ทัศนา Avengers: Endgame ในแง่มุมต่างๆ [สปอยล์นะจ๊ะ]
มีการเปิดเผยเรื่องราวในตัวหนัง หากไม่ต้องการเสียอรรถรสในการรับชมกรุณาปิดบทความนี้ไปก่อนนะครับ
ความพ่ายแพ้ของฮีโร่
เราเชื่อว่าแฟน Avengers คงจะคาดหวังไปกับบทสรุปของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่จากค่ายมาร์เวล ให้กอบกู้จักรวาลกลับคืนมา หลังจากที่ในภาค Avengers: Infinity War ธานอสที่สวมถุงมือซึ่งบรรจุอินฟินิตี้สโตนครบทุกมณี ได้ทำให้ครึ่งชีวิตในจักรวาลสูญสลายกลายเป็นเถ้าธุลีไปในพริบตา และหลายชีวิตในจำนวนนั้นก็คือเหล่าตัวละครอันเป็นที่รักของผู้ชมด้วยนั่นเอง
Endgame เริ่มต้นฉากแรกด้วยคลินท์ บาร์ตันหรือฮอว์คอาย (เจรามี่ เรนเนอร์) กำลังซ้อมยิงธนูกับลูกสาว อยู่ที่บ้านไร่ชายทุ่ง แต่อีกไม่กี่นาทีผ่านไป ครอบครัวของเขาก็หายไปแบบไร้ร่องรอย ตัดภาพไปยังโทนี่ สตาร์ค (โรเบิร์ต ดาว์นนี่ จูเนียร์) ที่สภาพร่างกายอยู่ภาวะวิกฤตอยู่บนยานอวกาศอันแสนห่างไกลกับเนบิวล่า (คาเรน กิลเลน) ซึ่งจวนเจียนใกล้ตาย ไม่นานนักเขาก็ได้รับความช่วยเหลือจากกัปตันมาร์เวลในการนำพาตัวกลับมายังโลกมนุษย์อย่างปลอดภัย
ระหว่างนั้นเองทีมอเวนเจอร์ที่ยังรอดชีวิตจากการดีดนิ้วของธานอสกลับมารวมกลุ่มกันยังฐานบัญชาการ เพื่อวางแผนว่าจะทำอย่างไรต่อไป จนกระทั่งไม่นานนักร็อคเก็ตจับสัญญาณการใช้อินฟินิตี้สโตนได้ เนบิวล่าจึงเชื่อว่าธานอสผู้เป็นพ่อของตัวเองน่าจะกลับไปบนดาวเคราะห์ 0259 เมื่อทีมอเวเจอร์ตามไปยังดาวดังกล่าวก็ค้นพบความจริงว่าธานอสได้ทำลายอินฟินิตี้สโตนทิ้งไปแล้ว ธอร์จึงตัดสินใจใช้ขวานสตอร์มเบรกเกอร์ฟันคอธานอสจนถึงแก่ความตาย
จากเหตุการณ์สังหารธานอส เวลาได้ผ่านล่วงเลยมาถึง 5 ปี โลกมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม ทุกอย่างดูเงียบเหงาเหมือนเมืองร้างแสนหดหู่ บรรดาทีมอเวนเจอร์ที่หลงเหลืออยู่กระจัดกระจายไปทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่ทั่วจักรวาลเพื่อป้องกันเหตุผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นอีก แต่เหมือนว่า 5 ปีที่ผันผ่านไป ทุกอย่างแทบจะไม่มีอะไรผิดปกติ พูดง่ายๆว่าตลอด 5 ปีทุกสรรพชีวิตดำเนินไปอย่างราบเรียบ (ในแบบสิ้นหวัง) จนเราอาจจะกล่าวได้ว่าจักรวาลที่ปราศจากตัวร้าย ก็เหมือนการหายไปของภาระหน้าของซูเปอร์ฮีโร่เช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นแนทหรือนาตาชา (สการ์เลต โจแฮนสัน) ได้ข่าวว่าคลินท์ ได้กลายเป็นโรนินนักฆ่าอิสระที่ออกไล่ล่าฆ่าคนเลวไปทั่วโลก ทำให้เธอสะเทือนใจเป็นอย่างมาก
เมื่อมองไปถึงสภาวะที่คลินท์ต้องเผชิญและผ่านมาทั้งหมด ยิ่งทำให้เรามองเห็นว่าการที่เขาเลือกจะเปลี่ยนตัวเองไปเป็นโรนินนั้น เป็นเพราะความสูญเสียทุกอย่างในชีวิตไป ทั้งชีวิตครอบครัว หน้าที่การงาน และเมื่อเขารู้สึกว่าไม่เหลืออะไรอีกต่อไป การไล่ล่าคนเลว (หรือที่ปรากฏในหนังคือเหล่ายากูซ่า) ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นความ คนที่ครั้งหนึ่งเคยพิทักษ์ความถูกต้องและยึดมั่นการกอบกู้โลกก็เลือกจะลดตัวเองไปเป็นศาลเตี้ยเพื่อปลอบประโลมความสูญเสียในชีวิตเพื่อเยียวยาจิตใจของตัวเอง
สภาวะสิ้นหวังนี้เกิดขึ้นกับตัวละครอื่นๆเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกัปตันอเมริกา หรือ โทนี่ สตาร์ค ในแววตาของพวกเขาก็ดูหดหู่ เพราะเหมือนหน้าที่และภาระงานของพวกเขาก็ไม่มีอะไรให้ทำอีกต่อไป เหมือนพวกเขาต้องเฝ้ารออะไรสักอย่าง และนั่นก็อาจจะหมายถึง “ปาฏิหาริย์”
ปาฏิหาริย์มีอยู่จริง
เมื่อสิ่งมีชีวิตตัวเล็กกระจิดริดอย่างหนูตัวหนึ่ง ได้มุดเข้าไปในรถตู้ของหลุยส์ซึ่งเป็นบรรจุอุปกรณ์เดินทางเข้าประตูมิติควอนตัม ส่งผลให้สก็อต แลงก์หรือแอนท์แมนได้หลุดออกมาจากมิติดังกล่าว ซึ่งเขาก็ต้องงุนงงเนื่องจาก เวลาในมิติควอนตัมผ่านไปแค่เพียง 5 ชั่วโมง แต่โลกภายนอกผ่านไปถึง 5 ปี และสภาพแวดล้อมก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และทั่วเมืองซานฟรานซิสโก มีแต่ป้ายประกาศคนหาย สก็อตตัดสินใจเดินทางไปยังฐานของอเวนเจอร์และผุดแนวคิดที่ว่าด้วยถึงทฤษฎีในการย้อนเวลาเพื่อกอบกู้โลกและผองสรรพชีวิตกลับคืนมาก่อนเหตุการณ์ที่ธานอสจะดีดนิ้ว
ปฏิบัติการย้อนเวลาในหนังเรื่องนี้ มีความน่าสนใจตรงที่ว่าหนังเลือกจะพาผู้ชมกลับไปสำรวจช่วงเวลาต่างๆตลอดระยะเวลาที่จักรวาลมาร์เวลได้เริ่มก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นโมเมนต์ที่เหล่าอเวนเจอร์รวมตัวกันครั้งแรกเพื่อยับยั้งแผนการป่วนโลกใน The Avengers แน่นอนว่าการที่บรรดาตัวละครได้เห็นตัวเองในอดีตนั้น พวกเขาก็ได้ทบทวนพฤติกรรมและแนวคิดของตัวเองในช่วงเวลานั้นเช่นกัน หรือการที่ธอร์ได้เดินทางกลับไปยังดาวแอสการ์ดและได้พบกับแม่ของตัวเองอีกครั้ง กระทั่งการได้พบหน้ากับเจน (นาตาลี พอร์ทแมน) คนรักเก่า ก็เหมือนการปลดเปลื้องความรู้สึกที่ธอร์เองไม่เคยจะปริปากบอกผู้หญิงสองคนในช่วงเวลาที่พวกเขาเคยอยู่ข้างๆตัว หรือการเดินทางไปยังดาววอร์เมียร์ของคลินท์และแนท ก็เหมือนเป็นบทสรุปของตัวละคร “มนุษย์” ที่ตัดสินใจแลกหนึ่งชีวิต เพื่อกอบกู้อีกหลายชีวิตก็เป็นวิธีการบอกลาตัวละครที่น่าเศร้าและชวนประทับใจผู้ชมไม่รู้คลายอีกเช่นกัน
แต่ห้วงเวลาที่น่าประทับใจที่สุดของการย้อนเวลา คือช่วงที่กัปตันอเมริกาและโทนี่เดินทางกลับไปในปี 1970 ในฐานทัพลับของหน่วยชีลล์ในนิวเจอร์ซี่ ซึ่งเป็นการบรรจบกันของสองเหตุการณ์สำคัญนั่นคือช่วงคัดเลือกทหารเข้าโครงการรีเบิร์ธ อันเป็นช่วงเวลากำเนิดของกัปตันอเมริกา และเป็นช่วงเวลาที่แทซเซอแรคยังอยู่ให้ความดูแลของหน่วยชีลด์ ในช่วงเวลานี้ได้เปิดโอกาสให้ตัวละครอย่างโทนี่ ได้กลับไปเจอกับพ่อของตัวเองอย่างฮาเวิร์ด สตาร์ค ซึ่งทำให้โทนี่ได้เปิดใจยอมรับพ่อของตัวเองอีกครั้ง
แน่นอนว่าในฐานะหนังปิดมหากาพย์ 3 เฟสแรกของมาร์เวลคงไม่ทำให้ผู้ชมรู้สึกค้างคาแบบหนังภาคก่อนๆ รวมไปถึงการไม่ใส่เอนเครดิตใดๆในหนังเรื่องนี้ เป็นการเล่นกับอารมณ์ใหม่ๆของผู้ชมอีกเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า Avengers: Endgame ไม่ได้เน้นขายฉากแอ็คชั่นตะบี้ตะบันต่อยตีโรมรันกันแบบภาคอื่นๆ แต่เป็นหนังที่พาผู้ชมไปสำรวจตัวละคร และนำพาผู้ชมย้อนกลับไปสำรวจประสบการณ์ดีๆตลอด 11 ปีที่ผ่านมาอย่างน่าจดจำ เหมือนจดหมายรำลึกความรัก ที่ผองเพื่อนฮีโร่มานั่งคุยกัน เล่าสารทุกข์สุกดิบ ก่อนจะบอกลากันไปด้วยรอยยิ้มและคราบน้ำตาของความประทับใจ ซึ่งมีคนดูทั้งโลกเป็นสักขีพยาน