รู้จัก “Black Mirror: Bandersnatch” แห่ง Netflix กับการมอบสิทธิในการเลือกให้กับประชาชน

รู้จัก “Black Mirror: Bandersnatch” แห่ง Netflix กับการมอบสิทธิในการเลือกให้กับประชาชน

รู้จัก “Black Mirror: Bandersnatch” แห่ง Netflix กับการมอบสิทธิในการเลือกให้กับประชาชน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประเดิมฉายตอนใหม่ทาง Netflix ไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2561ที่ผ่านมา สำหรับซีรีส์ที่กระตุ้นให้เกิดความระมัดระวังกับเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง Black Mirror ภายใต้ชื่อ “Bandersnatch” ที่ในคราวนี้มาในรูปแบบภาพยนตร์ความยาว 90 นาที ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในการสร้างเรื่องราวที่จะนำไปสู่ห้วงเวลาสุดท้ายของหนังได้อีกด้วย

ใครมีโอกาสได้ชม “Black Mirror: Bandersnatch” แล้วคงจะพอทราบว่า ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของภาพยนตร์ ก็จะปรากฏทางเลือกให้ผู้ชมได้ตัดสินใจ อาทิ ตัวเอกของเรื่องอย่าง สเตฟาน (รับบทโดย ฟิออนน์ ไวท์เฮด ซึ่งเคยมีผลงานในหนังเรื่อง Dunkirk ซึ่งกำกับโดย คริสโตเฟอร์ โนแลน) ทานอะไรเป็นข้าวเช้าระหว่างซีเรียลยี่ห้อ Sugar Puffs หรือ Frosties ซึ่งคำถามและทางเลือกต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างที่เนื้อเรื่องดำเนินไปเรื่อยๆ ผู้ชมก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาด้วย เช่น สเตฟาน หนุ่มน้อยผู้เชี่ยวชาญด้านวิดีโอเกมจะตกปากรับคำทำงานที่บริษัทเกมหรือไม่? บอกนักบำบัดเกี่ยวกับแม่ของเขาไหม? หรือแม้กระทั่งเขาจะซัดยาเข้าไปในปากหรือไม่?

โปสเตอร์ Black Mirror: Bandersnatch แห่ง Netflix

แต่ทีเด็ดก็คือ ผู้ชมสามารถเลือก “ความเป็น” และ “ความตาย” ของตัวละครได้อีกต่างหาก ซึ่งถ้ากระแสตอบรับของ Black Mirror: Bandersnatch เป็นที่น่าพึงพอใจ Netflix ก็พร้อมเดินหน้าซีรีส์หรือภาพยนตร์ในลักษณะดังกล่าว เพื่อก้าวสู่ยุคใหม่ของวงการด้วยแนวคิดอันแสนเรียบง่ายว่า “ผู้ชมจะมีความสนใจมากขึ้นหากพวกเขาได้เป็นคนสมรู้ร่วมคิด”

“หากมีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้น คุณจะรู้สึกหดหู่ เพราะคุณรู้สึกว่า คุณต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำลงไป” ทอดด์ เยลลิน รองประธานด้านโพรดักต์แห่ง Netflix เผย “แต่ถ้าตัวละครเอาชนะบางสิ่งบางอย่างได้ คุณจะรู้สึกดีขึ้น เพราะคุณเป็นคนตัดสินใจเลือกทางเลือกนั้นด้วยตนเอง”

2017 คือปีแรกที่ Netflix สร้างเรื่องราวที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินเรื่อง โดยเป็นการ์ตูนที่ชื่อว่า Puss in Book: Trapped in an Epic Tale และได้ฟีดแบ็กที่ยอดเยี่ยมมากๆ จากบรรดาเด็กๆ ส่งผลให้เกิดการผลักดันสู่ซีรีส์และภาพยนตร์ของผู้ใหญ่ ยิ่งเมื่อผสมผสานกับแรงบันดาลใจจาก The Twilight Zone ก็ทำให้ ชาร์ลี บรุ๊คเคอร์ ตัดสินใจสร้าง Black Mirror ขึ้นมาร่วมกับ แอนนาเบล โจนส์

บรุ๊คเคอร์เล่าว่า การมอบทางเลือกให้กับผู้ชมพร้อมกับรักษาตัวตนของตัวละครหลักเอาไว้คือหนทางที่แสนยากลำบาก เขาใช้เวลาถึง 5 สัปดาห์ในการถ่ายทำ 1 อีพี ด้วยสคริปต์ความยาวกว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานกว่าอีพีปกติ แม้ในปัจจุบัน เขาก็ยังคงไม่มั่นใจกับสิ่งที่ทำลงไป

“บางคนอาจวิจารณ์ว่ามันก็เป็นการเล่าเรื่องทั่วไป บางคนอาจจะบอกว่ามันเหมือนเกม คือมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา มันขึ้นอยู่กับผู้ชมมากกว่า” บรุ๊คเคอร์กล่าว ในขณะที่ โจนส์ ให้ความเห็นในทิศทางที่ต่างออกไป “มันไม่ได้ดีไซน์ออกมาในรูปแบบเกม มันคืออีกหนึ่งประสบการณ์แห่งภาพยนตร์” แต่ท้ายที่สุด บรุ๊คเคอร์ ก็เสริมในทันควันว่า “…ที่มาพร้อมกับองค์ประกอบของเกม”

ถึง บรุ๊คเคอร์ จะออกตัวว่า “ผมจะทำให้มันไม่กลายเป็นเรื่องตลกได้อย่างไรเนี่ย” แต่ Bandersnatch กลับไม่มีกลิ่นอายความตลกอยู่เลยสักนิด

เรื่องราวเกิดขึ้นในปี 1984 ณ กรุงลอนดอน สเตฟาน เด็กหนุ่มผู้สูญเสียแม่ไปตั้งแต่อายุ 5 ขวบ และโทษว่าเป็นความผิดของพ่อ (แสดงโดย เคร็ก พาร์กินสัน) เพราะพ่อเอาของเล่นของเขาไปซ่อน ทำให้แม่ต้องเสียเวลาหา และต้องขึ้นขบวนรถไฟคันหลัง... ซึ่งเป็นคันที่ตกราง

สเตฟานได้รับการว่าจ้างจากบริษัทเกมแห่งหนึ่ง และชีวิตของเขาก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปตามนักประพันธ์นวนิยายคนหนึ่งนามว่า เจโรม เอฟ. เดวีส์ ซึ่งเป็นคนที่เชื่อว่าตนเองกำลังติดอยู่ในโลกที่มีความจริงหลากหลายรูปแบบ และความจริงเหล่านั้นก็สร้างผลลัพธ์อันแสนอาภัพได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งระหว่างที่เรื่องราวดำเนินไปเรื่อยๆ ก็จะมีทางเลือกปรากฏขึ้นมาด้านล่างของจอ โดยมีเวลาให้ผู้ชมตัดสินใจเพียงไม่กี่วินาที หากไม่เลือกทางใดทางหนึ่ง เนื้อเรื่องก็จะย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นในทันที

Bandersnatch เป็นชื่อที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสัตว์ประหลาดตัวหนึ่งใน Through the Looking-Glass ของ ลิวอิส แคร์โรลล์ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าพวกเขาจะสร้าง Bandersnatch ขึ้นมาเพื่อเป็นการทริบิวต์ให้กับ ฟิลิป เค. ดิ๊ก ผู้ประพันธ์ชื่อก้องโลกผู้ชื่นชอบและศรัทธาในเรื่องของความจริงอันบิดเบี้ยวด้วย

นิวยอร์ก ไทมส์ กล่าวถึงความรู้สึก ณ ขณะรับชม Black Mirror: Bandersnatch ว่า การมีส่วนร่วมของผู้ชมอาจเป็นก้าวใหม่ของวงการบันเทิง แต่มันก็อาจจะพูดได้ยากหากจะบอกว่ามันคือศิลปะ มันยากที่จะปล่อยตนเองไปกับเรื่องราว ถ้าคุณถูกบังคับให้ต้องดึงตัวเองออกมาบ่อยๆ ด้วยเนื้อเรื่องที่ไม่เป็นเส้นตรงของ Bandersnatch มันทำให้เกิดความรู้สึกว่าเรื่องจบแบบไม่คลี่คลาย และหลังจาก 70 นาทีที่รับชม นักเขียนจาก นิวยอร์ก ไทมส์ ก็ตัดสินใจย้อนกลับไปเลือกตัวเลือกอื่นบ้าง

“ผมก็ไม่รู้ว่าตอนจบจะมีกี่แบบ เราไม่แน่ใจว่าเราสร้างอะไรขึ้นมา” บรุ๊คเคอร์ กล่าว ทว่า โจนส์ ก็เถียงกลับว่า “ไม่ใช่ เรารู้!” นั่นทำให้ บรุ๊คเคอร์ ตอบกลับด้วยน้ำเสียงอันแปลกแปร่งว่า “ขอโทษทีครับ เรารู้” ซึ่งในเวลาต่อมา Netflix ก็ออกมาบอกว่า ตอนจบหลักจะมี 5 แบบ ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันอีกมาก

แม้ว่า Black Mirror: Bandersnatch จะถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับแง่มุมสังคมสมัยใหม่ กับผลกระทบที่ไม่คาดฝันของเทคโนโลยีด้วยอารมณ์เสียดสีและมืดหม่น แต่ บรุ๊คเคอร์ และ โจนส์ ก็ยืนยันว่าจะพยายามทำให้มันออกมาในแง่บวกมากขึ้น อีกทั้งพวกเขายังเผยอีกว่า ตอนต่อไปจะไม่มีตัวเลือกให้ผู้ชมได้เลือกกัน

บรุ๊คเคอร์ ฝากคำแนะนำทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงทีเล่นทีจริงสำหรับผู้ที่อยากรับชมและทดลองสัมผัสกับประสบการณ์ใน Black Mirror: Bandersnatch ว่า “วิ่งหนีไปซะ มันยากกว่าที่คุณคิด!”

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ รู้จัก “Black Mirror: Bandersnatch” แห่ง Netflix กับการมอบสิทธิในการเลือกให้กับประชาชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook