แสงกระสือ – แสงในใจที่ไม่มีวันมอดดับ
หลังจากที่ “Friend Zone ระวังสิ้นสุดทางเพื่อน” และ “พี่นาค” ดูเหมือนจะเป็นหนังไทยเปิดหัวปีที่ได้รับความนิยมอย่างมาก แม้ว่าคำวิจารณ์จะไม่ได้ดีมากนัก แต่การตอบรับจากแฟนหนังชาวไทยก็ยังเหนี่ยวแน่นและทำให้รายได้ของสองเรื่องนี้ กวาดรายได้ในระดับที่น่าพอใจและไม่เข้ากลุ่ม “หนังขาดทุน”
สิ่งที่พอวิเคราะห์ได้ในความสำเร็จ (ในระดับที่น่าพอใจ) ของหนังทั้งสองเรื่องข้างต้น สำหรับ “Friend Zone ระวังสิ้นสุดทางเพื่อน” หนังจากค่าย GDH ซึ่งจัดได้ว่าเป็นสตูดิโอขนาดใหญ่ของประเทศไทย มีกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่นและคนทำงานที่มีความเป็นคนเมือง มีพล็อตเรื่องเป็นหนังรักโรแมนติก มีดาราที่มือชื่อเสียง เพลงประกอบที่ไพเราะ และที่สำคัญคือหนังมีการใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางสื่อฯ อย่างหนักหน่วงเพื่อสร้างกระแส ก่อนช่วงเวลาที่หนังเข้าฉายได้อย่างน่าสนใจ และเมื่อหนังเข้าฉาย ค่ายหนังก็ยังหาวิธีการให้หนังเรื่องนี้สามารถยืนโรงฉายได้นานที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโปรโมชั่นลดราคาบัตร ในช่วงท้ายการฉายหรือการทำหนังสั้นเรื่อง Before Friend Zone หนังสั้นภาคต่อที่ใส่ไว้ท้ายเรื่องของ Friend Zone ซึ่งฉายแบบจำกัดเวลาในวันที่ 14-20 มีนาคม เฉพาะเครือโรงภาพยนตร์ SF Cinema ก็เป็นอีกวิธีการที่ช่วยต่อลมหายใจของหนังในโค้งสุดท้ายก่อนจะลาโรงอีกเช่นกัน
ส่วนหนังไทยอีกเรื่องอย่าง “พี่นาค” จากค่ายไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ที่ยังคงใช้วิธีการสร้างหนังแบบสูตรสำเร็จด้วยการผสมผสานหนังผีและหนังตลกเข้าไว้ด้วยกัน อีกทั้งยังหยิบเอาเรื่องราวของการบวชมาเป็นประเด็นที่สามารถเข้าถึงวิถีชีวิตของคนไทยมากขึ้น และยังเป็นพล็อตเรื่องที่สามารถเข้าถึงคนในทุกระดับ ยิ่งไปกว่านั้นการนำเซเล็บในโลกออนไลน์อย่าง “เอม ตามใจตุ้ด” มาเป็นตัวละครเดินเรื่อง ยิ่งกลายเป็น “ตัวเชิญแขก” ที่ดี จนทำให้หนังเรื่องนี้ได้รับความสนใจจากแฟนรายการจนกลายเป็นกลุ่มผู้ชมหลักของหนังเรื่องนี้
การ “รู้จัก” และ “เข้าถึงหนัง” กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนังไทยสักเรื่อง ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ชม แต่เมื่อเราพิจารณาให้ดีแล้ว คนดูหนังไทยส่วนใหญ่ในโรงภาพยนตร์เวลานี้คือกลุ่มวัยรุ่นและคนทำงานตอนต้น ดังนั้นเนื้อหาของเรื่องราวจึงต้องมีความ “เกี่ยวโยง” กับไลฟ์สไตล์ของคนดูไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
การพลิกภาพจำของผีกระสือ
“แสงกระสือ” คือการหยิบเอาตำนานของผีกระสือมาปรับให้มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้นตั้งแต่การเปลี่ยนภาพลักษณ์ของผีกระสือที่แต่เดิมเราเชื่อกันว่าจะมีแต่ศีรษะ หัวใจและลำไส้ แต่ในเวอร์ชั่นล่าสุด กระสือถูกทำให้มีศีรษะ หัวใจและสายเรืองแสงบางอย่างที่ทำหน้าที่ในการเป็นอาวุธป้องกันตัวเอง จากผีชั้นต่ำตามความเชื่อและตำนานโบราณ กระสือในเวอร์ชั่นนี้จึงถูกยกระดับให้กลายเป็น “มอนสเตอร์”
การพลิกภาพจำของกระสือใน “แสงกระสือ” ยังก้าวไกลไปกว่าการจะทำให้กระสือกลายเป็น “ตัวร้าย” ของหนัง เมื่อความเป็นกระสือในเวอร์ชั่นนี้ถูกพาสเจอร์ไรซ์ใหม่ให้เข้าไปผูกกับเรื่องการเติบโตของวัยรุ่น การก้าวผ่านวัยของ สาย (มินนี่ ภัณฑิรา พิพิธยากร) จากคำคืนที่เธอออกไปเล่นซ่อนแอบกับเพื่อนในบ้านร้าง เมื่อเธอถูกกระสือถ่ายทอดบางอย่างผ่านทางน้ำลาย สายพันธุ์ของอสูรกายได้หลับใหลอยู่ในตัวเธอ จนกระทั่งวันหนึ่งที่สายมี “ประจำเดือน” ปฏิกิริยาผิดปกติก็เริ่มเกิดขึ้นกับร่างกายตัวเอง เมื่อเธอพบว่าเช้าในคืนต่อมาหน้าต่างที่ลงกลอนเอาไว้กลับถูกเปิดออกอย่างไร้เหตุผล และคราบเลือดก็เลอะเตียงมากกว่าปกติ ยังไม่รวมไปถึงรอยช้ำบริเวณหน้าอกของตัวเอง
ความสัมพันธ์แบบรักสามเส้า
นอกจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายของสายแล้ว เธอยังต้องรับมือกับความรักของผู้ชายรอบข้างไม่ว่าจะเป็นเจิด (เกรท สพล อัศวมั่นคง) หนุ่มกำยำ โผงผาง ขี้เล่น ที่แอบรักสายมาเนิ่นนาน เขาได้แต่เฝ้าหวังอยู่ลึกๆว่าสักวันสายจะรักเขาตอบบ้าง และน้อย (โอบ โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์) เด็กชายขี้กลัวที่เขามีโอกาสได้ย้ายเข้าไปเรียนวิชาแพทย์ในพระนคร แต่การหนีภัยจากสงครามกลับมายังบ้านเกิดครั้งนี้ ทำให้เขามีโอกาสได้พบหน้ากับสายอีกครั้ง
ความสัมพันธ์แบบเพื่อนสนิทของทั้ง 3 คนทำให้เราเห็นว่า สายนั้นมีใจให้กับน้อยมากที่สุด เช่นเดียวกันกับน้อยที่ได้ล่วงรู้ความลับของสายว่าจริงๆแล้ว “กระสือ” ที่ชาวบ้านร่ำลือนั้นจริงๆแล้วก็คือเพื่อนสนิทของตัวเอง แต่แทนที่เขาจะหวาดกลัว น้อยกลับพยายามใช้วิชาความรู้ที่เขาร่ำเรียนมาคิดวิเคราะห์เพื่อหาทางแก้ให้กับการเปลี่ยนแปลงของสาย โดยพยายามปกปิดความลับดังกล่าวให้เงียบเชียบและเป็นที่สงสัยน้อยที่สุด
กระสือในเวอร์ชั่นนี้จึงกลายเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ประหลาดที่ต่างฝ่ายต่างก็มีหัวใจและพยายาม หาทางในการเอาชีวิตรอดและใช้ชีวิตอยู่อย่างปกติ ทว่าหนังได้ใส่ตัวละครอย่าง “ทัด” (เอ็ม สุรศักดิ์ วงศ์ไทย)หัวหน้ากลุ่มคาราวานปราบกระสือทั่วทุกสารทิศ เข้ามาเพื่อเป็นแรงกระเพื่อมสำคัญในเรื่อง ทำให้การออกล่ากระสือในหมู่บ้าน เปรียบเสมือนการล่าแม่มด ประกอบกับการใส่ “เรื่องเล่า” จากปากของทัด ที่นิยามความน่ากลัวของกระสือจนทำให้สิ่งที่อยู่ในเรื่องเล่าได้กลายเป็นจินตนาการอันน่ากลัวของชาวบ้านที่วาดภาพกระสือให้กลายเป็นปีศาจที่ชั่วร้ายและกลายเป็นภัยคุกคามที่ต้องกำจัดให้สิ้นซาก
ตลอดทั้งเรื่องชาวบ้านในหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้ยกระดับให้กลายเป็นตัวร้ายแบบสมบูรณ์แบบอีกเช่นกัน เมื่อพวกเขากำลังต่อสู้อยู่กับความ “ไม่รู้” และเลือกจะจัดการกระสือด้วยวิธีการที่ง่ายที่สุดด้วยการปราบสิ่งที่ไม่เข้ากับวิถีชีวิตของตัวเองให้สิ้นซาก แต่ระหว่างการต่อสู้เหล่านั้นก็ได้เปิดโลกของชาวบ้านอีกเช่นกันว่า นอกจากสายพันธุ์ของมนุษย์แล้ว ยังมีสายพันธุ์อื่นที่ “อยู่ร่วม” กับพวกเรามาอย่างช้านาน
มิติใหม่ของหนังไทย
สิ่งที่เกิดขึ้นใน “แสงกระสือ” ในช่วงครึ่งหลังของเรื่อง หลายคนอาจจะมองว่ามันเป็น “ความออกทะเล” จนน่าขัน แต่เมื่อเรามองอีกมุมหนึ่ง เราจะพบว่ามันเป็นความพยายามที่น่าชื่นชมในการนำเสนอภาพหนังไทยให้ความน่าสนใจ ร่วมสมัย และมีโอกาสจะพัฒนาไปสู่จักรวาลปีศาจของตัวเอง ยังไม่รวมไปถึงการแทรกสอดแนวคิดทางการเมือง ค่านิยม และการวิพากย์มนุษย์ไปในเวลาเดียวกัน แม้เราอาจจะต้องยอมรับว่า ในวิธีการกำกับภาพยนตร์เรื่องนี้จะยังทำออกมาไม่ได้ลื่นไหลตลอดรอดฝั่ง แต่เราได้มองเห็นความพยายาม ความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำพาหนังไทยไปในทิศทางใหม่ๆที่ไม่ได้ซ้ำซากและย่ำอยู่กับสูตรสำเร็จที่เพลย์เซฟจนกลายเป็นความน่าเบื่อ
คงได้แต่พูดว่าแสงกระสือเป็นหนังไทยที่ควรค่าแก่การน่าสนับสนุน เราได้เห็นแสงสว่างที่เรืองรองอยู่ในหนังเรื่องนี้ ถ้าหากได้รับการสนับสนุนจากผู้ชมในประเทศ แม้มันอาจจะไม่ได้เป็นแสงที่สว่างจ้านักในเวลานี้ แต่ถ้าหากหนังไทยที่มีความสดใหม่ ได้กำลังใจจากผู้ชม (ในรูปแบบของเงินค่าตั๋ว) ก็น่าจะเป็นกำลังใจที่ดี ที่ทำให้สตูดิโอต่างๆ “กล้า” ที่จะคิดใหม่ทำใหม่ เพื่อลบคำสบประมาทที่ว่า “หนังไทยก็มีแต่หนังแบบเดิมๆ”