รีวิว “Glass” เมื่อฮีโร่ไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะทำให้ทุกคนรัก
เมื่อเราพูดชื่อผู้กำกับอย่าง เอ็ม. ไนท์ ชยามาลาน ผู้ชมมักจะติดภาพหนังสยองขวัญที่มาพร้อมกับการหักมุมชนิดคาดไม่ถึงจนต้องอ้าปากค้าง แต่นั่นก็เพราะว่าในช่วงแรกที่ผู้ชม “รู้จัก” กับผลงานของผู้กำกับคนนี้ มาจากหนังสยองขวัญ The Sixth Sense ตามด้วย Unbreakable หนังทริลเลอร์ เขย่าขวัญเหนือธรรมชาติ ว่าด้วยชายคนหนึ่งที่รู้สึกว่าตัวของเขามีพลังพิเศษและพละกำลังมากกว่าคนปกติ พูดง่ายๆ เขาคือซูเปอร์ฮีโร่ ที่เพิ่งรู้ตัวว่ามีพลังพิเศษ ภายหลังจากการรอดพ้นอุบัติเหตุหายนะรถไฟตกราง ทว่าโทนหนังที่เล่าเรื่องจริงจังมากและแทบจะปราศจากฉากแอ็คชั่น ทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นหนังที่คนดูไม่ปลื้มและนักวิจารณ์เกลียด ในช่วงเวลาที่มันออกฉาย
เมื่อยุคสมัยผ่านพ้นไปการหยิบหนังอย่าง Unbreakable มาดู เราจะพบว่ามันเป็นหนังที่ “มาก่อนเวลา” เพราะเอาเข้าจริงในยุคที่หนังฮีโร่ล้นตลาดแบบปัจจุบันนี้ Unbreakable กลายเป็นหนังที่ “ดูจริง” และพยายามสื่อสารกับผู้ชมว่าไม่ว่าคุณจะเกิดมาเป็นพระเอกหรือวายร้าย ทั้งสองหน้าที่นี้คือคนละด้านของตาชั่ง หากปราศจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไป อีกคนจะกลายเป็นบุคคลไร้ความหมายทันที ซึ่งจัดได้ว่ามันเป็นปรัชญาตะวันออกที่มักจะปรากฏอยู่ในหนังของผู้กำกับ เอ็ม. ไนท์ ชยามาลาน แทบทุกเรื่องหากคุณลองสังเกตและขบคิดตาม
กระนั้นหนังหลายๆ เรื่องของผู้กำกับ ชยามาลาน มักจะโดนโจมตีจากนักวิจารณ์อยู่เสมอ ว่าเขา “ฝีมือตก” โดยเรื่องที่โดนโจมตีหนักที่สุดคือ After Earth ในปี 2013 ที่ว่าด้วยสองพ่อลูกที่ต้องกลับมาบนโลกที่เต็มไปด้วยมลภาวะและอันตรายครั้งใหญ่ ซึ่งจัดได้ว่านี่เป็นผลงานที่น่าผิดหวังที่สุดทั้งเรื่องความสนุกและประเด็นอันคมคาย ทุกอย่างจางหายไปหมด ท่ามกลางการแสดงโชว์ออฟอันแสนน่าหมั่นไส้ของสองพ่อลูก วิล สมิธ และ เจเดน สมิธ
จนกระทั่งในปี 2016 หนังอย่าง Split ที่ว่าด้วย “ชายที่มีบุคลิกแตกต่างกันถึง 23 บุคลิก” ที่วางแผนจับตัวเด็กหญิงวัยรุ่นไปขังไว้ เพื่อเหตุผลบางอย่าง ได้รับคำวิจารณ์อย่างล้นหลาม ถึงบรรยากาศอันน่าหวาดผวา ยังไม่รวมไปถึงการแสดงที่ตีบทแตกกระจุยของ เจมส์ แม็กอะวอย ยิ่งทำให้หนังเรื่องนี้ได้รับความสนใจ และเมื่อไคลแมกซ์ได้เฉลยออกมาและสร้างความเซอร์ไพรส์ให้คนดูว่าหนังเรื่องนี้อยู่ภายใต้จักรวาลเดียวกับ Unbreakable และตัวละครนำทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น เดวิด ดันน์ (บรูซ วิลลิส), อีไลจา ไพรส์ (แซมมวล แอล. แจ็คสัน) และ เดอะ บีสต์ จะได้กลับมาเจอกันอีกครั้งในหนังเรื่อง Glass
Glass จึงดึงเอาสไตล์การเล่าเรื่องแบบ Unbreakable กลับมาใช้งานอีกครั้ง ว่าด้วยการพาผู้ชมไปสำรวจตัวละครในโรงพยาบาลจิตเวชที่จับตัวทั้งสามเอาไว้ ซึ่ง อีไลจา ไพรส์ ได้วางแผนอันแยบยลไว้อีกครั้ง เพื่อให้ เดวิด ดันน์ ต้องต่อสู้กับเดอะ บีสต์ หลังจากที่แผนการครั้งแรกที่อีไลจาเคยวางเอาไว้ล้มเหลว
ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคนที่ไม่รู้จักจักรวาลฮีโร่ Unbreakable และ Split รวมถึงสไตล์การทำหนังของ เอ็ม. ไนท์ ชยามาลาน จะพากันยี้ Glass อย่างเป็นเอกฉันท์ เพราะแน่นอนว่ามันแทบไม่มีฉากตื่นเต้น โครมคราม ซึ่งว่ากันตามตรงหนังเรื่องนี้แทบน่าจะจัดได้ว่า “เนิบ” เลยทีเดียว ดังนั้น ความผูกพันกับแฟรนไชส์นี้น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณพอจะมีอารมณ์ร่วมไปกับหนังได้บ้าง ถ้ามีโอกาสก็อยากให้คนที่ยังไม่เคยดู Unbreakable และ Split ได้มีโอกาสเปิดใจดูหนังก่อนที่จะไปดู Glass อีกสักครั้ง (แน่นอนว่าการดูคลิปสรุป 5 นาทีตาม Youtube ก็ไม่ช่วยให้คุณจะมีอารมณ์ร่วมกับหนังอย่าง Glass ได้มากขึ้นหรอกครับ) ท้ายที่สุดคุณก็จะพบว่า Glass นั้นไม่ใช่หนังเลวร้าย เพียงแค่มันอาจจะไม่ใช่สไตล์หนังฮีโร่ที่เกลื่อนตลาดอยู่ตอนนี้ต่างหาก
อัลบั้มภาพ 11 ภาพ