รีวิว Second Act ในโลกที่ปริญญามีค่ามากกว่าประสบการณ์
มีการเปิดเผยจุดพลิกผันในหนัง หากยังไม่ได้ชมกรุณาปิดบทความนี้ก่อนชม
ถึง Second Act อาจจะดูเป็นหนังขายพลังดาราอย่างเจนนิเฟอร์ โลเปซ และตัวอย่างที่ตัดออกมาขายนั้น ก็ดูเป็นหนังตลก แฟชั่นสุดเริ่ดของนางเอกเสียมากกว่า แต่เมื่อเราได้ชมภาพยนตร์จริงๆ เรากลับพบว่านั่นเป็นแค่ฉากย่อยๆที่มีจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อความเป็นจริง Second Act ค่อนข้างเป็นหนังดราม่าที่พูดถึงผู้หญิงชนชั้นกลาง (ค่อนล่าง) ที่สู้ชีวิตเสียมากกว่า
หนังเล่าเรื่องราวของมา (เจนนิเฟอร์) พนักงานฝ่ายขายในซูเปอร์มาร์เกตแห่งหนึ่งที่มีประสบการณ์การทำงานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี จนเธอรู้สามารถเข้าใจในความต้องการของลูกค้า (Insight consumer) ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เธอควรจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งไปเป็นผู้จัดการ แต่เธอก็ต้องพ่ายแพ้เมื่อตำแหน่งดังกล่าว กลับตกไปเป็นของหนุ่มที่มีใบปริญญา แต่กลับทำงานไม่ได้เรื่อง และความพยายามในการสมัครงานตามบริษัทชื่อดัง เธอก็ตกคอตกกลับมาอยู่เสมอ เพียงเพราะเธอไม่มีใบปริญญาจากสถาบันอุดมศึกษา
หนังค่อยๆเผยให้เราทราบว่า เพราะความผิดพลาดในวัยเรียน ส่งผลให้เธอตั้งท้องและต้องเลือกจะให้ลูกของเธอไปอยู่กับสถานสงเคราะห์นั้นทางออกที่ดีที่สุดในช่วงเวลานั้น การเติบโตขึ้นมาด้วยลำแข็งของตัวเอง ความมุมานะพยายาม กลายเป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถให้เพื่อนสนิทและเพื่อนร่วมงานของมายาได้เห็นอยู่เสมอว่าเธอมีความสามารถ ดังนั้นเมื่อบรรดาเพื่อนของมายาเริ่มมองเห็นว่าไฟในตัวของเธอกำลังจะมอดดับลง พวกเธอจึงสมัครงานในบริษัทสกินแคร์ชื่อดัง และปลอมประวัติการศึกษารวมไปถึงโปรไฟล์ใหม่ขึ้นมา
แน่นอนว่ามายาได้รับความสนใจจากเจ้าของบริษัทเป็นอย่างมาก ทันทีที่เธอได้เข้าสัมภาษณ์ เธอถูกลองเชิงและทดสอบแนวคิด ในโลกของธุรกิจการตลาดและการแข่งขันอย่างดุเดือด การสะท้อนมุมมองความคิดของมายา กลายเป็นมุมมองที่ “ผู้บริหาร” มองหากันอย่างเนิ่นนาน แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่มายาก็ยินดีที่จะเข้าไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆและโอบรับโอกาส (ที่ได้มาแบบไม่ถูกต้องนัก)
แน่นอนว่าระหว่างทางเราจะได้เห็นการทำงานของมายา วิธีการรับมือกับชีวิตใหม่ได้อย่างน่าสนใจ และ Second Act ได้พยายามโฟกัสอยู่แต่เรื่องงานและการต่อสู้กับความคิดของมายา มากกว่าจะไปให้รายละเอียดเรื่องชีวิตรักที่ไม่สมหวังของเธอ ซึ่งความโดดเด่นในส่วนนี้ยิ่งทำให้ Second Act กลายเป็นหนังที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถ ความทะเยอทะยาน และการต่อสู้กับระบบความคิดที่ว่าการมีใบปริญญานั้นไม่ได้การันตีความสำเร็จในชีวิตได้อย่างน่าสนใจ
ถึงแม้ว่าประเด็นทั้งหมดในหนังเรื่องนี้จะไม่ได้ทำออกมาในโทนซีเรียสจริงจังไปซะหมด แต่ระหว่างรายทางของหนัง กลับชวนคนดูให้ขบคิด หันไปมองชีวิตตัวเองแล้วตกผลึกตามว่าในวันนี้ “เราเต็มที่กับงานที่เราทำแล้วหรือยัง”