Robin Hood : วันหนึ่งโรบินเดินเข้าป่า

Robin Hood : วันหนึ่งโรบินเดินเข้าป่า

Robin Hood : วันหนึ่งโรบินเดินเข้าป่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้าพูดถึงการนำเรื่องเล่าของ “โรบิน ฮู้ด” ซึ่งเป็นนิทานอิงเรื่องราวในตำนานว่าด้วยจอมโจรแห่งป่าเชอร์วูด เมืองนอตติงแฮมของประเทศอังกฤษ ผู้ออกปล้นคนรวยช่วยคนจน มาสร้างเป็นภาพยนตร์นี่เท่าที่ผมค้นดูก็มีหลายครั้ง หลายเวอร์ชั่นอยู่นะครับ นักแสดงระดับตำนานอย่าง ฌอน คอนเนอรี ก็เคยรับบทนี้ (ร่วมกับนักแสดงในตำนานอีกคนหนึ่งอย่าง ออเดรย์ เฮปเบิร์น ใน “Robin and Marian” ในปี 1976) แถมยังมีเวอร์ชั่นการ์ตูนต่างๆ อีกจำนวนหนึ่งด้วย

แต่นับเฉพาะที่ผมได้ดูเองก็สองเรื่องครับ เรื่องแรกคือ “Robin Hood: Prince of Thieves” หนังในปี 1991 ของผู้กำกับ เควิน เรย์โนลดส์ กับอีกเรื่องคือ “Robin Hood” ของ ริดลี่ย์ สก็อตต์ ในปี 2010 ซึ่งทั้งสองเรื่องก็ไม่ได้ติดอยู่ในใจอะไรสักเท่าไหร่ครับ จำได้ว่าที่ไปดูเรื่องแรกนั่นก็เพราะตอนนั้น เควิน คอสต์เนอร์ เขากำลังดังจริงๆ วัยรุ่นทุกคนต้องไปดู ส่วนเวอร์ชั่นที่ รัสเซลล์ โครว์ แสดงในหนังของ ริดลี่ย์​ สก็อตต์ นั้น ก็จำได้แค่ว่าตอนดูก็สงสัยว่า “นี่กำลังดู “Gladiator” ภาคสองอยู่หรือเปล่า?” เท่านั้นเองครับ

นั่นเท่ากับว่านี่เป็นครั้งที่สามแล้วที่ผมดูหนังจอมโจรโรบินแห่งล็อคซ์เลย์คนนี้

โปสเตอร์ Robin Hood

ถ้าท่านกำลังมีคำถามในใจว่าทำไมผม (หรือเรา) ต้องไปดูหนังที่ว่าด้วยเรื่องเล่าเดิมๆ แต่นำมาเล่าใหม่เป็นครั้งที่สามนี้ ผมก็บอกเสียก่อนเลยว่า คำถามนี้ควรเปลี่ยนใหม่เป็น ทำไมเรื่องเล่าเดิมๆ ที่ไม่น่าจะมีอะไรใหม่นี้ถึงถูกนำกลับมาสร้างอีก? แถมคนที่นำมา “โรบิน ฮู้ด” มาปัดฝุ่นใหม่ครั้งนี้เป็น นักแสดงดีกรีรางวัลออสการ์อย่าง ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ เสียด้วย

ครับ ดิคาปริโอ เป็นหนึ่งในโปรดิวเซอร์ของหนังเรื่องนี้ แต่เนื่องจากไม่รู้จะไปถามเขายังไง ดังนั้นวิธี หาคำตอบก็มีทางเดียวคือซื้อตั๋วเดินเข้าโรงภาพยนตร์ไปดูหนังโรบินเดินเข้าป่าในปี 2018 ด้วยตาตัวเอง และเมื่อดูจบผมคิดว่าสามเหตุผลต่อไปนี้น่าจะพอเป็นคำตอบได้

ทารอน เอเจอร์ตัน เป็น โรบิน ฮู้ด

ข้อที่หนึ่งคือ มันพยายามนำเสนอในมุมที่ไม่ถูกเน้นมาก่อนในหนัง โรบิน ฮู้ด ที่ผ่านมา นั่นคือการทำให้ตัว โรบิน แห่งล็อคซ์เลย์ คนนี้ไม่เป็นฮีโร่ที่สง่างาม (เหมือนคอสต์เนอร์) และเปี่ยมอุดมการณ์พ่วงไฟแค้น (เหมือนโครว์) พูดง่ายๆ ก็คือมันมีความเป็นแอนตี้ฮีโร่อยู่ประมาณหนึ่ง ใน “Robin Hood” เวอร์ชั่น ทารอน เอเจอร์ตัน คุณจะได้เห็นทั้งความผิดพลาด ความบ้าผู้หญิง และความไร้จุดยืนของโรบิน แต่ประเด็นนี้อ่านไปเรื่อยๆ ก่อนก็ได้ครับ

ข้อที่สอง ก็คือเวอร์ชั่นนี้พยายามนำเสนอสิ่งที่เป็นปมปัญหาจริงๆ ของเรื่องราวอย่างที่ให้น้ำหนักเป็นพิเศษ ปมนั้นก็คือการฉายภาพเล่ห์กลการเมืองที่มีฝ่ายปกครองและผู้นำทางศาสนาชักใยอยู่เบื้องหลัง ประเด็นการสร้างความหวาดกลัวคนที่เป็น “คนอื่น”​ ในมิติทางศาสนาให้กระเพื่อมอยู่ในใจฝูงชน และใช้เหตุผลนั้นในการระดมทุนเพื่อทำสงคราม จนทำให้ประชาชนที่เป็นคนฐานรากในสังคมเริ่มไม่พอใจและโต้กลับ แม้จะเล่าได้อย่างน่าตื่นเต้นแต่ก็แผ่วปลายในตอนหลังก็ตาม แต่ประเด็นเหล่านี้น่าสนใจมากครับเมื่อเทียบกับสองเวอร์ชั่นก่อนหน้าที่ดูไม่ให้น้ำหนักเรื่องนี้มากเท่าไหร่ ถือว่าพอจะเรียกได้ว่ามันแตกต่าง ซึ่งก็น่าจะมาจากสาเหตุข้อที่สามด้วย นั่นก็คือการที่ได้ผู้กำกับไฟแรงอย่าง ออตโต แบตเฮิร์สต์ มาคุมโปรเจกต์

จอมโจรที่ออกปล้นคนรวยเพื่อช่วยเหลือคนจน

แบตเฮิร์สต์ คนนี้ไม่ธรรมดาครับ เขาเป็นหนึ่งในผู้กำกับซีรี่ส์ชั้นดีอย่าง “Black Mirror” และ “Peaky Blinders” ผมค่อนข้างเชื่อว่าเหตุผลข้อที่สอง (การเมือง-ชนชั้น) นั่นก็น่าจะเป็นไอเดียของเขาด้วย แต่ที่แน่ๆ คือฉากต่อสู้กันหลายๆ ฉากน่าจะเป็นเครดิตของ แบตเฮิร์สต์ ครับ ที่ทำให้การสู้รบด้วยธนู ดาบ ดูออกมาทันสมัย น่าหวาดกลัวเหมือนการยิงด้วยปืน และดูสมจริง

ในความคิดของผม เหตุผลเหล่านี้อาจเป็นคำตอบของคำถามว่าทำไม “โรบิน ฮู้ด” ถึงกลับมาอีกได้นะครับ

ทารอน เอเจอร์ตัน และ เจมี ฟ็อกซ์

คำถามต่อมา กลับมาแล้วดีไหม?

ว่ากันแบบไม่เกรงใจ ก็ต้องตอบว่า “เกือบดี” ครับ คือตลอดทั้งเรื่องหนังมันมีแนวโน้มว่าจะไปในแดนบวก (คือดีนั่นแหละ) หลายครั้งอยู่เหมือนกัน แต่มันก็ขาดๆ เกินๆ อยู่ตลอดทำให้มันไม่ดีจริงๆ เสียที จำประเด็นเรื่องแอนตี้ ฮีโร่ ที่ผมกล่าวในตอนต้นได้ไหมครับ ประเด็นนี้ก็เกือบจะโอเคแล้ว แต่ทำไปทำมา ทารอน เอเจอร์ตัน ก็กลายเป็นฮีโร่ โรบิน ฮูhด ผู้งามสง่าในแบบทุลักทุเลอยู่ดี สุดท้ายก็กลายเป็นตำนานของจอมโจรผู้กระชากหน้ากากของชนชั้นปกครองในแบบสวยๆ อยู่ดี ดูแล้วก็เสียดายครับ แต่ก็อย่างว่านั้นแหละครับ ตำนานเขาเล่ามาอย่างนี้จะไปฝืนขนบมันก็คงไม่ได้ เข้าใจแต่ก็อดเสียดายไม่ได้ครับ

Robin Hood เวอร์ชั่น 2018

บทสรุปของ “Robin Hood” เวอร์ชั่น 2018 นี้ก็คือเราได้หนังวันหนึ่งโรบินเดินเข้าป่า ออกมาเป็นตำนานเชิดชูฮีโร่อีกเรื่องครับ ไม่มีอะไรใหม่มาก แต่ถามว่าดูแล้วโอเคไหม ก็ตอบว่าโอเค๊ (เสียงสูงนะครับ)

นี่หนังเขาทิ้งปมไว้เล่าต่อในภาคสองด้วย ก็มาดูว่าถ้าได้สร้างมันจะเข้มข้นแบบซีเรียสขึ้นไหม

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
จักรพันธุ์ ขวัญมงคล
นักเขียน นักแปล นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และบรรณาธิการอิสระ สนใจความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะและสังคม

อัลบั้มภาพ 70 ภาพ

อัลบั้มภาพ 70 ภาพ ของ Robin Hood : วันหนึ่งโรบินเดินเข้าป่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook