“John Wick: Chapter 3 - Parabellum” ความสำเร็จในการสร้างโลกเฉพาะตัวของ จอห์น วิค
การที่หนังแฟรนไชส์อย่าง John Wick ประสบความสำเร็จได้ทั้งที่ไม่ได้มีทุนสร้างใหญ่โตเมื่อเทียบกับหนังฟอร์มยักษ์เรื่องอื่น (หรือเมื่อเทียบกับรายได้ที่ตัวหนังได้รับมา) ผมคิดว่านั่นเป็นเพราะคนสร้างรู้เป็นอย่างดีว่า คนดูต้องการอะไรจากหนังนะครับ
การรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายต้องการอะไร แล้วก็เน้นทำไปที่สิ่งนั้น ไม่ห่วงหน้าพะวงหลังกับเรื่องอื่นๆ อันนี้แหละที่ผมคิดว่าเป็นปัจจัยสำคัญอันทำให้หนังชุดที่ดูเหมือนไม่มีอะไรอย่าง John Wick ประสบความสำเร็จสร้างมาจนถึงภาคที่สามนี้และก็คงจะมีภาคต่อๆ ไปอีกอย่างแน่นอน
ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ครับ ย้อนหลังไปเร็วๆ นี้ก็มีหนังชุดที่มีลักษณะคล้ายๆ กันอย่าง Taken ที่ เลียม นีสัน แกเที่ยวโทรศัพท์ไปขู่อาฆาตเอาชีวิตคนที่ลักพาตัวลูกเมียแล้วก็สู้กันอยู่หลายภาค ในยุโรปบ้าง ที่นั่นบ้าง ที่นี่บ้าง เครื่องบินบ้าง รถไฟบ้าง (ซึ่งถ้าดูแลลูกเมียอย่างระมัดระวังกว่านี้เรื่องก็คงไม่เกิด) ความสำเร็จของ Taken นั้นก็ทำให้ลุงเลียม นีสัน แกต้องรับเล่นหนังอะไรทำนองนี้อีกหลายเรื่อง จนสุดท้ายก็ต้องเลิกเล่นไปเองเพราะสู้สังขารไม่ไหวครับ หรือย้อนไปไกลหน่อย ตอนที่ผมยังเป็นวัยรุ่น ก็มีหนังชุดของ สตีเวน ซีกัล ที่ชอบรับบทอดีตนาวิกโยธินมือดีผู้หันหลังมาทำงานอะไรสักอย่างที่มันเรียบง่าย แล้วก็มีเหตุให้แกต้องไปหักแขนหักขา (หักขาจริงๆ นะครับ ไม่ใช่การไปเล่นหมากฮอส) วายร้าย นั่นก็ฮิตติดตลาด แกเลยต้องหักกันอยู่หลายภาคเหมือนกันครับ
ปรากฏการณ์ทั้ง Taken ก็ดี หนังของ สตีเวน ซีกัล ในอดีตก็ดี หรือแม้แต่กับ John Wick นี้ก็ดี เป็นสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า หนังที่ประสบความสำเร็จ บางทีก็ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อเรื่องที่น่าเชื่อถือ หรือสลับซับซ้อนอะไร ขอแค่รู้ว่าคนดูหนังต้องการดูอะไร แล้วก็จัดหาสิ่งเหล่านั้นให้สมกับความคาดหวังของผู้ชม และตราบเท่าที่ยังทำให้มัน “สนุก” ได้อยู่ หนังก็อาจจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก (อาจจะนะครับ ไม่ได้รับประกันว่าต้องประสบความสำเร็จเสมอไป) ผมว่า John Wick เข้าข่ายหนังแบบนั้นล่ะครับ
ผู้กำกับ แช้ด สตาเฮลสกี ซึ่งกุมบังเหียน John Wick มาตั้งแต่ภาคแรก รู้ดีว่าผู้ชมต้องการเห็นฉากแอ็กชั่นแบบเกม RPG ที่ตระการตาและมีการต่อสู้ที่เหนือความคาดหมายเยอะๆ ซึ่งนี่เป็นเครื่องหมายการค้าของหนังชุดนี้ การดีไซน์ฉากบู๊ ฉากแอ็กชั่น อะไรต่างๆ จึงต้องให้อารมณ์แบบโหดเหนือจริง เน้นความดิบ ความสะใจ จนมันข้ามผ่านเส้นแบ่งความจริง-ความลวง แล้วเข้าสู่พรมแดนที่เรียกว่า “แฟนตาซี” แล้วกลายเป็นความบันเทิงในอีกรูปแบบหนึ่งน่ะครับ หลักใหญ่ใจความของ John Wick ก็มีเท่านี้ รวมทั้ง Chapter 3 - Parabellum นี่ด้วย ที่ไม่ว่ามองอย่างไรมันก็เป็นแฟนตาซีที่เร้าอารมณ์สะใจอย่างหนึ่งเท่านั้นเองครับ ถามว่าเนื้อเรื่องมันเป็นยังไง สารภาพตามตรงว่าทั้งที่ดูครบทุกภาค แต่ผมก็ลืมไปแล้วว่าใครแค้นใคร ใครล่าใคร มีปมฝังใจกันยังไง จำแทบไม่ได้เลย แล้วก็ไม่ได้คิดจะจำด้วย พอดูทีก็ต้องรื้อฟื้นกันที ก็อย่างที่บอกครับว่า ถ้าผมจะดูหนังเรื่องนี้ ผมก็จะดูเพราะอยากรู้ว่ามันจะพาผมกระโจนเข้าไปในโลกแฟนตาซีได้สะใจและแปลกใหม่อย่างไรบ้าง เนื้อเรื่องไว้ว่ากันทีหลัง
ซึ่งถ้ามองกันในแง่นั้นก็ต้องถือว่า John Wick: Chapter 3 - Parabellum ทำได้สมกับที่คาดหวังนะครับ เพราะมันอัดฉากแอ็กชั่นมันๆ มาเพียบ สะใจแฟนหนังชุดนี้ค่อนข้างแน่นอน แต่ที่ผมชอบมากๆ และชอบขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละภาคที่ดูก็คือ งานด้านทัศนศิลป์ งานด้าน อาร์ต วิช่วล อะไรต่างๆ ในภาคนี้ถือว่าดีมากครับ การดีไซน์ฉากและเซ็ตติ้ง การจัดแสงและไฟในแต่ละฉากแต่ละซีน สวยแบบ นีโอ นัวร์ ดูแล้วสนุกตา เช่นเดียวกับการดีไซน์องค์กรหลักที่ จอห์น วิค และพรรคพวกเขาสุงสิงไล่ยิงกันอยู่ ซึ่งมีทั้งเซนส์แบบโอลด์ แฟชั่น ผสมความเป็นไซเบอร์ พังก์ และอะไรที่มันหลุดโลกอยู่ในที ซึ่งผมว่านอกจากการปรนเปรอฉากแอ็กชั่นให้ผู้ชมเพียบแปล้แล้ว การสร้างโลกและสิ่งแวดล้อมเฉพาะตัวของ จอห์น วิค ขึ้นมาใหม่แบบที่เราเห็นในหนัง John Wick ทุกภาคนี่แหละครับ ที่เป็นเอกลักษณ์ของหนังชุดนี้ รวมทั้งภาคใหม่ John Wick: Chapter 3 - Parabellum นี่ด้วย
แต่เนื้อเรื่อง ก็ช่างมันแล้วกันนะครับ อีกไม่นานผมก็คงลืมไปเองแหละ ดูหนังเรื่องอื่นๆ สักเรื่อง-สองเรื่องก็น่าจะลืมแล้ว เดี๋ยวภาคใหม่มาก็ค่อยรื้อฟื้นว่ากันใหม่
ชมภาพยนตร์ตัวอย่าง John Wick: Chapter 3 - Parabellum ได้ ที่นี่
เกี่ยวกับผู้เขียน
จักรพันธุ์ ขวัญมงคล
นักเขียน นักแปล นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และบรรณาธิการอิสระ สนใจความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะและสังคม
อัลบั้มภาพ 14 ภาพ