รีวิว ครุฑ มหายุทธ หิมพานต์ หนังแอนิเมชั่นไทย ที่ต้องเอาใจช่วยมากๆ
เมื่อมหาสงครามระหว่างเผ่าพันธ์ุ ครุฑ ผู้กล้าและยักษ์ รากษส สุดทมิฬแผ่ขยายไปทั่วทุกอาณาจักร ทหารครุฑสุดท้ายทั้ง 9 ตน ได้ผูกมิตรกับเหล่านักรบผู้เกรียงไกรแห่งหิมพานต์เพื่อการรบแย่งชิงดินแดนแห่งอโยธยา จากเงื้อมมือของเหล่ากองทัพรากษสอันโหดร้ายที่หวังจะบดขยี้ อาณาจักรครุฑให้ลุกเป็นไฟ ครุฑ มหายุทธ หิมพานต์ ภาพยนตร์แอนิเมชั่นแฟนตาซี กับเรื่องราวก่อนมนุษย์ครองพิภพ ยุคที่สัตว์ในป่าหิมพานต์ต่างทำสงครามแย่งชิงอาณาจักรกัน เมืองอโยธาของ พญาวัชระครุฑ ถูกรากษสสัตว์เผ่าพันธุ์ดุร้ายเข้ามาตีประชิดเมือง ทำให้พญาวัชระครุฑต้องตีฝ่าวงล้อมข้ามมหานทีสีทันดร ไปขอความช่วยเหลือจากเหล่าสัตว์พิสดารน้อยใหญ่ในป่าหิมพานต์ อาทิ คชสีห์, นรสิงห์, วานร รวมไปถึง กินนร ที่เคยเป็นปรปักษ์กัน เพื่อมากอบกู้เมืองอโยธยา ทำให้มหาสงครามระหว่างเผ่าพันธุ์บังเกิดขึ้น…
ครุฑ มหายุทธ์ หิมพานต์ เป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่ใช้เวลาสร้างถึง 4 ปี โดย คณะดิจิทัลอาร์ต วิทยาลัยดนตรี และวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จะว่าเป็นงานโชว์พลังและศักยภาพของสายการศึกษาก็ว่าได้ แม้เราเคยชมงานกราฟิกและเกมจากศิษย์ของสถาบันนี้มาบ้างแล้ว แต่กับงานแอนิเมชั่นขึ้นจอเงินความยาวกว่า 90 นาทีนี่ ถือเป็นก้าวที่ห้าวหาญมาก ๆ
โชคร้ายหน่อยที่ความตั้งใจว่าจะเป็น ภาพยนตร์แอนิเมชั่นอิงประวัติศาสตร์/ยิ่งใหญ่อลังการ/เรื่องแรกของไทย เมื่อ 4 ปีก่อน ถูกแอนิเมชั่นสายเลือดไทยที่ม้ามืดมาก ๆ อย่าง 9 ศาสตรา ทำตัดหน้าและชิงคำนิยามนี้ไปเรียบร้อยก่อนแล้ว ความว้าวต่อจาก ก้านกล้วย ซึ่งเรื่อง ครุฑ นี้ควรได้คะแนนจิตพิสัยบวก 10 เลยกลายเป็น 0 คะแนนไปเสีย
พูดกันตรง ๆ ถ้าเทียบกับงาน 9 ศาสตรา ก็ไม่มีแง่มุมไหนที่หนัง ครุฑ จะเหนือกว่าอย่างจะแจ้งเลย แต่ถ้าจะมองว่าเอางานระดับอาจารย์และนักศึกษา ไปสู้ทีมมือโปรที่ทำสายกราฟิกมาโชกโชนด้วยทุนสร้างอลังการและวิธีคิดแบบสากลมาก ๆ ก็ออกจะไม่ยุติธรรมกับครุฑมากไป ดังนั้นเรามามองแบบตัวหนังครุฑเพียว ๆ น่าจะดีที่สุด
และด้วยเหตุฉะนี้ รีวิวนี้จึงเป็นคำติชมเพื่อปรับปรุงในอนาคต และไม่มีการให้คะแนนด้วยครับ
ด้านเนื้อหาและตัวละคร หนังใช้องค์ประกอบความเป็นไทยอย่างสงครามกู้เอกราชสมัยอยุธยามาแปลงเป็นเรื่องราวแฟนตาซีโลกหิมพานต์ที่มีหลายเผ่าพันธุ์ ไม่ต่างกับจักรวาลแฟนตาซียิ่งใหญ่ของ โทลคีน อย่าง The Lord of the Rings เลยทีเดียว หากแต่จุดด้อยที่ต่างชัดเจนคือ หนังไม่เอื้อให้คนที่ไม่รู้จักเรื่องราวมาก่อนผูกพันกับตัวละครนัก ในลอร์ดฯเขายังมีเผ่าพันธุ์มนุษย์ หรือฮอบบิทที่ใกล้เคียงมนุษย์ ให้ผู้ชมยึดโยงรู้สึกเป็นตัวแทนได้ แต่ในครุฑตัวละครเดินเรื่องคือครุฑ ที่เราไม่ค่อยจะรู้สึกเป็นตัวแทนเราในการผจญภัยได้ทันที ต้องอาศัยเวลาสร้างความผูกพันไปเรื่อย ๆ แต่หนังก็ดีไซน์มาแบบไม่ได้แก้จุดอ่อนนี้เท่าไหร่ เพราะดีไซน์ทหารครุฑตัวหลักทั้ง 9 ตัวแทบจะแยกกันไม่ออก โชคดีว่าพระเอกยังใส่ชุดสีแดงอยู่ตัวเดียวทำให้ยังพอจดจำได้บ้าง แล้วภาพจำยากไม่พอ ชื่อใช้ศัพท์โบราณเอาเท่แต่จำโคตรยากเข้าไปอีก คือสารภาพว่าจำได้จริง ๆ แค่ตัวสองตัวก็เก่งแล้วนะ
ทางแก้คือ ดีไซน์เอกลักษณ์รูปร่างหน้าตาครุฑแต่ละตัวให้ต่างกันไปเลย เช่น ผอม อ้วน ตัวใหญ่ ตัวเล็ก มีผู้หญิงบ้าง มีคนแก่บ้าง ชุดแตกต่างกันแบบสิ้นเชิงบ้างไม่ใช่แค่เปลี่ยนสี ซึ่งก็เป็นเทคนิคดีไซน์กลุ่มตัวละครให้จำง่ายที่ใช้กันทั่วไป ตั้งชื่อให้ง่ายเอาลักษณะเด่นของตัวละครมาตั้งก็ได้ เช่น ไอ้ว่องไว ไอ้อึด เป็นต้น
พอตัวละครไม่สามารถดึงคนดูให้อยู่กับหนังได้ ก็ต้องอาศัยเนื้อหาเข้าแทน ตรงนี้ได้มือดีถึง 2 ท่านของวงการหนังไทยอย่าง ผศ.ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรของสาขาวิชาคอมพิวเตอร์อาร์ต คณะดิจิตัลอาร์ต ซึ่งควบตำแหน่งผู้กำกับหนังด้วย กับ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับไทยที่มีผลงานระดับนานาชาติมาแล้ว มาช่วยกันเขียนบท แต่ก็เหมือนมีกล่องขนาด 100 แต่อยากใส่ของ 150 ทำให้ดูเยอะแบบไม่จำเป็น แล้วยังต้องตัดการเชื่อมหลาย ๆ อย่างเพื่ออัดอีก 50 ลงไปให้ได้ ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องทำให้ยุ่งยากอะไรเลย โดยเฉพาะเรื่องราวกษัตริย์ครุฑ ที่ต้องปูเรื่องกันมาถึง 2 เจเนเรชั่นโดยไม่มีผลต่อโครงเรื่องหลักด้วยซ้ำ คือพออัดพอตัดให้อยู่ในกรอบแล้ว หลายอย่างพิกลพิการมากจนตรรกะหลุดหมด โดยเฉพาะอาวุธไม้ตายที่แบบขาดสติอย่างสิ้นเชิงทั้งที่มาและวิธีใช้
ทางแก้คือ ทางที่ดีที่สุดคือควรให้เผ่าพันธุ์มนุษย์เป็นแกนหลัก โดนยักษ์โจมตีต้องไปพึ่งพาเหล่าสัตว์หิมพานต์ให้มาร่วมสู้แบบ 7 เซียนซามูไร โดยมีปมที่มนุษย์ขัดแย้งกับหิมพานต์มาเดิม รวมถึงแต่ละเผ่าพันธุ์ก็ขัดแย้งกันเองอยู่ด้วยอย่าง นาค กับครุฑ เป็นต้น แค่นี้ก็ดูง่าย และปมขัดแย้งของสัตว์หิมพานต์ก็มีอะไรให้เล่นเยอะมาก จนลดคำครหาเรื่องหนังตามสูตรสำเร็จได้แล้ว
ที่สำคัญปัญหาหลัก ๆ น่าจะเป็นเวลาและทุนการผลิต เพราะมันสะท้อนผ่านตัวงานอย่างชัดเจน คือขาดการปรับปรุงสุดท้ายให้ดีพอ ตัวเรื่องที่อาจคิดมาสำหรับความยาว 2 ชั่วโมงครึ่งโดนอัดให้เหลือหนึ่งชั่วโมง คาแรกเตอร์ที่ในเผ่าพันธุ์เดียวกันควรมีหลากหลายก็เอาโมเดลเดียวมาปรับใช้ ปรับสีปรับชื่อปรับเสียงพากย์พอ ซึ่งไม่ควร หรือบางตัวละครตั้งใจออกแบบอย่างดีเอามาใช้แค่ฉากเดียวอย่างน่าเสียดาย เป็นต้น
งานภาพมีทั้งส่วนที่สวยมาก ๆ ตั้งใจมาก ๆ และส่วนที่หยาบมาก ๆ เผามาก ๆ อยู่ในหนังเรื่องเดียวกัน ที่น่าตกใจคือแม้แต่ในฉากเดียวกันก็มีมาตรฐานปะปนกันมั่วไปหมด โมเดลสวยฉากแย่ หรือฉากสวยเอฟเฟกต์แย่ ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เลย ก็คงเป็นโจทย์ภายในทีมงานเองที่ต้องแก้ไขก่อนจะเริ่มทำหนังจริง ๆ เพราะทั้งหมดนี้สะท้อนว่าขั้นพรีโปรดักชั่นเตรียมงานมาน้อยเกินไปมาก ๆ ทำให้การควบคุมการผลิตพลาดเป้าได้ขนาดนี้
ตรงนี้ไม่ต้องเป็นนักสร้างหนังมือทองอะไรก็คงบอกทางแก้ของหนังได้ว่า ต้องคิดเรื่องการเล่าเรื่องให้สนุกภายใต้ข้อจำกัดของตัวเองให้ออก ไม่จำเป็นต้องเป็นฮอลลีวู้ด เพราะหนังอินดี้ที่ทำดี ๆ ก็มีมาก
ข้อดีของหนัง ที่ชื่นชมเลยนอกจากความตั้งใจ และกล้าทะเยอทะยานมาก ๆ รวมถึงทีมพากย์ที่มี ณเดชน์ คูกิมิยะ มาพากย์เป็นตัวเอกที่ค่อนข้างใช้ได้แล้ว ก็คือการคิดรายละเอียดแฟนตาซีต่าง ๆ ที่ดูมีของให้ตื่นตาตื่นใจ อย่างปีกครุฑ หรือผลการประชุมของกินรีที่ใช้ควัน ซึ่งมีหลายอย่างที่ดูออกว่าทีมงานตั้งใจคิดตั้งใจทำมาก ๆ ขาดแค่การควบคุมให้ความฟุ้งทั้งหลายอยู่ในกรอบที่ลงตัวในด้านเวลาและทุนนั่นเอง
ส่วนตัวเชื่อว่า หนังเรื่องนี้จะเป็นก้าวแรกที่ให้ทีมมหาวิทยาลัยรังสิตได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดไปอัปเลเวลอีกมาก หากไม่ท้อไปก่อน หนังเรื่องถัด ๆ ไปน่าจะสนุกและเข้าเ้ากว่านี้อีก จึงเป็นบทสรุปที่ว่า
ครุฑ จึงคือหนังที่ไม่ต้องการคะแนนรีวิว แต่เป็นหนังที่เราต้องให้กำลังใจเอามาก ๆ
The post [รีวิว] ครุฑ มหายุทธ หิมพานต์: หนังแอนิเมชั่นไทย ที่ต้องเอาใจช่วยมากๆๆๆๆๆ appeared first on เว็บแบไต๋.