การกลับมาบุกจอของ "ซอมบี้" Rampant และย้อนรอยหนังซอมบี้สัญชาติเกาหลี
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จในระดับโลกของ Train To Busan ทำให้ประเทศไทยเริ่มกลับมาให้ความสนใจหนังฟอร์มยักษ์ของประเทศแดนเกาหลีอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ หนังเกาหลีมักจะเข้าฉายในบ้านเราเงียบๆ หรือไม่ก็จะเป็นที่รู้จักเฉพาะกลุ่มแฟนคลับของนักแสดงที่ร่วมแสดงในหนังเรื่องนั้นๆซะมากกว่า แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนังเกาหลีที่มีโอกาส “ทำเงิน” คงต้องมาพร้อมทั้งนักแสดงและเรื่องราวที่ขายความตื่นเต้นเป็นหลัก
เกิดอะไรใน Rampant
ย้อนกลับไปในราชวงศ์โชซอน (ราชวงศ์ยอดฮิตของประเทศเกาหลี ราวกับว่าไม่เคยมีราชวงศ์อื่นแล้ว) ปีศาจร้ายกำลังคืบคลานเข้ามาในอาณาจักรนี้อย่างช้าๆ เมื่อองค์ชายกังลิม (ฮยอนบิน) ต้องเดินทางกลับมายังโชซอนและพบว่าชาวบ้านได้ติดเชื้อไวรัสปริศนาจนกลายเป็นปีศาจกระหายเลือด เขาจำใจต้องฆ่าเพื่อนและคนสนิทที่ติดเชื้อมรณะ ด้วยความร่วมมือของขุนนางพัค (โจ อูจิน) และพรรคพวก
ไม่นานนักทั้งสองถูกบีบให้เข้าร่วมกับกองกำลังกู้ชาติในการกวาดล้างปีศาจกระหายเลือดเหล่านี้ก่อนที่พวกมันจะบุกไปสร้างความวุ่นวายที่พระราชวังหลวง ในขณะเดียวกันเสนาบดีอย่าง คิม จาจุน (จาง ดงกอน) วางแผนจะฮุบราชบัลลังก์มาเป็นของเขาเอง คิมจึงใช้อำนาจในทุกวิถีทางเพื่อรวบรวมกำลังพลในการล้มล้างจักรพรรดิองค์ปัจจุบันและอาศัยเชื้อไวรัสมรณะ เพื่อสร้างความพินาศให้กับวังหลวง
ศึกปะทะระหว่างฮยอนบินและจาง ดงกอน
แน่นอนว่านักแสดงชายอย่าง ฮยอนบินและจาง ดงกอน จัดได้ว่าทั้งสองคนเป็นดาราระดับแม่เหล็กของประเทศเกาหลี และพวกเขายังมีฐานแฟนคลับอยู่ทั่วโลก ฮยอนบิน สวมบทเป็นกังลิม องค์รัชทายาทที่ต้องเดินทางกลับมายังอาณาจักรบ้านเกิดที่กำลังระส่ำระสาย และเขาต้องรับหน้าที่สำคัญในการต่อสู้เพื่อรักษาราชวงศ์โชซอนเอาไว้
ขณะที่นักแสดงมากฝีมืออย่าง จาง ดงกอนที่เคยคว้ารางวัล Blue Dragon Awards มาแล้วหลายครั้ง จึงรับรองได้ว่าฝีมือทางการแสดงของเขาจัดได้ว่าไม่ธรรมดา อีกทั้งบทบาทนี้ยังเป็น “บทร้าย” ที่เขาต้องรับบทเป็นเสนาบดี คิม จาจุน ที่วางแผนฮุบบัลลังก์ ถึงแม้จะดูเป็นบทแบนๆกลวงๆ แต่จาง ดงกอนเลือกจะสร้างมิติให้กับตัวละครนี้เป็นมากกว่าวายร้ายในสูตรสำเร็จหนังชิงบัลลังก์
ย้อนรอยหนังซอมบี้สัญชาติเกาหลี
The Neighbor Zombie (2010)
