุกวันอาทิตย์

และไม่ใช่แค่รากฐานทางวัฒนธรรมเท่านั้น ผศ.ดร.ปิติ ยังชี้ให้เห็นถึงวิธีการสร้างสรรค์นวัตกรรมแบบเกาหลีใต้ ซึ่งประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ การลอกเลียนแบบ การทุ่มเทพัฒนาให้เหมือนที่สุด และการพัฒนาให้ดีกว่า โดยยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจน จากการสร้างสมาร์ทโฟน “Samsung Galaxy S”

“iPhone โดยสตีฟ จ็อบส์ ขายครั้งแรกในปี 2007 แล้วต้องใช้เวลา 3 ปี กว่าซัมซุงจะสามารถออก Samsung Galaxy S รุ่นแรกได้ ซึ่งมีหน้าตาเหมือน iPhone เลย เพียงแต่คลุมทับด้วยระบบปฏิบัติการ Android ของซัมซุง จากนั้นก็ทุ่มเท พัฒนาให้เหมือนที่สุดเท่าที่จะเหมือนได้ จะเห็นว่า Galaxy S1 ถึง S5 หน้าตาเหมือน iPhone ทุกประการ แต่มันเริ่มพัฒนาฮาร์ดแวร์และระบบปฏิบัติการอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งมี Galaxy S6 ที่ไม่มีขอบจออีกต่อไป มีแต่หน้าจอเกลี้ยงๆ นี่คือความงามแบบเต๋าครับ เป็นการพัฒนาที่เริ่มจากการเลียนแบบ ทุ่มเท พัฒนา แต่สิ่งที่เกาหลีทำมากกว่านั้นคือความเซ็กซี่ ไม่ใช่ความแข็งกร้าว

Girls' Generation วงเกิร์ลกรุ๊ปสุดเซ็กซี่ที่จุดทั้งกระแส K-Pop และเทรนด์ความสวยความงามฉบับเกาหลีให้แก่คนไทยAFPGirls' Generation วงเกิร์ลกรุ๊ปสุดเซ็กซี่ที่จุดทั้งกระแส K-Pop และเทรนด์ความสวยความงามฉบับเกาหลีให้แก่คนไทย

นอกจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่สามารถเอาชนะสหรัฐอเมริกาแล้ว เกาหลีใต้ยังใช้โมเดลเดียวกันนี้ในการพัฒนาวงการเพลงของตัวเองจนโดดเด่นแซงหน้าความ “คาวาอี้” ของเกิร์ลกรุ๊ปญี่ปุ่นด้วย

“ปี 2005 คุณเจอ AKB48 รุ่นแรกของญี่ปุ่น แต่ความงามของญี่ปุ่นต่างจากความงามของเกาหลีครับ ความงามของญี่ปุ่นใช้คำว่าคาวาอี้ น่ารัก ถูกใจโอตาคุคุณลุงที่ไม่ชอบผู้หญิงแต่งตัวโป๊ แต่ชอบผู้หญิงแต่งตัวเรียบร้อยน่ารัก เหมือนลูกสาวหลานสาว ถ้าจะต้องทำเป็นเกาหลี เพลงเหมือนกัน เด็กผู้หญิงเหมือนกัน เต้นเหมือนกัน ก็จะมีการลอกเลียนแบบเกิร์ลกรุ๊ปแบบนี้ แต่เกิร์ลกรุ๊ปของเกาหลีจะต้องทำงานหนัก แล้วพัฒนาตัวเองขึ้นมา จนกลายเป็น Girls’ Generation ที่เซ็กซี่กว่าครับ และมันทำให้ K-Pop ประสบความสำเร็จ” ผศ.ดร.ปิติ กล่าว

ด้าน ดร.อภิชาติ ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักโครงการและจัดการความรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ได้ให้ความเห็นว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้เกาหลีใต้พัฒนาได้ ได้แก่ รัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ ศักยภาพและความจริงจังของชาวเกาหลี ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการพัฒนาทั้งองค์ความรู้ เนื้อหา คน เทคโนโลยี เครือข่าย และตลาดที่จะรองรับ “สินค้าทางวัฒนธรรม” โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการสื่อสาร รวมทั้งกฎหมายที่ยืดหยุ่นและสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่พัฒนาต่อ กระตุ้นให้เกิดการลงทุน และการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของวัฒนธรรมที่มีความสวยงามและเป็นสากล จนสามารถเข้าถึงคนทั่วโลก

“นโยบายการพัฒนาเกาหลีมีการผสมผสานระหว่างองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรม ศิลปวัฒนธรรม เพื่อที่จะสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการที่มีรูปแบบทันสมัยและตรงใจ สามารถกระตุ้นเร้าความต้องการ ที่อาจจะไม่มีด้วยซ้ำ ให้เกิดมีขึ้น นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มียอดการวิจัยและพัฒนาที่สูงที่สุดในโลก ประมาณ 4% ของ GDP และในปัจจุบัน เกาหลีก็ให้ความสำคัญกับการกระจายการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ทักษะ และวิธีการกับเทคนิคใหม่ๆ ให้ลงไปสู่ผู้ประกอบการรายเล็กมากขึ้นด้วย” ดร.อภิชาติ กล่าว

เมื่อถามว่าประเทศไทยมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสามารถส่งออกศิลปวัฒนธรรมออกไปทั่วโลกอย่างเกาหลีใต้ ผศ.ดร.ปิติ ยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของชาวเกาหลี โดยเฉพาะการรังเกียจอาชีพบางอาชีพ เช่นทหาร ที่ถูกมองว่าเป็นผู้ที่คอยแทรกแซงการเมือง กลายเป็นภาพลักษณ์ของทหารที่เสียสละเพื่อชาติ และอุทิศเวลาถึง 2 ปีในชีวิต ทิ้งหน้าที่การงานมาทำภารกิจเพื่อชาติ โดยนำเสนอภาพลักษณ์นี้ผ่านซีรีส์หวานอย่าง Descendants of the Sun

“คำถามต่อมาก็คือ ถ้าเราจะส่งเสริมเรื่องพวกนี้บ้าง เราทำแล้วหรือยัง เราทำเรื่องการเปลี่ยนทัศนคติด้านลบของคนไทยให้เป็นด้านที่ดีขึ้นหรือยัง เด็กคนหนึ่งจะเปิดโปงเรื่องโกงแต่ถูกผู้ใหญ่ตบหลัง หรือผู้ใหญ่คนหนึ่งเข้าไปยิงเสือดำ แล้วบอกว่าไม่ได้ยิง ถ้าเราไม่กล้าที่จะเอาเรื่องที่ไม่ดีของเรามาทำให้มันดีขึ้น ทำให้มันย่อยง่ายขึ้น ไทยเรารับพระพุทธศาสนาเข้ามาเหมือนกัน แต่สิ่งที่เกาหลีและญี่ปุ่นได้คือการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง แต่ของเราอาจจะไม่ได้รับตรงนั้นมา เพราะเรายังหวังผลดลบันดาล และฉาบฉวยมากกว่า เรามีโอกาส แต่จะทำหรือไม่ทำเป็นอีกเรื่องหนึ่ง” ผศ.ดร.ปิติ กล่าว

Descendants of the Sun ซีรีส์เกาหลีที่เปลี่ยนภาพลักษณ์ของทหาร จากกลุ่มคนที่แทรกแซงการเมือง เป็นฮีโร่ที่เสียสละเพื่อชาติimdbDescendants of the Sun ซีรีส์เกาหลีที่เปลี่ยนภาพลักษณ์ของทหาร จากกลุ่มคนที่แทรกแซงการเมือง เป็นฮีโร่ที่เสียสละเพื่อชาติ

และในขณะที่รัฐบาลไทยพยายามศึกษาดูงานและเจริญรอยตามประเทศที่มีนโยบายด้านวัฒนธรรมโดดเด่น ทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ แต่สิ่งที่รัฐบาลดูเหมือนจะหลงลืมไปคือการพัฒนาที่ต้นทางอย่าง “ทรัพยากรมนุษย์” ซึ่งดร.อภิชาติ มองว่าศักยภาพของเด็กไทยยังต่ำกว่าประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะทักษะในศตวรรษที่ 21 ทั้งการคิดวิเคราะห์ การคิดนอกกรอบ การทำงานเป็นทีม ความพยายามแก้ปัญหาแบบองค์รวม ทักษะด้านความเข้าใจเทคโนโลยี คือใช้เทคโนโลยีให้ถูกต้อง และความเข้าใจวัฒนธรรม

“เด็กของเราตั้งแต่เล็กจนโต ถูกสั่งสอนให้เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัส 2 อย่างเท่านั้น คือตาดู หูฟัง เราไม่เคยเปิดโอกาสให้เด็กของเราได้สัมผัสประสบการณ์ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ซึ่งรวมทั้งการเรียนรู้ด้วยจิตใจ มีความซาบซึ้ง จินตนาการต่างๆ คนแต่ละช่วงวัยมีโครงสร้างสมองไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การเรียนรู้ของคนแต่ละช่วงวัยต้องมีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ใช้สื่อ รูปแบบการนำเสนอ และความยากง่ายที่แตกต่างกัน แต่การเรียนรู้ในประเทศไทยไม่เคยเอาสิ่งเหล่านี้มาใช้พัฒนา ตั้งแต่เด็กจนโต เรียนเหมือนกันหมด ถ้าเราไม่สามารถสร้างการเรียนรู้ที่ถูกต้องได้ก็จะเป็นการทำลายทรัพยากรมนุษย์ ทำให้เด็กไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ เด็กไม่รู้จักตัวเอง เมื่อไม่สามารถพัฒนาความคิดได้ ความคิดสร้างสรรค์ก็เกิดขึ้นได้ยากด้วย”

แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยแยกศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ออกไปเป็นสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ และพัฒนาเครื่องมือที่จะสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาศิลปวัฒนธรรมทั่วประเทศให้มีรูปแบบที่ทันสมัย น่าบริโภค และนำเสนอสู่สาธารณะ แต่ ดร.อภิชาติ ก็ได้เสนอแนวทางเริ่มต้นในการส่งออกวัฒนธรรม นั่นคือการสอนให้เด็กรู้จักตัวตนและสามารถพัฒนาศักยภาพอย่างครบถ้วน เพื่อให้สามารถใช้คนได้อย่างเต็มศักยภาพ

“ถ้าเราไม่สามารถสร้างนักศึกษาที่เป็นแบบนี้ได้ เรียนตามครู ห้ามคิด ห้ามทำอย่างอื่น ก็ไม่สามารถพัฒนาผู้เรียนได้ ถ้าเราอยากเป็นอย่างเกาหลีหรืออเมริกาที่คนสามารถคิดนอกกรอบ สร้างนวัตกรรม แล้วสามารถมองเห็นหลายๆ มิติและสร้างให้เกิดนวัตกรรมขึ้นมาได้ นี่ก็เป็นสิ่งที่เราควรเรียนรู้จากเขา” ดร.อภิชาติสรุป

เห็นได้ชัดว่ากระแสบุพเพสันนิวาสนั้นทำให้เรามองเห็นโอกาสในการพัฒนาศิลปวัฒนธรรมของเราให้ก้าวสู่เวทีสากล แต่นอกจากการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจตัวตน ก่อนจะส่งออกความเป็นตัวตนของเราสู่สายตาชาวโลก สิ่งที่ควรคำนึงถึงก็คือ การส่งออกวัฒนธรรมเป็นภารกิจที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะชนะในคนทั่วโลก ดังนั้น การลงมือทำอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และเป็นระบบจึงจำเป็นอย่างมาก หากเรายังมุ่งเพียงแต่การรณรงค์แต่งชุดไทยถ่ายรูปเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการพัฒนาทักษะและความคิดสร้างสรรค์อย่างจริงจัง มนตร์กฤษณะกาลีกี่เล่มก็คงพาเราไปสู่เวทีสากลไม่ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook