“Shadow” หลายเฉดสีของมนุษย์ในโลกโมโนโครมของ “จาง อี้โหมว”
หนังเรื่องล่าสุดของ “จาง อี้โหมว” ชื่อว่า “Shadow” เข้าโรงฉายแบบเงียบๆ นะครับ ไม่ค่อยมีการประชาสัมพันธ์เท่าไหร่ ตอนผมเห็นโปสเตอร์หนังเรื่องนี้ครั้งแรก (จากเว็บไซต์ต่างประเทศนะครับ เพราะโปสเตอร์อย่างเป็นทางการในบ้านเราเป็นอีกแบบหนึ่ง) ก็ยังคิดว่าทำไมใบปิดมันสวยจัง เน้นการเล่นสีสันขาว-ดำ-เทา ใช้แสงเงาและหยิน-หยางเป็นองค์ประกอบหลักอย่างกับหนังจีนกำลังภายในของ จาง อี้โหมว เลย ปรากฏว่าพอคลิกเข้าไปดูรายละเอียดจึงพบว่า เป็นหนังของ จาง อี้โหมว จริงๆ นี่หว่า!
ผมไม่แน่ใจว่าทำไมไม่มีการประชาสัมพันธ์เท่าที่ควรหรอกนะครับ แต่ถ้าให้เดาก็อาจเป็นเพราะว่า ชื่อของผู้กำกับจีนอาจจะ “ไม่ขาย” แล้วก็เป็นได้สำหรับคอหนังทั่วไป ทั้งที่อี้โหมวเป็นผู้กำกับฝีมือดีมากคนหนึ่ง โพรไฟล์ที่ผ่านมาของเขานับตั้งแต่หนังเรื่องแรก “Red Sorghum” ในปี 1988 นั้นก็ยอดเยี่ยมมาโดยตลอด (ท่านที่อาจจะยังไม่เคยดูหนังยุคแรกๆ ของเขา อยากให้ไปหามาดูนะครับ เรื่องที่อยากแนะนำก็คือ “Ju Dou”, “Raise the Red Lantern”, “Keep Cool”, “Not One Less” และ “The Road Home”) ก่อนจะมาถึงจุดสูงสุดกับหนังเรื่อง “Hero” ในปี 2002 ที่ท่านน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี
แต่พอหลังจากความสำเร็จของ “Hero” ก็เป็นเรื่องธรรมดาของคนสร้างงานประเภทนี้ครับที่งานชิ้นต่อๆ มาก็อาจมีอาการแกว่งหรือดร็อปลงไปบ้าง ที่จริงหนังหลังยุค “Hero” อย่าง “House of Flying Daggers” หรือ “Curse of the Golden Flower” ก็ไม่ได้ถึงกับแย่นะครับ เพียงแต่ว่าจะให้กลมกล่อมลงตัวอย่าง “Hero” นั้นก็คงยาก ส่วนไอ้ที่แย่จริงๆ (ในความคิดของผม) ก็มีนะครับ หนังเรื่อง “The Great Wall” ที่ แมตต์ เดมอน นำแสดงเมื่อสองปีก่อนนั่นยังไงครับ ที่ดูแล้วก็...เอ่อ...อะไรวะ ตลอดทั้งเรื่อง
ก็ไม่รู้เป็นเพราะเหตุนี้หรือเปล่าถึงทำให้ “Shadow” ไม่ได้รับการกล่าวถึงเท่าที่ควร เข้าโรงฉายไปแบบเงียบเชียบ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็ถือว่าน่าเสียดายมากครับ เพราะหลังจากที่ดูจบแล้วผมคิดว่า หนังเรื่องนี้นี่แหละที่เข้าใกล้ “Hero” มากที่สุดแล้ว อาจถึงขั้นเทียบเคียงได้ แม้จะยังไม่ดีและลงตัวเท่า “Hero” แต่ก็ใกล้มากจริงๆ ครับ เพราะฉะนั้นคนที่ชอบ “Hero” ก็น่าจะโอเคกับ “Shadow” ประมาณหนึ่ง แต่ที่แน่ๆ ก็คือหลังจากล้มลุกคลุกคลานมาหลายเรื่อง จาง อี้โหมว กลับมาคืนฟอร์มในหนังเรื่องนี้แล้วครับ
จะว่าไปทั้ง “Shadow” และ “Hero” ก็มีทั้งความคล้ายคลึงและความแตกต่างกันอยู่ในที คล้ายในแง่ที่ว่ามันเซ็ตเรื่องอยู่ในช่วงเวลาใกล้ๆ กับ “Hero” คล้ายกันในแง่ที่มันเป็นหนังที่ใช้อาร์ตไดเรคชั่นและสีเป็นองค์ประกอบหลักในการเล่าเรื่อง ส่วนที่แตกต่างกันแบบชัดๆ ก็คือสารที่ต้องการนำเสนอครับ เพราะในขณะที่ “Hero” พูดถึงการเสียสละตัวตนของตัวละครเพื่อไปถึงอุดมการณ์อันสูงสุดในการอยู่ร่วมกัน แต่ “Shadow” กลับพูดเรื่องตัวตนจริงๆ ของแต่ละคนที่แสวงหาทั้งอิสระ ความต้องการลึกๆ และอุดมการณ์สูงส่ง
“Shadow” ว่าด้วยชะตากรรมของตัวละครหลักสี่ตัว คนแรกมีชื่อว่า “เงา” ครับ ที่เรียกว่า “เงา” นั้นก็อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่าเงาคนนี้เป็นนอมินีหรือเป็นตัวแทนของแม่ทัพแห่งแคว้นเพ่ยนั่นเอง เรียกได้ว่าเป็นทาสของแม่ทัพก็ยังได้ ส่วนแม่ทัพแห่งแคว้นเพ่ยตัวจริงนั้นกลับพรางตัวเองอย่างลึกลับ อยู่ให้ห่างจากแม่ทัพเมืองจิ่วซึ่งมีคดีความผูกความแค้นกันทั้งเรื่องส่วนตัวและอุดมการณ์ และที่สำคัญห่างจากฮ่องเต้แคว้นเพ่ยนายของตน ฮ่องเต้คนนี้ก็ดูเหมือนวันๆ ไม่ทำอะไร เอาแต่หาความสุข ไม่เคยคิดที่จะทวงเมืองจิ่วที่เคยเป็นของตนคืน แต่จริงๆ แล้วซ่อนอะไรไว้ในใจมากมาย คนสุดท้ายคือฮูหยิน ภรรยาของแม่ทัพตัวจริงที่มีส่วนคอยปกปิดความจริงของ “เงา” ไม่ให้ฮ่องเต้และคนอื่นๆ รับรู้และยังต้องปกปิดความรู้สึกที่แท้จริงที่เธอมีต่อ “เงา” ของสามีตนเองอีกต่างหาก
ในความคิดของผมนะครับ ผมคิดว่า “Shadow” นำเสนอไอเดียที่ว่าแท้จริงแล้วความเป็นมนุษย์นั้นสลับซับซ้อนเกินคาดเดาและแรงผลักดันของคนคนหนึ่งก็อาจมีมากกว่าหนึ่งอย่างในเวลาเดียวกัน ไม่จำเป็นว่าการกระทำหนึ่งๆ จะถูกผลักดันด้วยแรงขับอย่างใดอย่างหนึ่ง มันอาจมีมากกว่าหนึ่ง และเป็นได้ทั้งเรื่องส่วนตัวและอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ก็ได้ นี่เองคือสิ่งที่ทำให้ “Shadow” แตกต่างจาก “Hero”
นอกจากนั้นงานกำกับศิลป์เรื่องนี้ก็เป็นในแบบที่ จาง อี้โหมว แกทำมาตลอดครับ คือการเน้นองค์ประกอบให้ไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับ “Shadow” นี้เน้นไปที่แกจัดแสงและเงา และการลดสีสันต่างๆ ในเรื่อง จนออกมาเป็นหนังแบบสีโมโนโครม ที่เน้น ขาว ดำ เทา เงา และแสงที่เน้นสีต่างๆ เมื่อต้องการเท่านั้น (เช่นในซีนที่เห็นเลือดก็จะให้ความสำคัญกับแสงที่ตกกระทบบนสีแดงเป็นพิเศษ) นี่ยังไม่รวมถึงใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ในหนัง และการนำปรัชญาหยิน-หยาง มาใช้อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วยครับ
โดยสรุปแล้ว ในความน้อยต่างๆ ของหนังเรื่องนี้ก็กลับขับเน้นสีสันความเป็นมนุษย์ออกมาได้จัดจ้านมากครับ และถือว่าเป็นหนังดีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากแนะนำให้คุณลองดูกัน
เกี่ยวกับผู้เขียน
จักรพันธุ์ ขวัญมงคล
นักเขียน นักแปล นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และบรรณาธิการอิสระ สนใจความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะและสังคม
อัลบั้มภาพ 13 ภาพ