“โหมโรง เดอะ มิวสิคัล” การเอาชนะ “ความกลัว” ในหัวใจ ผ่าน “เสียง” ของ ... ดนตรีไทย

“โหมโรง เดอะ มิวสิคัล” การเอาชนะ “ความกลัว” ในหัวใจ ผ่าน “เสียง” ของ ... ดนตรีไทย

“โหมโรง เดอะ มิวสิคัล” การเอาชนะ “ความกลัว” ในหัวใจ ผ่าน “เสียง” ของ ... ดนตรีไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อม่านแห่งโรงละครปิดฉากลง ความอิ่มเอมใจแบบไร้ข้อสงสัย ไร้ข้อกังขา ได้ถาโถมเข้ามาสู่จิตใจอย่างล้นปรี่ นี่คือละครเวทีที่ทรงคุณค่า ละครเวทีที่ชาวไทยควรดูให้ได้สักครั้งในชีวิต

พอได้ทราบข่าวว่า ละครเวทีเรื่อง “โหมโรง เดอะ มิวสิคัล” กำลังจะกลับมารีสเตจอีกครั้ง หลังจากสร้างความประทับใจแก่ผู้ชมไปแล้วถึง 2 ครั้ง 2 คราเมื่อปี พ.ศ. 2558 กับครั้งแรกที่ต้องเพิ่มรอบจาก 15 เป็น 27 รอบ และครั้งที่สองอีก 14 รอบ หัวใจก็พองโตอยู่ไม่น้อย คงต้องขอออกตัวก่อนว่า ผู้เขียนเคยมีส่วนร่วมในฐานะผู้ควบคุมเวทีละครเรื่องนี้ในการจัดแสดงคราวก่อน แม้ว่าจะรับรู้ รับทราบถึงเรื่องราวและการดำเนินเรื่องทุกอย่างบนเวที แต่ก็อดจะตื่นเต้นไม่ได้ที่หนนี้จะได้เปลี่ยนบทบาทจากการอยู่เบื้องหลัง ... มาเป็นผู้ชมอย่างเต็มตัว

อันที่จริงหลายคนคงจะพอคุ้นหูกับ “โหมโรง” มาพอสมควร โดยเฉพาะเมื่อปี 2547 กับภาพยนตร์ที่กำกับโดย อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ซึ่งได้สร้างปรากฏการณ์แห่งการบอกต่อ จากการเป็นหนังดราม่าเล่าเรื่องดนตรีไทยที่ไร้การเหลียวแล กลับกลายเป็นภาพยนตร์ที่สร้างแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นเก่าและใหม่อย่างคาดไม่ถึง หรือจะย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น 3 ปี ก็มีหนังสืออัตถชีวประวัติของ หลวงประดิษฐไพเราะ อย่าง “หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) มหาดุริยกวีลุ่มเจ้าพระยาแห่งอุษาคเนย์” โดย อานันท์ นาคคง และ อัษฎาวุธ สาคริก ออกมาให้อ่านกัน รวมถึงละครโทรทัศน์ โหมโรง ในปี 2555 ที่สามารถสร้างกระแสการพูดถึงดนตรีไทยที่หลายคนลืมเลือนไปแล้วได้อยู่ไม่น้อย

นายศร ปิดตาตีระนาด

ทว่าเมื่อ โหมโรง แปรสภาพกลายมาเป็นละครเวทีแบบมิวสิคัล (จากฝีมือการกำกับการแสดงของ ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม หรือ สังข์ 108 มงกุฎ และกำกับนักแสดงโดย ครูเงาะ-รสสุคนธ์ กองเกตุ) แน่นอนว่าการดำเนินเรื่องก็คงต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปในอีกรูปแบบหนึ่ง การเล่าประวัติของ หลวงประดิษฐไพเราะ ผู้สร้างคุโณปการอันใหญ่หลวงให้กับ “ดนตรีไทย” ผ่าน โหมโรง เดอะ มิวสิคัล จึงค่อนข้างกระชับ ฉับไว เริ่มต้นด้วย “ศรวัยเด็ก” ที่มีใจรักในเสียงดนตรีไทย ก่อนจะเล่าสลับช่วงชีวิตของ “นายศร” วัยหนุ่ม และ “ท่านครู” (นายศรวัยชรา) ที่ต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคทั้งภายนอกและภายใน (จิตใจ) ท่ามกลางปัจจัยและสภาวะแวดล้อมที่ต่างกัน ... แบบสดๆ ผ่านไดอะล็อก และบทเพลงแทนความรู้สึกนึกคิด

การพบกันครั้งแรกของ นายศร และ แม่โชติ

อันที่จริงพล็อตเรื่องทั้งหมดก็มีแค่ย่อหน้าที่แล้ว แต่ระหว่างทางที่ผ่านพ้นไปทีละฉาก ทีละฉาก เราค่อยๆ หลุดเข้าไปอยู่ในชีวิตของตัวละคร “นายศร” ทีละนิด ทีละนิด เราได้เห็นหัวจิตหัวใจที่นายศรอุทิศแด่ดนตรีไทยตั้งแต่ครั้งเมื่อเขายังเป็นเด็ก เมื่อเข้าสู่ชีวิตวัยหนุ่ม ความเหิมเกริมยิ่งผยองได้สร้างบทเรียนสำคัญให้แก่ชีวิต สู่การเติบโตทางด้านความคิดและจิตใจ กับวัยชราที่ยังคงมีอุปสรรคอันใหญ่หลวงที่แทบจะเรียกได้ว่า อยู่เหนือการควบคุมของเขาอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเดินหน้าเข้ามาท้าทายชีวิตทั้งชีวิตที่มีแต่ดนตรีไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อ นายศร พบเจอกับ ขุนอิน

เรามองว่า ชีวิตทั้ง 3 ช่วงวัยของตัวละคร “ศร” นั้นล้วนแล้วแต่พบกับสิ่งที่สามารถทำให้เขาล้มเลิกความตั้งใจที่จะถวายชีวิตให้กับศิลปะดนตรีไทยอยู่ตลอดเวลา การที่พี่ชายของศร (วัยเด็ก) ถูกฆ่าตายจากการประชันระนาด จนพ่อสั่งห้ามไม่ให้เขาแตะต้องเครื่องดนตรีไทยอีกเป็นอันขาด, การที่ศร (วัยหนุ่ม) ที่มั่นใจในฝีมือระนาดของตนเอง จนกระทั่งไปเจอของจริงในบางกอกอย่าง “ขุนอิน” ที่ทำให้เขา “เสียเซลฟ์” จนแทบจะไม่อยากหยิบไม้ระนาดอีกเลย หรือแม้แต่ ศร (วัยชรา) หรือ ท่านครู ที่ต้องต่อกรกับนโยบายของท่านผู้นำในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มองว่า ดนตรีไทยเป็นสิ่งโบราณ คร่ำครึ และกลายเป็นของต้องห้ามในสังคม

“ความกลัว” ที่แสดงออกมาผ่านสีหน้า แววตา ท่าทาง หรือแม้แต่คำพูดของ ศร มันไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใดที่จะทำให้เขา “หยุด” ทุกอย่างเอาไว้แค่นั้น ดนตรีไทยอาจสูญสลายไปตั้งแต่ร้อยกว่าปีก่อน ทว่าความมุ่งมั่นตั้งใจ ความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคนานัปการ ได้ช่วยต่อลมหายใจให้กับดนตรีไทยตลอดมา

ครูเทียน กับคำแนะนำที่มีต่อ นายศร

แม้จะโดนพ่อสั่งห้ามไม่ให้แตะต้องเครื่องดนตรี แต่ศร (วัยเด็ก) ก็แอบซุ่มไปซักซ้อมตีระนาดอย่างขะมักเขม้น โดยมีเพื่อนซี้อย่าง ทิว คอยเป็นหน่วยส่งข้าวส่งน้ำ

แม้จะค้นพบว่า “ระนาดเอกแห่งอัมพวา” อย่างเขาจะได้รับการยกย่องมากมาย แต่ท้ายที่สุดก็ต้องยอมพ่ายแพ้ให้กับ ขุนอิน แต่เมื่อเขากลับมาไตร่ตรอง พินิจพิจารณาถึงความยโสโอหังที่ผ่านมา รวมถึงการได้ครูดีคอยแนะนำคำสั่งคำสอน ทำให้ศรกลับเข้าสู่ลู่ทางที่เหมาะที่ควรอีกครั้ง จนสามารถค้นพบทางระนาดของตนเอง และกลับมาตีระนาดได้อย่างมั่นใจและมีความสุขอีกครั้ง

แม้เวลาจะล่วงเลยเข้าสู่วัยชรา ศรจะต้องต่อกรกับความกลัวภายในจิตใจอีกครั้ง แถมคราวนี้ไม่ใช่แค่กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เขาจำต้องต่อสู้กับอำนาจรัฐที่ดำริว่า ดนตรีไทยอันเป็นชีวิตทั้งชีวิตของเขากลายเป็นสิ่งต้องห้ามในสยามประเทศไปเสียอย่างนั้น นอกจากศร (วัยชรา) ที่สุขภาพค่อยๆ ทรุดโทรมลงจะต้องแจกจ่ายแนวคิดในการดำรงรักษาดนตรีไทยเอาไว้ให้แก่ลูกหลานแล้ว เขายังต้องพยายามอธิบายให้นายทหารผู้ยึดมั่นในกฎเกณฑ์ได้เข้าใจถึงรากเหง้าของประเทศไปพร้อมๆ กัน ลึกๆ ท่านครูคงกลัวว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่สร้างมาจะค่อยๆ หายไป แต่การนั่งนอนอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไรเลยคงไม่ใช่เรื่องดีแน่

การเชือดเฉือนคารมของ พันโทวีระ และ ท่านครู

การเอาชนะความกลัวภายในจิตใจ จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญที่เรามองเห็นผ่านละครเวทีเรื่อง โหมโรง เดอะ มิวสิคัล เพราะมนุษย์ทุกคนย่อมต้องพบเจอกับเรื่องราวร้ายๆ ที่ไม่มีใครอาจทราบได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไร แต่หากเราไม่ยอมแพ้ ค่อยๆ คิดแก้ไขปัญหา หรือแม้แต่ยึดมั่นในความตั้งใจของเรา (ที่ไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร) แม้ว่าในฉากสุดท้ายของเรื่องราวดังกล่าวผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร จำต้องเปลี่ยนแปลง หรือ ยังคงไว้ในสิ่งที่เคยเป็นมา แต่อย่างน้อยเราก็สามารถก้าวข้ามผ่านความกลัวเหล่านั้นมาได้แล้ว หากเอาแต่รู้สึกกลัวจนไม่มองสิ่งรอบข้าง คงไม่ต้องรอให้มีคำตอบอันใด เพราะคุณได้ “แพ้” ตั้งแต่แรกเริ่มแล้วนั่นเอง

ย้อนกลับมาที่คำถามว่า เหตุใดจึงไม่ควรพลาดละครเวที โหมโรง เดอะ มิวสิคัล?

จุดแข็งสำคัญคือทัพนักแสดงที่ขอคารวะในฝีไม้ลายมือ พ่ออี๊ด-สุประวัติ ปัทมสูต กับบทบาท ท่านครู หรือ นายศร (วัยชรา) คงไม่ต้องบรรยายอะไรให้มากความ พ่ออี๊ดคือนักแสดงชั้นครูที่อาจเรียกได้ว่าสิ่งที่เห็นบนเวทีไม่ใช่การแสดง แต่เป็นสิ่งที่พ่ออี๊ดรู้สึกจริงๆ และถ่ายทอดออกมา, อาร์ม-กรกันต์ สุทธิโกเศศ กับบท นายศร ที่มีพัฒนาการทางการแสดงที่น่าจับตามองเอามากๆ สื่ออารมณ์ได้ชัดและคมขึ้นอย่างเห็นได้ชัด, แนน-สาธิดา พรหมพิริยะ ในบท แม่โชติ แค่น้ำเสียงใสกังวานในเพลง “ดอกลั่นทม” และ “เสียงนั้นเสียงหนึ่ง” ทำเอาขนลุกตลอดเพลง

ดอกลั่นทม สื่อแทนความรัก กำลังใจ และความห่วงใยของ แม่โชติ

ที่เซอร์ไพรส์มากๆ คงต้องยกให้ วีรพล จันทร์ตรง หรือ เอ๋ สมาร์ท นักแสดงตลกที่ทุกคนคุ้นหน้ากันเป็นอย่างดีที่มารับบท เปี๊ยก กับฉากพีคฉากนั้น (ที่เราไม่ขอเล่าตรงนี้ อยากให้ไปดูกันเอง) ยอมรับว่าเขาได้ก้าวไปสู่อีกระดับในฐานะนักแสดงละครเวทีเลยก็ว่าได้, พีท-ปิติพงษ์ ผาสุขยืด นักร้องนำวงดนตรีที่ชื่อ OverMe ในบทบาทของ เทิด ที่ได้สร้างมิติใหม่ให้กับตัวละครนี้ได้อย่างน่าสนใจทั้งในเรื่องอินเนอร์และการร้องเพลง ซึ่งอาจจะเป็นการตีความที่ต่างออกไปจากแคสต์เดิมอย่าง ปอ-อรรณพ ทองบริสุทธิ์ ที่ฝากฝีมือไว้ในการแสดงครั้งก่อน รวมถึง อนุสรณ์ มณีเทศ หรือ โย่ง อาร์มแชร์ ที่มารับบท พันโทวีระ คู่ต่อกรตัวยงของ ศร (วัยชรา) ซึ่งในความคิดแรกก็แอบเป็นห่วงเล็กๆ ว่า ฉากที่ต้องฟาดฟันทางความรู้สึกอย่างถึงพริกถึงขิงกับพ่ออี๊ดนั้น เขาจะทำได้ดีเพียงใด ปรากฏว่า นั่นอาจเป็นฉากที่ดีที่สุดของละครเวทีเรื่องนี้ อยากให้ลองติดตามกันดู

เสียงระนาดของท่านครู ที่ทำให้พันโทวีระฉุกคิดอะไรบางอย่าง

ในขณะที่เรื่องความลื่นไหลในการเปลี่ยนฉากก็น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย เวทีที่หมุนได้ ฉากที่ยกขึ้นยกลง มีความเปลี่ยนแปลงแทบทุกฉาก จุดนี้ต้องขอปรบมือให้ดังๆ เลยทีเดียว นี่ยังไม่นับรวมนักแสดงท่านอื่นๆ ที่ไว้เนื้อเชื่อใจเรื่องการแสดงได้อยู่แล้ว นักแสดงที่เล่นดนตรีไทยทุกคนบอกได้คำเดียวว่า "เทพ" มากๆ เราสัมผัสได้ถึงความรักที่มีต่อดนตรีไทยจากทุกๆ ตัวโน้ตที่พวกเขาบรรเลง รวมถึงนักแสดงประกอบทุกๆ คนที่สร้างสีสันให้กับละครเวทีเรื่องนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม

อ้อ! และฉากเด็ดที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ การประชันระนาดแบบสดๆ ของ นายศร และ ขุนอิน (แสดงโดย เบิ่ง-ทวีศักดิ์ อัครวงษ์ ซึ่งเป็นผู้บันทึกเสียงระนาดของนายศรใน โหมโรง เวอร์ชั่นภาพยนตร์) ที่ดุเดือดราวกับคอนเสิร์ตร็อคก็มิปาน เราเชื่อว่าหากจะอธิบายเป็นตัวอักษรในทุกคนเข้าใจในพื้นที่ตรงนี้คงไม่สามารถทำได้ ... ไปดูเถอะ มันยอดเยี่ยมจริงๆ

การประชันระนาดแบบสดๆ ระหว่าง นายศร และ ขุนอิน

อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ก็ขอยืนยันอีกครั้งว่า ลองไปพิสูจน์ด้วยสองตาของตนเองสักครั้ง “โหมโรง เดอะ มิวสิคัล” คือคุณค่าแห่งศาสตร์ละครเวทีและดนตรีไทยอย่างแท้จริง

... อย่าปล่อยให้ละครเวทีดีๆ และสุ้มเสียงแห่งดนตรีไทย หายไป ...

 

*** โหมโรง เดอะ มิวสิคัล จะจัดแสดงถึงวันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน 2561 ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 สยามสแควร์วัน ซื้อบัตรได้ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา ***

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ ของ “โหมโรง เดอะ มิวสิคัล” การเอาชนะ “ความกลัว” ในหัวใจ ผ่าน “เสียง” ของ ... ดนตรีไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook