รีวิว “หอแต๋วแตก แหกต่อไม่รอแล้วนะ” บทบันทึกวัฒนธรรมป๊อปร่วมสมัย
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2550 ภาพยนตร์ "หอแต๋วแตก" ภาคแรกเป็นผลงานการกำกับของ พจน์ อานนท์ (ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็น พชร์ อานนท์ เรียบร้อยแล้ว) ที่บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มกะเทยอย่าง เจ๊แต๋ว (จตุรงค์ พลบูรณ์), เจ๊การ์ตูน (ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์) และเจ๊มดดำ (เอกชัย ศรีวิชัย) ที่ร่วมลงขันเปิดหอพักชาย แต่ไม่นานนักก็เกิดมีคนเสียชีวิตในหอจนกลายเป็นผีออกอาละวาด จนบรรดาสามเทยต้องหาวิธีการปราบผีแพนเค้ก
จากเหตุการณ์ในหนังภาคแรกจนกระทั่งถึงหนังภาคที่ 6 ของแฟรนไชส์หอแต๋วแตก สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์และหาตัวจับยากก็คือ การสร้างคาแรกเตอร์ของตัวละครที่โดดเด่น แม้ว่าพวกเขาจะพูดจาหยาบคายและปล่อยสารพัดสัตว์เลื้อยคลานออกมายั้วเยี้ยเต็มหน้าจอ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจังหวะเหล่านี้ ได้กลายเป็นภาพจำของหนังชุดนี้
เมื่อมองย้อนไปตลอดทั้ง 6 ภาคที่ผ่านมาของ หอแต๋วแตก เราจะพบว่าหนังมีพล็อตเรื่องอันแสนเบาบาง โครงสร้างหลักๆ ของหนังแทบทุกภาคคือการวิ่งหนีผี ราวกับเป็นหนังในตระกูลเดียวกับบ้านผีปอบ เพียงแค่เปลี่ยนตัวละครหลักให้กลายเป็นกลุ่มกะเทย แวะโยนมุกตลกโปกฮาใส่กันโดยไม่สนใจเลยว่าบรรดาฉากต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นในหนังนั้นจะช่วย “เล่า” เรื่องราวให้เคลื่อนไปข้างหน้า หรือเป็นแค่เพียงฉากตลกหน้าม่านที่ใส่เข้ามาเพื่อหวังผลลัพธ์แค่จะสร้างเสียงหัวเราะ
ถึงพล็อตเรื่องจะไม่มีอะไรเลยในแทบทุกภาคของแฟรนไชส์ชุดนี้ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “หอแต๋วแตก” คือหนังจดหมายเหตุที่หยิบเอาวัฒนธรรมป๊อป ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับช่วงเวลาที่หนังออกฉายได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการหยิบบรรดาวิดีโอคลิปที่ได้รับการแชร์อย่างถล่มทลาย เอามาพูดถึงหรือล้อเลียนในหนัง การหยิบเอาเพลงของ จินตหรา พูนลาภ อย่างเพลง "เต่างอย" มาใช้เป็นเพลงธีมหลักของหนังภาคนี้ ยังไม่รวมไปถึงการแวะแซวบรรดาเซเล็บคนดังที่มีข่าวคราวในวงการบันเทิง อาทิ เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ, คุณแพร วาทานิกา, ดีไซเนอร์อย่าง พี่หมู Asava, คุณโจ้เซอร์เฟส ภาพยนตร์ที่อยู่ในกระแส อาทิ นาคี 2 หรือกระทั่ง Fantastic Beasts ก็ไม่ได้รับการละเว้นเช่นกัน
แม้ว่าเส้นเรื่องหลักของหนังภาคนี้คือการที่บรรดาตัวละครทั้งหลายได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานปาร์ตี้ แจกคฤหาสน์ของมหาเศรษฐีอินเดีย ซึ่งพวกเขาจะต้องทำตามกฎที่ว่า ใครสามารถแต่งตัวเป็นคนอินเดียได้เหมือนมากที่สุดก็จะได้รับมรดกดังกล่าวไป แน่นอนว่าพวกเหล่ากะเทยมาถึงคฤหาสน์แห่งนี้ก็เพิ่งเข้าใจว่า มันเป็นหลุมพรางที่บรรดาผีเศรษฐีอินเดียหลอกเอาบรรดาคนโลภมาฆ่า! หนังภาคนี้ยังใส่ข้อแม้มาให้ตัวละครอย่าง แพนเค้ก (โก๊ะตี๋) ไม่สามารถใช้อำนาจวิเศษได้ เพราะนางกำลังจะได้รับโอกาสไปเกิดใหม่ นั่นทำให้การเผชิญหน้าของแก๊งกะเทยลำบากกว่าที่เคย
อย่างไรก็ตามกว่าที่หนังจะเล่าเรื่องราวมาถึงเส้นเรื่องหลัก “แหกต่อไม่รอแล้วนะ” ก็มัวแต่แวะไปเล่าเรื่องราวนอกประเด็นเกือบ 1 ชั่วโมงเต็ม จนเราอาจจะเรียกได้ว่านั่นคือส่วนเกินของหนัง (และในขณะเดียวกันส่วนดังกล่าวก็จัดได้ว่าเป็นความบ้าบอคอแตก แบบที่คนดูอยากจะเห็นจากแฟรนไชส์นี้เช่นกัน) ดังนั้นเมื่อเราสามารถรับสภาพของความตั้งใจ “นอกเรื่อง” ของหนังได้แล้ว เราก็จะไม่รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เลวร้ายแต่อย่างใด
ทั้งหมดทั้งมวลสิ่งที่น่าจะเป็นบทสรุปของหนังภาคนี้ คือการที่ตัวละครทั้งหลายแวะมาอำลาอาลัยการไปเกิดใหม่ของ “แพนเค้ก” ก็นับได้ว่ามันเป็นฉากในความทรงจำที่น่าสนใจ และพิสูจน์ให้คนดูได้เห็นว่า บรรดาตัวละครเหล่านี้ได้สร้างความผูกพันกับคนดูมาเป็นเวลาร่วม 10 กว่าปี จนเราอาจจะกล่าวได้ว่า ถึงแม้ว่าแฟรนไชส์หอแต๋วแตก ห่างไกลจากความเป็นหนังที่ดี แต่ในขณะเดียวกัน หนังชุดนี้ได้ผลิตไอคอนตัวละครที่ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยควรบันทึกเอาไว้ว่า มีตัวละครที่น่าจดจำหลายตัวเรื่องหนึ่งตลอดกาลเลยก็ว่าได้
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