ไม่ใช่ใครก็เดินได้! เผยคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์เดิน "พรมแดง" เทศกาลหนังเมืองคานส์
ใกล้เข้ามาทุกทีแล้วสำหรับ Festival de Cannes 2018 หรือ เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 71 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 8 - 19 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ ใครที่เป็นคอหนังคงพอจะทราบคร่าวๆ แล้วว่า ปีนี้มีสิ่งที่น่าจับตามองมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการที่ เคต แบลนเชตต์ นักแสดงหญิงมากความสามารถชาวออสเตรเลียขึ้นแท่นเป็นประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัล หรือแม้กระทั่งการที่ทางเทศกาลแบนหนังที่ฉายทาง Netflix ไม่ให้เข้าร่วมประกวด และทาง Netflix จึงตอบโต้ด้วยการถอนตัว ไม่นำภาพยนตร์ไปฉายในงาน
แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สปอตไลต์ทุกดวงจับจ้องไปตรงจุดนั้นในทุกๆ ปีก็คือ การเดินพรมแดง (Red Carpet) ของเหล่าซูเปอร์สตาร์แห่งวงการหนัง ผู้กำกับ ทีมผู้สร้าง ฯลฯ โดยเฉพาะในเมืองไทยที่หลายต่อหลายคนสนอกสนใจการไปปรากฏตัวบนพรมแดงของนักแสดงสาว ชมพู่ - อารยา เอ ฮาร์เก็ต ในช่วงหลายปีหลัง รวมถึงในปีนี้ที่มีอีกหนึ่งสาวอย่าง มารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ประจำปี 2560 ไปร่วมเดินด้วย
แต่ใช่ว่าใครก็มีสิทธิ์ไปเดินพรมแดงที่คานส์แบบตัวปลิวๆ ได้นะ ซึ่ง ก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์ผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงเทศกาลหนังเมืองคานส์มาเกือบ 20 ปี ก็ได้อธิบายถึงประเด็นนี้ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา (6 พฤษภาคม)
“งานหนังในโลกในที่ต่างๆ มีพรมแดงทั้งนั้น แต่พรมแดงคานส์มีรัศมีความศักดิ์สิทธิ์มากกว่าที่อื่น” ก้อง ฤทธิ์ดี เผย ก่อนที่เขาจะอธิบายถึงเหตุผลว่า ที่เป็นเช่นนั้นอาจเนื่องด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนาน หรืออาจเกิดขึ้นจากอุปาทานหมู่ หรืออาจเป็นเพราะความยาวของพรมแดงที่มีการปูขึ้นบันได ให้อารมณ์เหมือนกำลังเดินขึ้นวิหารศักดิ์สิทธิ์ (พรมแดงนี้จะนำไปสู่โรง Grand Theater Lumiere ที่มีความจุราว 2,000 คนเศษ)
และโดยส่วนใหญ่แล้วหนังที่จะได้ฉายรอบพรมแดงจะเป็นหนังสายประกวด ซึ่งภาพยนตร์ไทยที่เคยเข้าฉายในสายดังกล่าวก็มี สัตว์ประหลาด และ ลุงบุญมีระลึกชาติ ซึ่งทั้งสองเรื่องกำกับโดย เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล นอกจากนั้นหนังในสาย Out of Competition ที่ไม่ได้เข้าแข่งขันก็ได้เดินพรมแดงเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุผลที่ว่ามีดาราซูเปอร์สตาร์ที่สามารถสร้างสีสันหรือแรงดึงดูดจากแสงแฟลชนักข่าวได้
ทีนี้ก็มาถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะสามารถเดินพรมแดงของเทศกาลหนังเมืองคานส์ได้ ซึ่ง ก้อง ฤทธิ์ดี ได้แบ่งออกเป็น 5 หมวดหมู่ดังต่อไปนี้
- คนที่เกี่ยวข้องกับหนังเรื่องนั้น จะได้รับบัตรจากเทศกาล แจกจ่ายกันไป ไม่ว่าจะเป็นบริษัทผู้ผลิต โปรดิวเซอร์ ดารา ซึ่งถ้าคุณรู้จักใครสักคนในนี้แล้วไปขอบัตรมาได้ นั่นเท่ากับว่า คุณจะได้เดินพรมแดง
- ลงทะเบียนตามช่องทางที่เทศกาลกำหนด และจะได้รับ Badge เพื่อเข้างาน สามารถนำบัตรดังกล่าวไปขอรับตั๋วได้ โดยจะมีเป็นตู้ให้ใส่รหัส แต่การแข่งขันมักจะสูง ยิ่งหนังดังยิ่งยาก ไม่แน่เสมอไปว่าจะได้บัตร หรือถ้าได้ก็อาจไม่ใช่รอบพรมแดง (โดยหนัง 1 เรื่องมีฉายรอบอื่นอีก)
- แขกของเทศกาล ดารา นางแบบ คนรวย คนมีชื่อเสียง บุคคลดังในแวดวงสังคม ไฮโซ คนที่เกี่ยวข้องกับงานหรือวงการ หรือคนในวงราชการก็มีเช่นกัน
- บรรดาสปอนเซอร์ของคานส์ เช่น เครื่องเพชร เครื่องสำอาง รถยนต์ เหล่านี้จะสามารถนำดาราหรือพรีเซนเตอร์มาเดินพรมแดงได้ (และมักจะไม่เข้าไปดูหนัง) เพื่อให้มีการถ่ายรูปนำไปโปรโมตทำแคมเปญในประเทศของตนต่อไป ซึ่งของประเทศไทยก็มีอย่างที่ทราบกัน
- ท้ายที่สุด พวกตายเอาดาบหน้า หน้าพรมแดงจะมีวัยรุ่นแต่งตัวสวยๆ มารอขอบัตรคนที่มีบัตรเหลือ หลายคนโชคดีก็ได้ไป คือต้องวัดดวงแต่งตัวมารอ
ท้ายที่สุด ก้อง ฤทธิ์ดี ก็นำเสนอประเด็นที่ชวนให้คิดอยู่ไม่น้อย “คานส์เป็นงานภาพยนตร์ แต่พรมแดงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่คนจำได้มากกว่า” อีกทั้งเขายังมองว่า แม้พรมแดงจะถือเป็นการให้เกียรติศิลปินผู้สร้างงาน แต่สำหรับเทศกาลหนังเมืองคานส์ก็เป็นสถานที่แห่งความขัดแย้งในตัวเอง เพราะต้องการทั้งความหรูหรา ศิลปะ การค้ามาไว้ในที่เดียวกัน เขายกตัวอย่างถึงเรื่องกฎการแต่งตัวอันเข้มงวด ผู้ชายต้องใส่ทักซิโด้ ผู้หญิงต้องใส่เดรสและรองเท้าส้นสูง ส้นเตี้ยคือสิ่งต้องห้าม การ์ดที่เคร่งกับกฎมากๆ ก็จะไม่ยอมให้ผ่าน เป็นต้น โดยในปีนี้มีกฎเหล็กห้ามเซลฟี่บนพรมแดงอีกด้วย
คงต้องจับตามองกันต่อไปว่า เทศกาลหนังเมืองคานส์ปีนี้จะมีอะไรดราม่าให้คอหนังได้ติดตามกันบ้างหรือเปล่า โดยนอกจากสองสาวไทยอย่าง ชมพู่ และ มารีญา ที่จะไปร่วมเดินพรมแดงแล้ว Sanook TV/Movies ก็ขอร่วมส่งกำลังใจอีกแรงไปสู่ทีมผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง Ten Years Thailand ที่ได้รับเลือกให้เข้าฉายในสาย Special Screening นั่นเอง
อัลบั้มภาพ 24 ภาพ