รีวิว Unicorn Store เมื่อกัปตันมาร์เวลรียูเนียนกับนิค ฟิวรี่ในอีกเวอร์ชั่น
สิ่งที่น่าสนใจที่ทำให้หนังอย่าง Unicorn Store ได้รับการจับตามอง เพราะว่าผลงานเรื่องนี้เป็นการกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวครั้งแรกของนักแสดงดาวรุ่งอย่าง บรี ลาร์สัน (ก่อนหน้านี้เธอเคยกำกับหนังสั้นมาแล้ว 2 เรื่อง The Arm และ Weighting) อีกทั้งเธอยังรับบทนำในหนังเรื่องนี้อีกด้วย เท่านั้นยังไม่พอ เธอยังได้พาร์ทเนอร์ทางการแสดงอย่างแซมมวล แอล แจ็คสัน มาร่วมแสดง ซึ่งถ้าใครเป็นแฟนหนังของค่ายมาร์เวล คงจะทราบดีว่า ทั้งสองได้ประคู่กันใน Captain Marvel ในบทกัปตันมาร์เวลและนิค ฟิวรี่นั่นเอง
อันที่จริง Unicorn Store ถ่ายทำเสร็จและออกฉายครั้งแรกในปี 2017 ซึ่งฉายครั้งแรกในเทศกาล Toronto International Film Festival ประเทศแคนนาดา ส่วนในปี 2018 ไปฉายในเทศกาล Edinburgh International Film Festival ในประเทศอังกฤษ ก่อนที่จะลงสตรีมมิ่งอย่าง Netflix พร้อมกันทั่วโลกเมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา
ตัวหนังเล่าเรื่องราวของคิท (บรี ลาร์สัน) หญิงสาวที่ถูกไล่ออกจากโรงเรียนศิลปะ ระหว่างนั้นเองเธอรู้สึกเสียศูนย์กับชีวิตและกลัวการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ ในขณะเดียวกันคิทยังผูกพัน (ถึงขั้นหมกมุ่น) ถึงจินตนาการระหว่างยูนิคอร์นและสายรุ้ง คิทในวัย 29 ปี เธอยังคงอาศัยอยู่ที่บ้านกับพ่อแม่ ดูหมดอาลัยตายอยากกับชีวิตและนอนดูทีวีทั้งวันไม่เป็นอันทำอะไรทั้งสิ้น จนกระทั่งคิทได้ตัดสินใจสมัครงานในบริษัทประชาสัมพันธ์แห่งหนึ่ง ในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว หน้าที่ของเธอคืองานจำพวกถ่ายเอกสารและงานกรอกข้อมูลที่แทบจะไม่ต้องใช้สมองในการประมวลผลใดๆ
หลังจากเข้าทำงานในบริษัทคิทกลับได้รับการ์ดเชิญประหลาด จากชายที่อ้างตัวว่าเป็น “เซลล์แมน” (แซมมวล แอล แจ็คสัน) ที่เชื้อเชิญให้คิทเดินทางไปยังสถานที่ลึกลับซึ่งเขาอ้างว่าเป็น ยูนิคอร์นซาลอน แม้ว่าตอนแรกคิทจะไม่เชื่อว่ามันเป็นความจริง แต่เมื่อเธอเดินทางไปตามแผนที่เธอกลับพบว่าสถานที่ดังกล่าวนั้นมีอยู่จริง ส่วนโจทย์ที่เซลล์แมนมอบให้เธอเพื่อที่จะได้เจอกับยูนิคอร์นตัวเป็นๆนั้น กลายเป็นแรงผลักดันให้เธอลุกขึ้นมาทำอะไรในชีวิตที่เป็นชิ้นเป็นอันสักที
น่าเสียดายที่ Unicorn Store เป็นหนังที่ว่าด้วยการเติบโตระหว่างเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ แต่ด้วยวิธีการกำกับภาพยนตร์ที่ค่อนข้างดูสับสน และวิธีการเชื่อมต่อเรื่องราวดูไม่ค่อยเชื่อมโยงกันนัก ส่งผลให้คนดูไม่เข้าใจว่า ตัวหนังพยายามนำคนดูไปสู่ทิศทางไหน ยังไม่รวมไปถึงจังหวะในการสร้างมุกกตลก ที่จัดได้ว่าค่อนข้างล้มเหลวในการสร้างเสียหัวเราะให้กับผู้ชม จนเราอาจจะกล่าวได้ว่าในหลายครั้งหนังมีความน่าเบื่อหน่ายและไม่พาคนดูไปสู่ทิศทางที่เราคาดหวัง
แม้ว่าท้ายที่สุดเราจะเข้าใจอยู่แล้วว่า คิทน่าจะได้เรียนรู้เรื่องการเติบโต การก้าวข้ามผ่านวัย ซึ่งสัญลักษณ์อย่างยูนิคอร์นนั้นคือสิ่งที่ช่วยทำให้เธอเปลี่ยนผ่านวุฒิภาวะ แต่ด้วยองค์ประกอบของหนังที่ดูแบนราบไปหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวละครมนุษย์ สภาพแวดล้อมรอบตัวของนางเอก จึงไม่ได้โน้มน้าวให้เราเชื่ออย่างสนิทใจว่านี่คือโลกแห่งความเป็นจริงที่ผู้หญิงคนหนึ่งเลือกจะไม่ก้าวผ่านวัย ยิ่งไปกว่านั้นฉากจบของเรื่องยังจัดได้ว่า ไม่นำไปสู่อะไรและให้คำตอบที่ดูผิดที่ผิดทางเสียด้วยซ้ำไป