"The House with a Clock in Its Wall" หนังแฟนตาซีมาแรงแซงหน้า "The Pool นรก 6 เมตร"
ถึงแม้ว่าหนังอย่าง The Pool นรก 6 เมตร ของผู้กำกับ พิง ลำพระเพลิง จะเปิดตัวมาด้วยรายได้ 3.1 ล้านบาท ในวันแรกที่เข้าฉายในเมืองไทย แต่กลายเป็นว่าเมื่อครบ 4 วันสุดสัปดาห์ (27-30 กันยายน 2561) กลับกลายเป็นว่าหนังทำเงินไปทั้งสิ้น 13.9 ล้านบาท อยู่ในอันดับที่ 3 บนตารางหนังทำเงิน ทำให้แชมป์สุดสัปดาห์นี้กลับกลายเป็นของหนังครอบครัวเรื่อง The House with a Clock in Its Wall ที่ทำรายได้ไปทั้งสิ้น 14.92 ล้านบาท เราไปดูกันดีกว่าแชมป์หนังทำเงินสัปดาห์นี้มีความน่าสนใจอะไรบ้าง
จากวรรณกรรมเยาวชนอมตะสู่ภาพยนตร์
วรรณกรรมชื่อดังจากหนังสือชุดจำนวน 12 เล่มที่เป็นอมตะของ จอห์น เบลแลร์ส เรื่อง “The House with a Clock in Its Walls” ซึ่งตัวนิยายเล่มแรกนั้นบอกเล่าเรื่องราวของ ลูอิส บาร์นาเวลท์ เด็กกำพร้าผู้ฉลาดเกินวัย เขาใช้ชีวิตอยู่ในยุค 50s ด้วยความฉลาดทำให้เขาไม่สามารถเข้ากับเพื่อนในวัยเดียวกันหรือบรรดาครอบครัวอุปถัมภ์รายอื่นๆ ได้ ประกอบกับความโศกเศร้าจากการสูญเสียพ่อแม่ผู้จากไปอย่างกะทันหัน เด็กชายเนิร์ดผู้เก็บตัวก็ถูกดึงเข้าสู่โลกของพ่อมดและแม่มดอย่างฉุกละหุก บัดนี้ เมื่อเขาได้มาอาศัยอยู่กับลุงโจนาธาน ชายลึกลับผู้ทำตัวเป็นประโยชน์อย่างน่าสงสัย และมีพรสวรรค์แสนพิลึกพิลั่น และลูอิสก็พบว่าตัวเองกลายเป็นลูกศิษย์ในโลกของศาสตร์ลี้ลับไปเสียแล้ว
นวนิยายเล่มแรกได้รับการตีพิมพ์ขึ้นมาในช่วงยุคต้นปี 70 และออกวางจำหน่ายอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2008 ในชื่อ The Sign of the Sinister Sorcerer อันเป็นผลงานการเขียนของ แบรด สตริกแลนด์ (ผู้ประพันธ์ร่วมกับ จอห์น เบลแลร์ส) ในช่วงปี 1993 ซึ่งแก่นของเรื่องราวในนวนิยายชุดนี้พยายามพูดถึงเรื่องของเด็กกำพร้า (คนนอก) ที่ถูกส่งตัวไปใช้ชีวิตอยู่ในสภาพสังคมที่เขาไม่คุ้นเคย และตลอดเวลาของนิยายชุดนี้ทำให้เขาได้ค้นพบตัวตนของตัวเอง รวมถึงสร้างความรู้สึกให้เขาแตกต่างและโดดเด่นจากคนอื่น
แม้ว่าฉากของเรื่องจะเป็นอเมริกายุค 50s แต่ตัวละครใน The House with a Clock in Its Walls อาศัยอยู่ในช่วงเวลาของตัวเอง โจนาธานหมกมุ่นกับเวทมนตร์ของเขา และบ้านของเขาก็เป็นเหมือนวิหารที่บูชายุคสมัยที่ล่วงผ่านไป ด้วยการแต่งกายในชุดที่ออกจะย้อนยุค ด้วยชุดงานเทศกาลและเสื้อคลุมพ่อมด ซึ่งเขาก็ชื่นชอบการเป็นคนที่ประหลาดที่สุดในละแวกนั้น
จากผู้กำกับหนังสยองขวัญเลือดสาดสู่หนังวรรณกรรมเยาวชน
อีไล ร็อธ ได้รับหน้าที่ในการกำกับภาพยนตร์ The House with a Clock in Its Walls ซึ่งผลงานการทำหนังของเขาก่อนหน้านี้ เขาสร้างชื่อจากหนังสยองขวัญโหดๆ ชวนแหวะ ไม่ว่าจะเป็น Cabin Fever, Hostel, Hostel Part II, The Green Inferno หรือกระทั่งหนังแอ็คชั่นรีเมคเมื่อต้นปีที่ผ่านมาอย่าง Death Wish ที่นำแสดงโดย บรูซ วิลลิส
การกระโดดเข้ามาทำหนังเรต PG มีหลายเหตุผลด้วยกันที่ทำให้ อีไล ร็อธ ตัดสินใจเข้ามารับหน้าที่นี้ ไม่ใช่เพียงแค่เขาอยากจะลองทำหนังครอบครัวเท่านั้น แต่การร่วมงานกับสตูดิโอชื่อดังอย่าง แอมบลิน ของพ่อมดฮอลลีวูด สตีเว่น สปีลเบิร์ก คือการได้ทำงานร่วมกับสตูดิโอระดับตำนาน อีกทั้ง อีไล ยังใฝ่ฝันอีกว่า เขาอยากจะทำให้หนังเรื่อง The House with a Clock in Its Walls อยู่เคียงข้างหนังเรื่องดังในอดีตอย่าง Gremlins และ Back to the Future ซึ่งเป้าหมายสำคัญของการทำหนังเรื่องนี้คือ เขาอยากให้ทำให้เด็กน้อยรู้สึกว่า สิ่งที่หลบซ่อนตัวอยู่ในมุมมืดของบ้านนั้นน่ากลัว แต่ในขณะเดียวกันเราก็สามารถขบขันได้ไปพร้อมๆ กับความน่าหวาดกลัวนั้นเช่นกัน ความน่ากลัวเหล่านี้ ไม่ใช่เสียงที่น่าตกใจหรือภาพที่น่าสะอิดสะเอียด แต่จะเป็นความน่ากลัวในแบบที่เด็กสักคนจะต้องเผชิญหน้ากับความพิศวง
นักแสดงหน้าใหม่และเหล่านักแสดงชื่อดัง
บท โจนาธาน บาร์นาเวลท์ อันเป็นตัวละครสำคัญของหนังเรื่องนี้ ทีมผู้สร้างเล็งนักแสดงอย่าง แจ็ค แบล็ค เอาไว้เป็นตัวเลือกแรก เขามีคุณสมบัติโดดเด่น มีเสน่ห์ แถมยังเป็นคนตลกและใจกว้าง ถึงแม้ว่าหนังเรื่องนี้จะมีธีมเรื่องที่ออกจะมืดหม่น แต่มันก็เป็นหนังที่เด็กทุกวัยไปจนถึงผู้ใหญ่จะสนุกไปกับมันได้ หนึ่งในธีมหลักของ The House with a Clock in Its Walls คือการให้เกียรติอัตลักษณ์ของแต่ละคน แบล็คเผยว่าองค์ประกอบดังกล่าวเป็นหนึ่งในสิ่งที่เขาชื่นชอบเกี่ยวกับเรื่องราวนี้ การดึงเอาความพิลึกเฉพาะตัวของเราออกมาเป็นกุญแจที่นำไปสู่เวทมนตร์ของแต่ละคน หรือกล่าวง่ายๆ คือ การปลดปล่อยความเป็นตัวเองออกมานั่นเอง
บท ฟลอเรนซ์ ซิมเมอร์แมน เป็นของนักแสดงดีกรีออสการ์อย่าง เคท แบลนเชตต์ เธอรับแสดงหนังมากมาย แต่ในช่วงหลังมานี้เราจะได้เห็นเธอรับบทวายร้ายติดตลกไม่ว่าจะเป็นบท เฮล่า ใน Thor: Ragnarok หรือบทแม่เลี้ยงใจร้ายใน Cinderella ในเวอร์ชั่นไลฟ์แอ็คชั่นของดิสนีย์ เหตุผลที่เธอตอบตกลงแสดงหนังรื่องนี้คือ การที่เธอเห็นว่าตัวละครของเธอนั้นมีความพยายามที่จะทำให้คนรอบตัวมองเห็นความสามารถในตัวเอง และตัดสินใจยอมรับตัวตนที่พวกเขาเป็นในท้ายที่สุด
สำหรับบท ลูอิส บาร์นาเวลท์ เด็กชายผู้กระตือรือร้น ทีมงานค้นหาไปทั่วสำหรับเด็กชายที่สามารถผสมผสานอารมณ์ขันและความน่าเห็นใจได้ ทีมงานค้นพบคุณสมบัติในตัวของนักแสดงเด็ก โอเวน วัคคาโร ผู้สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองจาก Daddy’s Home และ Mother’s Day โอเวนเดินเข้ามาในห้อง และเขาก็คือเด็กคนนั้น เขาคือลูอิส การแสดงของเขาแข็งแรงมาก เขาเป็นคนตลก และมีจังหวะการแสดงตลกที่ยอดเยี่ยมเป็นธรรมชาติ
อัลบั้มภาพ 12 ภาพ