รีวิว Suspiria ความงดงามและน่าขยะแขยง
หากเราจะกล่าวว่า Suspiria ของผู้กำกับ ลูก้า กัวดาญิโน่ ในปี 2018 เป็นผลงานการรีเมค ก็คงเป็นการนิยามที่ไม่ค่อยจะเข้าเค้าสักเท่าไหร่ แต่ถ้าหากเปลี่ยนเป็น “ได้แรงบันดาลใจ” มาจากเวอร์ชั่นผู้กำกับดาริโอ อาร์เจนโต ของปี 1977 น่าจะเหมาะสมกว่า เนื่องจากหนังแทบจะเปลี่ยนเรื่องราวใหม่เกือบทั้งหมด รายละเอียดปลีกย่อยและแก่นของเรื่องก็แตกต่างไปจากเดิมมาก เหลือคงไว้แค่เพียงเรื่องราวของคณะบัลเลต์ที่มีประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับลัทธิแม่มด เท่านั้น
เวอร์ชั่นของหนังปี 1977 นั้นจริงๆ โครงสร้างของหนังคือหนังสยองขวัญที่ว่าด้วยเรื่องราวของซูซี่หญิงสาวผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ได้รับทุนการศึกษาเพื่อมาเข้าเรียนต่อ ณ คณะบัลเลต์แห่งหนึ่งในเยอรมัน แต่ทันทีที่เธอมาถึง เธอก็เจอหญิงสาวท่าทางประหลาดกำลังวิ่งหนีอะไรบางอย่างออกมาด้วยท่าทีตื่นกลัว เธอถูกค้นพบกลายเป็นศพในวันถัดมา เรื่องราวดังกล่าวแพร่ออกไปในกลุ่มนักเรียนอย่างรวดเร็ว ระหว่างที่ซูซี่เข้าเรียนในคณะแห่งนี้เธอเริ่มสัมผัสได้ถึงความไม่ชอบมาพากลหลายๆอย่าง จนยิ่งสืบสาวลึกเข้าไปเรื่อยๆเธอค้นพบว่า คณะบัลเลต์แห่งนี้เป็นของกลุ่มแม่มดที่จับเอานักเรียนไปเป็นร่างทรง! แม้ว่าพล็อตเรื่องจะไม่มีอะไรมาก แต่ด้วยการออกแบบงานสร้างและองค์ประกอบศิลป์ได้ทำให้ Suspiria เวอร์ชั่นนี้ได้รับการกล่าวถึงมาจนปัจจุบัน
ทว่า Suspiria ในเวอร์ชั่นล่าสุด นั้นเราอาจจะต้องนิยามประเภทของหนังเพิ่มเติมเข้าไปใหม่ เนื่องจากมันเต็มไปด้วยส่วนผสมของหนังระทึกขวัญ หนังดราม่า รวมไปถึงมุมมองเชิงการเมืองอย่างเข้มข้น โดยเวอร์ชั่นนี้ ซูซี่ (ดาโกต้า จอห์นสัน) เป็นเด็กสาวที่เดินทางมาจากรัฐโฮไอโอ สหรัฐอเมริกา เธอมุ่งมั่นที่จะเดินทางมายังเบอร์ลิน เพื่อศึกษาต่อในคณะบัลเลต์แห่งนี้ (และเธอไม่ได้ทุนการศึกษามาเหมือนเวอร์ชั่นต้นฉบับ) และหนังในเวอร์ชั่นนี้เผยให้คนดูรับรู้ทันทีว่า คณะบัลเลต์แห่งนี้ปกครองและดูแลโดยบรรดาคณะครูที่เป็นแม่มด ด้วยการใช้เสียงวอยส์โอเวอร์ พูดถึงการประชุมและแผนการที่พวกเธอต้องการจะใช้เด็กในคณะบัลเลต์ของตัวเอง เอาไปเป็นร่างทรงของพระแม่ที่พวกเธอนับถือ ในขณะเดียวกันหนังก็ยังเลือกจะตัดสลับแวะไปเล่าเรื่องราวของจิตแพทย์โจเซฟ ที่แพทริเซีย(โคลอี้ เกรซ มอเรซ) หนึ่งในนักเรียนจากคณะบัลเลต์ชอบแวะมาขอรับคำปรึกษา ก่อนที่เธอจะหายตัวไปอย่างลึกลับ โดยตัวละครโจเซฟก็จัดเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญของหนังในเวอร์ชั่นนี้ (ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญและน่าจะเป็นตัวละครเพศชายเพียงตัวเดียวที่ปรากฏอยู่บนจอหนังนานที่สุด)
เหตุการณ์อันไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นตลอดทั้งเรื่อง มักอาศัยการตัดสลับสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคู่ขนานกันในช่วงเวลาเดียวกัน เช่นฉากที่ซูซี่ได้เต้นเพื่อแสดงความสามารถให้มาดามาบลองก์ (ทิลด้า สวินตัน) ดู ขณะเดียวกันโอลก้า (เอเลน่า โฟกิน่า) นักเรียนที่เพิ่งจะขอถอนตัวจากบทนางเอก เธอถูกมนต์ดำบางอย่างสะกดให้เธอติดอยู่ในห้องกระจก เมื่อซูซี่เริ่มออกท่วงท่าในการเต้น ร่างกายของโอลก้ากลับเกิดการบิดเบี้ยวอย่างรุนแรง จนกระดูกของเธอหักแปรสภาพทำให้โอลก้าต้องทุกข์ทรมานและอยู่ในสภาพตายทั้งเป็น ฉากดังกล่าวเป็นตัวอย่างหนึ่งในการเปรียบเทียบความสวยงามและน่าขยะแขยงที่เกิดขึ้นพร้อมๆกัน
อันที่จริงหนังในเวอร์ชั่นนี้ยังมีรายละเอียดยิบย่อยที่สามารถแตกเป็นหัวข้อ เอามาพูดถึงเพื่อวิเคราะห์ตีความเชิงนัยยะและสัญญะอย่างมากมาย เอาเป็นว่าถ้าใครต้องการชมภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยประเด็นอันหลากหลาย Suspiria จัดเป็นหนังที่ดูแล้ว “ชวนคิดตาม” ได้น่าสนใจเรื่องหนึ่งของปี 2018 ทีเดียว (และไม่จำเป็นต้องดูหนังเวอร์ชั่นต้นฉบับแต่อย่างใด) และที่สำคัญอาจจะต้องรีบไปดูกันสักนิด เนื่องจากเข้าฉายน้อยโรง รอบฉายน้อย และคนดูก็น้อยมากจนโรงภาพยนตร์น่าจะถอดรอบออกในไม่ช้า