รีวิว First Man ว่าที่หนังออสการ์ยอดเยี่ยม

รีวิว First Man ว่าที่หนังออสการ์ยอดเยี่ยม

รีวิว First Man ว่าที่หนังออสการ์ยอดเยี่ยม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เดเมี่ยน ชาเซลล์ ผู้กำกับที่สามารถคว้าออสการ์ 6 รางวัลมาครอง จากภาพยนตร์ La La Land และ ไรอัน กอสลิง กลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง ใน First Man ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวภารกิจของนาซ่าในการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ โดยเน้นเล่าเรื่อง นีล อาร์มสตรอง ในช่วงระหว่างปี 1961-1969 เรื่องราวของมนุษย์คนแรกที่เดินทางไปถึงดวงจันทร์สร้างจากหนังสือของ เจมส์ อาร์. แฮนเซน โดยภาพยนตร์จะเผยเรื่องราวการเสียสละและความสำคัญที่มีต่ออาร์มสตรองและต่อชาติ

เชื่อว่านี่คือการกลับมาล้างแค้นของ ดาเมี่ยน ชาเซลล์ เพราะเขาคือผู้กำกับตัวเก็งออสการ์หนังยอดเยี่ยมเมื่อ 2 ปีก่อน ด้วยหนังอย่าง La La Land ซึ่งเป็นขวัญใจมหาชนและฮอลลีวู้ดอย่างไรคำติติง แต่ก็ต้องกลับแพ้ให้หนังอย่าง Moonlight ที่งดงามราวกวีและได้เปรียบในเรื่องประเด็นการยอมรับความต่างทั้งเรื่องชาติพันธุ์ ผิวสี และรสนิยมทางเพศ ซึ่งด้วยกระแสสังคมที่เรียกร้องความเป็นธรรมในเรื่องนี้กำลังคุกรุ่น หนังนอกสายตาเรื่องนี้จึงชนะหนังของชาเซลล์ไปแบบเหนือความคาดหมายนิด ๆ

ดาเมี่ยน ชาเซลล์ ผู้กำกับรางวัลออสการ์สาขากำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

นี่บอกว่าเป็นการมาทวงรางวัลที่ควรได้คืน เพราะนอกจากหนัง First Man นั้นจะลงมาฉายในเดือนตุลาคม ต่างจาก La La Land ที่ไปฉายสิ้นปี แล้วแพ้ให้หนัง Moonlight ที่ฉายในเดือนตุลาคมแล้ว หนังยังสะท้อนแนวคิดสังคมปัจจุบันหลายอย่างมาก แม้จะว่าด้วยเรื่องชีวประวัติของ นีล อาร์มสตรอง ฮีโร่ชาวอเมริกัน และมนุษย์คนแรกที่ได้ไปเหยียบดวงจันทร์ และมีพื้นหลังอยู่ในช่วงปีทศวรรษที่ 1960 – 1970 ซึ่งเป็นช่วงกระแสงครามเย็นสุกงอมระหว่างโซเวียตกับอเมริกัน ซึ่งหนังส่วนใหญ่คงจะเล่นประเด็นเชิดชูความเป็นฮีโร่อเมริกันไปเลย ซึ่งค่ายหนังก็เคยมองว่าอยากให้ คลิ้นท์ อีสวู้ด ที่ถนัดหนังแนวนี้มากำกับเหมือนกัน แต่ในฉบับของ ดาเมี่ยน ชาเซลล์ นี้ เขากลับหยอดมุกเล็กมุมน้อยที่สื่อเรื่องที่ใหญ่กว่าได้อย่างน่าสนใจ