ในปี 2010 เชื้อไวรัสซอมบี้ได้เกิดระบาดไปทั่วโลก และแน่นอนว่ามันระบาดมาถึงประเทศเกาหลี รัฐบาลจึงเร่งดำเนินการประกาศกฎอัยการศึกในการกำจัดผู้ติดเชื้อขั้นเด็ดขาด ซึ่งนั่นหมายถึงการกวาดล้าง ในขณะที่ประชาชนที่กำลังหนีตายเอาชีวิตรอดจากบรรดาซอมบี้ พวกเขาจึงต้องพยายามมีชีวิตอยู่อย่างมีความหวังเฝ้ารอว่าจะมีวัคซีนในการรักษาเชื้อมรณะนี้ ตัวหนังแบ่งออกเป็น 4 เรื่องสั้น ที่ทำให้คนดูได้เห็นแง่มุมต่างๆของเรื่องราวและวิถีชีวิตของประชาชนเกาหลี ตัวหนังคว้ารางวัลเทศกาลหนังปูซานในปี 2009 ในสาขา Citizen's Choice Award และ Jury's Choice Award
Zombie School (2014)
ณ โรงเรียนที่เต็มไปด้วยนักเรียนมากปัญหา ได้เกิดเหตุการณ์ระทึกขวัญขึ้น เมื่ออาจารย์ในโรงเรียนเกิดติดเชื้อซอมบี้ จนเปลี่ยนให้พวกเขากลายเป็นปีศาจกระหายเลือกและออกไล่ล่านักเรียนอย่างบ้าคลั่ง ตัวหนังไม่มีอะไรแปลกใหม่ ขายความระทึกขวัญตื่นเต้น เนื่องจากเหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดในโรงเรียน ดังนั้นหนังจึงมีสภาพคล้ายกับหนังแนวฆาตกรโรคจิตออกไล่ล่าเหยื่ออย่างบ้าคลั่ง ถ้าดูแบบเอาสนุกไม่คิดอะไรเยอะ หนังเรื่องนี้ก็จัดได้ว่าตอบโจทย์ได้ไม่เลว
Train to Busan (2016)
หลังจากที่ไวรัส Mers ได้เกิดระบาดอย่างหนักในปี 2016 ได้เปลี่ยนให้ประชาชนเกาหลี กลายร่างไปเป็นซอมบี้กระหายเลือดในพริบตา ซอซอกวู (กงยู) ผู้จัดการกองทุนและพ่อผู้ไม่เคยมีเวลาให้ลูกสาวอย่างซูอัน จนเมื่อใกล้ถึงวันเกิด ซูอันได้ร้องขอให้พ่อของเธอพาไปหาแม่ที่เมืองปูซาน ระหว่างกำลังเดินทางขึ้นรถไฟ ปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสได้ขึ้นมาบนรถไฟขบวนเดียวกับพวกเขา ผู้โดยสารกลุ่มหนึ่งจึงต้องพยายามเอาชีวิตรอด หนังเรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก ประกอบกับความตื่นเต้นที่ปรากฏในหนัง เรียกได้ว่าพาผู้ชมลุ้นจนแทบจะหยุดหายใจ และไม่นานมานี้ได้มีการประกาศสร้างภาคต่อในชื่อ Peninsula ซึ่งจะเล่าเรื่องราวต่อมาจากหนังภาคแรก และเรื่องย่อโดยคร่าวๆจะพูดถึงเชื้อไวรัสที่ระบาดไปทั่วคาบสมุทรเกาหลี แถมปูซานที่คาดกันว่าเป็นเขตปลอดภัย ก็อาจจะไม่รอดจากเชื้อนรกนี้เช่นกัน
Seoul Station (2016)
แอนิเมชั่นภาคก่อนเหตุการณ์ใน Train to Busan บอกเล่าเรื่องราวของซุกคิว ชายผู้เป็นพ่อที่พยายามตามหาลูกสาวอย่างเฮซอนที่หนีออกจากบ้านไปทำอาชีพเป็นหญิงขายบริการในกรุงโซล เรื่องราวเริ่มบานปลายเมื่อคนในกรุงโซลกลายร่างเป็นซอมบี้ ซุกคิวพยายามเอาชีวิตรอด ในขณะที่รัฐบาลได้ประกาศปิดเมืองและเปลี่ยนให้เป็นสถานกักกันโรค น่าเสียดายที่เวอร์ชั่นแอนิเมชั่นอาจจะไม่สนุกเท่าเวอร์ชั่นภาพยนตร์ อีกทั้งตัวละครในเรื่องก็ไม่ค่อยน่าเอาอกเอาใจช่วยนัก อย่างไรก็ตามความน่าสนใจของ Seoul Station คือความพยายามสะท้อนชีวิตของชนชั้นรากหญ้าในประเทศเกาหลีที่ต้องปากกัดตีนถีบและต้องต่อสู้กับความยากลำบากในเมืองใหญ่นั่นเอง