คุยกับ “คิทตี้ – ชิชา” ว่าด้วยความรุนแรงและตัวตนของ “แนนโน๊ะ” ในซีรีส์ “เด็กใหม่”
เปิดตัวกันไปเรียบร้อยแล้ว กับตอนแรกของซีรีส์แนวใหม่แปลกตาอย่าง “เด็กใหม่” หรือ Girl from Nowhere ที่ถูกพูดถึงอย่างล้นหลามในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องราวที่สนุกสนานและดุเดือดในเวลาเดียวกัน หรือความเผ็ดของเลิฟซีนระหว่างครูหนุ่มกับนักเรียนสาวในเรื่อง แต่ที่แน่ๆ คือ ชื่อของ “แนนโน๊ะ” เด็กผู้หญิงผมม้ากับไฝใต้ตาและรอยยิ้มน่าขนลุก ได้เข้าไปอยู่ในใจของผู้ชมเรียบร้อยแล้ว
แต่ไม่ว่าภาพที่นำเสนอในเรื่องจะแปลกประหลาดและมืดหม่นขนาดไหน คำหนึ่งที่น่าจะเป็นคำหลักของซีรีส์เรื่องนี้ก็คือ “ความรุนแรง” โดยเฉพาะจากการใช้อำนาจของผู้ใหญ่ที่กระทำต่อเด็ก จนก่อให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างใหญ่หลวง ซึ่งผู้ที่จะบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความรุนแรงในซีรีส์เรื่องนี้ได้ก็คือ “ชิชา อมาตยกุล” หรือ “คิทตี้” นักแสดงนำวัย 25 ปี ผู้รับบทเป็น “แนนโน๊ะ” เด็กสาวปริศนา ที่จะพาคุณเข้าสู่โลกของความรุนแรงตลอด 13 ตอน
วงจรความรุนแรงที่ไม่เคยสิ้นสุด
แม้เด็กใหม่จะเป็นซีรีส์ที่มีรูปแบบการนำเสนอที่แปลกใหม่สำหรับคอซีรีส์ไทย แต่ความรุนแรง ซึ่งเป็นใจความสำคัญของซีรีส์ กลับไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมแต่อย่างใด เพราะคิทตี้เองก็ได้รับทราบข่าวคราวความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในโรงเรียน ซึ่งควรจะเป็นสถานที่ที่บ่มเพาะอนาคตของชาติ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์นักเรียนกราดยิงเพื่อนร่วมชั้นในต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งในประเทศไทย ที่นักเรียนยอมมีความสัมพันธ์กับครูเพื่อแลกเกรด ไปจนถึงการรังแกกันภายในโรงเรียน ที่ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วยโซเชียลมีเดีย
“หลายครั้งเราก็ได้ยินเรื่องที่นักเรียนยอมทำอะไรที่มากกว่าการอ่านหนังสือเพื่อแลกกับเกรดที่ดีขึ้น ส่วนตัวเรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่น่าเศร้า เรามองว่ามันคือ Demand กับ Supply คือต่อให้เด็กมีเจตนาที่จะทำ ถ้าครูไม่นำเสนอหรือยอมรับข้อเสนอแบบนี้ มันย่อมไม่เกิดขึ้น มันเป็นเรื่องของทั้งสองฝ่าย ที่มันน่าเศร้าว่าทำไมระบบการศึกษาที่ต้องสร้างอนาคตของชาติ กลับกลายเป็นระบบที่น่ากลัวได้ขนาดนี้ แต่มันก็ตลกดีที่ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่รุ่นพ่อแม่จนถึงปัจจุบัน แทบจะไม่ต่างกัน แค่วิธีการมันเปลี่ยนแปลงไป เครื่องมือที่ถูกใช้ตอนนี้ก็กลายเป็นโลกโซเชียล ปัญหาตรงนี้มันก็อยู่มานาน แล้วก็ผู้ใหญ่หลายๆ คนที่พอเรียนจบแล้ว ผ่านไปแล้ว กลับลืมว่ามันเคยมีเรื่องร้ายๆ อยู่ในวัยเรียน” คิทตี้เสนอมุมมองส่วนตัวเกี่ยวกับความรุนแรงในโรงเรียน
แม้โซเชียลมีเดียจะกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความรุนแรง แต่ในขณะเดียวกัน ก็เปิดพื้นที่ให้กับเด็กรุ่นใหม่ในการบอกเล่าเรื่องราวที่ตนเองถูกกระทำ และอาจใช้เรียกร้องความยุติธรรมจากสังคมได้มากกว่าในสมัยก่อน
“เมื่อก่อน เวลามีเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้น มันอาจจะถูกปิดเงียบอยู่ในโรงเรียน ไม่มีใครรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แต่วันนี้เรารู้สึกว่า เรามีช่องทางที่สามารถเล่าเรื่องราวให้คนอื่นฟัง ให้คนอื่นทราบว่าเราต้องเผชิญหน้ากับอะไร ต้องเจอกับความไม่ยุติธรรมรูปแบบไหน มันคืออุปกรณ์ในการปกป้องตัวเอง สมมติว่าเมื่อก่อนมีครูบังคับให้นักเรียนต้องมีเพศสัมพันธ์ด้วย เพื่อแลกกับเกรดที่ดีขึ้น เด็กอาจจะมืดแปดด้าน ไม่รู้จะบอกใคร บอกครูคนอื่น ใครจะเชื่อ เราไม่กล้าบอกพ่อแม่ เราไม่รู้จะบอกใครดี แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่ามันมี community หลายรูปแบบที่คุณสามารถจะเจอคนที่เผชิญกับสิ่งที่คล้ายคลึงกับคุณ แล้วคุณสามารถก้าวข้ามมันได้ แล้วมีการยอมรับมากขึ้น ไม่ว่าเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือว่าเพศอะไร คุณไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ขายหน้าหรืออายไปทั้งชีวิต” คิทตี้กล่าว
แนนโน๊ะ
เมื่อความรุนแรงยังคงถูกผลิตซ้ำจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง “เด็กใหม่” จึงเลือกนำเสนอผลจากความรุนแรงเหล่านี้ ผ่านตัวละครที่เป็นนักเรียนหญิงอย่างแนนโน๊ะ ซึ่งหลายคนก็คงเห็นแล้วว่าเธอนั้นไม่ใช่นักเรียนหญิงธรรมดา และสำหรับคิทตี้เอง บทแนนโน๊ะก็เป็นความท้าทายครั้งใหม่ ที่เธอถึงกับออกปากว่า เหมือนการโดดบันจี้จัมพ์เลยทีเดียว
“คิทรู้สึกว่าอยากทำงานที่ท้าทายแล้วก็ทำให้เรารู้สึกมีชีวิต ทุกครั้งที่เราออกไปทำงาน เราตื่นเต้น เราเฝ้ารอที่จะได้เล่นบทนี้ เราตื่นเต้นที่จะได้เห็นมันเสร็จ ตื่นเต้นที่คนดูจะได้ดูมัน แล้วตอนที่เห็นบทสำหรับแคสติ้งเรื่องนี้ เราก็รู้สึกว่าบทนี้ทำให้เรารู้สึกใจเต้น ตอนนั้นคิทเหมือนคนที่จะโดดบันจี้จัมพ์ค่ะ มันกลัวไม่ทันแล้ว ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันยังไง รู้ตัวอีกทีก็คือทิ้งตัวลงไปแล้ว แล้วก็ไปกับมันสุดตัว คือมันเหนื่อยมาก แต่เรารู้สึกว่าพอมันเป็นสิ่งที่เรารักจริงๆ อยากทำมันจริงๆ ความเหนื่อยเป็นเรื่องเล็ก ความกลัวเป็นเรื่องที่เราไม่ได้นึกถึงเลย” คิทตี้กล่าวถึงความรู้สึกแรกที่ได้รับบทบาทใหม่นี้”
เมื่อถามว่าเด็กสาวหน้าตาน่ารักที่จะกลายเป็นเด็กใหม่ในโรงเรียนทั้ง 13 แห่ง พร้อมวีรกรรมสุดแสบผู้นี้เป็นใครกันแน่ คิทตี้บอกอย่างมั่นใจว่าเธอคนนี้ “ไม่ใช่มนุษย์” แต่ทำหน้าที่เป็น “เวรกรรม” ที่จะมาเอาคืนสิ่งที่ตัวละครในเรื่องได้ทำไว้ แต่ไม่ใช่การล้างแค้นเพื่อความสะใจ เพราะเธอมาเพื่อ “ทดสอบ” มนุษย์ต่างหาก
“แนนโน๊ะเป็นลูกสาวซาตานค่ะ เป็นเหมือนงูพิษในสวนเอเดน ที่วันดีคืนดีก็อาจจะขอพ่อมาเที่ยวเล่นในโลกมนุษย์ แล้วก็มาหยิบยื่นแอปเปิลให้กับคนที่อ่อนแอ เพราะอยากรู้ว่าคนที่อ่อนแอทั้งหลาย ถ้าวันหนึ่งได้พลังอำนาจมา เขาจะกลายเป็นคนชั่วหรือเปล่า เพราะมนุษย์เรามีสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากสัตว์อื่นๆ ก็คือ เรามีการยับยั้งชั่งใจ แต่ว่าพลังอำนาจทำให้คนเราเลิกยับยั้งชั่งใจ แล้วก็ทำทุกอย่างเพื่อความต้องการของตัวเองเพียงอย่างเดียว นั่นเป็นสิ่งที่เราคิดว่ามันน่าจะบาปที่สุดด้วยซ้ำ คุณห้ามตัวเองได้ แต่คุณกลับไม่ทำ” คิทตี้อธิบายตัวตนอันดำมืดของแนนโน๊ะ ซึ่งเธอยอมรับว่าส่วนที่ยากที่สุดในบทบาทนี้คือ แนนโน๊ะไม่ใช่มนุษย์
“บางครั้งเวลาอยู่ในฉาก เราเห็นบางเหตุการณ์ในฉากนั้นแล้วเรารู้สึกสงสาร รู้สึกผิด แต่ในความเป็นแนนโน๊ะ เราไม่รู้สึกอะไรเลย เราไม่ได้มีความรู้สึกอะไรทั้งสิ้น เหมือนเรามองมนุษย์คนอื่นเป็นแค่มดตัวหนึ่ง ที่เกิดมามีอยู่แล้วเดี๋ยวก็จะดับไป ไม่ได้มีความสำคัญหรือคุณค่าอะไรกับเรา ขณะเดียวกัน บทแนนโน๊ะก็ลดทอนความรุนแรงในตัวของซีรีส์ค่อนข้างเยอะ สมมติว่าถ้าเราเป็นโดราเอมอน เราไฟช็อต น็อกไปสิบรอบ คนดูก็อาจจะรู้สึกว่ามันไม่รุนแรงมาก เพราะว่ามันไม่ใช่คนนี่ แต่ถ้าเราเล่นเป็นคนเฉยๆ ความรุนแรงที่กระทำระหว่างคนต่อคน มันสลดใจ มันหดหู่ เรามองว่าแนนโน๊ะเข้ามาเพื่อทำให้ความรุนแรงมันดูซอฟต์ลง” คิทตี้อธิบาย
นอกเหนือจากความท้าทายแล้ว แรงบันดาลใจหนึ่งที่เชื่อมโยงคิทตี้เข้ากับแนนโน๊ะก็คือ “โทมิเอะ” เด็กสาวผู้มีเบื้องหลังอันน่าสยดสยอง ซึ่งเป็นตัวละครในการ์ตูนมังงะของจุนจิ อิโต ปรมาจารย์แห่งการ์ตูนสยองขวัญชาวญี่ปุ่น โดยคิทตี้เผยว่า โทมิเอะเป็นตัวละครโปรดของเธอ เพราะทั้งคู่มีไฝใต้ตาที่เดียวกัน
“เราก็รู้สึกว่าโทมิเอะเป็นตัวละครที่มีเสน่ห์มากในมุมของตัวการ์ตูนตัวหนึ่ง แล้วพอมาเป็นแนนโน๊ะ สิ่งหนึ่งที่เราแอบแปลกใจก็คือ คนดูจำนวนมากพอจะเดาได้ว่าเราน่าจะนึกถึงโทมิเอะ ซึ่งจริงๆ แล้ว เราก็นึกถึงโทมิเอะ ตอนที่ได้บทมา เราก็อยากให้มีความโทมิเอะเบาๆ มีความสวย แต่ไม่ได้ปกติ คือมันจะมีความลึกลับและความแปลก ไม่ว่าจะเป็นวิธีพูด คำขอร้องของมัน การเชิญชวน หรือข้อเสนอที่มันให้กับคนอื่น ซึ่งทำให้ตัวละครอื่นๆ ในเล่มรู้ว่าตัวละครตัวนี้ไม่ปกติ”
“แต่สิ่งที่แนนโน๊ะกับโทมิเอะต่างกันคือ โทมิเอะเคยมีชีวิตจริงๆ มาก่อน และวันหนึ่งมันตายแล้วก็ฟื้นขึ้นมา แต่ขณะที่แนนโน๊ะไม่มีที่มาเลยตั้งแต่แรก ไม่มีบ้าน ไม่มีครอบครัว ไม่มีชีวิตวัยเด็ก ไม่แก่ ไม่ตาย แล้วก็ในมุมมองของแนนโน๊ะคือ เรากินแค่ให้รู้สึกดี หรือแค่ให้กลมกลืนกับคนอื่น ไม่ได้กินเพื่อการอยู่รอด และแนนโน๊ะจะทำทุกอย่าง หนึ่ง สอง สาม ง่ายๆ ไม่มีความคิดที่ซับซ้อน ในขณะที่โทมิเอะยังมีความรู้สึกของมนุษย์มากกว่า” คิทตี้อธิบายตามสไตล์ “แฟนเกิร์ล” ของโทมิเอะ
สิ่งที่เด็กใหม่อยากบอก
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนที่หนึ่งของซีรีส์เด็กใหม่นั้นแรง สะใจ สมการรอคอย แต่สำหรับคิทตี้เอง ซีรีส์เรื่องนี้กลับให้มากกว่าความบันเทิง แต่ยังตั้งคำถามกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก ซึ่งแตกต่างจากงานสะท้อนสังคมอื่นๆ ที่มุ่งสะกิดผู้ใหญ่เพียงฝ่ายเดียว
“ซีรีส์เรื่องนี้กำลังตั้งคำถามกับทุกคนในทุกๆ จุด ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ที่เป็นครู เป็นผู้ปกครอง แต่มันรวมถึงตัวของเด็กเองด้วยว่า บางครั้ง การที่คุณเป็นคนที่ตัวเล็กกว่าในสังคม ในพื้นที่อย่างโรงเรียน ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่มีพลังอำนาจที่จะดูแลปกป้องตัวเองและเพื่อนร่วมชั้นของคุณ ถ้าพวกคุณลุกขึ้นมาแก้ไข ระบบมันอาจจะดีกว่านี้ก็ได้ ไม่ได้หมายความว่าให้เด็กไปก้าวร้าวกับอาจารย์ แต่ในกรณีที่มีอาจารย์ทำผิด เราเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว เราอยู่ในสังคมที่ไม่ว่าคุณจะเด็กแค่ไหน ถ้าคุณมีเหตุผล ผู้ใหญ่ก็พร้อมจะรับฟัง” คิทตี้กล่าว
นอกจากนี้ ผลงานครั้งล่าสุดของคิทตี้ชิ้นนี้ยังให้อะไรบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงทัศนคติที่เธอมีต่อตัวเอง และยังส่งพลังบวกไปถึง “เหยื่อ” ที่ถูกรังแกและลดทอนคุณค่าในตัวเอง
“เราว่าทุกคนก็ต้องเคยถูกล้อสมัยเรียน ซึ่งปัจจุบันเราก็ยังถูกล้ออยู่ว่าหูกาง มันก็มีช่วงเวลาที่เรารู้สึกแย่ แต่พอเราผ่านขั้นตอนการเป็นแนนโน๊ะมา เราก็มองว่านี่คือความปกติของเรา นี่คือเราแบบที่เป็นเราที่สุด เราจะบอกว่า สิ่งที่คนอื่นพยายามว่าเรา นี่คือความปกติของเรา ทำไมเราต้องรังเกียจตัวเราเองด้วย มันทำให้เรารู้สึกว่า บางครั้งเราก็ทำร้ายตัวเองโดยที่มันไม่จำเป็น” คิทตี้กล่าว พร้อมเล่าวิธีการแก้แค้นที่เธอได้เรียนรู้จากการรับบทเป็นแนนโน๊ะ ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด
“มันมีหลากหลายวิธีที่เราจะแก้แค้นคนอื่น วิธีการที่เราผ่านขั้นตอนมากับแนนโน๊ะแล้วเราชอบมากก็คือ การเอาความสำเร็จไปตบหน้าเขา การที่เราทำตัวเองให้ดีขึ้น ให้เราอยู่ในจุดที่เขาไม่มีทางคาดหวังว่าเราจะขึ้นไปอยู่ได้ ดีกว่าสิ่งที่เขาเคยว่าเราไว้ แล้วเรารู้สึกว่าความสำเร็จมันคือสิ่งที่สะใจที่สุด โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปแลกหมัดกับใคร”
“เราอยากจะเชิญชวนให้ผู้ปกครองได้ดูซีรีส์เรื่องนี้กับคนในครอบครัวตัวเอง ถ้าคุณมีลูกสาว อย่าปล่อยลูกสาวคุณดูคนเดียว ลองดูกับเขา คุณอาจจะได้รู้จักเขามากขึ้น คุณอาจจะได้ฟังเรื่องราวของเขา ในสิ่งที่เขาไม่เคยบอกคุณมาก่อน หรือไม่กล้าบอกคุณ คุณอาจจะแก้ปัญหาได้ก่อนที่มันจะเกิดขึ้น และมันน่าจะเป็นการเตือนสติให้ผู้ใหญ่ที่เคยเป็นเด็กรู้ว่าเราเคยผ่านอะไรมา แล้วถ้าเราเคยไม่ชอบมัน เราก็ไม่ควรทำกับเด็กรุ่นถัดไป แล้วก็บอกเด็กรุ่นใหม่ๆ ว่า คุณไม่ได้เป็นเจ้าของโลกทั้งใบ โรงเรียนไม่ใช่โลกใบเดียว พวกคุณยังมีอนาคตอีกมากมายรออยู่ข้างหน้า ทุกๆ การกระทำของคุณ จะส่งผลกับคุณในอนาคต ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” คิทตี้ทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้มลึกลับแบบแนนโน๊ะ...
อัลบั้มภาพ 8 ภาพ