ไม่ว่าจะเป็นภาวะความเป็นภรรยาผู้เข้มแข็งอย่าง เจเน็ต ที่แสดงโดย แคลร์ ฟอย (คิดว่ามีลุ้นออสการ์นะ) หญิงแกร่งที่สื่อถึงผู้หญิงในยุคปัจจุบันอย่างเฉียบคม พวกเธอต้องเป็นทั้งภรรยา ทั้งแม่ และคนแบกรับความทุกข์ส่วนที่เหลือของทั้งตนเองและคนในครอบครัว ซึ่งก็เป็นหน้าที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าพวกผู้ชายที่กำลังขึ้นไปอวกาศเลยสักนิด แม้ฟอยจะไม่ได้พื้นที่ในการแสดงมากนักในหนัง แต่ในทุกฉากที่เป็นของเธอ เธอคือราชินีของฉากนั้น ๆ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ แม้จะเป็นฉากที่ดุไม่มีอะไรเลยก็ตามครับ สุดยอดมาก

ฉากโต๊ะอาหารก่อนบิน คือฉากดราม่าที่น่าจดจำที่สุดของหนัง และฟอยก็ส่งพลังให้ฉากนี้คุกรุ่นมาก

ในด้านของสีผิว และชาติพันธุ์ หนังเลยจุดนั้นอย่างสวยงาม แม้ในหนังจะมีฉากในประวัติศาสตร์ที่คนผิวสีออกมาประท้วงว่าคนขาวผลาญเงินไปอวกาศก็ตาม แต่ที่สุดแล้วหนังพาเราไปถึงจุดที่ว่ามันไม่มีสีผิว หรือไม่มีคำว่าชาติอยู่แต่ต้นแล้วในมุมของ นีล และของหนัง หนังไม่มีแม้กระทั่งฉากประจำของหนังอวกาศอย่างการปักธงชาติสหรัฐบนดวงจันทร์แบบเน้น ๆ ด้วยซ้ำ จนกลายเป็นดราม่าตอนที่ไปฉายครั้งแรกในเทศกาลเวนิซ และ ไรอันน กอสลิง ก็ทำให้ประเด็นนี้จบชัดมากด้วยการสัมภาษณ์ว่าหนังเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของชาติ แต่มันคือเรื่องของคน คนที่ชื่อนีล อาร์มสตรองเท่านั้นเอง เรียกได้ว่าประเด็นทางสังคมที่ชาเซลล์พลาดท่าในตอนชิงออสการ์รอบก่อน มารอบนี้จัดครบจัดหนักเลยทีเดียว

และสำคัญที่สุดที่เอาหนังอยู่ทั้งเรื่องคือ ภาวะความเป็นมนุษย์ธรรมดาของ นีล อาร์มสตรอง ที่เราก็เพิ่งรู้จักจริง ๆ นี่ล่ะ ว่าเขาไม่ใช่คนที่ยิ้มหล่อ ๆ ในรูปตามตำราเรียน หากแต่เป็นมนุษย์ที่มีทุกข์สุขความกดดัน อัตตาการยึดติดความผิดบาปเสียใจ เหมือนเรา ๆ มีภาระความเป็นทหารอาชีพที่ต้องเสียสละเพื่อชาติ มีภาระความเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบลูกเมีย ในขณะที่อีกด้านเขาก็ต้องรับมือกับการเป็นความหวังของชาติในการนำพาอเมริกาสู่ยุคแห่งความหวัง ซึ่งก็ไม่ได้ราบเรียบสะดวกสบาย ทั้งการทดลองไปดวงจันทร์ล้วนแต่มีความเสี่ยง เทคโนโลยีที่เป็นเหล็กโบราณไม่เหมือนสมัยใหม่ ดวงจันทร์ที่ไม่เคยมีใครลงไปจริง ๆ คือทุกอย่างไม่มีอะไรรับประกันว่าเขาจะรอดกลับมาได้เลย แล้วนอกจากความรู้สึกต่อต้านที่เขาก็ไม่อยากเสียคนที่รักจากคนที่รักไปอีกดั่งในอดีต ไม่อยากทำให้เมียเป็นหม้าย ไม่อยากให้ลูกเป็นกำพร้า กระแสสังคมก็ไม่ได้ส่งเสริมเขาเลยทั้งคำถามของนักวิชาการว่าองค์การอวกาศแห่งชาติถลุงเงินเป็นหมื่นล้านนี่มันคุ้มค่ากับความอดอยากของประชาชีแล้วหรือ? ทั้งหมดทำให้เราเห็นว่าภาพฝันสวยงามของ อะพอลโล 11 ในตำราหนังสือหรือเรื่องเล่านั้น แท้จริงโหดร้ายแก่ตัวตนมนุษย์คนหนึ่งอย่างมากทีเดียว

นีล อาร์มสตรอง, บั๊ซ เอ็ดวิน อัลดริน และไมเคิล คอลลินส์

คำถามสำคัญที่หนังต้องเอาชนะให้ได้คือ หนังจะตรึงคนดูให้อยู่กับหนังที่รู้บทสรุปอยู่แล้วนี่อย่างไร ซึ่งเป็นโจทย์ที่หนังสะท้อนประวัติศาสตร์ทั้งหลายต้องตีให้แตก และหากทำสำเร็จนั่นคือการยกระดับหนังจากหนังที่แม่นยำน่าเชื่อถือสำหรับนักวิชาการประวัติศาสตร์ สู่หนังที่สนุกและได้คุณภาพความบันเทิงและศิลปะในระดับสูงสำหรับคนดูหนังอย่างแท้จริง

เทียบตัวจริงจากซ้ายไปขวา นีล อาร์มสตรอง, ไมเคิล คอลลินส์ และเอ็ดวิน อัลดริน

ซึ่งบอกเลยว่า ดาเมี่ยน ชาเซลล์ ทำสำเร็จอย่างงดงามเลยล่ะครับ หนังได้การดัดแปลงบทจากหนังสือที่มีคุณภาพสูงอย่าง First Man: The Life of Neil A. Armstrong ของ เจมส์ อาร์. แฮนเซ็น นักเขียนที่ได้รับการเชิญเสนอชื่อชิงพูลิตเซอร์ถึง 2 ครั้ง แถมยังได้ จอช ซิงเกอร์ เจ้าของรางวัลบทภาพยนตร์ออสการ์ยอดเยี่ยมจาก Spotlight ที่ดูจะถนัดงานดัดแปลงดราม่าจากเรื่องจริงมาทำบทให้อีก ทำให้หนังมีความดุสมจริงสูงมากในการเล่า และยังตัดตอนการเล่ามาได้อย่างไม่น่าเบื่อเลย หนังแทบไม่เกริ่นปูพื้นตัวละครที่น่าเบื่อเลย แต่กลับเข้าเรื่องรวดเร็วในภารกิจเจมิไนที่เป็นช่วงทดสอบก่อนโครงการอะพอลโลเกิด แล้วปล่อยให้เราค่อย ๆ เรียนรู้จักตัวละครผ่านช่วงเวลาต่าง ๆ แทน หนังยังมีบทพูดที่น่าจดจำเยอะมากด้วยครับ อย่างฉากหนึ่งที่ว่า เราต้องพลาดตรงนี้เพื่อไม่ให้พลาดบนนั้น และในซีนเดียวกันที่นีลตอบคำถามผู้ใหญ่ว่าต้องเสียสละชีวิตคนอีกเท่าไหร่เพื่อภารกิจนี้ (อยากให้หยุด) แล้วนีลตอบว่า เราเลยจุดที่ต้องถามคำถามนั้นมาไกลแล้ว คือบทมันไม่ต้องมากเลยครับ แค่คำพูดสั้น ๆ ก็สะเทือนและตอบทุกสิ่งจบในประโยคนั้นเลย

และหนังสมจริงในการถ่ายทอดความเป็นนีล อาร์มสตรอง ถึงขนาดว่า เราลืมไปเลยว่านั่นคือ ไรอัน กอสลิง การแสดงของเขานิ่งและคมขึ้นมาก ซึ่งดูเหมือนการแสดงเป็นคนนิ่ง ๆ แต่ต้องชิงสายตาคนดูบนซีนน่าจะเป้นเรื่องไม่ง่ายนัก แต่กอสลิงก็ทำสำเร็จเราเห็นสายตาแห่งความหวาดหวั่นไม่มั่นคงในตัวนีล ซึ่งในอีกมุมหนึ่งเขาต้องแอบซ่อนมันให้ลึกสุดใจจากคนรอบตัวด้วยอย่างชัดเจน คือกอสลิงเก่งมาก ๆ ตรงจุดนี้ และเขาเองก็น่าจะได้ชิงออสการ์อีกครั้งเช่นกัน

ด้านเทคนิกภาพยนตร์ ต้องบอกว่าหนังสมจริงมากเพราะเล่นใช้โคลสอัปหน้าตัวละคร หรือบางฉากก็แทนสายตาตัวละครอย่างนีลเลยด้วย ซึ่งมันเป็นธีมการนำเสนอหลักเลย ทั้งเรื่องเราแทบไม่เห็นภาพจากสายตาบุคคลที่สาม อย่างที่หนังอวกาศเป็น ไม่มีฉากที่เห็นอะพอลโลลอยกว้าง ๆ มีดวงจันทร์หรือโลกเป็นฉากหลัง มีแต่ภาพมองผ่านหน้าต่างกระจกเล็ก ๆ ในห้องนักบินเท่านั้น แบบเราเป็นนักบินในยานอะพอลโล 11 ด้วยเลย หรือแม้แต่การก้าวบันไดลงจากยานเราก็เห็นมือนีลสั่นกลัวอย่างชัดเจน ฉากที่มองยานที่ต้องนั่งไปครั้งแรกกล้องก็แทนสายตาไล่มองจากบนลงล่างอย่างหวาดหวั่น ใช่มันไม่ได้เป็นกล้องที่บอกสถานการณ์ แต่เป็นสายตาที่บอกอารมณ์ของตัวละคร ซึ่งมันส่งมาถึงเราอย่างตรง ๆ ทุกครั้งที่ยานออกตัวสั่นสะเทือน เราแทบจะคลื่นไส้ตามตัวละคร หรือเวลาเกิดปัญหาต่าง ๆ เราก็ลุ้นไปด้วยหมด ไม่มีความรู้สึกสักนิดว่าตูหรือนีลมันจะรอด

นี่ไงหนังโคตรทำสำเร็จ เราลืมไปแล้วว่าเรื่องนี้มันจบแบบทุกคนปลอดภัย หนังมันทำได้จริง ๆ แถมช่วงสุดท้ายหนังก็บรรลุการนำเสนอด้วยฉากความคิดของนีลที่เริ่มถอยห่างออกจากความทรงจำตัวเองเป็นภาพบุคคลที่สามได้อย่างฉลาดมากอยากให้ลองสังเกตดู จะเห็นว่าหนังใช้รายละเอียดเล็กน้อยสื่อความหมายได้ละเมียดมากจริง ๆ

และที่หลายคนน่าจะกล่าวถึงคือมันถ่ายด้วยกล้องไอแม็กซ์ครั้งแรกของค่ายยูนิเวอร์แซลด้วย และเมื่อถึงฉาก ๆ หนึ่ง ภาพบนจอจะขยายออกจากปกติจนเต็มพื้นที่ อย่างเจ๋ง และมันก้ทรงพลังมาก ฉลาดมากด้วย ต้องลองไอแม็กซ์เลยล่ะครับถ้ามีโอกาส

สุดท้ายไม่มีคำพูดอะไรดีไปกว่า เทศกาลชิงชัยออสการ์ปีนี้มีหนังเรื่องนี้เป็นตัวเต้งเบอร์ 1 เรียบร้อยแล้ว

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook