“Ten Years Thailand” : เข้าใจอดีต จดจำปัจจุบัน มองเห็นอนาคต?

“Ten Years Thailand” : เข้าใจอดีต จดจำปัจจุบัน มองเห็นอนาคต?

“Ten Years Thailand” : เข้าใจอดีต จดจำปัจจุบัน มองเห็นอนาคต?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมกุลีกุจอออกจากบ้านรีบไปดูหนัง “Ten Years Thailand” มาครับ ที่ใช้คำว่า “กุลีกุจอ” ก็เพราะว่าลึกๆ แล้วผมมีลางสังหรณ์ว่าหากทำเป็นนิ่งนอนใจ มัวโอ้เอ้ ไม่ไปดูเสียตั้งแต่ตอนนี้ หนังเรื่องนี้อาจหลุดโปรแกรมไปแล้วก็ได้ ยิ่งมีดีกรีเป็นถึงหนังที่ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ นี่ตัวดีเลยครับ ยิ่งต้องรีบกว่าที่ควรรีบ

ก็แปลกดีนะครับ หนังที่มีรางวัลหรือได้รับการคัดเลือกให้ไปฉายตามเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ผู้ชมกลับต้องรีบไปดูก่อนที่จะปลิวหลุดลอยไปตามสายลม ผมพูดและให้ความเห็นเรื่องนี้ในวาระต่างๆ มาเยอะแล้วและก็คร้านที่จะบ่นแล้วครับ ก็เลยเอาเป็นว่าเมื่อแก้ที่ระบบไม่ได้ ก็แก้ที่ตัวเองก็แล้วกัน ถ้าอยากดูก็ต้องไว อ้อยอิ่งไม่ได้เด็ดขาด

โปสเตอร์ Ten Years Thailand

“Ten Years Thailand” เป็นหนังสั้น 4 เรื่องมัดรวมกันมาในห่อเดียวกันครับ คอนเซ็ปต์หลักของหนังทั้งสี่เรื่องก็คือการตีความตามชื่อโปรเจกต์ว่า ในอนาคตภายภาคหน้าอีก 10 ปี นักทำหนังอันประกอบด้วย อาทิตย์ อัสสรัตน์, วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, จุฬญาณนนท์ ศิริผล และ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล นั้นมองเห็นอะไร

มองฝ่าออกไปในอนาคต-นักทำหนังเห็นอะไร? นี่คือคำถามที่น่าสนใจมากนะครับว่าผู้กำกับแต่ละคนเขาจะเห็นอะไรหรือตีความออกมาในลักษณะไหน แต่สิ่งที่ผมว่าน่าสนใจกว่าคำถามปลายเปิดเรื่องอนาคตนั้นก็คือคำตอบที่เราได้เห็นจากหนังทั้ง 4 เรื่อง ได้แก่ “Sunset” (อาทิตย์), “Catopia” (วิศิษฏ์), “Planetarium” (จุฬญาณนนท์) และ “Song of the City” (อภิชาติพงศ์) นั่นต่างหากครับ

โดยส่วนตัว ผมคิดว่าแม้หนังทั้ง 4 เรื่องจะแตกต่างกันออกไปในรูปแบบและวิธีการนำเสนอ แต่ภาพรวมของการแสวงหาคำตอบตามโจทย์นั้นกลับมีเอกภาพชัดเจนมากครับ เอกภาพที่ว่านั้นก็คือความลางเลือน ไม่ชัดเจน และสลัวราง ราวกับว่าไม่มีใครใน 4 คนนี้ที่มองหาอนาคตเจอเลย หนังทั้ง 4 เรื่องจึงนำเสนอภาพของอนาคตประเทศไทยออกมาได้อย่างคลุมเครือชัดเจน ผมใช้คำว่า “คลุมเครือชัดเจน” นะครับ กรุณาอ่านช้าๆ เพื่อทำความเข้าใจ

ซึ่งไอ้ความไม่ชัดเจนอันเป็นเอกภาพของทั้ง 4 เรื่องใน “Ten Years Thailand” นี่เอง ที่ดูจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่าในทัศนะของผู้กำกับแต่ละคน การมองเห็นภาพร่างของอนาคตร่วมกันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ เราทำความเข้าใจอดีตและจดจำปัจจุบันต่างหากครับ (ผมย้ำอีกครั้งว่านี่เป็นความเห็นส่วนตัวของผมคนเดียวเท่านั้นนะครับ)

ยกตัวอย่างเช่น ในหนัง “Sunset” ของ อาทิตย์, “Catopia” ของ วิศิษฏ์ และ “Planetarium” ของ จุฬญาณนนท์ นั้น หากพิจารณากันเฉพาะโครงเรื่องเพียงอย่างเดียว ก็พบว่าเรื่องราวในหนังทั้ง 3 เรื่องดูเหมือนจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคใด สมัยใดก็ได้ ซึ่งก็แปลว่ามันเกิดขึ้นตอนนี้-เวลานี้ก็ได้ด้วยเช่นกัน การที่ผู้มีอำนาจเข้าตรวจสอบคนทำงานฟากศิลปะ (ใน “Sunset”) ก็ดี การที่คนส่วนใหญ่สร้างชุดความคิดแปะป้ายให้คนที่เห็นต่างคิดต่างกลายเป็นผู้ร้ายจนถูกล่าแม่มด (“Catopia”) ก็ดี หรือการนำคนที่เห็นต่างเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนตัวตนสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ (“Planetarium”) ก็ดี เรื่องเหล่านี้ล้วนไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในสังคมของเราเลยครับ แถมยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในรอบหลายปีหลังมานี้ จนเราอาจชินชากับมันไปแล้วก็ได้

“Planetarium” โดย จุฬญาณนนท์ ศิริผล

แม้ทั้งสามเรื่องจะแตกต่างกันไปในรูปแบบการนำเสนอ เรื่องหนึ่งถูกเล่าด้วยภาพโมโนโครม เรื่องหนึ่งเป็นแฟนตาซีปนไซ-ไฟ อีกเรื่องหนึ่งออกแนว futuristic แบบ cheap-weird และ kitsch แต่ค้นกันให้ลึกลงไปในแก่นแท้ ก็จะพบว่ามันคือการบันทึกบริบทที่เกิดขึ้นแล้วในสังคมครับ เป็นการจดจำปัจจุบัน จารึกไว้เป็นภาพเคลื่อนไหวและเรื่องเล่าที่ต่างกัน และถ้าเหตุการณ์แบบในหนังทั้งสามเรื่องนี้มันจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกครับ

โดยส่วนตัว ในสามเรื่องนี้ผมชอบ “Sunset” มากที่สุด ชอบในแง่ที่ว่าหนังนำเสนอว่าท้ายที่สุดแล้ว ในความขัดแย้งแตกต่างใดๆ ก็ล้วนมีผู้คนอยู่ในนั้น ผู้คนที่สวมเครื่องแบบแตกต่างกัน และในความแตกต่างใดๆ ของเครื่องแบบที่ผู้คนล้วนสวมใส่ ภายใต้อาภรณ์เหล่านั้นก็คือคนทั้งสิ้น คนที่ไม่แตกต่างกันในแง่ของการต้องการความรัก ความเข้าใจ ต้องการสื่อสารบางอย่างออกมาให้คนอื่นเข้าใจ และหวังว่าเขาจะเข้าใจเปิดใจรับฟัง

“Song of the City” โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ขณะที่สามเรื่องดังกล่าวเป็นการบันทึกปัจจุบัน “Song of the City” ของ อภิชาติพงศ์ กลับเป็นการมองย้อนไปในอดีตและทำความเข้าใจเรื่องราวหนหลัง อันเป็นที่มาของสิ่งที่เกิดขึ้นและถมทับพัฒนาจนกลายมาเป็นโครงสร้างของอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อภิชาติพงศ์ พาเราไปดูเหตุการณ์เรียบง่ายธรรมดาของชีวิตผู้คนที่เกิดขึ้นรอบๆ อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ขอนแก่นบ้านเกิดของเขาเอง ซึ่งตัวหนังยังคงเอกลักษณ์ลายเซ็นของเขาไว้ทุกประการ ความน้อยแต่มากของ “Song of the City” นั้นแทบจะใส่ แฮชแท็ก “ไม่พูดเยอะ เลิกกอง” ลงในโปสเตอร์ของภาพยนตร์ได้เลย เพราะดูแล้วหนังเรื่องนี้เหมือนกับยืนดูซามูไรชักดาบออกจากฝักแล้วฟันคู่ต่อสู้ฉับเดียว เก็บดาบเดินกลับไม่หันมามองเลยครับ ใครที่เก็ตก็เก็ต ใครไม่เก็ตก็ไม่เป็นไร อะไรทำนองนั้น แต่สำหรับใครที่เก็ตก็จะรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน (และอาจส่งต่อไปยังอนาคต) ก็ล้วนมีที่มาทั้งนั้น

ผมไม่มีบทสรุปอะไรให้ “Ten Years Thailand” เพราะหนังเองก็ไม่มุ่งเน้นการสรุปอะไรเท่าไหร่ แค่อยากย้ำเน้นๆ ว่า หนังอยู่ไม่นานครับ รีบไปดูกันเถิด

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
จักรพันธุ์ ขวัญมงคล
นักเขียน นักแปล นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และบรรณาธิการอิสระ สนใจความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะและสังคม

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ ของ “Ten Years Thailand” : เข้าใจอดีต จดจำปัจจุบัน มองเห็นอนาคต?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook