Captain Marvel กับความเป็น “แม่” (ที่ไม่มีอยู่จริง)

Captain Marvel กับความเป็น “แม่” (ที่ไม่มีอยู่จริง)

Captain Marvel กับความเป็น “แม่” (ที่ไม่มีอยู่จริง)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

 

ถึงแม้ว่า Captain Marvel จะเป็นหนังเดี่ยวซูเปอร์ฮีโร่หญิงคนแรกของค่ายมาร์เวลคอมิกส์ แต่เหตุใดก็ตามเรากลับรู้สึกว่า บารมีและศักดิ์ศรีของตัวละครนี้ (ในหนัง) กลับดูไม่ได้ยิ่งใหญ่สมราคาคุย ทั้งที่เรารู้ข้อมูลมาก่อนจะดูหนังแล้วด้วยซ้ำว่า กัปตันมาร์เวลเป็นตัวละครที่มีพลังมหาศาลและสามารถต่อกรกับธานอสได้ด้วยตัวของเธอแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่ต้องหยิบยืมมือเหล่าอเวนเจอร์คนอื่นๆให้เปลืองแรงเลยด้วยซ้ำไป

 

การมีอยู่ของตัวละครกัปตันมาร์เวลในหนังเรื่องนี้ บทภาพยนตร์ที่ปรากฏอยู่ เหมือนถูกใช้เพื่ออธิบายเหตุการณ์เอนเครดิตใน Avengers: Infinity War เท่านั้นเอง เพราะตั้งแต่ต้นจนจบ เราอาจจะแทบไม่ได้ “รู้จัก” ตัวละครนี้ไปมากกว่าก่อนดูหนังเลยด้วยซ้ำไป

 

 

จริงอยู่ที่หนังภาคนี้ใช้วิธีการเล่าเรื่องในการพยายามรื้อฟื้นความทรงจำที่หายไปของเวอร์ส (บรี ลาร์สัน) หญิงสาวที่ความทรงจำในอดีตเหมือนจะขาดช่วงไป เธอจดจำได้แค่เพียงใบหน้าของสุพรีม อินเทลลิเจนท์ (แอนเน็ต เบนนิ่ง) กับเหตุการณ์ที่ริมซากเครื่องบินรบและเผ่าพันธุ์สครอลที่ดูเหมือนต้องการจะโจมตีเธอ จากนั้นความทรงจำก็ดับวูบไป ชีวิตใหม่หลังจากฟื้นคืนสติ เวอร์สได้รับการดูแลจากยอน-ร๊อกก์ (จู๊ด ลอว์) ผู้บัญชาการสูงสุดจากหน่วยสตารฟอร์ซของเผ่าครีที่พยายามฝึกฝนให้เวอร์สมีความสามารถในการต่อสู้เพื่อปกป้องการรุกรานจากเหล่าสครอล

 

ทว่าระหว่างปฏิบัติภารกิจในการบุกไปยังดาวของเหล่าสครอล ความผิดพลาดทำให้เวอร์สถูกจับตัวไปเพื่อสำรวจหาอะไรบางอย่างในจิตใต้สำนึกของเธอ ทาลอส ผู้นำของสครอล (เบน เมนเดลชอน) ได้ค้นพบว่า “สิ่งสำคัญ” ภายใต้จิตของเวอร์สอยู่บนดาวโลก เวอร์สหลังจากที่ได้สติและหนีจากการจับตัวไว้ ได้ตามเหล่าสครอลลงมายังโลกมนุษย์และค้นพบว่า จริงๆแล้วเธอน่าจะเคยมีชีวิตอยู่บนโลกมนุษย์ใบนี้ภายใต้ชื่อของ “แครอล เดนเวอร์ส นักบินหญิงแห่งกองทัพอากาศ

 

 

ถึงแม้ว่าหนังจะพยายามเล่าย้อนประวัติถึงชีวิตบนโลก แต่เอาเข้าจริงเรากลับทำได้แค่เพียง “รับรู้” ว่าเธอเคยประกอบสัมมาอาชีพอะไรบนโลกมนุษย์ (แต่วิถีบนโลกของเธอถูกเล่าอย่างเร่งรีบและดูไม่ได้ให้ความสำคัญเท่ากับฉากแอ็คชั่นที่จัดได้ว่าน่าเบื่อกว่ามาตรฐานหนังมาร์เวลด้วยกัน) ความสัมพันธ์ของตัวละครมนุษย์ที่ดูแห้งแล้ง ได้รับการชดเชยด้วยการแสดงของตัวละครนิค ฟิวรี่ (แซมมวล เอล แจ็คสัน) ที่ช่วยเพิ่มความสนุก (และแน่นอนความเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อจริงๆให้กับหนังได้เป็นอย่างดี)

 

ท้ายที่สุดเมื่อเราได้รับรู้ถึงพลังที่มากล้นของกัปตันมาร์เวล กลายเป็นว่าฉากไคลแมกซ์ที่เธอต้องเข้าปะทะกับตัวร้ายของเรื่อง การเป็นเหมือนมวยที่ต่อยกันผิดคู่ ความเก่งของกัปตันมาร์เวลกลายเป็นความน่าเบื่อที่ตัวร้ายของหนังไม่อาจจะต่อกรระหว่างกันและกันได้อย่างสมศักดิ์ศรี (จนเราอาจจะเรียกได้ว่ามันคือไคลแมกซ์ที่ง่อยที่สุดตั้งแต่ที่มาร์เวลเคยสร้างฉากต่อสู้ปิดท้ายเรื่องเลยก็ว่าได้)

 

 

 

ยิ่งไปกว่านั้นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของ Captain Marvel คือการที่บรี ลาร์สัน ไม่มีเสน่ห์มากพอที่จะโอบอุ้มหนังทั้งเรื่องไว้บนบ่าได้ เธอเป็นกัปตันมาร์เวลที่ดูแสดงได้ดีตามมาตรฐานคนเคยได้รับรางวัลออสการ์ แต่หน้าแข็งอารมณ์เดียวทั้งเรื่อง ยิ่งไปกว่านั้นการปรากฏตัวของเธอในฉากเอนเครดิตแรกของเรื่อง ก็เป็นการโผล่มาที่ดูน่ากลัวและผิดที่ผิดทางยิ่งนัก ถ้าใครชมแล้ว ให้นึกหน้าของกัปตันมาร์เวลที่ซูบซีดเหมือนวิญญาณในหนังสยองขวัญ ซึ่งโผล่หน้ามาหาเหล่าอเวนเจอร์

 

ความเป็นแม่ ที่ฉกฉวยกระแสสังคมเพื่อโปรโมตกัปตันมาร์เวลให้ออกมาผิดที่ผิดทาง

 

 

 

 

เมื่อเราแวะสำรวจคำว่า “แม่” นั้นจริงเราอาจจะได้คำแฟชั่นหรือแสลงนี้มาจาก The Face Thailand ที่จู่ๆเมนทอร์อย่าง ลูกเกด เมทินี สามารถสร้างปรากฏการณ์ผู้หญิงเก่งที่กล้าพูด กล้าเถียง กล้าทำทุกอย่างตามความคิด ต่อสู้เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตัวเองต้องการและนำพาผู้เข้าแข่งขันในทีมเพื่อคว้าชัยชนะมาให้ได้ในรอบไฟนอลวอล์ค อีกทั้งตลอดหลายซีซั่นที่ผ่านมาเธอยังพิสูจน์ให้เห็นว่า “ความเป็นแม่” ที่แท้จริงคืออะไรและทำไมเราถึงต้อง “Strong Strong Strong“

 

 

หากจะให้เปรียบเทียบความใกล้เคียงกับหนังซูเปอร์ฮีโร่หญิงด้วยกัน ตัวละครที่มีความเฟมินิสต์และ “เป็นแม่” มากกว่าก็คือตัวละครอย่างเฮล่า ใน Thor: Ragnarok ซึ่งลักษณะที่ตัวละครที่จะได้รับฉายาขึ้นต้นเช่นนี้ จะต้องมีบุคลิกที่มีความขบถต่อวิถี ธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติ มีความคิดแหกกรอบนอกคอก แต่งตัวเปรี้ยวซ่าส์ไม่สนใจผู้ชายหน้าไหน ที่สำคัญยังต้องใจนักเลงและกล้าได้กล้าเสียโดยไม่เกรงใจกลัวอะไร ซึ่งสิ่งเดียวที่ตัวละครกัปตันมาร์เวลมีนั้นคือ “พลังอันมากล้น” สวนทางกับบรรดา “แม่” คนอื่นๆในประวัติศาสตร์หนังซูเปอร์ฮีโร่ของค่ายมาร์เวล

 

 

ถ้าหากเราแวะข้ามค่ายไปดู Wonder Woman ของค่ายดีซีที่ออกฉายไปเมื่อปี 2017 กลับให้ความรู้สึก “มีเลือดเนื้อ” เข้าถึงและสัมผัสได้ มีหัวจิตหัวใจ โกรธได้ร้องไห้เป็น ทำให้คนดูสามารถเปิดรับตัวละครอย่างวันเดอร์วูแมนเข้าสู่อ้อมกอดของผู้ชมได้เป็นอย่างดี (ทั้งที่ตัวละครวันเดอร์วูแมนก็มีพลังมหาศาลไม่แพ้กัน อาจจะเป็นรองกัปตันมาร์เวล แต่ก็ไม่ใช่ข้อแม้ในการออกแบบตัวละครให้คนดูเข้าถึงไม่ได้) 

 

ดังนั้นเราว่าสิ่งที่หนังเดี่ยวของซูเปอร์ฮีโร่หญิง (หรือเพศใดก็ตาม) จะเล่าเรื่องของตัวเองขึ้นมา อย่างน้อยที่สุดควรทำให้คาแรกเตอร์นั้นๆเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของผู้ชม มากกว่าจะแค่สร้างขึ้นเพื่อบอกว่า “เธอมาเพื่ออะไรในหนังเรื่องต่อไป” ถ้าแค่นั้นค่ายนี้ก็ควรได้รับฉายาปะหนังของตัวเองทุกเรื่องว่า “นี่คือตัวอย่างภาพยนตร์ขนาดยาว เพื่อเชื่อมหนังเรื่องต่อไปในจักรวาลอเวนเจอร์” น่าจะดีกว่า

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook