รีวิว Viral ผีโทรศัพท์ บรรยากาศสยองน่ะได้...แต่ยังไม่ไวรัลพอ

รีวิว Viral ผีโทรศัพท์ บรรยากาศสยองน่ะได้...แต่ยังไม่ไวรัลพอ

รีวิว Viral ผีโทรศัพท์ บรรยากาศสยองน่ะได้...แต่ยังไม่ไวรัลพอ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

เมื่อการรวมตัวกันเล่น “เกมผีออนไลน์” (เกม AR) ของพวกเขาบังเอิญทำให้แตงถ่าย “ภาพติดผี” ได้ที่ตึกร้างแห่งนั้น เธอและคิตตี้จึงรีบส่งต่อให้เพื่อนคนอื่นๆ ด้วยความท้าทายและคึกคะนองในการแกล้งเพื่อนที่กลัวผี โดยไม่รู้เลยว่าความสยองที่ถูกแพร่กระจายไปในมือถือนั้นอาจจะเล่นงานพวกเขาและคนรอบข้างจนถึงตายได้

หนังผีไทยที่เล่นกับความทันสมัยอย่างโซเชี่ยลฯ มาให้ท้าทายกันอีกแล้ว งานนี้ได้ผู้กำกับหญิงอย่าง มนัสนันท์ พงษ์สุวรรณ ที่เคยทำหนังอย่าง โรงเรียนผี มาถ่ายทอดความเฮี้ยน จริง ๆ ส่วนตัวชอบงานของเธอใน โรงเรียนผีนะ มีหลายอย่างที่ค่อนข้างน่าพอใจทีเดียวทั้งการปั้นแต่งเรื่องและเมคอัพผีที่หลอนดิบได้ใจดี แม้จะมีหลุด ๆ ในการใส่อารมณ์ตลกมาไม่ค่อยเนียนนัก ก็หวังอยู่ลึก ๆ ว่าเรื่องนี้น่าจะมีความสร้างสรรค์ใหม่ ๆ มากขึ้น ๆ

หนังได้ดาราคุณภาพคลื่นรุ่นใหม่ของวงการมาร่วมหลายคนเลย ทั้ง พลอย ศรนรินทร์  ที่ต้องรับบทนำฝ่ายสาว ๆ คู่กับ จ๋า สุธีธิดา และสมทบด้วยฝ่ายชายอย่าง อ๋อง ธนา และ เบสท์ ณัฐสิทธิ์  ซึ่งรายหลังนี่ได้บทในหนังดี ๆ หลายค่ายแล้วน่าจะเป็นความหวังของวงการหนังไทยได้ในอนาคต ส่วนสาวพลอยนี่ยิ่งตอกย้ำว่าเธอเป็นนักแสดงประสิทธิภาพสูงที่เล่นได้หลากหลายแนวและทำได้ดีเสมอจริง ๆ น่าเสียดายที่เธอควรมีหนังฮิตหนัก ๆ ได้แล้ว ซึ่งก็น่าเสียดายอีกที่หนังใช้พลังของพลอยและเบสท์ได้ไม่เต็มศักยภาพนัก โดยเฉพาะความรู้สึกของความเป็นเพื่อนระหว่าง พลอย กับ จ๋า ที่ต้องแบกหนังร่วมกันนั้นรู้สึกได้เบาบางมาก จนหลายฉากเราจะสงสัยว่ามันเป็นเพือนที่สนิทกันจริง ๆ เหรอ พินิจซ้ำเข้าใจว่าหนังเล่นปมกับอารมณ์ที่ต้องโยงฉากนู้นนี้มากไปจนทำให้ไม่สามารถสร้างสถานะของอารมณ์ในซีนนั้นได้ เหมือนเป็นซีนที่ต้องให้เห็นความสนิทสนมและเป็นเพื่อนตายกันได้ แต่นักแสดงกลับต้องพยายามแสดงปมเบื้องลึกในใจที่ไม่เกี่ยวข้องกับซีนนั้นอยู่ตลอดเวลา ทั้งเรื่องอิจฉาครอบครัวเพื่อน หรือคิดว่าเพื่อนชอบเรียกร้องความสนใจ จนซีนง่าย ๆ ที่จะให้คนดูรู้สึกเอาใจช่วยสองคนนี้ก่อนมันหายไป จากซีนง่ายก็กลายเป็นยากโดยไม่จำเป็น ยิ่งหนังพล็อตไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากนักเลยด้วย

ซึ่งตรงนี้เป็นข้อพลาดร้ายแรงที่หนังไม่สามารถทำให้เราเชื่อในตัวละครเอกได้ พอไม่อิน มันจะนำพาไปเจออะไรก็กลายเป็นเรื่องทะแม่ง ๆ ไปเสียหมด

หนังมีประเด็นสะท้อนสังคมผ่านผี ว่าด้วยเรื่องของการส่ง-รับเทคโนโลยีโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค ความแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของข่าวสาร ที่อาจไม่ทันได้ไตร่ตรองและนำภัยมาหาผู้คนที่เล่นเอง ซึ่งทำให้ชวนนึกถึงพวกภาพข่าวโหด ๆ ที่บางคนชอบแชร์ทั้งที่ไม่มีใครร้องขอ หรือแม้แต่การไลฟ์สดการฆ่าตัวตายหรือความรุนแรงต่าง ๆ เรียกว่าหนังมีจุดตั้งต้นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียวที่จะสะท้อนสังคม จนเป็นชื่อหนังที่สื่อชัดเจนว่า ไวรัล ผีโทรศัพท์ แต่ก็น่าเสียดายที่คำว่าไวรัลไม่ได้ถูกเอามาใช้เลย มีเพียงบทสนทนาสั้น ๆ ว่าใครได้รับภาพผีไปจะเป็นยังไงหว่า ซึ่งในเรื่องก็ไม่แสดงผลของความใจไวของวัยรุ่นจุดนี้อย่างจริงจังเลย ตัวละครหนึ่งที่ตายก็ดูเป็นเรื่องความบังเอิญมากกว่าผลของการส่งแชร์ไม่คิด จนแปลกใจที่หนังพลาดประเด็นที่เอามาคิดเป็นพล็อตหนังเองไปได้อย่างไร

แถมหนังยังมีความไม่สมจริงมากมายที่บางครั้งทำเอาต้องหัวเราะในความแฟนของตัวละคร ที่แม้ผีจะออกมาหลอกหลอนขนาดไหนแต่ก็ยังคงใช้กล้องมือถือถ่ายไปอยู่อย่างนั้น ทั้งการเฉลยวิธีปราบผีก็เป็นการคุยกันโดยนึกคิดกันเอาเอง ราวกับอยู่ดี ๆ ก็บรรลุฌานวิเศษกันขึ้นมาแล้วก็บังเอิญเดาถูกเป๊ะเสียอย่างนั้น โดยไม่ได้ใส่คำใบ้ที่เพียงพอจะยอมรับได้ว่าทำไมต้องปราบผีด้วยวิธีนี้

จุดที่หนังทำได้อย่างยอดเยี่ยมกลับกลายเป็นการสร้างบรรยากาศการเดินหาผีในความมืด ที่ทั้งเสียงภาพ ฉาก ส่งให้ขนลุกเกรียวได้ แต่ก็เหมือนเป็นฉากไม้ตายที่คิดมาแล้วหาทางดันพล็อตมาให้ใช้สถานที่แบบนี้ให้ได้ เราเลยไม่ค่อยอินในการที่ตัวละครจะต้องมาทำอะไรเสี่ยง ๆ ในตึกร้างกันเพียงลำพัง เพราะจริงแล้วมันมีทางออกอื่นอีกมากมายที่หนังเลือกจะข้ามไม่อธิบายว่าทำไมตัวละครเลือกวิธีนี้ทันที จริง ๆ การสร้างเหตุผลกดดันตัวละครไล่บี้ให้เหลือทางเดียว และเป็นทางที่เสี่ยงที่สุด น่าจะสร้างความรู้สึกร่วมกับคนดูได้มากกว่านี้ด้วย

การใช้เกมเสมือนจริงในพื้นที่จริง ก็นับว่าแปลกใหม่พอสมควร โดยเฉพาะระบบการเล่นแบบที่ผู้เล่นคนหนึ่งสร้างบ้านผีและจุดผีหลอก ให้ผู้เล่นอีกคนเข้าไปเล่นและตามหาผ้ายันต์เพื่อจบเกม ก็สามารถสร้างโมเม้นท์การแกล้งหรือทำลายมิตรภาพจอมปลอมของกันและกันได้ไม่ยาก แต่หนังก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตรงนี้นัก แล้วกลับไปใช้เกมนี้ในแบบที่ทำลายความรู้สึกคนดูเสียด้วยซ้ำ เพราะในฉากที่ตัวละครเคลียร์ใจกลับมาสนิทกันแล้ว แต่ต้องมาเล่นเกมนี้อีกครั้ง ไอ้เพื่อนที่เป็นคนต้องสร้างฐานก็เหมือนลืมไปว่ามาเล่นเพื่อปราบผีไม่ได้กะเอาให้เพื่อนสติแตกตาย พี่ท่านก็ประเคนผีมานับครั้งไม่ถ้วน แถมยังประวิงเวลาให้เพื่อนเดินวนไม่ให้จบเกมทั้งที่ไม่มีความจำเป็นอะไรขนาดนั้นเลย ซ้ำยังหัวเราะคิกคักอีก มันก็กลับไปจุดที่ว่าแล้วจะให้เชื่อได้ไงว่าสองคนนี้มันคือเพื่อนกัน พอมาฉากท้ายเราเลยยิ่งรู้สึกเฉยกับคู่เพื่อนนี้ไปใหญ่

ว่ากันตามตรงหนังมีวัตถุดิบที่น่าสนใจเยอะมาก ทั้งเกมเออาร์ที่มาเจอผี การส่งต่อรูปผีที่ทำให้ผีไปตามหลอกหรือฆ่าตัวละครที่ได้รับ ปมความขัดแย้งระหว่างเพื่อนที่ซ่อนลึก ๆ ในใจของกันซึ่งขยายพล็อตดราม่าได้เข้มข้น นักแสดงระดับชั้นดีที่สามารถเล่นบทบาทอะไรก็ได้ แต่หนังก็พลาดในการสร้างอารมณ์ร่วมอย่างน่าเสียดาย โดยยังไม่นับเรื่องกราฟฟิกเกมที่คนเล่นเกมมือถือประจำดูยังไงก็ไม่เชื่อ เมคอัปผีที่เคยทำได้ดีมาก ๆ ในโรงเรียนผี มาเรื่องนี้ดูธรรมดาไป แถมผียังเดินเตร่ไปทั่วไม่มีทีท่าสนใจจะเข่นฆ่าคุกคามชีวิตตัวละครเลย เหมือนแค่อยากมาให้เห็นเฉย ๆ จนขาดความกดดันไปอีก ผลลัพธ์จากความผิดบาปบทลงโทษคนส่งคนรับที่ไม่ชัดเจน ปมและการเดินเรื่องที่เดาง่ายเกินไป และการตัดต่อที่เหมือนนึกอะไรไม่ออกแล้วใช้เฝดภาพตลอดจนรู้สึกได้ว่ามากไป การตัดต่อเล่าเรื่องที่พยายามจะหลอกช่วงเวลาให้เดาไม่ได้แต่ดันไม่ได้ผลอะไรกับเนื้อเรื่องเลย รวมถึงบางฉากการกำกับอารมณ์ดูไม่ปะติดปะต่อ ก็เป็นอีกหลายโจทย์ที่ทำลายตัวหนังเอง

หนังน่าจะตอบโจทย์เด็กวัยรุ่นที่แสวงหาหนังบรรยากาศน่ากลัว ๆ สนุกกับการดูตัวละครเข้าไปหาที่ตายเอง และไม่ชอบความซับซ้อนต้องคิดอะไรมากมายนัก ถือว่าทำเจาะกลุ่มนี้ได้โอเคครับ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook