รีวิว นาคี 2 เมื่อตำนานตื่นขึ้น! (อีกครั้ง)

รีวิว นาคี 2 เมื่อตำนานตื่นขึ้น! (อีกครั้ง)

รีวิว นาคี 2 เมื่อตำนานตื่นขึ้น! (อีกครั้ง)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

 

 เราไม่อาจจะปฏิเสธความจริงที่ว่าในปี พ.ศ.2559 ละครเรื่องนาคี ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งแง่ของเรตติ้ง นักแสดง รวมไปถึงความสนุก แต่ถึงอย่างนั้นเรื่องราวในเวอร์ชั่นละครก็จบลงในตัวเองอย่างสมบูรณ์และไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องสร้างภาคต่อตามออกมา เว้นเสียแต่ว่าทางผู้สร้างมองเห็นช่องทางในการ “ทำการตลาด” เพื่อผลกำไร และแน่นอนว่าเพื่อสร้างเรื่องราวบทใหม่ให้แฟนละครหายคิดถึงตัวละครอย่าง ทศพล/ไชยสิงห์ (ภูภูมิ พงศ์ภาณุ) และคำแก้ว/เจ้าแม่นาคี (ณฐพร เตมีรักษ์)    

 

นาคี 2 จึงเป็นผลผลิตของแนวคิดดังกล่าว เพียงแต่หยิบเอาตำนานที่ว่าด้วยเจ้าแม่นาคี เอามาเล่าเรื่องราวบทใหม่ ณ “ดอนไม้ป่า” ชุมชนห่างไกลที่มีความเชื่อในเรื่องพญานาคและเจ้าแม่นาคี ชาวบ้านต่างศรัทธาและนับถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อให้ผู้คนแวะมาบูชารูปปั้นเจ้าแม่นาคี

 

 

ไม่นานนักหลังจากที่ร.ต.อ.ป้องปราบ” (ณเดชน์ คูกิมิยะ) ถูกย้ายมาประจำที่สภอ.ดอนไม้ป่า ก็เกิดคดีสะเทือนขวัญขึ้นมากมาย หลายคดีมีผู้เสียชีวิตในลักษณะการตายที่แปลกประหลาดเหมือนโดนสัตว์ใหญ่ทำร้าย ขณะเดียวกันในละแวกที่เกิดเหตุ สร้อย (อุรัสยา เสปอร์บันด์) สาวที่คอยดูแลเทวาลัยเจ้าแม่นาคีก็มักจะไปป้วนเปี้ยนอยู่ตลอดเวลา นั่นจึงกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวบ้านปักใจเชื่อว่า สร้อยคือร่างประทับของเจ้าแม่นาคี สารวัตรป้องปราบจึงพยายามสืบสาวหาคำตอบของเรื่องราวสุดพิสดารครั้งนี้ให้ไวที่สุดก่อนที่จะมีเหยื่อรายต่อไปเพิ่มขึ้นอีก

 

จริงๆแล้ว นาคี 2 เปิดเรื่องมาได้น่าสนใจและพยายามจะนำเสนอรูปแบบของหนังในแนวทาง “หนังสืบสวนสอบสวน” ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ แต่ปัญหาติดอยู่ตรงจุดที่ว่า เมื่อหนังดำเนินเรื่องมาถึงจุดๆหนึ่ง เรื่องราวกลับย่ำอยู่กับที่และไม่คืบหน้าไปไหน เพราะหนังเล่าอยู่แค่ว่า เจ้าแม่นาคีได้ปรากฏตัวขึ้นและฆ่าเหยื่อในวิธีพิสดาร วนอยู่แค่จุดนั้น ยังไม่รวมไปถึงพฤติกรรมแปลกประหลาดของตัวละครที่ไม่ว่าจะเป็น “สร้อย” ที่ชอบออกไปเดินดุ่มๆตามสถานที่เกิดเหตุแบบไร้เหตุผลและพยายามจะสร้างความเคลือบแคลงใจให้คนดูเชื่อว่าสร้อยเป็นร่างทรงเจ้าแม่นาคีจริงหรือไม่ แม้จะเป็นความตั้งใจของผู้กำกับ แต่เราก็อดปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวิธีการนำเสนอตัวละครในรูปแบบนี้เหมาะกับการทำเป็น “ละคร” มากกว่าจะเป็น “ภาพยนตร์”

 

 

ยังไม่รวมไปถึงช่วงไคลแมกซ์ของหนังที่พยายามเฉลยปมปริศนาและ “ความจริง” ทั้งหมดออกมา ก็กลายเป็นความรวบรัด รวบตึงและขี้โกงคนดู จนรู้สึกน่าหงุดหงิดว่า ถ้าหนังมีชั้นเชิงมากกว่านี้ก็ควรจะให้เบาะแส หรือสร้างหลักฐานอะไรสักอย่างเพื่อทำให้คนดูคล้อยตามกับความจริงเหล่านั้น มากกว่าจะพยายามยัดเยียดเหตุผลที่ว่า “สิ่งที่มองไม่เห็น ใช่ว่าจะไม่มีอยู่จริง” เพื่อทำอะไรก็ได้ตามใจคนเขียนบท

 

ถึงอย่างนั้นเราก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่างาน CG หรือเทคนิคพิเศษในการสร้างพญานาคในตอนท้ายเรื่องช่างน่าตื่นตาตื่นใจ บางทีจุดดังกล่าวอาจจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในเรื่องซึ่งปรากฏอยู่บนจอหนังแค่เพียงเวลาน้อยนิดก็ตาม

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook