รีวิว On the Basis of Sex แด่พื้นฐานของความเป็นมนุษย์
ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่หนังในช่วงปีถึงสองปีให้หลังมานี้จะมีหนังที่นำประเด็นเรื่องเพศสภาพและความเท่าเทียมกันทางเพศจำนวนไม่น้อยที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อบอกเล่าให้คนดูในยุคปัจจุบัน มีความเข้าใจในเรื่อง “เพศสภาพ” (Gender) มากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างหนังเด่นๆในปีนี้ ที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ได้แก่ Green Book และ Bohemian Rhapsody ซึ่งล้วนแล้วแต่พูดถึงประเด็นข้างต้นทั้งสิ้น
สำหรับ On the Basis of Sex นั้น หยิบเอาเรื่องจริงของรูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก ในช่วงเวลาที่เธอเข้ารับการศึกษาในฮาวาร์ด ไปพร้อมๆกับการดูแลสามีที่กำลังป่วย แถมเธอยังรับหน้าที่ในการเป็นคุณแม่มือใหม่ โดยในหนังได้เล่าเรื่องราวของรูธตั้งแต่ช่วงเวลาที่เธอต้องฝ่าฟันอุปสรรค ความพยายามต่อสู้เรื่องสิทธิสตรีและความเท่าเทียมกันในสังคม แต่ไม่ว่าเธอจะพยายามแค่ไหนก็ตาม “สังคมผู้ชายเป็นใหญ่” ในช่วงเวลาดังกล่าวก็ยังแผ่บรรยากาศเปกคลุมสภาพสังคมอเมริกาดังเดิม
การที่หนังเปิดฉากมาด้วยฝูงชนเพศชายที่แต่งตัวใส่สูท พร้อมกางเกงสแลคกำลังเดินเข้าสู่ฮาวาร์ด จนเราแทบมองไม่เห็นเพศอื่นๆหรือบุคคลที่แต่งตัว “แตกต่าง” เลยสักคนเดียว จนกระทั่ง รูธ (เฟลิซิตี้ โจนส์) ปรากฏตัวขึ้นในชุดเดรสสูททางการ เดินปะปนเข้ามาในกลุ่มชายวัยรุ่นได้ทำให้เราเห็นว่า เธอเป็นเพียง “จุดเล็กๆ” ของสังคมกฎหมายของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้ว เธอเป็นผู้หญิงเพียงหนึ่งในเก้าคนของชั้นเรียนกฎหมายของช่วงปี 1950 ยิ่งทำให้ประเด็นที่หนังพยายามจะพูดถึงการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมเด่นชัดยิ่งขึ้น
กระทั่งวันหนึ่งรูธได้ทำคดีภาษีของชาร์ลส โมริตซ์ ชายโสดที่ถูกปฏิเสธคำร้องขอลดหย่อนภาษีมูลค่า 296 เหรียญ ในฐานะเป็นผู้ดูแลเพศชาย ซึ่งเขาต้องทำหน้าที่ในการดูแลแม่ที่เจ็บป่วยที่บ้าน และแบกรับภาระทุกอย่างในครอบครัว แต่กฎหมายในช่วงเวลานั้นไม่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ชายในฐานะ “คนดูแล” ช่องว่างของกฎหมายดังกล่าว ทำให้รูธพยายามต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และนำไปสู่การปรับแก้กฎหมาย เพื่อมอบความเท่าเทียมกันระหว่างเพศชายและเพศหญิงเกิดขึ้นในสังคมอเมริกา
แน่นอนว่าการต่อสู้ของรูธ ไม่ได้มาพร้อมความเกรี้ยวกราดหรือใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหา แต่เธอพยายามใช้วิธีการแบบปัญญาชนในการบ่มเพาะความคิดให้กับลูกศิษย์ของเธอ (ในช่วงเวลาที่เธอได้ก้าวมาเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษา) การเลือกทำคดีที่สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ แม้มันจะกินเวลานานกว่าทศวรรษ ความพยายามอาจจะดูริบหรี่ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เธอฉุกคิดและพึงระลึกอยู่ตลอดเวลานั่นก็คือลูกสาวของตัวเองอย่างเจน (ไคลี่ สเปนี่) ที่เติบโตขึ้นและกลายเป็นผู้หญิงที่กล้าจะมีความคิดเป็นของตนเอง พร้อมจะต่อสู้ถกเถียงกับผู้ชายโดยไม่กลัวบรรทัดฐานของสังคม
ความเปลี่ยนแปลงของสังคมในตัวลูกสาวของรูธนี่เองได้ทำให้รูธรับรู้และเข้าใจว่า สังคมอเมริกาพร้อมแล้วที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง มันคือช่วงเวลาที่ลูกหลานของเธอจะต้องเติบโตและมี “ยุคสมัย” เป็นของตัวเอง ยุคใหม่ที่ทุกเพศสภาพจะได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่งในสังคม