“One Cut of the Dead” จดหมายรักของนักทำหนัง

“One Cut of the Dead” จดหมายรักของนักทำหนัง

“One Cut of the Dead” จดหมายรักของนักทำหนัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มักจะมีคนถามผมบ่อยๆ ทำนองว่า ปีนี้ชอบหนังเรื่องอะไรบ้าง หรือหนังที่ชอบในปีที่แล้วคือเรื่องอะไร ฯลฯ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ผมก็ไม่อยากตอบครับ ขี้เกียจตอบ ตอบไม่ค่อยจะถูก แถมพอตอบแต่ละครั้งคำตอบก็ยังไม่เหมือนกันด้วย

คือปีๆ หนึ่งผมดูหนังเป็นจำนวนไม่น้อย บางเรื่องดูแล้วก็ เออ... ชอบๆ แล้วก็ลืมไปในที่สุด บางเรื่องออกจากโรงก็โอเค ชอบ แต่พอพ้นข้ามคืนมาคิดๆ ดูอีกทีมันก็เฉยๆ ไปจนถึงไม่ชอบด้วยซ้ำไปซะอย่างนั้น เรียกว่าคนถามไม่ควรถือสาหาความอะไรกับรสนิยมที่แกว่งไปแกว่งมาของผมได้เลยครับ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ผมมักไม่อยากตอบคำถามเหล่านี้

แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีหนังในดวงใจนะครับ ก็มีอยู่เหมือนกัน ราวๆ 7-8 เรื่อง (หรือไม่ก็ไม่ถึงสิบเรื่อง) ซึ่งโดยมากก็เป็นหนังที่ผ่านมานานแล้วไปจนถึงนานมาก (หนังเรื่องล่าสุดที่เข้ามาติดอันดับในชาร์ตหนังในดวงใจนี้ก็ผ่านมาแล้วสี่ปีครับ นั่นคือหนังอินเดียเรื่อง PK ของ ราจคูมาร์ ฮิรานี) และแน่นอนครับว่าคุณไม่ควรคาดหวังว่าหนังเหล่านั้นจะเป็นสุดยอดหนังคุณภาพเหมือนคนอื่นเขา ต้องบอกอีกทีว่ารสนิยมผมนี่มันไม่เป็นโล้เป็นพายเอามากๆ ใครที่บังอาจคาดหวัง พอเห็นรายชื่อแล้วก็คิดว่าน่าจะผิดหวังแน่นอนครับ

แต่ดูเหมือนว่าได้เวลาที่ผมจะต้องเพิ่มหนังอีกเรื่องเข้าไปในลิสต์ “ในดวงใจ” หรือ “ตลอดกาล” หรือบ้าบออะไรก็ตามแต่จะเรียกแล้วครับ เมื่อได้ดูหนังญี่ปุ่นเรื่อง One Cut of the Dead ของ ชินิชิโร อูเอดะ เข้าไป

Rio Theatreโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง One Cut of the Dead

ผมไม่รู้จักผู้กำกับคนนี้มาก่อนเลยนะครับ ไปหาข้อมูลมาก็พบว่าเขาเป็นคนทำหนังสั้นมาก่อน และ One Cut of the Dead ก็เป็นหนังใหญ่เรื่องแรกของนายคนนี้ด้วย ซึ่งถือเป็นหนังเรื่องแรกที่ไม่ธรรมดาเลยครับ เพราะ One Cut of the Dead เป็นหนังอินดี้ทุนต่ำมาก คือเมื่อคิดเป็นเงินไทยแล้วใช้งบสร้างไม่ถึงหนึ่งล้านบาท (ข้อมูลบอกว่าต้นทุนคิดอยู่ที่ราวๆ แปดแสนบาท) เท่านั้นเอง แต่กลับทำเงินในญี่ปุ่นจากการเข้าฉายไม่กี่โรงไปกว่า 233 ล้านบาท! ครับ คิดเร็วๆ ก็ประมาณ 250 เท่าของต้นทุน! นี่มันหนังบ้าอะไรกัน!?

ผลจากความสำเร็จแบบที่ไม่คาดคิดของ One Cut of the Dead ทำให้ตัวหนังออกฉายอาละวาดไปทั่วโลก รวมทั้งในบ้านเรา ซึ่งยอมรับตามตรงว่าตอนที่เห็นข่าวครั้งแรกผมก็รู้สึกเฉยๆ ครับ หนังซอมบี้อินดี้นี่ดูมาเยอะแล้วก็คิดว่าคงไม่มีอะไรใหม่ แต่เวลาผ่านไปก็ชักเริ่มสงสัยว่าทำไมเสียงตอบรับมันดีขนาดนั้น พอไปเช็คตามเว็บต่างๆ ก็ได้คะแนนดีทั้งหมด ที่ Rotten Tomatoes ให้คะแนน 100% เต็ม เว็บอื่นๆ ที่พอเชื่อถือได้ก็อยู่ในเกณฑ์ดี เลยตัดสินใจไปดู พอไปดูก็หมดข้อกังขาครับ

Bloody Disgusting

ถ้าว่ากันแบบรวบรัด One Cut of the Dead ก็เป็นหนังที่มาในรูปรอยของหนังซ้อนหนังครับ หนังเล่าเรื่องของการถ่ายทำหนังซอมบี้เรื่องหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ถึงกับแปลกใจหรือน่าตกอกตกใจเท่าไหร่ เพราะหนังในลักษณะนี้ก็มีมาให้เห็นให้ดูอยู่เป็นระยะ แต่กลวิธีการเล่าเรื่องหนังซ้อนหนังของ อูเอดะ นี้ต่างหากที่ยอดเยี่ยมเข้าขั้นฉลาดมาก

อูเอดะ เปิดเรื่องด้วยการให้ผู้ชมดูหนังซอมบี้โลว์คอสต์เรื่องหนึ่งยาว 37 นาทีซึ่งถ่ายคัตเดียวยาวต่อเนื่อง ไม่ตัดต่อและใช้กล้องเดียวนั้นแทนสายตาผู้ชม ผลก็คือได้หนังงงงวยมาเรื่องหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยคำถามทำนองว่าไอ้ที่เห็นนั่นมันคืออะไร (วะ) แล้วทำไมตรงนั้นเป็นอย่างนั้น ไอ้นี่เป็นอย่างนี้ พูดง่ายๆ ก็คือว่าหนังท่อนแรกที่ผ่านไปนี่นอกจากจะทำให้เกิดอาการ “นั่งงงในโรงหนัง” แล้วยังทำให้สงสัยเพิ่มอีกว่าแล้วทำไมคนเขาถึงชอบกันนัก

Straight

ครับ แต่พอพ้นช่วงนั้นไปความอัจฉริยะอันเข้าขั้น “ร้ายกาจ” ของหนังก็เผยตัวทันที คือช่วงหนึ่งชั่วโมงหลังของหนัง อูเอดะ นำเสนอเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังหนังในช่วงแรก เรื่องราวอันเป็นที่มาของโปรเจ็กต์ที่ชื่อ “One Cut of the Dead” ซึ่งผมอยากเรียกมันว่าเป็น “จดหมายรักของนักทำหนัง” ตามที่จั่วหัวเรื่องไว้นั่นแหละครับ

จดหมายที่เขียนโดยคนทำหนังซึ่งฉายภาพมนต์มายาในศิลปะแขนงที่เรียกว่า “ภาพยนตร์” อันน่าหลงใหล พูดง่ายๆ ก็คือ หนังในส่วนที่พูดถึงการทำหนังนั้นทำให้ผู้ชมเห็นว่าภาพยนตร์นั้นมีเมจิคอย่างไร กระบวนการของมันเกิดขึ้นได้อย่างไร ในหนังหนึ่งเรื่องมันบรรจุความใฝ่ฝันของผู้คน โอบอุ้มและยึดโยงชีวิตของพวกเขาไว้อย่างไรบ้าง และเมื่อมันให้ภาพสะท้อนของชีวิตของคนทำหนัง มันก็เท่ากับการเป็นหนังที่สะท้อนชีวิตดีๆ เรื่องหนึ่งนั่นเอง

Hey U Guys

ที่สำคัญคือมันทั้งบ้าบอและวายป่วง เรียกเสียงฮา น้ำหูน้ำตาไหล ไม่เฉียดใกล้กับการพยายามทำให้ผู้ชมซาบซึ้งเลยนะครับ และไอ้ความบ้าบอนั่นแหละ ที่ทำให้ผมชื่นชอบและจัดอันดับเข้าลิสต์ไปในที่สุด

หนังยังมีรอบฉายนะครับ แต่ไม่ทราบว่าจะออกเมื่อไหร่ ถ้าอยากดูรีบไปดูด่วนๆ เลยนะครับ

หนังตัวอย่าง One Cut of the Dead

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
จักรพันธุ์ ขวัญมงคล
นักเขียน นักแปล นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และบรรณาธิการอิสระ สนใจความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะและสังคม

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ “One Cut of the Dead” จดหมายรักของนักทำหนัง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook