รีวิว พี่นาค กว่าจะได้บวช...ไม่ง่าย
สไตล์หนังผี-ตลกของค่ายไฟว์สตาร์โปรดักชั่นนั้น เอาเข้าจริงแล้วแทบทุกเรื่องในรอบ 4-5 ปีหลังมานี้ เหมือนกับค่ายนี้จะมีสูตรสำเร็จเดียวกันไปหมดแทบทุกเรื่อง คือการเอาเน็ตไอดอลหรือเซเล็บในโลกไซเบอร์มาเป็นตัวละครเอกของเรื่อง แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นการหวังผลเชิงการตลาด นั่นคือการเอาคนดังและเป็นกระแสนิยมมาเป็นคนเรียกแขกเข้าโรงหนัง มากกว่าตั้งใจจะขายเรื่องราวในภาพยนตร์จริงๆ
กรณีของพี่นาคก็ไม่ต่างกัน เมื่อชื่อของชิน-ชินวุฒ อินทรคูสิน นักแสดงและนักร้องชื่อดัง อาจจะไม่ได้เป็นนักแสดงที่เรียกแขกให้มาชมภาพยนตร์ได้เท่ากับ ชื่อของเอม ตามใจตุ๊ด (วิทวัส รัตนบุญบารมี) เน็ตไอดอลที่มีรายการทางช่อง Youtube ซึ่งมีผู้กดติดตามช่องของเขากว่า 1 ล้าน 1 แสนคน (ซึ่งเราอาจจะเรียกได้ว่าเขาเป็นไมโครเซเลบริตี้ที่มีคนรู้จักไม่แพ้กับนักแสดงวัยรุ่นในวงการบันเทิงหลายๆคนเลยทีเดียว)
เรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนัง “พี่นาค” โฟกัสไปที่โหน่ง (ออกัส-วชิรวิชญ์ ไพศาลกุลวงศ์) หนุ่มวัยเบญจเพส ที่เพิ่งอกหักและตกงานมาหมาดๆ เขาตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิด แต่ระหว่างที่ขึ้นรถทัวร์ เขากลับรู้สึกดวงซวยเมื่อตัวเองดันไปเจอเพื่อนเก่าอย่างบอลลูน เฟิร์ธ และก็อต สาวซี้แกงค์กะเทยที่แอ้วโหน่งจนเขาต้องเอือมระอา ความซวยเกิดขึ้นเมื่อรถทัวร์เกิดอุบัติเหตุส่งผลให้ก็อตเสียชีวิต
เพื่อนสามคนที่เหลืออยู่จึงมองว่านี่อาจจะเป็นอาถรรพ์เบญจเพส ประกอบกับบอลลูนเพิ่งสำเหนียกได้ว่า เขาเคยบนว่าจะบวชที่วัดแห่งหนึ่ง ทั้งสามจึงตัดสินใจว่าจะไปขอบวช แต่สิ่งที่พวกเขาไม่รู้เลยก็คือวัดที่พวกเขาเลือกมีเรื่องน่ากลัวรอพวกเขาอยู่ นั่นก็คือวิญญาณอาฆาตจากนาคตนหนึ่งที่เสียชีวิตก่อนเข้าร่มกาสาวพัสตร์ ทำให้เขาจองเวรคนอื่นๆที่จะบวชที่วัดแห่งนี้ให้มีอันเป็นไป กว่าที่ทั้งสามจะตระหนักได้ว่าอันตรายรอพวกเขาอยู่ ก็สายเกินไปเสียแล้ว
จะว่าไป “พี่นาค” เป็นหนังที่ว่าด้วยตัวละครหลักของเรื่องต้องวิ่งหนีผีอย่างหัวซุกหัวซุน ความสนุกคือการที่ตัวละครต้องหาทางรอดจากวิญญาณร้าย ในขณะเดียวกันหนังก็ต้องหาจังหวะผ่อนคลายผู้ชมด้วยการใส่มุกตลกเพื่อให้คนดูไม่ตึงเครียดจนเกินไป แต่ปัญหาประการใหญ่ของหนังเรื่องนี้คือบทภาพยนตร์ที่เราอาจจะพูดได้ว่า หลังจากที่ 10 นาทีแรกผ่านไป ตัวเรื่องราวก็แทบจะไม่คืบหน้าไปไหนเลยจนกระทั่งหนังผ่านไป 1 ชั่วโมง
แถมวิธีการออกแบบตัวละครในหนังเรื่องก็จัดได้ว่า น่ารำคาญและไม่ค่อยใช้สมองในการแก้ไขสถานการณ์ ยกตัวอย่างเช่น ตัวละครเลือกจะออกมาฝึกท่องคำขานนาคหน้าพระพุทธรูปในยามวิกาลทั้งที่รู้ว่าสถานที่แห่งนี้มีผีออกอาละวาด หรือ ตัวละครออกมาเข้าห้องน้ำกลางคืนและเห็นเงาตะคุ่มๆและตัดสินใจเดินตามไป เป็นต้น พฤติกรรมงี่เง่าแบบนี้ แม้เราจะเข้าใจได้ว่าหนังออกแบบมาเพื่อให้เกิดความตื่นเต้น แต่เมื่อเรามองในมุมของความสมเหตุสมผลแล้ว มันกลับยิ่งทำให้เราไม่มีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครมากเท่านั้น
น่าเสียดายที่เราคาดหวังความบันเทิงจาก “พี่นาค” ว่ามันจะต้องตลกขบขันหรือน่าขนลุกตกใจบ้าง แต่ตลอดความยาวกว่า 106 นาที จัดได้ว่าเป็นความยาวนานเหมือนเราเข้าบำเพ็ญทุกรกิริยาประการหนึ่ง