“Bohemian Rhapsody” เฟร็ดดี้ เมอร์คิวรี และ Queen
ความทรงจำแรกๆ ที่ผมมีต่อวงดนตรีอังกฤษที่มีชื่อแสนแปลกประหลาดว่า Queen นี้มีสองเหตุการณ์
เหตุการณ์แรกคือในงานกีฬาสีที่โรงเรียน ผมถูกเกณฑ์ขึ้นไปเป็นกองเชียร์บนอัฒจันทร์ บรรดารุ่นพี่ๆ ที่เป็นกะเทยจะสอนเราร้องเพลงเชียร์ต่างๆ นานา ส่วนใหญ่เป็นเพลงพวก ซู่ๆ ซ่าๆ ปาทังก้าปาทังกี้ กันไป แต่ในเซ็ตลิสต์เหล่านั้นมีเพลงภาษาอังกฤษอยู่สองเพลงครับ เพลงชื่ออะไรก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าพอพึมพำฮือๆ อือๆ เพราะร้องไม่เป็นไปสักพักก็จะเปล่งเสียงร้องพร้อมๆ กันว่า “We will...we will rock you!” เพลงหนึ่ง กับร้องว่า “We are the champions, my friend…” อีกเพลงหนึ่ง (ซึ่งมารู้ทีหลังว่าไอ้ที่ร้องไปน่ะ มันก็ชื่อเพลงทั้งสองเพลงนั่นแหละ) ตอนนั้นรุ่นพี่บอกว่าทั้งสองเพลงนี้เป็นของวง Queen ซึ่งผมก็ไม่รู้หรอกครับว่าวงนี้เป็นใคร
รับฟังเพลย์ลิสต์วง Queen ได้ที่นี่
ส่วนเหตุการณ์ที่สองก็คือที่ร้านอาหารตามสั่งข้างโรงเรียนผม เขาจะติดโปสเตอร์วงดนตรีสองใบบนผนังร้านครับ ใบหนึ่งเป็นรูปชายสี่คนแต่งหน้าแต่งตัวประหลาดแลบลิ้นยาวๆ นั่นคือวง Kiss ส่วนอีกวงหนึ่งเป็นชายสี่คน คนหน้าสุดใส่เสื้อแบะอกเผยให้เห็นหน้าอกที่มีขนรำไรไว้หนวด โปสเตอร์ใบนี้คือรูปของวง Queen นั่นเอง โตขึ้นมาอีกหน่อยพอที่จะเริ่มฟังภาษาอังกฤษได้ ผมกับวง Queen ถึงจะได้เริ่มรู้จักกันจริงๆ จังๆ แม้ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นวงโปรด (เพราะโตไม่ทัน ยังเด็กไปตอนที่วงโด่งดัง) แต่ผมก็ชอบเพลงของ Queen หลายเพลงอยู่ครับ
ซึ่งก็แน่นอนเหลือเกินว่า ในฐานะคนชอบดูหนังชอบฟังเพลง ผมย่อมอยากดู “Bohemian Rhapsody” อยู่แล้ว ยิ่งกำกับโดย ไบรอัน ซิงเกอร์ ซึ่งเป็นผู้กำกับมือดีคนหนึ่งของฮอลลีวู้ด (ผลงานของเขาที่หลายคนน่าจะรู้จักกันดีก็คือ หนังชุด “X-Men” ทั้งหลาย แต่ที่ผมชอบคือหนังเรื่อง “The Usual Suspects”) ก็ยิ่งน่าสนใจเข้าไปใหญ่ แม้ว่าจะมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า ซิงเกอร์ มีปัญหาตลอดการถ่ายทำหนังเรื่องนี้จนเกือบไม่มีชื่อเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ก็ตาม แต่เอาเป็นว่าในที่สุดเขาก็ทำโปรเจกต์นี้ให้แล้วเสร็จจนได้
ว่ากันอย่างเป็นธรรม ผมคิดว่า “Bohemian Rhapsody” ก็เป็นหนังชีวประวัติของวงและของเฟร็ดดี้ เมอร์คิวรี ที่น่าสนใจนะครับ ดูเพลินอยู่เหมือนกัน คือสำหรับคนที่รู้จัก Queen ครึ่งๆ กลางๆ แบบผม การดูหนังเรื่องนี้ก็เหมือนได้รู้จักความเป็นมาของวงมากขึ้น เข้าใจแรงขับและหลุมหล่มต่างๆ ในชีวิตของฟรอนต์แมนอัจฉริยะอย่าง เฟร็ดดี้ เมอร์คิวรี มากขึ้น แล้วมันก็ทำให้เห็นที่มาของเพลง “Bohemian Rhapsody” ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพลงชั้นยอดของโลกมากขึ้นด้วย คือสำหรับผมนี่โอเคอยู่เหมือนกัน หรือแม้แต่คนรุ่นหลังๆ ที่ได้ยินแต่ชื่อ (บางคนรู้จัก เฟร็ดดี้ เมอร์คิวรี กับ Queen จากการ์ตูนคุโรมาตี้ด้วยซ้ำครับ) หนังเรื่องนี้ก็อาจเป็นตำราบทแรกสำหรับการทำความรู้จักวง Queen เรียกว่าเป็นเหมือนการลงทะเบียนวิชา “Queen 101” ก็พอว่าได้แหละครับ
แต่ถ้าว่ากันแบบเจาะลึกประหนึ่งว่าผมสมมติตัวเองเป็นแฟนตัวจริงของวง (ซึ่งคงเป็นได้ยาก) ผมก็คิดว่าหนังเรื่องนี้มันอาจจะยังไม่ได้คำอธิบายเชิงลึกของตัวตนจริงๆ ของเฟร็ดดี้ เมอร์คิวรี ในแต่ละช่วงเวลามากเท่าที่ควรนัก ที่จริงหนังพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงตัวเองของ เฟร็ดดี้ เมอร์คิวรี ในมิติต่างๆ นี้โดยตรงเลยนะครับ เช่นเรื่องความต้องการใครสักคนที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลย อันสวนทางกับด้านอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเช่นเรื่องเพศสภาพ เรื่องทัศนคติที่เขามีต่อสถาบันครอบครัว ซึ่งหมายถึงทั้งการเป็นครอบครัวแบบพ่อ แม่ ลูก และการเป็นครอบครัวแบบ “วงเดียวกัน” คือผมเคยอ่านบทความเรื่องความหมายที่ซ่อนอยู่ใน “Bohemian Rhapsody” นานมาแล้วครับ ในบทความนั้นพยายามอธิบายว่า “Bohemian Rhapsody” คือจดหมายสารภาพเพื่อเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของ เฟร็ดดี้ เมอร์คิวรี่ ซึ่งมีการเชื่อมโยงรายละเอียดต่างๆ กับเนื้อเพลงอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะเลยครับ ดังนั้นการที่หนังอธิบายตรงจุดนี้อย่างขุดลึกลงไปไม่ได้ ก็อาจจะทำให้แฟนเดนตายมองว่าหนังเรื่องนี้นำเสนอสิ่งที่พวกเขารู้ดีอยู่แล้ว ไม่มีอะไรแปลกใหม่
ทั้งที่ ไบรอัน ซิงเกอร์ ก็พยายามนำเสนอประเด็นต่างๆ เหล่านี้อยู่นะครับ เพียงแต่ในขณะเดียวกันก็จะมาใช้เวลาอยู่กับประเด็นการเปลี่ยนผ่านในใจของตัวละครนานๆ ไม่ได้ เพราะหนังเลือกที่จะฉายภาพของ Queen แบบ biopic มากกว่าการเป็นหนังที่พูดเรื่องที่อยู่ในใจ มันมีไทม์ไลน์ลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ที่คนทำหนังต้องเก็บให้ครบก่อนจะพาหนังไปจบที่เหตุการณ์สำคัญประวัติศาสตร์ของวง (และของวงการดนตรีโลก) อย่างที่อยู่ในหนังให้ได้ เพราะฉะนั้นก็คงจะมาพิรี้พิไรไม่ได้
ที่สุดแล้วเมื่อมองภาพรวมๆ ผมถึงคิดว่าหนังเรื่องนี้น่าจะใช้เป็นแนวทางทำความรู้จัก Queen ที่ดีครับ แต่หากอยากรู้จักความเป็น Queen มากกว่านี้ก็คงไปต้องต่อยอดกันเอง ไม่น่ายากครับ เรื่องแบบนี้
อ้อ และที่คงข้ามไป ไม่กล่าวถึงไม่ได้นั่นคือการแสดงของ รามี มาเล็ค ผู้รับบทเป็น เฟร็ดดี้ เมอร์คิวรี นั่นเอง เขามีการแสดงที่ดีมาก ช่วงแรกอาจดูยังไงๆ อยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขาก็ทำให้ผมเชื่อได้ว่าตนเองคือสุดยอดฟรอนต์แมนตลอดกาลของวง Queen จริงๆ
ใครอยากรู้จัก “Bohemian Rhapsody” และ Queen ก็ไปดูกันนะครับ ส่วนแฟนเพลงตัวจริงก็ไปรำลึกความหลังก็ได้ครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
จักรพันธุ์ ขวัญมงคล
นักเขียน นักแปล นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และบรรณาธิการอิสระ สนใจความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะและสังคม
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