รีวิว Green Book ความรักของเพื่อนมนุษย์

รีวิว Green Book ความรักของเพื่อนมนุษย์

รีวิว Green Book ความรักของเพื่อนมนุษย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

 

แง่งามที่ปรากฏอยู่ในหนังเรื่อง Green Book ซึ่งเป็นเรื่องราวของ “เพื่อนมนุษย์” ที่มีความแตกต่างทั้งเรื่อง เชื้อชาติ สีผิว เพศสภาพ ไปจนถึงเรื่องวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน แต่สามารถเข้าอกเข้าใจและปรับตัวเข้าหากันได้ในที่สุด น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็น “ที่รัก” ของผู้ชมรวมไปถึงนักวิจารณ์ น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้หนังสามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาขาเพลงหรือตลกบนเวทีลูกโลกทองคำ (Golden Globe Awards) ประจำปี 2019 ไปครอบครอง และมันอาจจะไปไกลจนถึงรางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วยเช่นกัน

 

Green Book เล่าเรื่องราวของโทนี่ ลิป (วิกโก้ มอร์เทนเซน) ชายเชื้อสายอิตาเลียน-อเมริกัน จากย่านบรองซ์ในนิวยอร์ก หลังจากที่ไนท์คลับชื่อดังอย่างโคปาถูกปิดปรับปรุง ทำให้คนหาเช้ากินค่ำอย่างเขาต้องเร่งหางานใหม่เพื่อนำรายได้มาจุนเจือครอบครัว  ไม่นานนักลิปได้รับการเสนองานใหม่ให้ไปเป็นคนขับรถให้กับ ดอน เชอร์ลี (มาเฮฮร์ชาลา อาลี) นักเปียโนผิวสี ฝีมือระดับโลก ซึ่งตัดสินใจออกทัวร์ไปในรัฐต่างๆในอเมริกา สิ่งเดียวที่นำทางให้กับทั้งสองคนคือ “สมุดปกเขียว” (Green Book) คู่มือที่ระบุถึงสถานที่ที่เป็นมิตรและปลอดภัยกับคนผิวสี

 

 

ตอนแรกในการเดินทาง โทนี่และดอนดูจะไม่ชอบพฤติกรรมบางอย่างของกันและกันจนมีปากเสียงกันอยู่บ่อยครั้ง แต่เมื่อระยะทางยิ่งยาวไกลมากขึ้น ทั้งสองได้เริ่มเรียนรู้ในความแตกต่างของกันและกัน เข้าใจในปัญหาของอีกฝ่าย ช่วยกันฝ่ากำแพงเรื่องอคติทางสีผิว ชาติพันธุ์ ไปจนถึงอันตรายจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง การเดินทางครั้งนี้จึงพิสูจน์คุณค่าของคำว่ามิตรภาพที่จะเปลี่ยนชีวิตของทั้งคู่ไปตลอดกาล

 

สไตล์ของหนัง Green Book คือการผสมผสานหนังแนวคู่หูและโร้ดทริป เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งในหนังกลุ่มนี้จะทำให้ผู้ชมได้เดินทางไปพร้อมๆกับตัวละคร ทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น  หลงรักพวกเขาจนอยากจะเอาใจช่วยให้ทั้งสองสามารถผ่านพ้นปัญหา ได้รับการยอมรับ และผู้ชมจะได้รับแง่คิดกลับไปหลังจากดูจบด้วยเช่นกัน

 

 

ตลอดทั้งเรื่องเราจะได้เห็นการ “ตัดสิน” เพื่อนมนุษย์เพียงเพราะรูปลักษณ์ภายนอกที่แตกต่างกัน คนดำเหยียดคนขาว คนขาวถูกเหมารวมหมดว่าเป็นคนอเมริกัน คนขาวในบางรัฐถูกเหยียดว่าเป็นยิว คำดำเหยียดกันเองด้วยลักษณะการแต่งกายที่ต่างกัน คนดำเกษตรกรที่มองคนดำด้วยกันที่ร่ำรวยกว่าในฐานะเจ้านายที่มีคนขับรถเป็นชายผิวขาว คนอเมริกันมองลูกครึ่งด้วยสายตาอันเหยียดหยามเพราะพวกเขาคิดว่าการเป็นคนขาวเชื้อสายอเมริกัน 100% คือเลือดบริสุทธิ์และเหนือกว่า สถานการณ์ทั้งหมดที่ปรากฏขึ้นในหนังทำให้เราได้มองเห็นว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม คุณก็พร้อมถูกเหยียดได้ทั้งนั้น

 

สิ่งที่โลกของเรา ณ เวลานี้ต้องการมากที่สุด คือความเข้าอกเข้าใจในความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นผิวสี เพศสภาพ วัฒนธรรม ฯลฯ เพราะนี่คือความรักของเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกด้วยกันสามารถแสดงออกได้อย่างง่ายที่สุด และทำให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้นโดยปราศจากความเกลียดชังและความรุนแรง นี่คือสารที่ Green Book น่าจะต้องการสื่อสารกับผู้ชมมากที่สุดนั่นเอง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook