เงียบงัน ทรงพลัง! มนต์สะกดแห่ง “Pantomime in Bangkok” ละครใบ้ในกรุงเทพฯ ที่กลับมาอีกครั้ง
ระยะเวลา 4 ปีอาจไม่ยาวนานสำหรับใครบางคน แต่สำหรับคนรักละครใบ้ทั้งหลายอาจรู้สึกว่ามันช่างยาวนานอะไรเช่นนี้ เพราะนั่นคือช่วงเวลาที่ เทศกาลละครใบ้ในกรุงเทพฯ หรือ Pantomime in Bangkok เว้นวรรคการจัดไป จนกระทั่งเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ศิลปะอันน่าหลงใหลประเภทนี้ก็กลับมาสู่สายตาผู้ชมชาวไทยสักที
หากจะว่ากันตามจริง ละครใบ้ในเมืองไทยคงไม่ใช่ศิลปะในกระแสหลักเฉกเช่นเพลงหรือภาพยนตร์ คนดูก็ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม ส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มนักแสดงละครใบ้หรือละครเวทีด้วยกันเอง, ศิลปินแขนงอื่นๆ ที่เปิดกว้างต่อศิลปะทุกรูปแบบ หรือไม่ก็นักเรียนการละครที่เข้ามาเสริมสร้างประสบการณ์ด้วย 2 ตาของตนเอง มีบ้างที่เป็นกลุ่มวัยรุ่น หรือมากันเป็นครอบครัว แต่ข้อเท็จจริงคือมีไม่มากนัก
แต่เมื่อผู้เขียนได้ทราบข่าวว่า ละครใบ้ในกรุงเทพฯ กำลังจะกลับมาจัดแสดงอีกครั้งเป็นครั้งที่ 15 ก็ตั้งเป้าทันทีว่าจะต้องไปดูให้ได้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า ตัวผู้เขียนเองเคยเรียนวิชาเอกละครเวทีสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เคยเข้าคลาสละครใบ้ที่ต้องสอบด้วยการไปเล่นละครใบ้ให้เด็กชั้นประถมศึกษาดูหน้าเสาธงหลังเคารพธงชาติ ซึ่งหลังจากเรียนจบ ความสัมพันธ์ของผู้เขียนและละครใบ้ก็เริ่มห่างเหินกันไปเรื่อยๆ แทบจะไม่ได้พบปะพูดคุยกันแม้สักคำ ก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้กลับมาเจอเพื่อนเก่าคนนี้อีกสักครั้ง
เย็นย่ำของวันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา เดินทางสู่สถานที่จัดแสดงใจกลางกรุงอย่าง โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ รางน้ำ กับรอบแรกของ ละครใบ้ในกรุงเทพฯ ครั้งที่ 15 บรรยากาศแปลกตาอยู่ไม่น้อย เพราะโดยส่วนใหญ่ก่อนหน้านี้ที่เคยดู (และเคยเล่น) ส่วนใหญ่นักแสดงจะยืนหยัดอยู่บนพื้นคอนกรีต สไตล์สตรีทอาร์ตอยู่สักหน่อย แต่คราวนี้กลับเป็นโรงละครขนาดใหญ่ ที่สเปซระหว่างนักแสดงและคนดูห่างกันอยู่พอสมควร แอบกังวลใจเล็กๆ ว่า สารจากผู้แสดงที่ตั้งใจถ่ายทอดผ่านอวัจนภาษา ไร้ซึ่งคำพูดบ่งบอก จะส่งมาถึงผู้ชมที่นั่งเรียงรายมากน้อยแค่ไหน
ภาพจำแห่งละครใบ้ที่หลายคนคิดตั้งต้นเอาไว้ อาจเป็นกลุ่มนักแสดงที่ทาหน้าขาว แสดงผ่านสีหน้า แววตา และท่าทางที่ต้อง “เล่นใหญ่” หรือในศัพท์แสงของศาสตร์ละครเวทีที่เรียกว่า “โอเวอร์แอ็คติ้ง” อยู่เสมอ แต่หลังจากอินโทรซึ่งแอบจิกกัดสังคมเล็กๆ ด้วยภาพของ เอ่อ... รถถัง ที่นักแสดงทุกคนพยายามดึงออกจากโขดหิน สะท้อนถึงการร่วมแรงร่วมใจในการทำในสิ่งที่เป็นเรื่องยากได้สิ้นสุดลง ขาประจำละครใบ้กรุงเทพฯ อย่าง ยาโนะ คะสุกิ (Yano Kazuki) ก็ปรากฏตัวพร้อมหน้ากากบนใบหน้า ซ่อนเร้นแววตา และขอถ่ายทอดเรื่องราวบนรถไฟแสนเหงา แต่จบท้ายด้วยความอบอุ่นในชื่อ “Going Home” เป็นการประเดิม
แต่ละการแสดงจะคั่นด้วยสรรพเสียงอันไพเราะจากแอคคอร์เดียนจากนักดนตรีหญิงที่เล่นกันสดๆ บนเวที และหญิงอ้วนภายใต้หน้ากากและคอสตูมสีสด ทั้งคู่มาในนาม กุริ กุริ เกิร์ลส์ (Guri Guri Girls) ที่ออกมาทีไรก็เรียกรอยยิ้มจากผู้ชมได้ทุกครั้ง ขอย้ำว่าทุกครั้งจริงๆ ให้ตายเถอะ!
การแสดงชุดต่อมาอย่าง “Firework” เรียกเสียงปรบมือได้อย่างเกรียวกราวกับเจ้าของผลงาน อินะกะคิ คะโฮรุ (Inagaki Kahoru) สาวร่างเล็กจากดินแดนอาทิตย์อุทัยที่เล่าเรื่องราวเทศกาลงานวัดแบบญี่ปุ่น แต่ไฮไลต์ของโชว์นี้ก็คือ เธอแสดงเป็น ... ไม่รู้กี่ตัวละคร! ทั้งแม่ ลูก คนขายขนมสายไหม และผู้ดูแลบ่อปลาทอง (เหมือนเธอจะเล่นเป็นปลาทองด้วยนะ ถ้าจำไม่ผิด!) เรียกได้ว่าตัดสลับตัวละครได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ จังหวะในการแสดงคมเอามากๆ เพราะการเล่าเรื่องแบบนี้หากเล่นไม่คมจริง มีสิทธิ์ที่ผู้ชมจะสมาธิหลุดเอาได้ง่ายๆ แต่เธอทำได้ยอดเยี่ยมอย่างแท้จริง ชาบู!
ต่อด้วย 2 เรื่องราวที่เรียกเสียงฮาแบบไม่บันยะบันยังจาก คณะอะยุโคจิ (AYUKOJI) ที่ประกอบไปด้วย 2 สมาชิกอย่าง โคจิมะยะ มังสุเกะ (Kojimaya Mansuke) และ อะยุมิ (Ayumi) กับโชว์แรกในชื่อ “The Needle” ที่รายหลังสวมบทบาทเข็มแผ่นเสียงที่มีลมหายใจ! และ “Japanese Pop Idol” กับเรื่องราวหน้าและหลังเวทีของไอดอลสาวขวัญใจหนุ่มๆ และผู้จัดการส่วนตัว บอกเลยว่าดูโอ้คู่นี้จังหวะเป๊ะมาก และการที่พวกเขาเล่นกับเรื่องง่ายๆ (แต่เล่นไม่ง่าย) ยิ่งทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจได้แทบจะทันทีหลังจากเริ่มโชว์ไปได้เพียงไม่ถึงนาทีเสียด้วยซ้ำ
ได้เวลาตัวแทนประเทศไทย เบบี้ไมม์ (Babymime) ออกมาวาดลวดลายความสนุกในโชว์ “The Teacher” เรื่องสั้นหลายตอนที่มีคอนเซ็ปต์หลักเกี่ยวกับคุณครู ไม่ว่าจะเป็นครูมาดโหด หรือแม้กระทั่ง “อาจารย์ใหญ่” ที่เปรียบเสมือนครูคนสำคัญของบรรดานักศึกษาแพทย์ทั้งหลาย บอกตามตรงเลยว่า เราภาคภูมิใจมากที่มีนักแสดงละครใบ้สัญชาติไทยที่เก่งกาจขนาดนี้
พักยืดเส้นยืดสายราวๆ 20 นาที ก็ต่อด้วยโชว์จากอีกหนึ่งคู่ดูโอ้มากประสบการณ์ แพนโท มังกะ นีโอ (PANTO MANGA NEO) ที่เป็นการรวมตัวของ 2 รุ่นใหญ่ ลุงหนวด ซะรุบะ และตัวตลกจมูกดำ ซูซัง ที่ทำเอาบรรยากาศในตอนนั้นย้อนกลับไปในยุคหนังเงียบขาว-ดำสุดคลาสสิค กับ ชาร์ลี แชปลิน ที่กลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง จังหวะคมมาก ความยียวนกวนบาทาของ ซูซัง นั้นน่าเอ็นดูและน่าเขกกะโหลกในเวลาเดียวกัน มีการให้ผู้ชมมีส่วนร่วมจากการเซลฟี่ตนเองกับดอกไม้ของ ซะรุบะ ปิดท้ายด้วยเซอร์ไพรส์ที่จู่ๆ ดอกไม้ที่แห้งแกร็นกลับผลิดอกสีแดงแรงฤทธิ์ขึ้นมากลางเวทีด้วยวิธีอะไรก็ไม่รู้!
เกาหลีใต้ก็มีนักแสดงละครใบ้เหมือนกัน แถมยังเป็นคลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตา (และหน้าตาดี) เสียด้วยกับ เอ็มตี้ แฮนด์ส (Empty Hands) บุรุษผู้มีชื่อเสียงเรียงนามอันแท้จริงว่า ริว ซัง กุก (Ryu Sung Gook) แม้ว่าโชว์แรกของเขาอย่าง “Picture” เราจะค่อนข้างตีความไม่ออก แล้วพอสมาธิหลุดก็ปล่อยเลยตามเลย อาจเนื่องด้วยรายละเอียดทางการแสดงที่ค่อนข้างถี่ยิบ จึงทำให้เราไม่เข้าใจว่าเขาจะสื่อสารอะไรผ่านรูปภาพที่ถือไว้กันแน่ ทว่าสำหรับโชว์หลังที่ชื่อ “Adult” กลับเป็นโชว์ที่เราชื่นชอบเป็นลำดับต้นๆ ของ Pantomime in Bangkok ในครั้งนี้ ความเรียบง่ายที่มาพร้อมกับดนตรีประกอบที่ลงตัวมากๆ ว่าด้วยเรื่องราวการเดินทางของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคใหญ่น้อย ที่เขาใช้อะไรสักอย่างที่มากระแทกใบหน้าเป็นตัวแทนแห่งความเจ็บปวดที่ต้องเผชิญกว่าจะเติบใหญ่ และเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ
ปิดท้ายด้วยความพีคแล้วพีคอีกจาก ยะมะโมโตะ โคโย (Yamamoto Koyo) ที่พาเก้าอี้ 7 ตัว 7 แบบ มาแทน 7 ชีวิตได้น่าทึ่งสุดๆ กับเรื่อง “Chairs” เขาแสดงเป็นทั้งชายหนุ่ม, หญิงสาว, คนชรา, เด็กน้อย, ทารก โดยนำเอาเก้าอี้มาเป็นตัวแทนของแต่ละตัวละคร หนึ่งเดียวบนเวที แต่สามารถสวมทุกบทบาทอย่างเป็นธรรมชาติ เฉียบคมในจังหวะ บอกเลยว่าคนนี้ฮาท้องคัดท้องแข็ง และถือเป็นนักแสดงที่สะท้อนงานศิลปะที่ไม่มีเพศ ไม่มีวัย และไม่มีข้อจำกัดได้เป็นอย่างดี
อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่า ละครใบ้ อาจเป็นศิลปะเฉพาะกลุ่ม ที่ไม่ได้เสพง่ายหรือเข้าใจง่ายเหมือนกับดนตรีหรือภาพยนตร์ แต่สำหรับการแสดงใน Pantomime in Bangkok หรือ ละครใบ้ในกรุงเทพฯ ครั้งที่ 15 โดยส่วนใหญ่ค่อนข้างเข้าใจเรื่องราวได้ไม่ยาก รวมไปถึงแม้ว่าจะมีนักแสดงชาวไทยเพียงกลุ่มเดียว แต่ก็อย่างที่รู้ๆ กันว่า ภาษาไม่ใช่อุปสรรคสำหรับศิลปะแขนงนี้ เพราะ ละครใบ้ ใช้ท่าทาง และจินตนาการ มิใช่ คำพูด
ต้องยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมาว่า ทุกศิลปินที่ขึ้นแสดงบนเวทีในหนนี้คือตัวจริงเสียงจริงในโลกแห่งละครใบ้ เรื่องของ “จังหวะ” ในการเล่นน่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้การแสดงนั้นๆ ออกมาดีหรือไม่ดี ซึ่งนักแสดงทุกคนสร้างจังหวะของตนเองได้อย่างยอดเยี่ยม รวมไปถึงเรื่องราวที่หยิบมาเล่นล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ต้องคิดเยอะ ทว่าการจินตนาการผ่านสีหน้าท่าทางของนักแสดงต่างหากที่กลับกลายเป็นความท้าทายของผู้ชมทุกคน
ในตอนแรกที่เรากังวลเรื่องระยะห่างระหว่างคนแสดงกับผู้ชม เนื่องด้วยพื้นที่อันโอ่โถงของโรงละคร แต่พอเอาเข้าจริงก็ไม่ใช่ปัญหาที่ต้องหนักใจอะไรนัก เพียงแต่ว่า หากสเปซดังกล่าวแคบลงมาอีกสักหน่อย การสื่อสารที่ส่งผ่านจากนักแสดงมาสู่ผู้รับสารก็อาจจับต้องได้มากกว่านี้ และในบางเรื่องราว เราอาจจะอินได้มากกว่านี้อีกก็เป็นได้
ท้ายที่สุด แม้ว่าละครใบ้จะเป็นศิลปะที่ในเมืองไทยจะไม่ได้ความรับนิยมในวงกว้างมากนัก แต่หากลองเปิดใจรับชมดูสักครั้ง นี่อาจเป็นหนึ่งศิลปะที่ทำให้คุณมากที่สุดแขนงหนึ่ง เราเชื่อเช่นนั้น
และที่สำคัญ ... เพื่อนเก่าคนนี้ไม่เคยแปรเปลี่ยนไปเลยแม้สักนิด
อัลบั้มภาพ 21 ภาพ