รีวิว Anon เทคโนโลยีกับความเป็นส่วนตัวของมนุษย์

รีวิว Anon เทคโนโลยีกับความเป็นส่วนตัวของมนุษย์

รีวิว Anon เทคโนโลยีกับความเป็นส่วนตัวของมนุษย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

 

ANON เป็นผลงานเรื่องล่าสุดของแอนดรูว์ นิโคล ผู้กำกับที่ชื่นชอบการทำหนังที่เกี่ยวข้องกับโลกอนาคตและวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่อวิถีชีวิตผู้คน ไม่ว่าจะเป็นหนังอย่าง “Gattaca” ที่ตั้งคำถามว่าหากมนุษย์เกิดมาด้วย DNA ที่เป็นยีนส์ด้อย เราจะไม่สามารถมีโอกาสและความสามารถทัดเทียมคนที่มียีนส์เด่นจริงหรือ หรือหนังไซไฟ คอมมาดี้อย่าง The Truman Show ที่ตามติดชีวิตของทรูแมนตั้งแต่เด็กจนเขาเติบโต โดยที่เขาไม่เคยล่วงรู้เลยว่าชีวิตที่ผ่านมาถูกจับจ้องและกำกับโดยผู้กำกับในสถานีโทรทัศน์มาโดยตลอด หรือหนังอย่าง In Time ซึ่งโลกอนาคตนั้น “เวลา” ก็เปรียบเสมือนเงินตรา อายุขัยของมนุษย์ทุกคนจะหยุดลงที่อายุ 25 ปี ทางเดียวที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้คือการทำงานหรือได้รับโอนเวลาเพิ่มขึ้น จนกระทั่งวันหนึ่งมีคนที่เห็นข้อบกพร่องของระบบการตั้งค่าชีวิตของมนุษย์ไว้เช่นนี้ เขาจึงเลือกที่จะล้มล้างระบอบดังกล่าวทิ้ง

 

เช่นเดียวกันกับหนังอย่าง ANON ที่เล่าเรื่องราวของโลกอนาคตอันใกล้ ได้เกิดคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง ซึ่งเหยื่อไม่มีความรู้จักกัน แต่ในทุกคดีกลับมาบางอย่างคล้ายคลึงกัน ในโลกอนาคตนี้ตำรวจอย่างซัล (ไคล์ฟ โอเว่น) จะได้รับอภิสิทธิ์ในการไขคดีเหล่านั้น ด้วยการใช้ระบบบันทึกกิจกรรมทุกอย่างของทุกๆ คนด้วยความถี่ระดับเสี้ยววินาที ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกบันทึกลงบนฐานข้อมูลที่มีชื่อว่า The Ether ซึ่งเหล่าผู้รักษากฎหมายสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลนี้ได้

 

 

โดยในโลกอนาคตมนุษย์ทุกคนจะได้รับการฝังคอมพิวเตอร์ชีวภาพ ที่จะบันทึกทุกกิจกรรมในชีวิตของพวกเขา คอมพิวเตอร์นี้ชื่อว่า The Mind’s Eye นั่นหมายความว่ามนุษย์ทุกคนจะไม่มีความเป็นส่วนตัวหลงเหลืออีกต่อไป เพราะดวงตาของเราจะกลายเป็นจอมอนิเตอร์คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน กล้องสอดวงจรปิด ไปในเวลาเดียวกัน

 

แต่แล้วเมื่อซัลได้สืบคดีนี้ลึกลงไป เขากลับได้พบหญิงสาวลึกลับคนหนึ่ง (อะแมนดา ไซเฟร็ด) ที่ Mind’s Eye ของเขาไม่สามารถระบุตัวตนได้ ตอนแรกเขารู้สึกว่ามันน่าจะเป็นความผิดพลาดของระบบ แต่แล้วเขาก็คิดขึ้นได้ว่า นี่อาจจะเป็นเบาะแสแรกที่จะช่วยให้เขาสามารถคลี่คลายคดีทั้งหมดได้

 

 

ANON ได้ตั้งคำถามอย่างชาญฉลาด ถึงโลกอนาคตที่มนุษย์ไม่มีความเป็นส่วนตัวอีกต่อไป อีกทั้งเมื่อการสืบคดีได้ดำเนินไปข้างหน้า เราจะยิ่งค้นพบว่าระบบที่คนคาดว่ามันปลอดภัย ก็ยังมีช่องโหว่และความผิดพลาดที่สามารถเกิดขึ้นได้ ยังไม่รวมไปถึง “ความผิดพลาดของระบบ” ที่สามารถแฮ็คเข้าสมองของใครก็ได้ในสังคมและสามารถสร้างภาพเสมือนทำให้คนๆนั้นมองเห็นภาพอีกแบบหนึ่งภายใต้สภาพแวดล้อมเดียวกัน เช่นเดียวกับที่ตัวละครซัลโดนลอบทำร้ายแบบที่ไม่จำเป็นต้องยื่นอาวุธใดมาฆ่าเขาเลย

 

แต่ถึงแม้ ANON จะเป็นหนังที่มีคอนเซ็ปโดดเด่นและน่าสนใจ แต่ก็ต้องยอมรับอีกเช่นกันว่าหนังก็มีช่องโหว่ในการสืบคดี และการเผยตัวคนร้ายที่ไม่ได้น่าสนใจเอาซะเลย ยังไม่รวมไปถึงการวางคาแรกเตอร์ตัวละครที่ดูไม่น่าติดตามและเอาใจช่วย เพราะทุกอย่างในหนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยความเย็นชา ซะส่วนใหญ่ หรือถ้าหากว่านี่ความตั้งใจของผู้กำกับแอนดรูว์ นิโคล ก็คงต้องบอกว่าเขาทำออกมาได้ตรงตามจุดหมายของเขาแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook