รีวิว Shoplifters ครอบครัวที่ลัก
ครอบครัวชิบาตะอันแสนยากจนที่ภายนอกดูเหมือนครอบครัวหาเช้ากินค่ำธรรมดาแต่ที่มาของแต่ละคนถูกเก็บเป็นความลับซึี่งได้แก่ ฮัตสุเอะ (คิริน กิกิ) คุณยายผู้โอบอ้อมอารีประจำครอบครัว โอซามุ (ลิลลี แฟรงค์กี)และ โนบุโย (ซากุระ อันโด) คู่สามีภรรยาที่ทำงานใช้แรงงานหาเงินมาจุนเจือครอบครัว อากิ (มายู มัตซุโอกะ) เด็กสาวที่ใช้เรือนร่างในการหาเงินจากเซ็กส์เซอร์วิสสำหรับหนุ่มขี้เหงา โชตะ (ไคริ ไจโอ๊ะ) หนุ่มน้อยที่ โอซามุ มักพาไปลักขโมยของตามร้านค้าต่างๆเพื่อเอาของไปปล่อยขายและนำบางส่วนมาใช้ในบ้าน แต่แล้วหลังจากเสร็จภารกิจฉกของในคืนหนึ่ง พวกเขาได้พา ยูริ (มิยู ซาซากิ) เด็กสาวที่ถูกครอบครัวทิ้งขว้างกลับบ้านมาด้วย แม้ภาระด้านปากท้องจะไม่สู้ดีนักแต่พวกเขาก็ดูแลยูริเป็นอย่างดี โดยไม่รู้เลยว่าชะตากรรมข้างหน้าจะนำพาพวกเขาไปสู่การชดใช้ความผิดบาปที่ตัวเองฝังมันไว้มานานแสนนานจากความผิดพลาดเพียงครั้งเดียว
คงไม่ต้องสาธยายความดีงามของ Shoplifters อีกแล้วเพราะลำพังแค่รางวัลปาล์มทองคำ พร้อมคำสรรเสริญจาก เคต แบลนเชต ประธานตัดสินรางวัลที่กล่าวว่า Shoplifters คือหนังที่ทำให้คณะกรรมการใจสลาย ด้วยงานกำกับและการแสดงที่สอดประสานกันอย่างลงตัว ซึ่งไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด เพราะผู้กำกับ ฮิโรคาสึ โคเรเอดะ สามารถควบคุมการแสดงของนักแสดงแต่ละคนอย่างมีีทิศทางและสอดรับกันโดยไม่ให้ “แย่งพื้นที่ซึ่งกันและกัน” ดังนั้นภาพรวมทางการแสดงเราจึงได้เห็นครอบครัวที่ดูมีเลือดเนื้อมีความอบอุ่นและความขัดแย้งอันคุกรุ่นเหมือนครอบครัวจริงๆผ่านแอ็คติ้งของนักแสดงที่ไม่มากหรือน้อยแต่พอดีจนเราเชื่อได้อย่างสนิทใจทั้งทีม แม้กระทั่งตัวเจ้าหนู มิยู ซาซากิ ที่ในวัยเพียง 6 ขวบก็สามารถมอบการแสดงระดับโลกจนน่าจดจำได้แล้ว รวมถึงการออกแบบตัวละครที่เรียกได้ว่าปอกเปลือกปัญหาของประเทศญี่ปุ่นได้แบบรอบด้าน
เพราะแม้เนื้อเรื่องหลักจะอยู่ที่ประเด็นพ่อลูกของ โชตะ กับ โอซามุ เป็นหลัก แต่ตลอดการเดินทางของหนัง เมื่อได้เห็นปมชีวิตแต่ละคนเราก็อดเอาใจช่วยตัวละครไม่ได้ ทั้งคุณย่า ฮัตสุเอะ ที่ถูกลูกหลานทอดทิ้งแต่เป็นความหวังเดียวของบ้านจากเงินชดเชยที่สามีเสียชีวิต โนบุยะ สาวโรงงานที่ถูกพิษเศรษฐกิจค่อยๆบีบให้เธอออกจากงาน อากิ เด็กสาววัยรุ่นที่เลือกปรนเปรออารมณ์เปลี่ยวของชายหนุ่มด้วยบริการ “ถอดแล้วบดของดี” บนหน้าจอ ไปจนถึงบริการสัมผัสพิเศษเพื่อแลกเงินมาประทังชีวิต ไปจนถึงชีวิตของทั้ง โชตะ และ ยูริ ในฐานะเยาวชนที่ต้องมารับผลกรรมจากผู้ใหญ่ในสังคมที่ไม่ให้ทางเลือกมากนัก ก็ทำให้บทสรุปของมันทรงพลังจนบดขยี้อารมณ์คนดูให้แลกสลายได้แบบไม่อาจต้านทาน
แต่อ่านถึงตรงนี้อย่าเพิ่งคิดว่าหนังอย่าง Shoplifters จะมาแนววงเวียนชีวิตที่นำเสนอชีวิตลำเค็ญ ชะตากรรมบัดซบ แล้วขึ้นเลขบัญชีขอบริจาคนะครับ ตรงกันข้ามเลย โคเรเอดะ นำเสนอชีวิตตัวละครได้รอบด้านมีดีมีชั่ว ในหนังเราจะได้เห็นคุณย่าที่วางแผนหลอกเอาเงินหลานๆแปลงความรู้สึกผิดเป็นสินทรัพย์ได้อย่างแสบสันต์ รวมไปถึงแนวคิดหัวขโมยที่ โอซามุ สอน โชตะ เสมอว่าของที่อยู่บนชั้นยังไม่มีเจ้าของสามารถหยิบฉวยได้ ซึ่งทำให้เห็นแนวคิดบริโภคนิยมที่ทุกคนมุ่งอยากได้อยากมีจนแนวคิดผิดๆเริ่มถ่ายทอดมาสู่ ยูริ ที่เหมือนน้องสาวคนเล็กของครอบครัวก็นำพาให้ศีลธรรมในครอบครัวถูก “ขโมย” และชวนคนดูให้กังขาถึงความผิดชอบชั่วดีของเหล่าพ่อแม่ แต่กระนั้นเหตุการณ์ต่างๆก็กลับทำให้เราต้องตระหนักว่า ชีวิตบางคนก็ไม่ได้มีทางเลือกนัก ซึ่งตรงจุดนี้เองที่ โคเรเอดะ สร้างความขัดแย้งและบีบให้คนดูเลือกว่าจะเห็นใจตัวละครหรือถ่มน้ำลายใส่พวกเขากันแน่
เป็นความถนัดของผู้กำกับและเขียนบทอย่าง ฮิโรคาสึ โคเรเอดะ อยู่แล้วในการเล่าเรื่องราวของมนุษย์ได้อย่างบาดลึกในห้วงอารมณ์ โดยเขามักวิพากษ์สังคมญี่ปุ่นได้อย่างเจ็บแสบภายใต้พลอตเรียบน้อยทว่าสั่นสะเทือนจิตใจเป็นอย่างยิ่ง โดย Shoplifters โคเรเอดะ เลือกหยิบความล้มเหลวของระบบรัฐสวัสดิการและภาวะว่างงานในญี่ปุ่นมาเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งท่ายากในการบอกเล่าเรื่องราวของมันหาใช่การวางปมอันสลับซับซ้อน ตรงกันข้าม โคเรเอดะ เลือกวางผู้ชมในฐานะผู้สังเกตการณ์ชะตาชีวิตของเหล่าตัวละครที่มีทั้งช่วงเวลาความสุขจนเราหัวใจพองโต จนถึงเมื่อคราวระเบิดเวลาทางอารมณ์ที่โคเรเอดะ วางไว้อย่างแยบยลได้ถอดสลักจนกว่าคนดูจะเอาใจออกห่างตัวละครก็ช้าไปเสียแล้ว และย่อมจบด้วยแผลบาดลึกในหัวใจและอารมณ์ที่ได้เป็นของติดมือกลับออกจากโรง