“โมเลกุลเลือดผมเรียงตัวเป็นลายกนก” เปิดใจ “เอกชัย ศรีวิชัย” กับภารกิจคืนชีพ “โนราห์”

“โมเลกุลเลือดผมเรียงตัวเป็นลายกนก” เปิดใจ “เอกชัย ศรีวิชัย” กับภารกิจคืนชีพ “โนราห์”

“โมเลกุลเลือดผมเรียงตัวเป็นลายกนก” เปิดใจ “เอกชัย ศรีวิชัย” กับภารกิจคืนชีพ “โนราห์”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากเอ่ยชื่อ “เอกชัย ศรีวิชัย” คนวัย 30+ อาจจะนึกถึงชายผู้นี้ในฐานะนักร้องลูกทุ่งจากแดนใต้ และเพลงจังหวะคึกคัก แสบๆ คันๆ อย่าง “หมากัด” หรือนักแสดงในละครโทรทัศน์ ในขณะที่คนรุ่นเด็กลงมาหน่อยอาจคุ้นเคยกับบทบาท “เจ๊มดดำ” ในภาพยนตร์ตลกมหากาพย์อย่าง “หอแต๋วแตก” ทว่าในการเดินทางบนเส้นทางสายบันเทิงนานกว่า 30 ปี ศิลปินวัย 56 ปี ผู้นี้ กลับมีภารกิจที่มากกว่าความบันเทิง นั่นคือการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทย เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ ผ่านผลงานภาพยนตร์ อย่าง “เทริด” ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อ 2 ปีก่อน ตามด้วยผลงานใหม่ “โนราห์” ที่กำลังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์อยู่ในขณะนี้

>> จากความเชื่อท้องถิ่นทางภาคใต้ สู่ความอัศจรรย์บนจอภาพยนตร์ “โนราห์” โดย เอกชัย ศรีวิชัย

เอกชัย ศรีวิชัย เกิดและเติบโตที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ในครอบครัวนายหนังตะลุงและโนราห์ โดยถูกปลูกฝังให้เป็นนายหนังตะลุงตั้งแต่อายุเพียง 8 ขวบ ขณะเดียวกันก็แอบซึมซับวิชาความรู้เกี่ยวกับโนราห์ ที่พ่อสอนให้แก่น้องสาวไปด้วย ก่อนที่จะศึกษาเพิ่มเติมจากครูโนราห์คนอื่นๆ และกลายมาเป็นผู้สอนทั้งหนังตะลุงและโนราห์ให้กับเด็กรุ่นหลัง

“ผมเริ่มรำโนราห์ตั้งแต่ 8 ขวบ พ่อฝึกให้น้อง ก็รำตาม หนังตะลุงก็หัดเชิดตั้งแต่ 8 ขวบ ภาษาใต้เรียกว่าเป็นคนสองหิ้ง หิ้งหนึ่งเป็นหิ้งหนังตะลุง หิ้งหนึ่งเป็นหิ้งโนราห์ แต่จริงๆ แล้วผมไม่ได้เป็นแค่สองอย่างนี้ รองเง็งผมก็เล่นได้ หมอลำ เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ผมก็ทำได้ คือเราเรียนเพิ่มเติมหมด ทุกอย่างที่เป็นสายวัฒนธรรม มันอยู่ในเส้นเลือดผมหมด ถ้ากรีดเส้นเลือดผมออกมา โมเลกุลเลือดผมมันจะเรียงตัวกันเป็นลายกนก” เอกชัยเล่าถึงความเป็นคนสองหิ้ง หรืออาจจะหลายหิ้ง ด้วยความภาคภูมิใจ

เอกชัย ศรีวิชัย กับเทริด หรือเครื่องประดับศีรษะของโนราห์เอกชัย ศรีวิชัย กับเทริด หรือเครื่องประดับศีรษะของโนราห์ 

เมื่อถามถึงเสน่ห์ของโนราห์ เอกชัยเล่าว่า โนราห์เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่สะท้อนตัวตนของคนภาคใต้ แบ่งออกเป็นโนราห์เชิงพิธีกรรมและโนราห์ที่เน้นความสวยงาม ซึ่งมีเสน่ห์อยู่ที่ความสนุกสนานบันเทิงจากองค์ประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโปรดักชัน เสื้อผ้า ท่ารำ เสียงร้อง และปฏิภาณของนักกลอน ที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ไปจนถึงสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับสังคมและการเมืองไปด้วยในตัว

“คุณเชื่อไหมว่าโนราห์ออกมายืนอยู่หน้าเวที เขาสามารถใช้กลอนทักทายกับคนดูเป็นเรื่องเป็นราว เล่าตั้งแต่ขึ้นรถมาจนถึงมาที่งาน แล้วอวยพรทุกอย่างด้วยคำกลอนที่คิดเอาตรงนั้นได้หมดเลย พร้อมทั้งองค์ความรู้ คือภาคใต้มันแปลก เรื่องการบ้านการเมือง โนราห์กับหนังตะลุงเป็นผู้สอดแทรก ให้ความรู้แก่ชาวบ้าน นี่น่าจะเป็นแกนของมันนอกเหนือจากความบันเทิง ซึ่งมันแยกยาก เพราะว่ามันเป็นเนื้อเดียวกันหมดเลย

เมื่อความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดาของโลก ศิลปะพื้นบ้านอย่างโนราห์ก็ย่อมหนีไม่พ้นวัฏจักรนี้ ความบันเทิงยอดนิยมนี้เคยเข้าสู่จุดต่ำสุดชนิดที่เอกชัยเรียกว่า “แทบจะไม่มีสุนัขอยู่หน้าโรงเลย” หรือหากจะมีคนดู ก็จะเป็นช่วงที่เต้นหางเครื่องประกอบเพลงเท่านั้น แต่ช่วงที่ร้องกลอนและรำจะไม่มีคนดู เมื่อความนิยมของผู้ชมเปลี่ยนไป คณะโนราห์เองก็จำเป็นต้องปรับตัวตามไปด้วย โดยเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของการแสดงบนเวที ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องดนตรีสากล เพิ่มนักดนตรีและนักร้อง ตัดทอนช่วงร้องกลอนที่เยิ่นเย้อให้กระชับมากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงเวทีให้ยิ่งใหญ่อลังการด้วยแสง สี เสียง แต่นักแสดงโนราห์จะต้องรักษาท่ารำที่อ่อนช้อยสวยงามไว้เช่นเดิม

“โนราห์จะมีเล่นสองแบบ คือรำและเต้นหางเครื่อง ผมก็เอาโนราห์มารำบนเวที 50 คนเลย เอาท่าที่ครูสอนเลย โดยผมรำนำ คนก็ตกใจชุด ตกใจท่ารำ เป็นขบวนการที่ใหญ่มาก อลังการมาก ทีนี้โนราห์เล็กๆ ที่เป็นลูกศิษย์ผมก็เริ่มเอาไปทำตาม มันก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ” เอกชัยกล่าว

เอกชัย ศรีวิชัย ในบทบาทพระยาสายฟ้าฟาดเอกชัย ศรีวิชัย ในบทบาทพระยาสายฟ้าฟาด 

ขณะที่งานเพลงลูกทุ่งและงานแสดงภาพยนตร์ถือว่าประสบความสำเร็จ เอกชัยก็เดินทางสายวัฒนธรรมอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่การส่งเสริมวัฒนธรรมในภาคใต้เท่านั้น แต่ยังกระจายไปถึงศิลปวัฒนธรรมในภาคอื่นๆ จนกระทั่งได้มีโอกาสร่วมงานสร้างภาพยนตร์กับ “พันนา ฤทธิไกร” นักแสดงและผู้กำกับคิวบู๊ และได้ใช้ประสบการณ์จากการทำงานในกองถ่ายภาพยนตร์มาสร้างภาพยนตร์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมเรื่องแรกของตัวเอง นั่นคือ “เทริด” ภาพยนตร์ดราม่าว่าด้วยความขัดแย้งระหว่างพ่อซึ่งเป็นครูโนราห์ กับลูกชายวัยรุ่นผู้หลงใหลในดนตรีสมัยใหม่ ที่เข้าฉายเมื่อปี 2559 ก่อนที่จะต่อยอดสู่ภาพยนตร์ “โนราห์” ที่ไม่ได้โฟกัสที่ความขัดแย้งทางความคิดของคนสองรุ่น แต่มุ่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของโนราห์ ผ่าน “แพ็กเกจ” ที่เป็นภาพยนตร์โรแมนติกดราม่า เรียกว่าเป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างความสนุกกับสาระความรู้

“โนราห์ที่เรากำลังพูดถึงไม่ใช่นางกินรีทั้ง 7 ที่ไปอาบน้ำในสระอโนดาต แล้วพรานบุญจับไปถวายพระสุธน แต่เป็นตำนานของพ่อขุนศรีศรัทธา ซึ่งมาจากหนังสือของพ่อขุนอุปถัมภ์นรากร ศิลปินใหญ่ที่ได้มีโอกาสรำโนราห์ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และเป็นแรงบันดาลใจให้ผมทำเรื่องเทริด พ่อขุนศรีศรัทธาเป็นลูกของนางนวลทองสำลี พระธิดาของพระยาสายฟ้าฟาด เจ้าเมืองเวียงกลางบางแก้ว หรือพัทลุงในปัจจุบัน ถ้าใครได้ไปโนราห์โรงครู ที่เป็นพิธีกรรมที่เล่นกันอยู่ที่ใต้ จะได้ยินชื่อตัวละครเหล่านี้ ผมเลยคิดว่าเราน่าจะทำให้บุคคลเหล่านั้นมีตัวตนขึ้นมา เป็นสื่อในทางภาพเพื่อจะนำมาไว้เล่าให้คนรุ่นหลังฟัง” เอกชัยเล่าถึงแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์โนราห์ ซึ่งมีเป้าหมายให้ผู้ชมทุกภาครู้สึกประทับใจและหวงแหนศิลปะแขนงนี้ ในฐานะศิลปวัฒนธรรมของชาติ ไม่ใช่ของภาคใต้เพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกัน เขาก็หวังจะให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้ เพื่อนำมาเป็นทุนในการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทยเรื่องอื่นๆ ต่อไป

บรรยากาศการถ่ายทำภาพยนตร์โนราห์บรรยากาศการถ่ายทำภาพยนตร์โนราห์

แม้ว่าที่ผ่านมา การทำภารกิจสืบสานวัฒนธรรมของเอกชัยจะใช้เงินทุนจากน้ำพักน้ำแรงของเขาล้วนๆ แต่เจ้าตัวก็ยอมรับว่า ภารกิจนี้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย เพราะเขาเชื่อว่า ศิลปวัฒนธรรมไทยไม่เคยตายไปจากใจของคนไทย แต่มันได้ตายไปจากหัวใจของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่มีอำนาจ ซึ่งหากภาครัฐหันมาให้ความสำคัญ ก็จะทำให้บุคลากรด้านศิลปวัฒนธรรมได้มีพื้นที่แสดงความสามารถ และมีรายได้มากขึ้น

“ผมเคยไปดูโขนพระราชทานแล้วร้องไห้ เพราะตัวแสดงแต่ละคนที่คัดมา ร่างกายของเขา มือเท้าของเขาเกิดมาเพื่อการนี้เลย แต่พอเด็กพวกนี้เรียนจบก็ไปทำงานเซเว่น ไปทำงานในห้าง ทำงานบริษัทเอกชน แล้วสิ่งที่อยู่ในวิญญาณพวกเขาไม่ได้ถูกถ่ายทอดเลย ผมถามว่ามันเสียหายไหม ทำไมกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวัฒนธรรมไม่เปิดโอกาส เปิดตำแหน่งให้เขาก่อน คนพวกนี้ควรจะเป็นครูไหม ควรทำงานอยู่ในกรมศิลปากรไหม ถ้าเขาไม่ทำก็แล้วไป แต่คุณควรจะเปิดโอกาสให้เขาก่อน วัฒนธรรมจะก้าวไปได้อย่างไร เมื่อคุณคิดแค่จะทำอีเวนต์เพื่อเอาใจนายไปวันๆ มันไม่ไปถึงไหนหรอก” เอกชัยกล่าว พร้อมเสริมว่าทุกวันนี้ คนไทยมีความรู้ความสามารถด้านวัฒนธรรม แต่ยังขาดการจัดการที่เป็นระบบ ซึ่งหากต้องการให้ศิลปวัฒนธรรมไทยมีความก้าวหน้า รัฐก็ต้องลงมาสนับสนุน

“วันก่อนมีคนบอกว่าจะทำโนราห์ให้เป็นมรดกโลก ผมก็เลยโต้กลับไปว่า ก่อนจะเอาหมูไปขายจีน เลี้ยงให้หมูอ้วนก่อนได้ไหม คือคิดแต่ว่าจะหยิบเอาไปส่ง ระบบการจัดการและพัฒนาสมองคนที่จะเอาไปส่งมันดีหรือยัง จะเอาหมูไปขายเขาแต่หมูผอมเห็นแต่ซี่โครง ขุนให้หมูอ้วนก่อนได้ไหม บางทีถ้าหมูอ้วนแล้วค่อยขายก็ได้ จีนจะวิ่งมาหาเองเลยล่ะ” เอกชัยกล่าวติดตลก

และนอกเหนือจากงานกำกับภาพยนตร์แล้ว เอกชัยยังมีโครงการในฝันอีกอย่าง คือการสร้างศูนย์การเรียนรู้ในภาคใต้ สำหรับจัดค่ายเสริมความรู้ด้านการเมือง วัฒนธรรม และธรรมะ ให้แก่เด็กนักเรียนทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอดวิชาความรู้ที่ตัวเองมีอยู่ให้แก่เยาวชนในบั้นปลายชีวิต รวมทั้งจัดโครงการเทศกาลภาพยนตร์ภาคใต้

“หลังจากที่ผมทำหนังไปสักระยะหนึ่ง ที่ฝันไว้อาจจะมีเทศกาลหนังภาคใต้ด้วย เป็นเหมือนเทศกาลหนังเมืองคานส์ แต่เป็นเทศกาลหนังเมืองคอน เน้นเด็กใต้ที่เขาคิดอยากจะสื่อสารอะไร ให้เขาได้มีเวทีมานำเสนอกับเรา แล้วเราก็ติดต่อผู้ใหญ่ให้เขาได้เจอกัน แล้วให้เขาได้เสนองาน เรา คนที่เป็นผู้บริโภค จะได้โอกาสกินอาหารบันเทิงหม้อใหม่ๆ ชามใหม่ๆ ที่ถูกปรุงโดยคนรุ่นใหม่” เอกชัยเล่า

และเมื่อถามว่าเขาจะทำงานด้านวัฒนธรรมนี้ไปถึงเมื่อไร เจ้าตัวตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า “จนกว่าจะหมดลมหายใจ!”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook