รีวิว Crazy Rich Asians การต่อสู้ของผู้หญิงในฐานะแฟน เมีย เจ้าสาว และแม่

รีวิว Crazy Rich Asians การต่อสู้ของผู้หญิงในฐานะแฟน เมีย เจ้าสาว และแม่

รีวิว Crazy Rich Asians การต่อสู้ของผู้หญิงในฐานะแฟน เมีย เจ้าสาว และแม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

Crazy Rich Asians ถูกดัดแปลงมาจากนวนิยายขายดีในชื่อเดียวกัน ผลงานการเขียนของเควิน ควอน ให้กลายมาเป็นภาพยนตร์ บอกเล่าเรื่องราวของราเชล ชู (คอนสแตนซ์ วู) สาวจีนที่เติบโตในนิวยอร์ค มีอาชีพการงานมั่นคง เพราะเธอเป็นถึงอาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัย NYU ซึ่งเธอยังคบหากับแฟนหนุ่มรูปหล่อติดดินอย่าง นิค ยัง (เฮนรี่ โกลดิ้ง)

 

นิค ตัดสินใจชวนราเชลไปเที่ยวบ้านเกิดที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อร่วมงานแต่งงานของเพื่อนสนิท ราเชลตื่นเต้นมาก แต่ทันทีที่เธอเดินทางมาถึงสนามบินเธอก็แทบตั้งตัวไม่ทัน เมื่อแฟนหนุ่มจองเที่ยวบินระดับเฟิร์สคลาส นั่นทำให้ราเชลเริ่มตระหนักได้ทันทีว่า แฟนหนุ่มของเธอน่าจะไม่ได้เป็นแค่หนุ่มมีสตางค์ธรรมดา แต่จริงๆแล้วเขาสืบเชื้อสายมาจากตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในสิงคโปร์และผู้หญิงกว่าครึ่งค่อนประเทศ พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อแย่งชิงชายหนุ่มผู้นี้มาครอง

 

 

แน่นอนว่าการออกงานครั้งแรกไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเรเชล เพราะการตกเป็นเป้าสายตาของผู้คนก็นับว่าเป็นเรื่องยาก การรับมือกับแม่ของนิคอย่าง เอเลนอร์ (มิโชล โหยว) ที่แสดงท่าทีให้ราเชลเห็นว่า หล่อนไม่ชอบขี้หน้าและไม่ถูกชะตาอย่างแรง ราเชลจึงต้องฝ่าฟันและปรับตัวกับสังคมไฮโซที่เธอไม่เคยสัมผัส อีกทั้งยังต้องทำความเข้าใจวัฒนธรรมเอเชียที่เธออาจจะไม่ค่อยเข้าใจนัก เมื่อรูปลักษณ์ภายนอกของเธออาจจะกลมกลืน แต่ภายในของเธอถูกหล่อหลอมมาด้วยวัฒนธรรมตะวันตกแทบทั้งชีวิต

 

ความน่าสนใจของ Crazy Rich Asians (สำหรับชาวตะวันตก) คือการที่ตัวละครอย่างราเชลนั้น เป็นเหมือนร่างทรงของผู้ชม นำพาพวกเขาเดินทางมายังทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสัมผัสกับวัฒนธรรม ค่านิยมและวิถีชีวิตที่แตกต่างจากพวกเขาราวฟ้ากับเหว ในขณะที่คนเอเชียอาจจะคุ้นชินกันวัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่ในหนังเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะเอาเข้าจริงพล็อตของหนังเรื่องนี้ก็คือ สูตรสำเร็จอย่างเรื่องซินเดอเรล่า หรือพูดให้บ้านเข้าไปอีกก็คือ พล็อตแบบละครบ้านทรายทอง ประเภทนางเอกกลายเป็นหนูตกถึงข้าวสารแบบไม่รู้ตัว

 

 

สิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้เข้มข้นและมีอะไรที่น่าค้นหา อยู่ที่การให้น้ำหนักตัวละครแต่ละตัว มีมิติและเส้นเรื่องของตัวเอง จะสังเกตได้ว่าตัวละครหญิงที่ปรากฏตัวในเรื่อง ไม่ว่าราเชล แอสทริด(เจมมา เฉิน) อารามินตา(โซโนยะ มิสุโนะ) อาม่า และเอเลนอร์ ต่างก็มีมุมมองของชีวิตในฐานะตัวแทนของผู้หญิงในแต่ละยุคสมัยที่น่าสนใจ ราเชลอาจจะเป็นผู้หญิงที่ต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อทำให้คนในตระกูลยังยอมรับในตัวเธอ ในขณะตัวละครอย่างแอสทริด เติบโตขึ้นมาในตระกูลที่เพียบพร้อม เธอพยายาม “ให้” ทุกอย่างกับสามีและสนับสนุนเขาในทุกวิถีทาง แต่กลับกลายเป็นว่างความปรารถนาดีนั้นกลายเป็นชนวนบ่อนทำลายชีวิตครอบครัวลง ขณะที่อารามินตา เจ้าสาวที่เป็นลูกเจ้าของรีสอร์ทดังก็ทำหน้าที่แค่เพียง “ผู้หญิง” ที่กำลังจะแต่งงานและเอนจอยกับชีวิตที่มี ทางด้านอาม่าที่เป็นเหมือนผู้หลักผู้ใหญ่ของตระกูลยัง เป็นเหมือน “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ประจำบ้าน เป็นที่ยึดเหนี่ยวของลูกหลานในมีโอกาสกลับมารวมตัวกันยามมีวาระพิเศษ ส่วนเอเลนอร์ เป็นผู้หญิงที่ทำหน้าที่เป็นแม่ อย่างเต็มความสามารถและพยายามหยิบยื่นสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกชาย ซึ่งความเป็นจริงแล้วความบาดหมางระหว่างเธอกับราเชล อาจจะอยู่ตรงที่ เธอดันมองเห็น “ภาพอดีตครั้งเก่า” สะท้อนมาจากตัวราเชลก็เป็นได้

 

ผู้หญิงทุกคนในหนังเรื่องนี้ จึงสะท้อนมิติต่างๆออกมาในหลากหลายแง่มุม พวกเธอแสดงจุดยืนและแนวคิดออกมา ผ่านวิถีชีวิตไฮโซที่อาจจะดูหรูหรา สุขสบาย แต่ความเป็นจริงแล้ว พวกเธอล้วนต้องต่อสู้ กระเสือกกระสนในการจะ “มีชีวิต” แบบที่ตัวเองจะมีความสุขในวันต่อๆไปต่างหาก

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook