The Favourite น่าตบจัง... นังประจบสอพลอ

The Favourite น่าตบจัง... นังประจบสอพลอ

The Favourite น่าตบจัง... นังประจบสอพลอ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

เรื่องในราชวงศ์ (อังกฤษ) มีเรื่องแซ่บๆให้ผู้กำกับมากหน้าหลายตาหยิบเอามาดัดแปลงทำเป็นหนังอยู่บ่อยครั้ง และนี่เป็นอีกครั้ง ความเซอร์ไพรส์ล่าสุดได้เกิดขึ้นบนเวทีออสการ์ในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม หลังจากที่มีการคาดการณ์กันว่า รางวัลในสาขานี้น่าจะตกเป็นของ เกลน โคลสจาก The Wife แต่เมื่อผลประกาศออกมากลายเป็นว่า โอลิเวีย โคลแมน คว้ารางวัลไปครอง ซึ่งเรียกได้ว่าหักปากกาเซียนกันชนิดหน้าหงาย เราไปทำความรู้จักกันดีกว่าว่า The Favorite เกี่ยวกับอะไร

 

 

ปฏิบัติการชิงตำแหน่ง “คนโปรด”

ตัวหนังหยิบยกช่วงเวลาหนึ่งของพระราชินีแอนน์  เชื้อพระวงศ์องค์สุดท้ายจากราชวงศ์สจ๊วต ที่ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักร ผู้ได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นพระราชินีที่ไม่เอาไหน ไม่เอาการเอางาน ขี้เขินขี้อาย แต่สามารถยกระดับเกาะอังกฤษให้กลายเป็นประเทศมหาอำนาจในโลกได้แต่หนังเรื่องนี้ไม่ได้เน้นความสมจริงทางประวัติศาสตร์เป็นหลัก ตัวหนังเลือกจะบอกเล่าเรื่องราวของผู้หญิงสามคนอันประกอบไปด้วย ราชินีแอนน์ ซาร่าห์ เชอร์ชิลล์ที่ปรึกษาส่วนพระองค์ และอบิเกล มาแซม ญาติสาวผู้ห่างเหินของซาร่าห์ ผู้หวังกอบกู้สถานะอันตกต่ำของเธอให้กลับมา วิถีทางเดียวที่จะทำเช่นนั้นได้ คือการเป็นคนโปรดคนใหม่ของราชินีแอนน์นั่นเอง นั่นหมายความว่านี่คือการฟาดฟันระหว่างซาร่าห์และอบิเกลในวิธีการที่คนดูแทบคาดไม่ถึง ทั้งตลกร้ายหน้าตายและโหดร้ายแสนเจ็บแสบ

 

 

จับตาการแสดงแบบ “แทคทีม”

ก่อนที่โอลิเวีย โคลแมนจะคว้ารางวัลออสการ์ เธอยังสามารถคว้ารางวัลสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ประเภทภาพยนตร์มิวสิคัล คอมเมดี้ (Best Performance by an Actress in a Motion Picture - Musical or Comedy) จากเวทีลูกโลกทองคำ ครั้งที่ 76 (76th Golden Globe Awards) มาครอบครอง แต่เมื่อเป็นเวทีออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงนั้นไม่ได้แยกประเภทภาพยนตร์ออกทำให้เธอต้องฟาดฟันกับคู่แข่งอย่างเกลน โคลสจาก The Wife แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบทบาทที่เธอได้รับนั้น แสดงยากไม่น้อย

บทพระราชินีแอนน์ของโอลิเวีย โคลแมน นั้นเธออยู่ในสถานะผู้กุมอำนาจก็ตามที แต่ช่วงเวลาเปิดเรื่องมาที่ช่วงเวลาที่ประเทศอังกฤษกำลังทำสงครามกับฝรั่งเศส (ซึ่งเป็นสงครามย่อยๆของสงครามสืบราชบัลลังก์ของสเปน แต่เหตุผลที่อังกฤษต้องเข้าร่วมด้วยเนื่องจากเป็นเรื่องของการคานสมดุลทางอำนาจระหว่างประเทศพันธมิตร ขณะเดียวกันตัวพระราชินีเองก็ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาสุขภาพอย่างโรคเก๊าท์ที่สร้างความทุกข์ทรมาน จิตใจของพระนางก็แทบแตกสลายเพราะสูญเสียลูกไปถึง 17 คนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

 

ซาร่าห์ เชอร์ชิลล์ ตัวละครนี้สวมบทโดยราเชล ไวซ์ โดยฐานันดรของเธอเป็นถึงดัชเชสแห่งมาร์ลบะระ ผู้ออกราชการแทนพระราชินีแอนน์ ภาระหน้าที่และการกุมอำนาจทั้งหมดจึงแทบจะถูกชักใยโดยซาร่าห์ แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าเรื่องของอำนาจนั้นไม่เข้าใครออกใคร บทบาทของเธอในวังกำลังเริ่มสั่นคลอนเมื่อญาติของเธออย่างอบิเกล กำลังพยายามขึ้นมาเป็นคนโปรดของพระราชินีแอนน์

 

 

อบิเกล มาแซม ตัวละครนี้รับบทโดยเอ็มม่า สโตนนางเอกสาวมาแรงแห่งยุค ในช่วงแรกของหนังเราจะได้เห็นตัวละครนี้อยู่ในสภาพตกอับ เพราะบิดาเธอสูญสิ้นเงินไปกับการเล่นพนันทำให้อบิเกลต้องมาทำงานเป็นคนใช้ในวังเพื่อความอยู่รอด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะแค่วันแรกเธอก็โดน “รับน้องใหม่” จากบรรดาคนใช้ด้วยกันเอง เธอจึงต้องพยายามหาหนทางยกระดับสถานะของตัวเองกลับมา เมื่อเธอเล็งเห็นว่าพระราชินีแอนน์ที่กำลังทรมานกับแผลจากโรคเกาท์ เธอจึงออกไปหาสมุนไพรมาเยียวยาพระนาง และเมื่อพระราชินี “มองเห็น” อบิเกล นั่นคือบันไดไต่เต้าสำคัญของแผนการครั้งใหญ่ที่อบิเกลกำลังพยายามเป็นคนโปรดคนใหม่ของพระราชินี

 

 

เครื่องแต่งกายสุดอลังการ

สำหรับ The Favourite นั้นได้นักออกแบบเครื่องแต่งกายอย่างแซนดี้ โพเวลล์ คอสตูมดีไซเนอร์เจ้าของรางวัลออสการ์สาขาเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมจาก The Aviator (2004) และ The Young Victoria (2009) แซนดี้ให้ความสำคัญกับ “การเล่นสีเสื้อผ้า” หลัก ๆ แล้วจะใช้สีขาว-ดำซึ่งเป็นโทนมืดเพื่อสื่อถึงความเข้มข้น ความดุเดือด และความดาร์กของการเมืองในสมัยนั้น ก่อนเพิ่มเติมความหรูหราให้สมกับเป็นคนในพระราชสำนักด้วยสีเงินและสีทอง ปิดท้ายด้วยการเลือกใช้สีเสื้อกั๊กที่เป็นขั้วตรงข้ามกันให้กับสองกลุ่มการเมืองสำคัญ อย่างพรรคอนุรักษ์นิยมหรือพรรคฝ่ายขุนนาง (Tory Party) จะสวมเสื้อกั๊กสีแดง ส่วนพรรควิก (Whig Party) จะสวมเสื้อกั๊กสีน้ำเงิน เพื่อสื่อถึงความขัดแย้ง ความไม่ลงรอยของสมาชิกแต่ละฝ่าย

 

นอกจากนี้ การแต่งหน้าทำผมยังแสดงถึงตัวตนของตัวละครในเรื่อง หากสังเกตดี ๆ ตัวละครนำหญิงทั้งสามอย่าง โอลิเวีย โคลแมน, ราเชล ไวสซ์ และ เอ็มม่า สโตน แทบไม่มีเมคอัพบนใบหน้าเลยแม้แต่น้อย ต่างกับเหล่าขุนนางทั้งหลายภายในพระราชสำนักที่แต่งหน้าขาว ทาปากแดง พร้อมวิกทรงสูง ซึ่งอาจดูไม่คุ้นตาเท่าไรนักที่ผู้ชายใช้เครื่องสำอางมากกว่าผู้หญิง แต่นั่นถือเป็นการสะท้อนภาพลักษณ์ของผู้คนในสมัยนั้นอย่างแท้จริง และน่าสนใจมากที่ใบหน้าไร้เมคอัพของเหล่านักแสดงนำหญิงทุกคน กลับดูโดดเด่นขึ้นมาเมื่ออยู่ท่ามกลางตัวละครชายคนอื่น

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook