[รีวิว] สงกรานต์ แสบสะท้านโลกันต์ - นวัตกรรมโฮะมุกตลก อย่าแคร์สาระ ตรรกะเหรอลืมไปได้เลย

[รีวิว] สงกรานต์ แสบสะท้านโลกันต์ - นวัตกรรมโฮะมุกตลก อย่าแคร์สาระ ตรรกะเหรอลืมไปได้เลย

[รีวิว] สงกรานต์ แสบสะท้านโลกันต์ - นวัตกรรมโฮะมุกตลก อย่าแคร์สาระ ตรรกะเหรอลืมไปได้เลย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
หลัง สมจริง จงจ้องหอย (สมจิตร จงจอหอ) นักมวยค่ายตัวเองต้องปราชัย เสือ ส. วาเลนไทน์ (น้าค่อม ชวนชื่น) เจ้าของค่ายมวยก็ดูจะหมดหวังกับการปั้นใครขึ้นมาแทน ยิ่งความแค้นทำให้พลั้งปากท้าส่งนักมวยไปต่อยกับค่ายของศัตรู (ตั๊ก บริบูรณ์) จนต้องปั้นนักมวยรายใหม่ขึ้นมา แต่จะเอาไอ้แหว่ง (บอล เชิญยิ้ม) เหยิน (นุ้ย เชิญยิ้ม) ก็ดูสิ้นหวัง หรือจะเป็นสองลูกชายสุดหล่ออย่าง ปีใหม่ (ยอร์ช ยงศิลป์) หรือ ลอยกระทง (นิก คุณาธิป) ก็ดูจะไม่เอาในทางมวยเสียเลย คงเหลือแต่ สงกรานต์ (โรเบิร์ต สายควัน) ลูกชายที่เคยถูกจับในวันบวช เป็นความหวังสุดท้าย แต่จะได้ชัยชนะหรือไม่คงต้องลุ้นกันเหนื่อยหน่อย 

 

คำเตือน บทความรีวิวชิ้นนี้ผู้เขียนเขียนตามความรู้สึกของตัวเองจริงๆ ไม่ได้ประชดหรือเสียดสีแต่อย่างใด ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ที่อยากถ่ายทอดความรู้ทางภาพยนตร์ดีๆ จากยอดผู้กำกับ พชร์ อานนท์ เท่านั้น  

ความคิดแรกหลังจากดู สงกรานต์ แสบสะท้านโลกันต์ จบคงเป็นความโกรธที่ตัวเองดันหลวมตัวไปนับถือตำราฝรั่งในการทำหนังเสียตั้งนาน และโกรธตัวเองที่ไปเข้าข้างตำราฝรั่งที่กลายมาเป็นกรอบตีความคิดของเราในการทำหนัง อันจะได้สรุปให้อ่านกันเป็นข้อๆ ดังนี้
  • ความต่อเนื่องไม่ได้อยู่ที่กฎ 180 แต่อยู่ที่ใจ

เชื่อลึกๆ ว่าหาก เอ็มมานูเอล ลูบิซกี้ หรือ ลุงโรเจอร์ ดีกินส์ ได้ดู สงกรานต์ แสบสะท้านโลกันตร์ ก็ต่างต้องทบทวนการทำงานตัวเองเสียใหม่ เพราะกฎพื้นฐานในการคุมความต่อเนื่องของภาพไม่ได้อยู่พจนานุกรมของ พี่พชร์ ที่ถือว่า ความต่อเนื่องเป็นธุระของผู้ชม เราเลยได้เห็นตำแหน่งตัวละครที่ถือเป็นอนิจจัง เดี๋ยวซ้าย เดี๋ยวขวา ทิศทางการตัดต่อภาพแต่ละกล้อง พี่พชร์ให้อิสระกับระบบตัดต่อระบบ AI เต็มที่ ซึ่งถือเป็นมุมมองใหม่ที่มนุษย์อาจคิดไม่ได้ ซึ่งบรรดานักเรียนหนังควรศึกษาไว้เป็นตัวอย่าง และถ้าจะให้ดีควรไปขับไล่อาจารย์ที่สอนวิชาตัดต่อตามโรงเรียนหนังหรือมหาวิทยาลัยที่ตามเทรนด์นี้ไม่ทันออกจากระบบการศึกษาให้หมด!

  • ความจริงภายในมันเก่า เอาความสดตรงหน้าดีกว่า

สตานิสลาฟสกี้ เคยกล่าวว่า นักแสดงควรรู้จักความจริงภายในเพื่อความสมจริง ซึ่งถือเป็นความเชื่อผิดๆ ที่นักเรียนการแสดงทั่วโลกร่ำเรียนมา เพราะหากผ่านการกำกับของพี่พชร์ ผู้ปฏิเสธการสร้างความจริงภายใน หรือการทำสมาธิทุกรูปแบบเพราะกลัวทำหนังไม่ทันDag ดังนั้นจึงเกิดการกำกับแบบเอาความจริงตรงหน้า เช่น คิดบทไม่ออก ช่วยพูดๆ อะไรออกไปให้หน่อย หรือคิวถ่ายจะหมดจะทำอะไรก็ทำ เหล่านี้ถือเป็นงานกำกับชั้นสูงที่เหล่านักเรียนหนังอาจเข้าไม่ถึง หรือ อาจารย์อาจยังไม่เคยสอนเพราะถือเป็นทฤษฎีใหม่ โดยเป็นหน้าที่ของผู้กำกับในการหยิบเลือกเหตุการณ์ที่พอเป็นหนังมาร้อยเรียง แล้วโบ้ยงานในการจัดวางให้คนตัดต่ออีกทีเพื่อให้เงินค่าจ้างคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์

  • การตัดต่อไม่เพียงเรียงร้อยเรื่องเท่านั้น แต่ยังมีอำนาจข้ามเวลา พื้นที่ ข้ามตรรกะ เหตุและผลใดๆ ที่เราเคยยึดถือ

ในขณะที่นักเรียนหนังหลายคนมักยึดติดกับทฤษฎีตัดต่อทั้งการสร้างความต่อเนื่องหรือการใช้ภาพมองทาจมาสื่อความหมาย แต่สำหรับพี่พชร์ การตัดต่อคือการเรียงซีนที่ต้องเก็บทุกอย่างให้หมด และพาคนดูข้ามเวลาให้เร็วที่สุด โดยทิ้งตรรกะอันน่าเบื่อไว้เบื้องหลัง แต่การเรียงอย่างมีศิลปะนั้นไม่ควรทำทื่อๆ โดยฉากที่ถือเป็นไฮไลต์ที่แสดงถึงอัจฉริยะภาพของพี่พชร์ คือฉากงานบวชที่พี่เขาเอาเหตุการณ์ 3 เหตุการณ์มาตัดสลับความเวลาโดยอาศัยการตัดแบบ Sound Bridge หรือการใช้เสียงเชื่อมฉาก ซี่งในพิธีแหล่ แน่นอนว่าต้องมีการแหล่สอนนาค แต่หากเราต้องฟังบทแหล่สอนนาค อาจทำให้หนังยาวเกินไป พี่พชร์เลยเลือกท่อนสำคัญที่สุดนั่นคือการใช้คำว่า Hee ในการเชื่อมเหตุการณ์จากปลงผม ไปแหล่นาค แล้วข้างๆ พิธีบวชมีลิเกที่หนูรัตน์เป็นนางเอก ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นการต่อยอดจากทฤษฎี มองทาจ เพื่อสื่อความหมายว่าการบวชที่งดงามหาใช่การระลึกถึงพระคุณแม่ แต่เป็นการทดแทนคุณของช่องคลอดและการได้เกิดมาเจอหนูรัตน์เป็นนางเอกลิเกนี่เอง

