รีวิว The Cured ซากแห่งความเกลียดชัง

รีวิว The Cured ซากแห่งความเกลียดชัง

รีวิว The Cured ซากแห่งความเกลียดชัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

 

คำว่า Cured  สามารถแปลได้ว่า “รักษาให้หายขาด” ซึ่งในหนังเรื่องนี้ หมายถึงการรักษาอาการเจ็บป่วย จากการติดเชื้อไวรัสแมซ ที่เกิดการแพร่กระจายออกไปทั่วยุโรป อาการของผู้ติดเชื้อจะทำให้เกิดอาการประสาทหลอนอย่างรุนแรง มีภาวะคลุ้มคลั่งและไล่โจมตี ทำร้ายคนที่ไม่ติดเชื้อ ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถแพร่จากมนุษย์สู่มนุษย์ด้วยกันผ่านการกัด หรือบาดแผลเพียงเล็กน้อย

 

ภายหลังจากการระบาดครั้งใหญ่ได้มีการค้นพบหนทางรักษาซึ่งจะทำให้หายขาดจากเชื้อไวรัสดังกล่าวได้ถึง 75% ซึ่งผู้ป่วยจะกลับมาใช้ชีวิตเป็นมนุษย์ได้ดังเดิม เพียงแต่ความทรงจำในช่วงเวลาที่พวกเขาติดเชื้อและไล่ทำร้ายผู้อื่นนั้นจะยังคงฝังลึกอยู่ในความทรงจำของพวกเขาไม่จางหายไปไหน 3 ปีให้หลังจากการรักษากลุ่มผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับการส่งตัวกลับบ้าน แต่ใช่ว่าสังคมจะอ้าแขนต้อนรับพวกเขากลับมา เปล่าเลยสังคมส่วนมากยังมองกลุ่มผู้ติดเชื้อที่หายขาดว่าเป็นอาชญากรและฆาตกรเลือดเย็น หลายคนถูกกีดกันออกจากครอบครัว และหลายคนก็ยังคงเจ็บแค้นที่รัฐบาลริดรอนสิทธิของผู้ป่วย

 

 

ซีแนน (แซม คีเลย์) หนึ่งในผู้ที่ได้การรักษา ชายที่ถูกความทรงจำขณะติดเชื้อตามหลอกหลอน เขาถูกส่งตัวกลับพร้อมเพื่อนสนิท คอเนอร์ (ทอม วอห์น-ลอว์เลอร์) ซีแนนโชคยังดีที่แอ็บบี้ (อัลเลน เพจ) ภรรยาหม้ายของพี่ชายซีแนน รับตัวเขาไปดูแล ในขณะที่คอเนอร์ไม่ได้รับความต้อนรับจากสังคม ในขณะเดียวกันรัฐบาลกำลังเกรงกลัวปัญหาในกลุ่มผู้ป่วยดื้อยาที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้และอาจจะกลายเป็น “ภัยคุกคาม” ครั้งใหม่ถ้าหากกลุ่มผู้ป่วยนี้หลุดออกมาแพร่เชื้ออีกครั้ง เพราะนั่นหมายความสังคมจะวนกลับไปสู่ยุคมืดอีกครั้ง แต่นั่นกลายเป็นชนวนของความรุนแรง

 

จุดเด่นสำคัญของ The Cured คือการตั้งคำถามที่น่าสนใจกับซอมบี้ ว่าถ้าหากวันหนึ่งพวกเขาเกิดหายขาด แต่ผู้ที่เข้ารับการรักษากลับถูกความทรงจำตอนที่เขาติดเชื้อตามหลอกหลอน มิหนำซ้ำพวกเขายังถูกกีดกันออกจากสังคม เพราะถูกตราหน้าว่าเป็นฆาตกร ประเด็นเหล่านี้นำไปสู่คำถามที่ว่า “เราจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติแบบเดิมได้อีกหรือไม่”

 

 

คำว่า Cured อันเป็นชื่อหนังจึงไม่ได้หมายความแค่เพียงว่า การรักษาโรคให้หายขาดเท่านั้น แต่มันยังหมายถึงการเยียวยาสภาพจิตใจของผู้ป่วยให้กลับมาเป็นปกติและไม่จมปลักอยู่กับความผิดพลาดในอดีต แต่หนังก็ไม่เล่นท่าง่ายแค่นั้น เมื่อมันโยนประเด็นเพิ่มเติมเข้ามาอีกว่า ถ้าสังคมไม่ยอมรับและผลักดันให้คนทุกข์เหล่านี้ต้องจมอยู่กับความผิด ทั้งที่มันอยู่เหนือการควบคุมภายใต้จิตใต้สำนึกของพวกเขา จะก่อให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง

 

ตัวหนังได้สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อคนทุกข์ถูกต้อนให้จนมุม สิ้นหนทางพวกเขาจึงพยายามใช้ความรุนแรง และสร้างความหวาดกลัวครั้งใหม่ขึ้นมา ซึ่งมันสะท้อนให้ผู้ชมเห็นได้ชัดเจนที่สุดว่า “คนเราสามารถทำอะไรได้บ้างเมื่อความกลัวครอบงำ”

 

ผลผลิตของความเกลียดชัง จึงนำมาซึ่งความรุนแรงครั้งใหม่ ซึ่งอาจจะน่ากลัวกว่าการติดเชื้อไวรัสซอมบี้ด้วยซ้ำไป

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook