เปิดเปลือยแบบอันเซนเซอร์! ชมความแสบสันต์ของ "แนนโน๊ะ" ใน "เด็กใหม่" แบบรวดเดียวทาง Netflix

เปิดเปลือยแบบอันเซนเซอร์! ชมความแสบสันต์ของ "แนนโน๊ะ" ใน "เด็กใหม่" แบบรวดเดียวทาง Netflix

เปิดเปลือยแบบอันเซนเซอร์! ชมความแสบสันต์ของ "แนนโน๊ะ" ใน "เด็กใหม่" แบบรวดเดียวทาง Netflix
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รูดม่านปิดฉากการออนแอร์ทางโทรทัศน์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับซีรีส์กระแสแรงอย่าง “เด็กใหม่” กับตัวละครสาวสุดแสบสันต์ “แนนโน๊ะ” (รับบทโดย คิทตี้-ชิชา อมาตยกุล) ที่กลายเป็นที่พูดถึงอย่างรวดเร็ว และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่ความดำมืดของมนุษย์จะก้าวเข้าไปอยู่ในระบบสตรีมมิงแบบไร้ซึ่งเซนเซอร์ทาง Netflix แบบครบทุกตอน

สำหรับใครที่ยังไม่ได้กดเข้าไปรับชม Sanook! TV/Movie มีบทสัมภาษณ์ 7 ใน 9 ผู้กำกับของซีรีส์เรื่องนี้ ถึงมุมมองเกี่ยวกับความรุนแรงในโรงเรียน ที่นำไปสู่การตัดสินใจกระโดดเข้าสู่สมรภูมิการสร้างซีรีส์แนวใหม่ ที่ท้าทายความสามารถ รวมทั้งบรรยากาศในการทำงาน ซึ่งเชื่อว่าถ้าแฟนๆ ได้อ่านแล้ว จะยิ่งอยากติดตามชมซีรีส์เรื่องนี้ต่อไปอย่างแน่นอน

ผู้กำกับซีรีส์เด็กใหม่ (จากซ้าย) โต - ชัยอนันต์ สร้อยจำปา, เยเมน - ศิววุฒิ เสวตานนท์, เพชร - วรายุ รักษ์กุล, เอส - คมกฤษ ตรีวิมล, ก๋วยเตี๋ยว - จตุพงศ์ รุ่งเรืองเดชาภัทร์, พีท - ธีร์ธวัช ใต้ฟ้ายงวิจิตร, หมิง - อภิวัฒน์ สุภธีระพงษ์ผู้กำกับซีรีส์เด็กใหม่ (จากซ้าย) โต - ชัยอนันต์ สร้อยจำปา, เยเมน - ศิววุฒิ เสวตานนท์, เพชร - วรายุ รักษ์กุล, เอส - คมกฤษ ตรีวิมล, ก๋วยเตี๋ยว - จตุพงศ์ รุ่งเรืองเดชาภัทร์, พีท - ธีร์ธวัช ใต้ฟ้ายงวิจิตร, หมิง - อภิวัฒน์ สุภธีระพงษ์

โซเชียลมีเดียกับยอดภูเขาน้ำแข็ง

นอกจาก “เด็กใหม่” จะเป็นที่รู้จักในฐานะซีรีส์วัยรุ่น ที่โฟกัสไปที่ความรุนแรงภายในโรงเรียนแล้ว เหล่าผู้กำกับยังมองว่า ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน ความรุนแรงในโรงเรียนยังคงมีอยู่ แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความรุนแรงลักษณะนี้แพร่หลายมากขึ้นก็คือ อิทธิพลของโซเชียลมีเดีย ที่กระตุ้นให้ภาพความรุนแรงแพร่กระจายสู่ความรับรู้ของผู้คนได้อย่างรวดเร็ว

“ผมว่าจริงๆ ความรุนแรงในโรงเรียนมันมีมาตั้งนานแล้ว แต่ที่เรารู้สึกว่าเยอะในปัจจุบัน เพราะว่าเรารับรู้มันง่ายขึ้นด้วยอินเตอร์เน็ต ผมเชื่อว่ามันไม่ได้ต่างกันเยอะหรอกในแต่ละยุคสมัย สมัยก่อนที่เรารู้ก็คือเพื่อนเล่าให้ฟัง ประสบการณ์ตรงที่เราไปเห็น แต่สมัยนี้มันเจอได้ตาม YouTube ตามคลิป ตามข่าว มันก็เลยรู้สึกว่าเยอะ” เพชร - วรายุ รักษ์กุล ผู้กำกับซีรีส์ตอนที่ 10 Thank You, Teacher เปิดประเด็น

ด้าน เยเมน - ศิววุฒิ เสวตานนท์ ผู้กำกับซีรีส์ตอนที่ 8 Lost & Found ก็เสนอมุมมองในฐานะเด็กต่างจังหวัด ที่เมื่อนักเรียนทั้งสองฝ่ายไม่ถูกกัน ก็จะนัดชกต่อยเพื่อเคลียร์ความบาดหมางใจให้จบ ขณะเดียวกัน ในยุคที่โทรศัพท์ยังเป็นเพียงอุปกรณ์สำหรับโทรเข้า-ออก เรื่องราวความรุนแรงเหล่านี้จึงเป็นเพียงเรื่องเล่าให้ผู้ฟังจินตนาการต่อเท่านั้น

“สมัยผมเรียน ผมอยู่ต่างจังหวัด การชกต่อยก็เคยเจอ คือสองคนนัดไปเจอกัน แล้วก็ต่อยเคลียร์กันไป แต่ผมว่าเมื่อก่อนมันไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีมือถือที่ถ่ายรูปได้ มันก็จะเป็นแค่เรื่องเล่าให้เราตื่นเต้น คิดว่าจริงไหมวะ แต่สมัยนี้มันชัดขึ้น คือมันมีคลิปเลย มีรูปเลย ส่งเข้าไลน์ปุ๊บก็มาถึงเลย ผมเลยคิดว่ามันน่ากลัวกว่าเมื่อก่อนที่มีแค่คำพูดเปล่าๆ” เยเมนกล่าว

และไม่ใช่แค่ความรวดเร็วพร้อมภาพและเสียงที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น ผู้กำกับกลุ่มนี้ยังมองว่า ความน่ากลัวของอินเตอร์เน็ตก็คือผลกระทบต่อชีวิตของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงด้วย โดย พีท - ธีร์ธวัช ใต้ฟ้ายงวิจิตร ผู้กำกับตอนที่ 5 Social Love และ ก๋วยเตี๋ยว - จตุพงศ์ รุ่งเรืองเดชาภัทร์ ผู้กำกับตอนที่ 6-7 Wonderwall และตอนที่ 9 Trap ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่และเติบโตมากับโซเชียลมีเดียรุ่นบุกเบิกอย่าง Hi5 ได้เล่าประสบการณ์ที่น่าสนใจว่า

“เรื่องที่มันน่ากลัวกว่ามันเริ่มในช่วง 10 ปี มานี้ ที่มีโซเชียลอย่าง Hi5 หรือ Facebook ผมว่าการทำร้ายที่รุนแรงที่สุดคือการทำร้ายจิตใจมากกว่าร่างกาย เช่น ทำให้ขายหน้าทั้งโรงเรียน หรือทำให้คนคนหนึ่งรู้สึกไม่มีคุณค่า มันเป็นแผลที่น่ากลัวมากนะ มันมีผลกับทั้งชีวิต โดยเฉพาะช่วงวัยเรียน ซึ่งเป็นวัยที่คนกำลังค้นหาตัวเองอยู่ แล้วการที่มีโซเชียลมีเดียเนี่ย ผมว่ามันทำให้เรื่องนี้ง่ายขึ้น เพราะคุณไม่ต้องเห็นความทุกข์ของคนคนนั้น โรงเรียนผมเคยมีผู้หญิงคนหนึ่งโพสต์รูปโป๊ของเด็กผู้หญิงอีกคน ซึ่งมันก็ทำลายชีวิตของผู้หญิงคนนั้น แต่คนที่โพสต์ไม่ต้องมาเห็นปฏิกิริยาของคนที่โดน” พีทเล่า

“เรามักจะเห็นมุมกล้องของคนแอบถ่ายเป็นภาพกว้าง ประชาชนในอินเตอร์เน็ตถูกบังคับให้เป็นบุคคลที่ 3 เราไม่ได้ไปจ้องหน้าคนที่ถูกตบหรือตบคนอื่นอยู่ เราดูอยู่ข้างๆ เหมือนเชียร์มวย ก็ยิ่งทำให้เกิดช่องว่างระหว่างสิ่งที่เกิดกับคนที่ดู แล้วก็ยิ่งรู้สึกว่ากูไม่เกี่ยว ดูเอามันได้ มันง่ายต่อการที่จะด่าคน แล้วมันก็ยิ่งเลยเถิด เพราะเรารู้สึกเหมือนจะมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ แต่เป็นคนเชียร์” ก๋วยเตี๋ยวให้ความเห็นจากมุมมองของผู้กำกับ พร้อมเสริมว่า โรงเรียนก็คือการจำลองสังคมภายนอกที่มีคนหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นคนรวย คนยากจน ชนชั้นปกครอง ผู้รักษาความปลอดภัยที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งผู้นำที่พยายามเปิดเผยแต่ข้อดีของสังคม โดยปกปิดปัญหาไว้ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ซุกขยะใต้พรม”

ด้าน หมิง - อภิวัฒน์ สุภธีระพงษ์ ผู้กำกับจากตอนที่ 3 Trophy ก็ย้ำแนวคิดเรื่องการปกปิดความรุนแรงเพื่อรักษาชื่อเสียงของสถาบัน ผ่านประสบการณ์ตรงจากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลก่อนการทำงานในซีรีส์ชุดนี้ว่า

“ผมไม่รู้ว่าโรงเรียนไทยเป็นอย่างไร ก่อนทำก็เลยขอไปนั่งสัมภาษณ์เด็กโรงเรียนมัธยม อาจารย์ก็ต้อนรับเต็มที่เลย ดูเหมือนไม่มีอะไร พอไปสัมภาษณ์ห้องคิงก็ไม่มีอะไร พอไปห้องท้ายๆ โคตรดาร์กเลย คนละเรื่องกับที่อาจารย์เล่าเลย ส่วนมากจะเป็นเรื่องชู้สาวเป็นหลัก แต่ที่น่ากลัวคือผู้ชายจะใช้เพศกดขี่ผู้หญิงในโรงเรียนเยอะ แบบว่าคนคนหนึ่งสามารถทำให้ชีวิตอีกคนหนึ่งพังได้เลย ด้วยคลิป แล้วผู้หญิงก็ต้องลาออกไป” หมิงเล่า

“มันอาจจะเหมือนภูเขาน้ำแข็งน่ะ ที่เราเห็นในอินเตอร์เน็ตมันอาจจะแค่ยอด แต่ถ้าลงลึกไปอีกมันอาจจะมหาศาลก็ได้ อาจจะเป็นเพราะว่าคนไทยชอบปกปิด โรงเรียนก็ไม่อยากพูดถึง จนมันมีข่าวขึ้นมาถึงจะลงโทษ แต่ส่วนใหญ่เราจะรับรู้หลังจากเหตุการณ์มันเกิดไปแล้ว พอทำซีรีส์ออกไปก็มาเซนเซอร์” เพชรกล่าวเสริม ก่อนเสนอแนวทางเบื้องต้นในการแก้ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน นั่นคือการมีกฎข้อบังคับที่แข็งแรง มีมาตรฐานเดียว และต้องปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่แค่การลุกขึ้นมาจัดการเมื่อเกิดเหตุรุนแรงแบบวัวหายล้อมคอก ที่สำคัญคือ ผู้ที่มีอำนาจรับผิดชอบควรแก้ไขและป้องกันปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยไม่ต้องรอให้เกิดกระแสในสังคม

ด้านก๋วยเตี๋ยวก็มองไปถึงการบังคับใช้กฎระเบียบต่างๆ จากตัวอย่างกรณีเด็ก ป.2 ที่ถูกรุ่นพี่ ป.4 รุมทำร้ายร่างกาย โดยมองว่า หากกฎระเบียบในโรงเรียนทำงานจริง และมีการดูแลเด็กที่ทั่วถึงจริง รุ่นพี่อาจไม่มีโอกาสทำร้ายน้อง หรือหากลงมือทำ ก็จะได้รับการลงโทษอย่างเหมาะสม

“ถ้ากฎหมายทำงานตามขั้นตอนที่มันควรจะเป็น ทุกอย่างมันต้องถูกจัดการไปอย่างถูกต้อง แล้วทุกคนจะรู้สึกว่าโอเค ฉันต้องเคารพกฎกติกาที่ตกลงร่วมกันแล้วอย่างมีเหตุผล แต่สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นเพราะกฎกติกามันไม่ได้ถูกยอมรับ อันนี้ผมย้อนขึ้นไปถึงต้นตอว่าเด็กผู้หญิงพวกนั้นจะลงมาตบน้องไหม ถ้ากฎกติกาในสังคมมันแข็งแรง ถ้ามันมีกฎและบทลงโทษที่ชัดเจนในโรงเรียน หรือว่ามันมีความทั่วถึงของการดูแลในสังคมเพียงพอ พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าครูเอาใจใส่เด็กพอ ไม่ได้มองว่าเรื่องเกิดขึ้นแล้วจะทำอย่างไร แต่มองว่าทำอย่างไรจะให้มันไม่เกิด” ก๋วยเตี๋ยวกล่าว

ซีรีส์เด็กใหม่กับการตีแผ่ความจริง

เมื่อวลี “ซุกขยะใต้พรม” เป็นสิ่งที่ค้างคาจิตใจผู้กำกับทั้ง 7 คน ดังนั้น เมื่อมีโอกาสได้เข้าร่วมโปรเจ็กต์สุดท้าทายอย่างซีรีส์เด็กใหม่ ผู้กำกับทั้ง 7 คนก็ไม่ลังเลที่จะกระโดดเข้าสู่สมรภูมิการทำงานแนวใหม่นี้ แม้จะไม่เคยผ่านการกำกับซีรีส์มาก่อนก็ตาม โดยมีแรงบันดาลใจอย่างการร่วมงานกับผู้กำกับมือทอง คงเดช จาตุรันต์รัศมี ที่นำทีมเขียนบทในโปรเจ็กต์นี้ และที่สำคัญก็คือ การมองเห็นศักยภาพของซีรีส์เด็กใหม่ ที่อาจต่อยอดไปสู่ประเด็นอื่นๆ ในอนาคต หนึ่งในนั้นก็คือ “การกวาดขยะออกจากใต้พรม” ตีแผ่ความจริง เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้กับสังคม ซึ่ง เอส - คมกฤษ ตรีวิมล ผู้กำกับตอนที่ 4 Hi-so และ ตอนที่ 12 - 13 BFF กล่าวว่าซีรีส์เรื่องนี้เป็นการนำเอาเรื่องจริงมาปรุงแต่งให้สนุกสนานมากขึ้นด้วยศิลปะทางด้านภาพยนตร์ และเชื่อว่าการใช้แนวทางดราม่าทริลเลอร์รุนแรง น่าจะกระทบจิตใจผู้ชม และทำให้ซีรีส์บรรลุวัตถุประสงค์ได้มากกว่าการนำเสนอแต่ภาพที่สวยงาม

นอกจากนี้ การทำงานบนแพลตฟอร์มใหม่อย่าง Netflix ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ดึงดูดให้เหล่าผู้กำกับตัดสินใจเข้าร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้ ด้วยคุณสมบัติที่ไม่มีการเซนเซอร์ ทำให้มีพื้นที่ที่กว้างขึ้นในการเล่าเรื่อง และสร้างความกล้าในการคิดพลิกแพลงเรื่องราวในแนวทางของตัวเอง โดยเพชรได้เล่าถึงวิธีการทำงานของตัวเองบนเงื่อนไขที่กว้างขึ้นนี้ว่า

“ผมมีความแตกต่างจากคนอื่นเยอะเหมือนกัน เพราะตอนแรกที่อ่านบท ผมรู้สึกประหลาดมากกว่า ผมก็เลยเปลี่ยน เหลือเค้าโครงแค่ 50 – 60% เท่านั้น ของคนอื่นอาจจะแค่ปรุงแต่งให้มันดีขึ้น หาวิธีการเล่าเรื่อง แต่ของผมคืออยู่กับมันมานาน เพราะผมเขียนเองครึ่งหนึ่ง แล้วยิ่งมันมีช่องทางที่เหมือนกับว่ามันเป็นหัวข้อที่น่าทำ ไม่ต้องเกรงใจใคร และโจทย์แรกมามันมีเวอร์ชั่น Netflix ซึ่งมันไม่มีเซนเซอร์ เราจะทำอะไรก็ได้ นี่คือความน่าสนใจของมัน ทำให้เรากล้าคิด เพราะจากเดิมที่มีวงเล็บเล็กๆ มันกว้างขึ้น ทำให้เราใส่ของได้มากขึ้น” เพชรกล่าว

แม้ผู้กำกับทั้ง 7 คนจะผ่านประสบการณ์ด้านโปรดักชันมาก่อน แต่ซีรีส์ก็ถือเป็นสนามใหม่สำหรับผู้กำกับกลุ่มนี้ โดยส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าสิ่งที่ท้าทายที่สุดในโปรเจ็กต์นี้คือการทำงานแข่งกับเวลาที่มีจำกัด ซึ่งแม้จะกดดันมากสำหรับศิลปินที่ทำงานสร้างสรรค์ แต่สิ่งที่ได้รับก็นับว่าคุ้มค่ามากทีเดียว

“เรื่องเวลาน่าจะยากสุดสำหรับโปรเจ็กต์นี้ เพราะมันมีคิวเดียว ตั้งแต่ 7 โมง ถึง 4 ทุ่ม ห้ามเกินเด็ดขาด เป็นอะไรที่บู๊ที่สุดที่เคยทำงานมา ผมเคยเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ยังไม่เคยเจออะไรที่บู๊ขนาดนี้ แต่มันทำให้เราตรัสรู้เลยว่าความคิดสร้างสรรค์มันจะเกิดก็ต่อเมื่อมันเกิดปัญหา ไม่ใช่ว่านั่งเฉยๆ แล้วเราจะคิดอะไรออก” หมิงเล่า

ส่วนเอสก็เสริมว่า “ประสบการณ์ใหม่สำหรับผมมันไม่ใช่การทำซีรีส์ ทำละคร แต่มันคือทำงานอย่างไรให้เสร็จทันเวลา ซึ่งมีน้อยมาก เราต้องคิดตลอดเวลาว่า ถ้าไม่ทำแบบนี้แล้วจะทำอย่างไรต่อ ผมเชื่อว่าสิ่งใหม่มันเกิดจากการถูกกดดัน เหมือนเรามีเงินน้อยเราก็ต้องใช้สมองมากขึ้น แล้ววิธีการใหม่มันก็จะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ว่าเราคิดได้อย่างไร หรือบางทีมันก็เกิดนวัตกรรมขึ้นโดยบังเอิญ ทำให้มันมีวิธีการเล่าเรื่องที่ไม่เหมือนเดิม สิ่งแวดล้อมอย่างนี้ พอคนที่หนึ่ง คนที่สองทำได้ ผมก็เฮ้ย เราก็ต้องทำได้เหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ทำไม่ทันเหมือนกัน (หัวเราะ) มันเป็นปัญญาที่เกิดจากความฉุกละหุก มันก็โอเคนะ”

จุดเชื่อมโยงที่ชื่อ “แนนโน๊ะ”

สำหรับการทำงานร่วมกันระหว่างผู้กำกับในซีรีส์แต่ละตอน เอสเปิดเผยว่า ส่วนใหญ่ผู้กำกับแต่ละคนจะต่างคนต่างทำงาน แต่จะได้มาพบปะกันในการทำเวิร์กช็อปร่วมกับตัวละครหลักอย่าง “แนนโน๊ะ” ที่รับบทโดย คิทตี้ – ชิชา อมาตยกุล ซึ่งเรียกว่าแนนโน๊ะเป็นจุดเชื่อมโยงผู้กำกับแต่ละคนเข้าด้วยกัน และยังเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่ควบคุมอารมณ์ของเรื่องให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งรักษาแก่นเรื่องหลักเอาไว้

“แต่ละตอนมันมีความแตกต่าง มันเป็นรสชาติของแต่ละคนจริงๆ อย่างของเยเมนก็จะเน้นอารมณ์ เล่นกับความสัมพันธ์ ความรู้สึก ซึ่งมันได้ผลมากๆ เพราะว่าคนดูไม่เคยเห็นแนนโน๊ะที่มีลักษณะใกล้เคียงกับคนขนาดนี้มาก่อน อย่างตอนที่ก๋วยเตี๋ยวทำ ที่ติดอยู่ในห้อง ก็ทริลเลอร์มาก กดดัน ซึ่งผมรู้สึกว่ามันน่าสนุกดีที่พ่อครัวเปลี่ยนไปเรื่อยๆ โดยมีวัตถุดิบหลักอยู่อันเดียว พ่อครัวแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันเลย มันสนุก คนดูจะไม่รู้เลยว่าตอนหน้าจะเจออะไรบ้าง” เอสเล่า พร้อมระบุว่าแนนโน๊ะเป็นตัวละครประหลาด แต่มีเสน่ห์เฉพาะตัวที่ทำให้หน้าตาของซีรีส์เรื่องนี้ไม่เหมือนใคร และยังเปิดพื้นที่ให้ทีมงานสามารถสร้างเรื่องราวได้อย่างไร้ขีดจำกัด

เช่นเดียวกับ โต - ชัยอนันต์ สร้อยจำปา โปรดิวเซอร์ของซีรีส์ และผู้กำกับตอนที่ 11 The Rank ที่ทำงานร่วมกันกับเยเมนและแนนโน๊ะจนเกิดไอเดียใหม่ที่คาดไม่ถึง ในตอนที่ 8 Lost & Found ที่ว่าด้วยความรักของแนนโน๊ะ โดยเยเมนเล่าถึงการทำความเข้าใจแนนโน๊ะขณะที่ทำเวิร์กช็อปว่า

“สิ่งหนึ่งที่ผมได้ตอนเวิร์กช็อปคือ แนนโน๊ะต้องมีความรู้สึกเหมือนมีความรักเกิดขึ้น แต่มันไม่เข้าใจเรื่องความรัก ผมก็เลยปรึกษาพี่โตว่า ผู้ชายที่แนนโน๊ะชอบจะเป็นแบบไหน ก็ให้นักแสดงสองคนมาลองเล่นคู่กัน มาดูเคมี แล้วเราก็โอเค รู้แล้ว ผู้ชายที่แนนโน๊ะชอบมันไม่ใช่ผู้ชายเท่ หรือผู้ชายที่ทำอะไรก็ได้อย่างที่เราคิดไว้ตอนแรก มันจะเป็นผู้ชายที่ไม่ฉลาด”

“อันนี้คือผิดจากที่คิดไว้ ทีแรกผมกับเยเมนพัฒนาบทด้วยกัน ก็คิดว่าคนที่จะเอาชนะใจแนนโน๊ะได้ควรจะเป็นผู้ชายฉลาดเกินเบอร์มันไปนิดหนึ่ง หรือเท่าๆ กัน แต่กลายเป็นว่าหลังเวิร์กช็อปแล้วมันเกิดเคมีใหม่ขึ้นมา คือผู้ชายทื่อๆ บื้อๆ หน่อย กลับได้ผลกับแนนโน๊ะมากกว่า ภาษาทางเทคนิคเรียกว่าถูกแทงด้วยของไม่มีคม แผลที่ได้ก็จะใหญ่และเหวอะหวะหน่อย ซึ่งมันก็ดี แล้วมันเกิดขึ้นแบบที่เราไม่ได้ตั้งใจ” โตเสริม

อย่างไรก็ตาม แฟนพันธุ์แท้ที่ติดตามซีรีส์เรื่องนี้มาตั้งแต่เปิดตัว จะพบว่านักแสดงหลักอย่างคิทตี้ ก็มีส่วนที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จ จากการสร้างตัวละครที่มีส่วนผสมระหว่างตัวตนของคิทตี้และคาแรกเตอร์ของแนนโน๊ะ ทำให้ตัวละครมีพัฒนาการ มีชีวิตของตัวเอง ไม่ใช่แค่ตัวหนังสือบนหน้ากระดาษ

“ผมในฐานะโปรดิวเซอร์ก็จะต้องไปออกกองทุกกอง ก็จะเห็นพัฒนาการและการเตรียมตัวของคิทตี้เยอะ เขาอินกับบทนี้มากแล้วก็พยายามกับมันเต็มที่ เราจะไม่มีทางเห็นคิทตี้ท่องบทในกองเลย บางครั้งถ้าเรามองแบบผ่านๆ มันเหมือนเขาไม่ตั้งใจ เอ๊ะ! คนนี้เขาจำได้หรือเปล่า เพราะดูเขาเหมือนมีธุระตลอดเวลา แต่พอเรียกเขามาอยู่หน้ากล้อง สั่งแอคชั่นปั๊บ เขาทำได้ทุกอย่าง เขาทำสิ่งที่เขาเตรียมมา เขาจำบทได้ จำบทของคนอื่นก็ได้ว่าคนนี้ควรจะพูดว่าอะไรกับเขา” โตยืนยัน

ผู้กำกับเด็กใหม่ในงานซีรีส์

ในขณะที่ซีรีส์เด็กใหม่เป็นที่กล่าวขวัญถึงในแง่เนื้อหาที่หม่นมืด รุนแรง กับแนวทางการทำงานของผู้กำกับหน้าใหม่ที่ทดลองจับงานซีรีส์เป็นครั้งแรก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าซีรีส์เรื่องนี้ได้สร้างเนื้อหาใหม่ให้แก่วงการภาพยนตร์ของไทย และอาจจะจุดประกายให้ทีมงานอื่นๆ กล้าที่จะสร้างสรรค์ผลงานในประเด็นและรูปแบบที่แปลกใหม่ ท้าทายสังคมออกมามากขึ้น

“ผมว่ามันเปิดช่องทางเล็กๆ ให้คนกล้ามากขึ้น ก่อนหน้านี้อาจจะไม่มีใครกล้าแม้กระทั่งพูดถึง พอมันมีซีรีส์นี้ขึ้นมาแล้วมันดันประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง มันก็เลยทำให้รู้สึกว่าหลังจากนี้ ถ้าใครคิดจะทำอะไร มันอาจจะกล้าขึ้น แล้วข้อดีคือคนดูจะได้รับสิ่งที่มันพัฒนาไปเรื่อยๆ หลังจากนี้มันอาจจะเปิดกว้างมากกว่านี้ก็ได้ อาจจะเซนเซอร์น้อยลง (หัวเราะ) สำหรับผม ผมรู้สึกว่าฉายหลัง 4 ทุ่ม นี่ก็ถือว่าได้เยอะแล้วนะ เพราะก่อนหน้านี้เราไม่เคยทำอะไรแบบนี้ได้เลย แต่อันนี้ฉายในโทรทัศน์ ทุกคนมีสิทธิ์เปิดโทรทัศน์แล้วดูได้ แม้ว่ามันจะหายไปบ้าง แต่ผมรู้สึกว่ามันก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี” เพชรกล่าว

หากจะบอกว่าซีรีส์เด็กใหม่ เป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตามองก็คงไม่ผิดนัก เพราะนอกจากจะจุดประกายให้วงการภาพยนตร์หันมาตั้งคำถามท้าทายสังคมแล้ว สิ่งสำคัญที่สอดแทรกอยู่ในซีรีส์เรื่องนี้ ก็คือแนวทางในการแก้ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน ที่ต้องเริ่มจากการ “เปิดพรม” ยอมรับว่าปัญหานั้นมีอยู่ จากนั้นก็กวาดเอาปัญหาออกมาเพื่อลงมือแก้ไข และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก เหล่าแฟนคลับของแนนโน๊ะก็สามารถมาร่วมเป็นกำลังใจให้เหล่าผู้กำกับและทีมงานแบบเต็มอิ่ม ชนิดต่อเนื่องในเวอร์ชั่นอันเซนเซอร์ได้แล้วทาง Netflix 

>> "เด็กใหม่" จบการศึกษา "แนนโน๊ะ" ส่งท้ายเลี้ยงรุ่นสยอง!
>> คุยกับ “คิทตี้ – ชิชา” ว่าด้วยความรุนแรงและตัวตนของ “แนนโน๊ะ” ในซีรีส์ “เด็กใหม่”

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ ของ เปิดเปลือยแบบอันเซนเซอร์! ชมความแสบสันต์ของ "แนนโน๊ะ" ใน "เด็กใหม่" แบบรวดเดียวทาง Netflix

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook