“สิงสู่” หนังผีไทย กับ “การแสดง” ชวนขนลุกส่งท้ายปี
เมื่อพูดถึงชื่อผู้กำกับอย่าง วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง น่าจะทำให้คนยุคนี้นึกไปถึงหนังสยองขวัญอย่าง “เปนชู้กับผี” หนังสยองขวัญพีเรียดที่ออกฉายในปี พ.ศ.2549 แม้ว่าในช่วงเวลาที่ออกฉาย หนังอาจจะได้รับคำชื่นชมในระดับหนึ่ง แต่เหมือนกับว่าหนังเรื่องนี้ ยังคงได้รับการฉายซ้ำทางฟรีทีวีและช่องทางดูหนังอันหลายหลาก ซึ่งผู้ชมจะสามารถสัมผัสได้ กลวิธีการเล่าเรื่องที่ไม่ธรรมดา พร้อมการพลิกความคาดหมายของผู้ชมในตอนท้ายเรื่อง จนทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นหนึ่งในหนังสยองขวัญจากประเทศไทยที่ดีที่สุดตลอดกาลเรื่องหนึ่งเลยก็ว่าได้
หากย้อนกลับไปดูเส้นทางในวงการที่ผ่านมาของ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เขาคือนักทำหนังขาประจำแนวสยองขวัญ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในหนังผีชั้นยอดมากมายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น นางนาก (2542) ผลงานที่รับหน้าที่เขียนบทเอง , เปนชู้กับผี (2549) และ รุ่นพี่ (2558) หนังที่เขากำกับด้วยตัวเอง ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนมีแนวทางแตกต่างกันและไม่ซ้ำซากจำเจกับหนังสยองขวัญเรื่องอื่นๆในบ้านเรา ที่มักจะถูกลืมเมื่อกาลเวลาผันผ่านไป
ว่าด้วยเรื่องราวของ “ผีสิง”
“สิงสู่” บอกเล่าเรื่องราวของสำนักบนภูเขาอันโดดเดี่ยวห่างไกลจากชุมชน ในวันที่สภาพอากาศเลวร้ายไม่เป็นใจ คนชุดดำทั้ง 5 คนเดินทางมารวมตัวกัน นำโดยนายแม่ หญิงชราผมขาวหน้าตาน่าเกรงขาม ทำพิธีกรรมปริศนาบางอย่าง โดยมีศพลึกลับเป็นเป้าหมาย แต่พวกเขาหารู้ไม่ว่าพิธีกรรมนั้นได้ไปปลุกวิญญาณแปลกหน้าที่ไม่ได้รับเชิญให้เข้ามาในบ้าน แต่นั่นเป็นแค่เพียงจุดเริ่มต้นของความระทึกขวัญสุดสยอง เมื่อทุกคนในสำนักแห่งนี้ ต้องเผชิญหน้ากับวิญญาณร้าย ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้เลยว่า มันจะเริ่มต้นไป “สิง” ใครเป็นรายต่อไป และเป้าหมายที่สำคัญของวิญญาณตนนี้คือการ “ฝังรากและยึดวิญญาณ”
จากความตั้งใจของผู้กำกับ เขาได้พบว่ายังไม่มีนักทำหนังไทยคนไหนหยิบเอาประเด็น “ผีสิง” มาเล่นเป็นแกนหลักของเรื่อง เนื่องจากในระยะหลังเขาเห็นศิลปินหลายคนเริ่มสนใจงานทางด้านนี้มากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ คาเงะ- ธีระวัฒน์ มุลวิไล ศิลปินเจ้าของรางวัลศิลปาธรประจำปี 2561 สาขาศิลปะการแสดง ซึ่งเคยเคยแสดงละครเวทีที่ว่าด้วยวิญญาณร่างผู้อื่น ได้แก่ ปรารถนา: ภาพเหมือนการเข้าสิงนักเขียนของ อุทิศ เหมะมูล เมื่อทั้งคู่ได้พูดคุยกันแล้วพบว่าสนใจในสิ่งเดียวกัน พวกเขาจึงร่วมกันพัฒนาหนังเรื่องนี้ขึ้นมาจนเป็นรูปเป็นร่าง
โดยวิธีการทำหนังที่มีการเข้าสิงร่างของผีนั้น ไม่จำเป็นต้องสร้างผีให้ปรากฏตัวออกมาโต้งๆ คาตา ดังนั้นการแสดงจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยชดเชยการใช้เทคนิคพิเศษ ดังนั้นคาเงะ ธีระวัฒน์ มุลวิไล จึงทำหน้าที่ทั้งเป็นแอคติ้งโค้ช ผู้ควบคุมการเวิร์คชอปนักแสดง และกำกับการแสดง ซึ่งปกติในหนังผีไทยมักจะปรากฏร่างของผี ออกมาเป็นตัวเป็นๆ แต่สิงสู่เลือกจะหลีกเลี่ยงวิธีการแบบนั้น และใช้วิธีการ เราจะให้คาแรคเตอร์ของตัวละครเปลี่ยนทันทีที่ผีเข้า คนๆ นั้นยังเป็นคนเดิมแต่เหมือนมีบุคลิกซ้อน ผู้ชมจะเห็นเขาเปลี่ยนไปในทันที จากที่พูดคุยกันอยู่ดีๆ เขาก็เปลี่ยนไปอีกคนหนึ่งเลย เมื่อไม่มีเทคนิคพิเศษมาช่วย นักแสดงจึงต้องอาศัยการเคลื่อนไหวทางร่างกายเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง
การตีความ “วิญญาณ” ในมุมของวิศิษฏ์
คนส่วนมากมักจะมองว่า “วิญญาณ” ในทางไสยศาสตร์ มนต์ดำ เป็นความเข้าใจในทิศทางเดียวกันหมด ทว่าตัวเขาเองมองวิญญาณเป็นเรื่องของพลังงานเหนือธรรมชาติมากกว่าทางไสยศาสตร์ และวิญญาณคือพลังงานที่เข้ามาในร่างเรา
วิศิษฏ์กลับมองว่า วิญญาณ เป็นเหมือนพลังงานอย่างหนึ่ง ที่เราสามารถพูดคุยกันได้ทุกวันนี้เพราะเรามีพลังงานในการขับเคลื่อนร่างกาย เหมือนรถที่ใช้พลังงานจากน้ำมัน พอน้ำมันหมดรถก็ไม่เดิน ร่างกายเราก็เหมือนกัน ถ้าพลังงานเราหลุดออกไปเราก็จะเป็นร่างธรรมดา วันหนึ่งเราตายแล้วร่างกายเน่าเปื่อย แต่วิญญาณอาจยังอยู่ก็ได้ นั่นคือความหมายของวิญญาณในแง่นี้ซึ่งมันไม่มีรูปทรง แต่สามารถย้ายจากร่างหนึ่งไปสู่ร่างหนึ่งได้ วิญญาณบางตัวอาจสลายไปเร็ว บางตัวอาจควบแน่นอยู่ได้นาน ถ้าโยงกับพระพุทธศาสนามันคือการยึดติด สมมติเรายังรักบ้านหลังนี้ เสียดายและหวงมัน เราก็จะเป็นวิญญาณที่ไม่ไปไหน คนสมัยก่อนจะพูดกับคนก่อนตายว่า ‘ไปสบายนะ หมดห่วงนะ ให้นึกถึงพระอรหันต์นะ’ มันคือการทำให้สลายไป ถ้ามีห่วงตาจะไม่ปิด พลังงานก็จะควบแน่นอยู่เป็น 100 ปี เหมือนผีสิงในปราสาท นี่พยายามโยงกับทฤษฎีนะครับ พยายามหาคำตอบว่าทำไมความเชื่อเรื่องผีถึงยังอยู่ในโลกวิทยาศาสตร์ หรือมันอาจจะมีคำตอบจริงๆ แต่มันไม่สามารถพิสูจน์ได้
วิธีการเล่าเรื่องแบบนิยายของ อกาธ่า คริสตี้
อกาธ่า คริสตี้ คือราชินีแห่งนวนิยายสืบสวนสอบสวน เหตุการณ์ส่วนมากในนิยายของเธอมักจะเกิดขึ้นในสถานที่ปิดตาย และมีตัวละครเพียงไม่กี่คน “สำนักจิตต์อสงไขย” มีคุณสมบัติแบบเดียวกับนิยายของอกาธ่า อย่างครบถ้วน
สำนักแห่งนี้มีลักษณะทางจิตวิญญาณคล้ายกับสำนักเข้าทรง โลเคชั่นที่เลือกใช้บ้านหลังนี้ก็ออกไปทางสถาปัตยกรรมตะวันตก ซึ่งเป็นสากลดูเป็นตึกมีผนังอิฐสีแดง รอบๆ มีต้นไม้ตามบทบอกว่าอยู่บนเขา สถานที่ดูเหมาะจะถ่ายทำหนังประเภทสถานที่ปิดตาย เหมือนนิยายของ อกาธา คริสตี้ ที่มีตัวละคร 7 ตัวอยู่ในที่เดียวกัน แล้วความลับของทุกคนก็ค่อยๆ เฉลยออกมา ที่สำคัญพวกเขาหนีไม่ได้เพราะทางลงเขามันขาดเนื่องจากฝนตกหนัก ทำให้เกิดสถานการณ์ที่บีบบังคับในหนัง
แล้วใครกันที่จะโดนสิงเป็นรายต่อไป! หนังเรื่องนี้ยังได้รวมเอานักแสดงมากฝีมือในระดับแถวหน้าของเมืองไทยเอาไว้ไม่ว่าจะเป็น อนันดา เอเวอริงแฮม, จ๋า ณัฐฐาวีรนุช ทองมี, นักแสดงอาวุโส ทาริกา ธิดาทิตย์ และ พลอย ศรนรินทร์ เป็นต้น