  • การเล่าเรื่อง 3 องก์ ไม่สำคัญเพราะพี่พชร์ได้นิยามองก์ใหม่ขึ้นมาแล้ว

ซิด ฟิลด์ เคยนำทฤษฎี 3 องก์มาเป็นบทบัญญัติในการเล่าเรื่องภาพยนตร์ก่อนจะถูกแหกกฎจนมีสี่ ห้า หรือหกองก์ ในเวลาต่อมา แต่สำหรับปี 2019 พี่พชร์ได้คิดองก์ที่สำคัญที่สุดนั่นคือ องคชาติ ด้วยปฏิเสธทฤษฎีโครงสร้างบททั้งมวล ยอดผู้กำกับของเราจึงต้องคิดหลักยึดขึ้นมาใหม่นั่นคือ องคชาติ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมล่าสุด เพราะไม่ว่าหนังจะเล่าอะไรก็ตามก็มักวนมาเรื่ององคชาติ ทั้งมุกจับกระปุกเกียร์ของน้านุ้ย เชิญยิ้ม หรือ การโยกอวัยวะเพศของพี่สมจิตร จงจอหอ ล้วนแล้วแต่เป็นการคารวะเพศชายในสังคมปิตาธิปไตยอย่างมีนัยยะสำคัญหลังหนังมาร์เวลช่วงหลังดัดจริตไปพูดเรื่องสิทธิสตรีซะเยอะจนหน้าหมั่นใส้ สำหรับพี่พชร์ อานนท์ แล้วถือว่าคนชายขอบอย่างกะเทยควรมีสิทธิต่อรองเรื่องทางเพศบ้างทั้ง การขู่จะจับทำผัว หรือ ท้าให้รุมข่มขืน เป็นต้น หรือกระทั่งการพูดถึงพระคุณของพ่ออย่างลึกซึ้งจากปากคำของตัวละคร เสือ ส. วาเลนไทน์ ของน้าค่อมก็ถือเป็นการนำอวัยวะเพศชายมาพูดถึงอย่างเคารพและให้ความสำคัญจนน่ายกย่องครับ

  • จะมีแค่พลอต ซับพลอต หรือมัลติพลอตไปทำไม ในเมื่อเราเอาแอนตีพลอตมาทำเป็นพลอดได้

ในทางเขียนบท นักเรียนมักถูกกำหนดกรอบในการคิดเรื่องด้วยการวาง พลอต ไว้ก่อนซึ่งถือเป็นเป็นการตีกรอบความคิดที่ควรอิสระ ดังนั้นการได้ดู สงกรานต์ แสบสะท้านโลกันต์ น่าจะเป็นการเปิดโลกการศึกษาได้เป็นอย่างดีครับ เพราะหนังเรื่องนี้มีเหตุการณ์หลายอย่างที่อัดแน่นกันตลอดเวลาร่วมชั่วโมงกว่าๆ ทั้งค่ายมวยที่มีทั้งพ่อคอยด่าลูกๆ มีพระมาฉันเพลแต่ฉันไม่ทันเที่ยงจนหิวเพื่อให้คนหัวเราะ มีห้องน้ำที่สงกรานต์มักเข้าไปอัดควันแล้วเยิ้มออกมา ซึ่งทุกเหตุการณ์ควรเล่นย้ำๆ อย่างน้อย 2 เที่ยวเพื่อไม่ให้ผู้ชมหลงลืม มีร้านอาหารที่ลอยกระทงเข้าไปจีบ เจ๊เมษา (พิ้งกี้ สาวิกา) อยู่ 1 ครั้งซึ่งไม่จำเป็นต้องอธิบายเหตุผลใดๆ และมีฉากห้องซ้อมดนตรีที่เราจะได้เห็น ลอยกระทง และเพื่อนๆ มีปัญหากับมอเตอร์ไซค์วินจนได้เมีย ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องบอกเหตุผลเช่นกัน หรือแม้กระทั่งอาชีพพยาบาลของ เจ๊สิตางศ์ แต่งมา 1 ฉากเพื่อให้ถูกล้อว่าไปกินศพ เหล่านี้ถือเป็นการปลดล็อกกฎเกณฑ์การเขียนบทที่ว่าพลอตคือการวางเหตุการณ์อันเป็นเหตุเป็นผลกันลงโดยสิ้นเชิง ซึ่งถือเป็นคิดพลอตที่ก้าวล้ำมากๆ

  • แม้จะสั้นก็ต้องออกให้ครบ

คิดดูว่าการทำหนังต้องจ้างนักแสดงต้องเสียเงินทองมากมาย ในเมื่อคิดจ้างพวกคนดังออนไลน์ หรือไปทาบทามดาราไว้แล้วก็ควรยัดๆ มาให้ครบทุกคน ส่วนความต่อเนื่องช่างมัน ฉะนั้นเราจึงได้เห็นพี่ผัดไท มาเล่นเป็น ปลัด เมียของ เสือ ส. วาเลนไทน์ แบบผลุบๆ โผล่ๆ มาสร้างเสียงฮา มาพูดคำหยาบ แต่อีกสักพัก เธอก็หายไปทั้งเรื่องจนคนดูเกือบเป็นอัลไซเมอร์ ตามตัวละครของเธอ หรือกระทั่งเบี้ยใบ้รายทางพวกเน็ตไอดอลต่างๆ พี่พชร์ยัดตรงไหนได้ก็ยัดเข้ามา ซึ่งตรงนี้ถือเป็นการบริหารจัดการงบประมาณอย่างคุ้มค่า ไม่มีลังเล ยอมเสียฉากของดารารับเชิญเพื่อรักษาหนังแต่อย่างใด เพราะลำพังหนังเองก็เกินเยียวยา เอ้ย! หนังดีจน ติ ไม่ได้อยู่แล้ว

  • แท้จริงแล้วนี่คือ การทำหนังแบบพชร์ โมเดิร์น

หรืออันที่จริง หากลองสังเกตดีๆ เราจะพบว่าพี่พชร์ ได้ใช้หนังตัวเองเพื่อประเมินคุณค่างานในอดีตตัวเองใหม่ ทั้งวงดนตรีจาก สมอลรูกูแนว มุกพระจากหนังชุดหลวงพี่แจ๊ส  เหล่าคนดังอินเทอร์เน็ตที่เคยเชิญมาเล่น หรือกระทั่งการนำเซ็กซ์ แอพพีล ผู้หญิงอย่างการโชว์นม จาก ไฉไล มานำเสนอใหม่ ซึ่งในมุมหนึ่งก็ถือเป็น แอนโธโลจี เล็กๆ ของตัวเองที่จะได้ใช้หนังตัวเองมาพูดถึงหนังต่างๆ ในประวัติการทำงานอีกครั้ง ซึ่งอย่ากล่าวหาว่า พี่พชร์ มุกตัน คิดอะไรไม่ออกเด็ดขาด เพราะมันมีทฤษฎีโพสต์โมเดิร์นที่เป็นการนำของเก่ามาตีความใหม่ ประเมินค่าใหม่ นำเสนอใหม่ รองรับอีกที แต่เมื่อเป็น พชร์ อานนท์ มันก็อาจถูกตั้งชื่อใหม่เป็น พชร์ โมเดิร์น ซึ่งต่อไปโลกอาจจะต้องจำใจยอมรับเข้าสักวัน

ปิดท้ายรีวิวฉบับนี้ ใครกังวลว่าหนังจะมีคำพูดไม่เหมาะสม พูดจาทะลึ่งตึงตังรึเปล่า ก็ขอบอกเลยว่า เพียบครับ! ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกๆ แล้วกันนะครับ หากจะพกพาเด็กเล็กไปดู โดยไม่สนว่าหนังมันได้เรต น. 15+ น่ะครับ และท้ายสุดนี้ผมขอแสดงความบริสุทธิ์ใจ ว่าค่ายหนังไม่ได้จ้างผมมาเขียนเชียร์หนังเรื่องนี้จริงๆ แต่ด้วยคุณค่าของมันก็ต้องบอกว่า สงกรานต์ปีนี้ เล่นน้ำสนุกกว่านะครับ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ [รีวิว] สงกรานต์ แสบสะท้านโลกันต์ - นวัตกรรมโฮะมุกตลก อย่าแคร์สาระ ตรรกะเหรอลืมไปได้เลย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook