US หนังจิตหลอนที่คุณต้อง กรี๊ดลั่นโรง ณ วินาทีนี้
ณ วินาทีนี้ Us คือหนังสยองขวัญที่มาแรงที่สุดในอเมริกาเหนือ เมื่อหนังสามารถเปิดตัวด้วยรายได้สูงถึง 70.3 ล้านเหรียญ ซึ่งตอนแรกสตูดิโอประเมินไว้ว่า หนังน่าจะเปิดตัวราว 35-45 ล้านเหรียญเท่านั้น ประกอบกับหนังใช้ต้นทุนในการสร้างเพียง 20 ล้านเหรียญ และการเปิดตัวในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการสร้างสถิติใหม่ของหนังเรต R ในกลุ่มที่มีเนื้อเรื่องและเนื้อหาดั้งเดิมซึ่งทำรายได้เปิดตัวในอเมริกาสูงสุดตลอดกาล มาดูกันว่าหนังเรื่องนี้น่าสนใจยังไง
ครอบครัวผิวสีที่ต้องเผชิญหน้ากับร่างเสมือนของตัวเอง
อเดเลด วิลสัน (ลูพิตา ญองโง) หญิงสาวที่กลับมายังบ้านริมหาดในวัยเด็กของเธอกับสามีของเธอ เก๊บ (วินสตัน ดู๊ค) และลูกๆ สองคน โซรา (ชาฮาดี้ ไรท์ โจเซฟ) และเจสัน (อีวาน อเล็กซ์) สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจช่วงฤดูร้อนแสนสุขที่ชายฝั่งของแคลิฟอร์เนียทางตอนเหนือ หลังจากถูกตามหลอนจากเหตุสะเทือนใจที่ไร้การคลี่คลายและขาดคำอธิบายจากอดีตของเธอ ประกอบกับเหตุบังเอิญที่พิลึกพิลั่นหลายต่อหลายครั้ง อเดเลด ก็รู้สึกว่าความหวาดระแวงของเธอพุ่งขึ้นถึงขีดสุดเมื่อเธอเริ่มมั่นใจมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าสิ่งที่เลวร้ายกำลังจะเกิดขึ้นกับครอบครัวของเธอ
หลังจากใช้เวลาที่ตึงเครียดที่ชายหาดกับเพื่อนๆ ของพวกเขา คิตตี้และจอช ไทเลอร์ (อลิซาเบธ มอสและ ทิม ไฮเด็คเกอร์) และลูกสาวฝาแฝด เบ็กก้าและลินด์ซีย์ (คาลี เชลดอนและโนแอลล์ เชลดอน) อเดเลด และครอบครัวของเธอก็กลับไปที่บ้านพักตากอากาศของพวกเขาเพียงเพื่อจะได้พบเงาร่างของคนสี่คนยืนขวางอยู่ตรงถนนหน้าบ้านของพวกเขาเอง แล้วพวกเขาจะแก้ไขสถานการณ์ครั้งนี้อย่างไร และทำไมร่างด็อปเปิลแกงเกอร์จึงต้องการชีวิตของพวกเขาด้วย
จาก Get Out สู่ Us
เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนังเรื่อง Get Out ในปี 2017 กลายเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และคำวิจารณ์ ยิ่งไปกว่านั้นการที่หนังเรื่องนี้สามารถคว้ารางวัลออสการ์ในสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมมาครอง ยิ่งทำให้มองเห็นว่า หนังสยองขวัญคนผิวสีนั้นมีอะไรที่น่าสนใจ และยังมีประเด็นที่ชี้ชวนให้คนดูขบคิด
จอร์แดน พีลมือเขียนบท/ผู้กำกับ/ผู้อำนวยการสร้าง จาก Get Out จึงนำเสนอไอเดียเรื่องด็อปเปิลแกงเกอร์ (ร่างเสมือน) เอามานำเสนอเป็นประเด็นหลัก เพื่อพาคนดูไปสำรวจว่า “เราต่างก็เป็นศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของตัวเอง” เมื่อมนุษย์มักจะหลบซ่อนความเป็นเอาไว้ภายใต้เบื้องลึกของจิตใจ และเรามักจะกล่าวโทษคนอื่นไว้ก่อน แต่ปีศาจในหนังเรื่องนี้กลับมีใบหน้าเหมือนกับตัวของเราเอง
อะไรคือด็อปเปิลแกงเกอร์
ด็อปเปิลแกงเกอร์ หรือคู่เหมือนที่ลึกลับของคนที่มีชีวิตอยู่ เป็นตำนานเล่าขานที่เก่าแก่พอๆ กับการเล่านิทานเลยทีเดียว พวกเขาปรากฏตัวในนิทานพื้นถิ่นและเทพปกรณัมแทบทั้งหมด และมีการเล่าขานที่ย้อนไปไกลถึงอียิปต์โบราณในรูปแบบของ “คา” ตัวตนของจิตวิญญาณที่มีความทรงจำ ประสบการณ์และความรู้สึกแบบเดียวกับเจ้าของร่าง ตัวละครในช่วงเริ่มแรกนี้กลายเป็นต้นแบบให้กับตัวละครที่ถูกเรียกว่า “ฝาแฝดชั่วร้าย” ที่ปรากฏในวรรณกรรมหลายเรื่องในประวัติศาสตร์ ด้วยกรณียกเว้นไม่กี่ครั้ง
ว่ากันว่าการปรากฏตัวของด็อปเปิลแกงเกอร์นั้นเป็นสัญญาณที่เลวร้าย สิ่งนี้เป็นต้นเหตุของความกลัว ตำนานนี้จึงถูกเชื่อมโยงกับความรู้สึก “กลัวตาย” ของมนุษย์ ในจักรวาลของเราไม่อาจมีตัวเรามากกว่า 1 คน ดังนั้นร่างไหนสักร่างจะต้องตายจากโลกนี้ไป ด็อปเปิลแกงเกอร์มักเป็นตัวแทนลางร้ายหรือเป็นตัวทำนายการเสียชีวิตของใครซักคน
ทำไมการมองเห็นตัวเองจึงน่ากลัว
ความกลัวจัดเป็นอารมณ์ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ แต่ผู้กำกับจอร์แดน อยากจะพาผู้ชมไปสำรวจภายใต้จิตใจของมนุษย์และทำการสำรวจอัตลักษณ์ของคนอเมริกาในเวลาเดียวกัน ตัวผู้กำกับพยายามตั้งคำถามกับตัวเองว่าเขากำลังกลัวอะไรอยู่ และทำไมตัวเองถึงน่ากลัว ไม่มีใครอยากจะจับผิดข้อบกพร่อง และด้านที่เลวร้ายของตัวเอง เราล้วนแต่อยากจะโยนความผิดไปให้คนอื่นทั้งสิ้น แนวโน้มที่จะนำเสนอความกลัว ความกังวลและความโกรธของเราออกมาภายนอกก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอเมริกันเช่นกัน “ประเทศนี้ และมุมมองที่ประเทศนี้มีต่อโลก เรามีความกลัวคนนอกครับ” พีลกล่าว “มันนำไปสู่ความกลัวทุกสิ่งตั้งแต่การก่อการร้ายไปจนถึงการอพยพ หนึ่งในหนังสยองขวัญเยี่ยมๆ ที่ให้ข้อคิดทางสังคมที่ทรงพลังคือ Night of the Living Dead ของจอร์จ เอ. โรเมโร หนังเรื่องนั้นเกี่ยวกับเชื้อชาติแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้พูดถึงมันจริงๆ จังๆ ในเรื่อง ผมอยากจะทำตามแนวทางนั้นกับหนังเรื่องนี้ครับ”
ในขณะที่ Get Out เผชิญหน้ากับความจริงที่ไม่มีใครพูดถึงเกี่ยวกับเชื้อชาติในอเมริกา Us เผชิญหน้ากับอเมริกาและอเมริกันดรีม “หนังเรื่องนี้เดินเรื่องในหลายๆ ระดับ” ผู้อำนวยการสร้างเอียน คูเปอร์ ผู้รู้จักพีลตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น กล่าว “เมื่อมองอย่างผิวเผินแล้ว มันเป็นทริลเลอร์น่าสะพรึงกลัว และคุณก็สามารถดูมันแบบนั้นและเพลิดเพลินไปกับมันได้ แต่ลึกลงไป มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่สิ่งต่างๆ ที่เราคิดว่าเราหนีไปจากมันได้แล้วกลับมาตามหลอนเราอีกครั้ง และลึกลงไปอีก มันก็เป็นเรื่องที่ว่าในวัฒนธรรมอเมริกัน เรามักจะอ้างว่า ‘คนอื่น’ กลุ่มคนอื่นนอกเหนือจากตัวเรา เป็นปัญหา กับบทหนังเรื่องนี้ จอร์แดนได้ให้ ‘คนอื่น’ กับเราที่น่าสะพรึงกลัวมากๆ ซึ่งก็คือตัวเราเองครับ”