รีวิว Ant-Man and the Wasp ฮีโร่บ้านๆ แต่ตลกวอดวาย

รีวิว Ant-Man and the Wasp ฮีโร่บ้านๆ แต่ตลกวอดวาย

รีวิว Ant-Man and the Wasp ฮีโร่บ้านๆ แต่ตลกวอดวาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากเหตุการณ์ในภาคแรก และควันหลงจาก กัปตัน อเมริกา: ซีวิล วอร์ พระเอกมนุษย์มดรุ่น 2 อย่าง สก็อตต์ แลงก์ (พอล รัดด์) ต้องรับมือกับผลลัพธ์ในสิ่งที่เขาเลือกทั้งในฐานะซูเปอร์ฮีโร่ โดยครั้งนี้เขายังต้องร่วมมือกับแฟนที่ห่างเหินกันไปอย่าง โฮป แวน ไดน์ (อีวานเจลีน ลิลลี่) ที่ตอนนี้สวมชุดเป็นฮีโร่สาวในนาม เดอะวอส์พ และพ่อของเธอหรือมนุษย์มดรุ่นแรก ดร. แฮงค์ พิม (ไมเคิล ดักลาส) ในภารกิจใหม่สุดเร่งด่วน เพื่อต่อกรกับวายร้ายพลังสุดเทพอย่าง โกสต์ (ฮันนาห์ จอห์น คาเมน) ที่มีพลังทะลุทุกสิ่ง กับวายร้ายเจ้าพ่อค้าอาวุธอย่าง ซอนนี่ เบิร์ช (วอลตัน ก็อกกินส์) ซึ่งอีกด้านเขากับโฮปก็ต้องตามหา เจเน็ต (มิเชลล์ ไฟฟ์เฟอร์) แม่ของโฮปกลับมาจากมิติควอนตัมให้จงได้ สก็อตต์ต้องกลับมาสวมชุดใหม่อีกครั้ง และเรียนรู้ที่จะต่อสู้เป็นทีมไปพร้อมกับ เดอะ วอส์พ เพื่อหาคำตอบในอดีตของ เจเน็ต และ ดร. พิม ที่เป็นปริศนาสำหรับพวกเขา

จะว่าไปหนังมาร์เวลนั้น ถึงจะยืนเนื้อหาในความเป็นซูเปอร์ฮีโร่และพลังพิเศษต่าง ๆ แต่ถ้าลองจับสังเกตกันดี ๆ เราจะเห็นว่าฮีโร่แต่ละตัวต่างก็มีสูตรหรือแนวหนังที่ใช้ต่างกัน ทั้งนี้ต้องชื่นชม เควิน ไฟกี ประธานมาร์เวลและผู้ดูแลจักรวาลหนังมาร์เวลทั้งหลาย ที่ชาญฉลาดพอในการวางแพลนประสบการณ์ให้ผู้ชมได้รับรสที่หลากหลายตลอดเวลา พูดอีกอย่างคือไม่ให้ผู้ชมที่ดูหนังมาร์เวลกันปีละ 1-3 เรื่อง ไม่เกิดอาการเลี่ยนหนังฮีโร่เกินไปนั่นเอง ดังนั้นเราจึงมีหนังก้าวพ้นวัยแบบปัญญาวัยรุ่นว้าวุ่นอย่าง สไปดี้ หนังดราม่าการเมืองอย่าง ซีวิลวอร์ และ แบล็กแพนเธอร์ หรืออย่าง แก๊งพิทักษ์อวกาศ ที่กลายเป็นหนังตลกแบบนอสตัลเจีย ส่วน ธอร์ ภาคล่าสุดก็อวตารตัวเองกลายเป็นหนังตลกติ๊งต๊องไปเรียบร้อย

และแน่นอนสำหรับ Ant-Man and the Wasp ที่ใช้ชื่อไทยได้ตร๊งตรงจนสิ้นคิดอย่าง แอนท์-แมน และ เดอะ วอสพ์ ถ้าจะให้พูดว่าเป็นหนังแนวไหน นี่คือหนังสไตล์รอมคอม หรือ โรแมนติกคอเมดี้ ที่ว่าด้วยพ่อหม้ายลูกติดที่พยายามคืนดีกับแฟนสาวคนใหม่ ที่ดันมีคุณพ่อสุดเฮี้ยบซึ่งดันเกลียดขี้หน้าเขาอยู่ด้วย เป็นโครงหลัก ส่วนพลังพิเศษต่าง ๆ มาเป็นเพียงน้ำจิ้มและอุปสรรคให้ความสัมพันธ์ของพระ-นาง ตลอดจนกับลูกสาวพระเอก และกับว่าที่พ่อตา เจริญงอกงามขึ้นเท่านั้นเอง

ดังนั้นใครชอบแนวหนังรักตลก ๆ ที่เดินเรื่องแบบซิทคอม เต็มไปด้วยสถานการณ์ชวนหัวปั่นและฮา นี่คือหนังซูเปอร์ที่เป็นคำตอบของคุณเลยครับ ส่วนแฟนมาร์เวลทั่วไปนี่อาจไม่ใช่หนังที่ตอบโจทย์ความเข้มข้น ไม่ได้มีฮีโร่ดัง ๆ ที่คุ้นเคยจากแก๊งอเวนเจอร์สมาแจม (เพราะช่วงเวลาเดียวกันนี้กำลังไฝว้กับพวกธานอสอยู่) แถมไม่ได้มีส่วนเชื่อมโยงสำคัญอะไรส่งผลกระทบยังหนังรวมพลอย่าง Avengers 4 ที่แว่ว ๆ ว่าอาจใช้ชื่อภาคว่า End Game ด้วย

ด้วยความที่เป็นหนังสแตนด์อะโลน ไม่ต้องไปเข้าใจหนังเรื่องอื่น ๆ ในจักรวาลมาร์เวลมาก จึงสามารถเริ่มต้นดูที่ภาคนี้ได้เข้าใจเลยเช่นกัน (เหมาะกับการพาแฟนสาวที่ชอบรอมคอมมาเริ่มติดหนังมาร์เวลมาก ๆ ฮะ) นี่จึงเป็นหนังที่ดึงทักษะออกมาได้สูงสุด สำหรับผู้กำกับผู้ช่ำชองกับแนวรอมคอม อย่าง เพย์ตัน รี้ด (Bring it on, Yes Man, The Break-Up) ซึ่งรับหน้าที่ตั้งแต่ภาคแรกได้อย่างดี

ด้านดาราก็ได้ทีมเดิมที่ตอนนี้รู้สึกว่าเคมีเข้าคู่ลงตัวกันมาก ๆ แล้ว ไม่ค่อยมีจุดขัดเขินแบบภาคแรก และที่สำคัญตัวละครฝั่งพระเอกแต่ละกลุ่มดูมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันที่น่าสนใจขึ้น อย่างเช่น หลุยส์ กับ ดร. พิม ที่เห็นอาการขยาดของ ดร. พิม ได้ชัดและสร้างสถานการณ์ตลกขบขันใหม่ ๆ ขึ้นได้อีก เป็นต้น นอกจากนี้หนังยังมีดาราสมทบที่มากฝีมือมาแจมในภาคต่อนี้มากขึ้นด้วย ทั้ง มิเชลล์ ไฟฟ์เฟอร์ ในบทของ เจเน็ต หรือ เดอะวอส์พ รุ่นแรก และ ลอว์เรนซ์ ฟิชเบิร์น ในบทของ ดร. บิลล์ ฟอสเตอร์ หรือฉายา โกไลแอธ ฮีโร่ขยายร่างรุ่นแรก ซึ่งต่างก็เป็นดาราที่เคยเข้าชิงรางวัลออสการ์ และผ่านงานแสดงในหนังฮีโร่มาก่อนแล้วทั้งสิ้น ก็ทำให้หนังภาคนี้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นในการปั้นแต่งตัวละครด้วย

ในขณะที่ฝ่ายเขียนบทก็ได้ดารานำอย่าง พอล รัดด์ ที่เคยร่วมเขียนบทในภาคแรกมาสานต่อบทบาทอีกในภาคนี้ โดยร่วมกับทีมเขียนบทจาก Spider-Man: Homecoming ซึ่งก็เหมาะเจาะอีกเช่นกันเพราะ หนังดึงความเป็นปุถุชนฮีโร่บ้าน ๆ ที่สัมผัสได้ อย่าง สก็อตต์ แลง พระเอกที่ถูกรัฐกักบริเวณเป็นเวลา 2 ปีจากการไปช่วยกัปตันอเมริกาในซีวิลวอร์ ทำให้เขาไม่สามารถออกนอกบริเวณบ้านตัวเองได้ ทุกครั้งที่ออกไป กำไรไฮเทคที่ข้อเท้าจะส่งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่อย่าง มิสเตอร์วู (ในคอมมิคคือเอเจ้นท์ผู้รวมทีมเหล่าฮีโร่สายลับลอบเร้นด้วย) เข้ามาตรวจสอบ แต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเขาต้องกลับไปเผชิญหน้ากับแฟนและพ่อของเธอที่กำลังยั้วะเขาเต็มอัตราจากการเอาพลังไปใช้โดยไม่ปรึกษา ทำให้เขาต้องรักษาสมดุลในการเป็นนักโทษที่ดีที่ใกล้วันได้รับอิสรภาพเพื่อจะได้เป็นพ่อที่ดีให้ลูก กับการเป็นแฟนที่ดีในภารกิจช่วยเหลือแม่ของแฟนในมิติควอนตัมกลับมา ซึ่งอันหลังก็วุ่นวายน่าดูเพราะนอกจาก พ่อค้าอาวุธที่พยายามจะแย่งพลังมดมาใช้แล้ว ยังมีศัตรูลึกลับที่มีพลังทะลุทุกสิ่งได้ไล่ล่าเพื่อแย่งชิงแล็บของ ดร. พิม ด้วย

ความพิเศษของหนังแอนท์แมนคือ การเล่าปัญหาของฮีโร่อย่าง สก็อตต์ แลงก์ ที่เอาจริง ๆ เขาก็คือคนธรรมดาที่ได้พลังจากอุปกรณ์ ไม่มีพลังเหนือมนุษย์ติดตัวแบบกัปตันอเมริกา หรือไม่มีปัญญามีความร่ำรวยล้นฟ้าแบบ โทนี่ คือถ้าไม่มีอุปกรณ์เขาก็สู้ใครแทบไม่ได้ เขาเป็นแค่คนที่ตกงานติดสถานะอาชญากรที่อยากกลับไปมีชีวิตปกติให้ลูกสาวของเขาได้ภูมิใจ ปัญหาของแลงก์จึงเป็นปัญหาแบบมนุษย์ปุถุชนที่เราสัมผัสได้ง่าย เอาใจช่วยได้ง่าย ไม่ต้องไปผูกกับเหตุการณ์ระดับโลกแบบหนังมาร์เวลช่วงหลังเลย เพราะความเป็นหนังครอบครัวแบบนี้ก็ได้ใจคนดูทั่วไป และคนดูหน้าใหม่ได้ไม่ยากเย็น ยิ่งแอนท์แมนเป็นจำพวกฮีโร่ตกกระไดพลอยโจน และเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ก็ยิ่งเห็นอกเห็นใจเขาได้ง่าย

และการที่คนธรรมดาเลือกทางที่ยิ่งใหญ่มันจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจตามมาด้วยนั่นเอง

สถานการณ์ขัดแย้งกันเองเหล่านี้ จึงสร้างความขบขันได้มากมาย ซึ่งพัฒนาขึ้นมากจากภาคแรก เพราะในภาคแรกเป็นการใช้ตัวละครอย่างหลุยส์ในการเรียกเสียงฮาเสียมากกว่า แต่กับภาคนี้มันมีความตลกทั้งแบบเดิมและแบบที่คนทั่วไปอินได้ง่ายอย่างตลกสถานการณ์ เช่น การที่พระเอกต้องรีบกลับบ้านให้ทันก่อนเจ้าหน้าที่วูจะจับได้ว่าเขาแอบออกไปเป็นแอนท์แมน จนอาจทำให้ต้องติดคุกยาวต่อไป เป็นต้น ทำให้กลายเป็นความบันเทิงที่ลงตัวมากขึ้น แม้หลาย ๆ ฉากอาจเรียกได้แค่เสียง หึหึ แต่กับบางฉากต้องบอกว่ากรามค้างจริง ๆ โดยเฉพาะฉาก แอนท์แมนแอ๊บแมน นี่ตลกมาก

และนี่คือหนังเรื่องที่ 20 ของจักรวาลหนังมาร์เวล ที่กลายเป็นหนังชุดซูเปอร์ฮีโร่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยุคใหม่ไปเรียบร้อย และแม้จะเป็นหนังที่มาเข้าโรงหลังจาก Avengers: Infinity Wars (2018) ก็ตาม แต่น่าจะจัดเข้าชุดเฟส 3 เช่นเดียวกับ Captain America: Civil War (2016), Spider-Man: Homecoming (2017) และ Black Panther (2018) เสียมากกว่า เพราะหนังเล่าช่วงเวลาระหว่างผลกระทบจากเหตุการณ์กระทบกระทั่งแตกหักระหว่างกัปตันอเมริกา และไอออนแมน ยาวมาถึงก่อนช่วงการบุกโลกของธานอสในอินฟินิตี้วอร์ เป็นสำคัญ ต้องบอกว่าน่าเสียดายที่หนังเรื่องนี้สร้างผลกระทบกับหนังเรื่องอื่นไม่มากนัก แต่ช่วงท้ายหรือตอนจบของหนังก็ได้ทิ้งก้อนปริศนาสำคัญที่น่าจะส่งผลเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ต่อหนังแอนท์แมน หรือแม้แต่จักรวาลมาร์เวลในอนาคตก็เป็นได้ ถ้าสิ่งที่ผมมโนอยู่เกิดขึ้นจริงว่าแอนท์แมนจะได้รับพลังใหม่ กลืนกับอีกตัวละครสำคัญในจักรวาลคอมมิค

ส่วนข้อเสียก็คงเป็นฟอร์มที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่ระดับโลกหรือระดับจักรวาลอย่างที่ จักรวาลมาร์เวลกำลังพาพีคขึ้นไป แต่ข้อดีในนั้นคือเราได้พักหัวได้บันเทิงแบบบ้าน ๆ บ้าง ส่วนข้อเสียใหญ่ ๆ ที่เห็นอีกประการคือความสมเหตุสมผล ซึ่งเราคงหาในหนังแนวตลกได้ยาก เอาเป็นว่าแค่ตัวอย่างง่าย ๆ ในหนังคือ พวกพระเอกอยู่ระหว่างหลบซ่อนตัวจากรัฐบาล แต่พี่แกขยายตึกย่อตึกกลางเมืองกันเป็นว่าเล่น หรือการที่เกิดเรื่องวุ่นขนาดนั้น กลับไม่มีแม้แต่นักข่าวจอมจุ้นเข้ามารังควานชีวิตพวกเหล่าตัวเอกเลย นี่ก็นับว่าประหลาดมากทีเดียว แต่ก็นะเราไม่ได้ดูหนังมาร์เวลเพื่อถกสูตรของทฤษฎีฟิสิกส์ควอนตัมอยู่แล้ว จะไปแคร์อะไรมากมายล่ะ

หนังมีฉากหลังเครดิตจบ 2 ฉาก อันแรกนี่ต้องดูเลยเพราะทิ้งปมใหญ่มาก ๆ ไว้ด้วย ส่วนฉากที่ 2 เป็นกิมมิกขำ ๆ ถ้าปวดฉี่รีบกลับบ้านก็ไม่ต้องรอดูหรอก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook